Stochastic Effect VS. Deterministic Effect


เมื่อกล่าวถึงผลของรังสีต่อมนุษย์หรือสิ่งมีชีวิต มีผลของรังสีสองชนิดที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

เมื่อกล่าวถึงผลของรังสีต่อมนุษย์หรือสิ่งมีชีวิต มีผลของรังสีสองชนิดที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

Stochastic Effect เป็นผลของรังสีที่เกิดขึ้นอย่างสุ่ม เวลาประเมินความปลอดภัยก็ต้องอาศัยการคาดเดาโดยใช้สถิติ นั่นคือดูว่าจากจำนวนคนและปริมาณรังสีที่กลุ่มคนเหล่านั้นได้รับ ทำให้เกิดอุบัติการณ์ของผลนั้นเป็นเท่าใด ผลของรังสีชนิดนี้ได้แก่การเกิดมะเร็งบางชนิดที่อาจมาจากการได้รับรังสี เช่นการเกิดมะเร็งในต่อมไทรอยด์ของกลุ่มเด็กในเบลารุสที่เคยได้รับรังสีไอโอดีนจากอุบัติเหตุของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล หรือกรณีกลุ่มคนงานสตรีในโรงงานทำหน้าปัทม์นาฬิกาด้วยเรเดียมในสมัยก่อน ซึ่งจะได้รับเรเดียมเข้าสู่ร่างกายด้วยความไม่ตระหนักในขณะนั้น ก็เป็นสาเหตุให้มีอุบัติการณ์มะเร็งในกระดูก เป็นต้น ผลของรังสีชนิดนี้ อาศัยการคาดเดาโดยสถิติว่าในจำนวนคนเหล่านี้ จะมีโอกาสที่มีคนเป็นมะเร็งกี่คน ไม่สามารถระบุได้ว่าใครจะเป็น แต่ก็นำเอาผลจากการประมวลเหล่านี้มาใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดความเสี่ยง

แตกต่างจาก Deterministic Effect ซึ่งเป็นผลของรังสีชนิดที่ปรากฏชัดเจนกับผู้ที่ได้รับรังสี โดยจะเกิดขึ้นเมื่อผู้นั้นได้รับรังสีในปริมาณที่สูงเกินค่าจำกัดค่าหนึ่ง (Threshold) ผลของรังสีชนิดนี้ได้แก่อาการผิวหนังเป็นผื่นแดง หรือเนื้อตายเมื่อได้รับรังสีปริมาณสูงมาก หรือการเกิดเป็นต้อกระจกถ้าเลนส์ตาได้รับรังสีปริมาณสูง

นี่จึงเป็นที่มาของการกำหนดค่าขีดจำกัดปริมาณรังสีในกฎกระทรวงฯ โดยการกำหนดค่าปริมาณรังสียังผลนั้นเป็นการจำกัดผลของรังสีชนิด Stochastic Effect ให้อยู่ในค่าความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ส่วนการกำหนดปริมาณรังสีสมมูลที่ผิวหนังมือและเท้า รวมทั้งเลนส์ตา นั้นกำหนดเพื่อป้องกันการเกิดผลชนิด Deterministic Effect นั่นเอง

---------------------------------------------------------------------------------------------

กฎกระทรวง

กำหนดเงื่อนไข วิธีการขอรับใบอนุญาต และการดำเนินการเกี่ยวกับวัสดุนิวเคลียร์พิเศษ

วัสดุต้นกำลัง วัสดุพลอยได้ หรือพลังงานปรมาณู

พ.ศ. ๒๕๕๐

 

ข้อ ๒๙ ผู้รับใบอนุญาตต้องระมัดระวังมิให้บุคคลที่ทำงานในบริเวณรังสีได้รับรังสีเกินปริมาณที่กำหนด ดังต่อไปนี้

(๑) ปริมาณรังสียังผล (effective dose) ๒๐ มิลลิซีเวิร์ตต่อปี โดยเฉลี่ยในช่วงห้าปีติดต่อกัน ทั้งนี้ ในแต่ละปีจะรับรังสีได้ไม่เกิน ๕๐ มิลลิซีเวิร์ต และตลอดในช่วงห้าปีติดต่อกันนั้นจะต้องได้รับรังสีไม่เกิน ๑๐๐ มิลลิซีเวิร์ต

(๒) ปริมาณรังสีสมมูล (equivalent dose) ๑๕๐ มิลลิซีเวิร์ตต่อปี สำหรับเลนซ์ของดวงตา

(๓) ปริมาณรังสีสมมูล (equivalent dose) ๕๐๐ มิลลิซีเวิร์ตต่อปี สำหรับส่วนที่เป็นผิวหนัง มือ และเท้า

ข้อ ๓๐ ผู้รับใบอนุญาตต้องระมัดระวังมิให้หญิงมีครรภ์ที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับรังสี ได้รับรังสีตลอดระยะเวลาที่ตั้งครรภ์เกิน ๑ มิลลิซีเวิร์ต และต้องเฉลี่ยไม่เกิน ๐.๑      มิลลิซีเวิร์ต ต่อเดือน

ข้อ ๓๑ ผู้รับใบอนุญาตต้องระมัดระวังมิให้ประชาชนทั่วไป เว้นแต่ผู้ที่มารับบริการทางการแพทย์ได้รับรังสีเกินปริมาณที่กำหนด ดังต่อไปนี้

(๑) ปริมาณรังสียังผล (effective dose) ๑ มิลลิซีเวิร์ตต่อปี

(๒) ปริมาณรังสีสมมูล (equivalent dose) ๑๕ มิลลิซีเวิร์ตต่อปี สำหรับเลนซ์ของดวงตา

(๓) ปริมาณรังสีสมมูล (equivalent dose) ๕๐ มิลลิซีเวิร์ตต่อปี สำหรับส่วนที่เป็นผิวหนัง

 

หมายเลขบันทึก: 412208เขียนเมื่อ 6 ธันวาคม 2010 11:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 11:31 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท