ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

ปัจจัยและเงื่อนไขความสำเร็จของสันติวิธี


พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, ผศ.ดร. (2553)

ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
นักศึกษาหลักสูตรพัฒนาผู้บริหาร Mini MBA รุ่นที่ ๗๑
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

 

 

     เมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๔๔๓ (เวลา ๙.๐๐-๑๒.๐๐ น.) ผู้เขียนได้รับนิมนต์จาก พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาส ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า เพื่อบรรยาย เรื่อง "ปัจจัยและเงื่อนไขความสำเร็จของสันติวิธี" แก่นักศึกษาในหลักสูตรประกาศนียบัตรแนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับการจัดการความขัดแย้งด้านนโยบายสาธารณะโดยสันติวิธี รุ่นที่ ๗ จำนวนประมาณ ๗๐ ท่าน ซึ่งการบรรยายในครั้งนี้ นอกจากจะทำหน้าที่ในฐานะวิทยากรแล้ว ยังถือว่า "ได้ทำหน้าที่ในฐานะรุ่นพี่ของนักศึกษาในหลักสูตรนี้ เพราะผู้เขียนจบหลักสูตรนี้ในรุ่นที่ ๒" เพื่อให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ใน "ชุมชนนักสันติวิธี" ผู้เขียนจึงได้นำประเด็นดังกล่าวมาเขียนเป็นบทความทางวิชาการ ดังนี้

๑. เกริ่นนำ

     "สันติวิธี" ถือว่าเป็นหลักการและเครื่องมือประการหนึ่งซึ่งมนุษยชาติมักจะนำมาเป็นทางเลือกในการจัดการความขัดแย้ง และความรุนแรงที่เกิดขึ้นในชีวิตและสังคม ซึ่งหากจะวิเคราะห์ที่มาของประวัติศาสตร์ในการใช้เครื่องมือนี้จะพบว่า มนุษยชาติได้ใช้เครื่องมือนี้จัดการความความแย้งที่เกิดจากผลประโยชน์ ความต้องการ ค่านิยม ความสัมพันธ์ และอำนาจมาตั้งแต่มนุษย์ได้อยู่ร่วมกันเป็นชุมชน และสังคม

     อย่างไรก็ดี "ความรุนแรง" เป็นเครื่องมือสำคัญอีกประการหนึ่งที่ได้รับการเลือกสรรมาใช้ในกรณีที่ตัวมนุษยชาติอับจนปัญญาที่ไม่สามารถใช้เครื่องมือสันติวิธีได้อย่างประสานสอดคล้องกับตัวแปรและเงื่อนไขต่างๆ ที่เกิดขึ้น จนทำให้บางกลุ่มมองว่า "การใช้ความรุนแรง" น่าจะเป็นอีกทางเลือกที่ควรนำมาใช้จัดการกับปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐต่อรัฐ หรือระหว่างคนในรัฐเดียวกัน บางครั้ง อาจจะไม่ใช้สงครามโดยตรง แต่อาจจะสื่อให้เห็นถึงสัญลักษณ์ของความโน้มเอียงที่จะทำให้เกิดความรุนแรง เช่น กองกำลังรักษาสันติภาพ และปรมาณูเพื่อสันติ

     จะเห็นว่า "การจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี" และ "การจัดการความขัดแย้งด้วยความรุนแรง" เป็นหลักการและเครื่องมือสำคัญที่มนุษยชาติมักจะเลือกนำมาใช้ในช่วงเวลา และสถานการณ์ต่างๆ ที่แตกต่างกัน แต่บทความนี้ จะมุ่งเน้นอธิบายแนวทางจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตั้งคำถามว่า หากมนุษยชาติตัดสินใจที่จะนำ "สันติวิธี" ไปเป็นเครื่องมือจัดการความขัดแย้งในมิติต่างๆ นั้น เขาควรจะคำนึงถึง "ปัจจัยและเงื่อนไขใดบ้าง จึงจะทำให้การจัดการความขัดแย้งประสบความสำเร็จ"

๒. กระบวนการขับเคลื่อนการทำงานของสันติวิธี

     คำถามที่ผู้เขียนมีต่อประเด็นนี้คือ (๑) เราควรจะดำเนินการขับเคลื่อนสันติวิธีอย่างไร จึงมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล (๒) เราควรมีกลไกการขับเคลื่อนสันติวิธีอย่างไร จึงจะทำให้กระบวนการทำงานไหลลื่น และไม่ติดขัด

     คำถามที่หนึ่งสัมพันธ์กับ "ตัวเนื้อแท้ของสันติวิธี" ทั้งแนวคิดและเครื่องมือ และ "ผู้ใช้สันติวิธี" ที่ควรเรียนรู้ เข้าใจ และสามารถประยุกต์ใช้เครื่องมือดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิภาพ ส่วนคำถามที่สองสัมพันธ์กับขั้นตอนและแนวทางในการขับเคลื่อนสันติวิธีที่ควรมีกลไกไม่ซับซ้อน และง่ายต่อการนำเครื่องมือไปประยุกต์ใช้ให้สอดรับกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตและสังคม

     การตอบคำถามดังกล่าวนั้น ไม่ได้ส่งผลในเชิงบวกต่อการปฏิบัติการสันติวิธี และการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในเชิงปัจเจกเท่านั้น แต่จะก่อให้เกิดสันติภาพมนุษย์ และสังคมในมิติต่างๆ ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก

๓. ข้อสงสัยที่มีต่อหลักการและเครื่องมือของสันติวิธี

     นักสันติวิธีมักไม่ค่อยมีคำถาม หรือสงสัยต่อ "สันติวิธี" ในหลายๆ สถานการณ์ที่สันติวิธีไม่สามารถสำแดงศักยภาพในการขับเคลื่อนพลังออกมาช่วยเหลือสังคมในขณะกลุ่มคนต่างๆ ในสังคมกำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรง เพราะเข้าใจดีว่า "ความสำเร็จหรือล้มเหลวนั้นประกอบด้วยตัวแปรและเงื่อนไขที่แตกต่างกัน"

     แต่ในหลายๆ สถานการณ์ กลุ่มคนที่มีความโน้มเอียงในการใช้ "ความรุนแรงเป็นเครื่องมือในการจัดการความขัดแย้ง" มักจะตั้งข้อสังเกต และสงสัยต่อการสันติวิธีว่า "ตัวสันติวิธีอาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดในการจัดการกับความขัดแย้งและความรุนแรงกับบางกรณี" และ "ผู้ใช้สันติวิธี หรือนักสันติวิธีเป็นผู้ขัดขวางต่อกระบวนการจัดการความขัดแย้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำให้ระยะเวลาในการจัดการความขัดแย้งต้องยาวนานเกินไป อีกทั้งไม่สามารถประกันความสำเร็จได้"

     ด้วยเหตุนี้ งานเขียนเรื่องนี้ จึงพยายามที่จะอธิบายประเด็น "ตัวสันติวิธี" และ "ผู้ใช้สันติวิธีว่า ในความเป็นจริงแล้ว ปัญหาและอุปสรรคเกิดขึ้นจากสองประเด็นดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร เพราะการทำความเข้าใจในสองประเด็นนี้ จะมีผลต่อการตอบคำถามที่ว่า "อะไรเป็นปัจจัยและเงื่อนไขต่อความสำเร็จของสันติวิธี"

๔. สันติวิธีในความหมายทั่วไป

     ดังที่กล่าวไปในเบื้องต้นว่า นักคิดและนักปฏิบัติการด้านต่างๆ เช่น สังคมศาสตร์ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ หรือแม้กระทั้งนักการเมือง การปกครองและนักการทหาร รวมถึงบุคคลทั่วไป มักจะตั้งคำถามต่อสันติวิธีทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ ซึ่งการตั้งข้อสังเกตดังกล่าวมิได้มีผลในเชิงความคิดเท่านั้น หากแต่ส่งผลในเชิงปฏิบัติในหลายๆ มิติด้วยกัน

     เมื่อวิเคราะห์จากมุมมองของกลุ่มคนที่ไม่ได้ศึกษาสันติวิธีอย่างเข้าใจและลึกซึ้ง อาจจะมอง และตีความสันติวิธีออกเป็นแง่มุมต่างๆ บนพื้นฐานของความเข้าใจ อาชีพและประสบการณ์ของแต่ละบุคคล หรือกลุ่มบุคคล 

     (๑) สันติวิธี คือการไม่ใช้กำลัง หรืออำนาจ ในกระแสของการจัดการความขัดแย้งในประวัติศาสตร์ของมนุษย์นั้น เรามักจะใช้ “อำนาจ” เข้าไปจัดการ ซึ่งอำนาจที่เรามักจะนำไปใช้เป็นเครื่องมือนั้นแทนที่จะใช้ “อำนาจร่วม” (Power with) แต่เรากลับใช้ “อำนาจเหนือ” (Power over) ซึ่งอำนาจเหนือมักจะเดินเคียงคู่กับ “กระบวนการใช้ความรุนแรง” ในการแก้ไขปัญหา

     ถึงกระนั้น จะพบว่า ในหลายสถานการณ์ที่รัฐ หรือเราเองมักจะแก้ปัญหา “ความรุนแรง” ด้วยการใช้ “ความรุนแรง” ตอบโต้ ดังนักคิดคนสำคัญของโลกที่ใช้วิธีการจับคู่ระหว่าง “สงครามกับสันติภาพ” ซึ่งการจับคู่ในลักษณะนี้ทำให้มองว่า “สันติภาพจะเกิดขึ้นได้ หากเราใช้สงครามเข้าไปจัดการแก้ไข” ซึ่งคล้ายคลึงกับคำกล่าวที่ว่า “แม้หวังตั้งสงบ จงเตรียมรบให้พร้อมสรรพ (if you want peace prepare for war)” 

     แต่จากประสบการณ์ “สงครามอ่าว” หรือ “สงครามระหว่างอเมริกากับอีรัก” ที่เกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมานั้น ได้กลายเป็นบทเรียนชิ้นสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ชี้ให้เราได้เห็นว่า “ความรุนแรง” ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทุกครั้งแต่ประการใด และที่ยิ่งไปกว่านั้น คำตอบที่สำคัญประการหนึ่งที่เราได้รับก็คือ “สงครามเต็มรูปแบบ” อาจจะยุติไปแล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมาแทนที่ก็คือ “สงครามไม่เต็มรูปแบบ หรือไม่เป็นทางการ” กำลังเกิดขึ้น และได้ขยายตัวลุกลามไปทั่วทุกมุมของโลก

     (๒) สันติวิธีคือการเชื่อฟัง การให้คำนิยามของสันติวิธีในลักษณะนี้ มักจะเกิดจากบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มี “อำนาจมากกว่า” ไม่ว่าจะเป็นอำนาจทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และการทหาร ที่มุ่งหวังให้กลุ่มคนที่มีอำนาจน้อยกว่า “เคารพและเชื่อฟัง” อุปมาเช่นกันกับเด็กควรเคารพผู้ใหญ่ ฉะนั้น ภาษาทั่วใปคือ “อย่าหือ” เช่น ไม่ควรโต้เถียง ถกเถียง และวิพากษ์วิจารณ์ แม้บ้างครั้งจะเป็นการแสดงความเห็น หรือแสดงออกบนฐานของ “เหตุและผล” ก็ตาม

     (๓) สันติวิธีคือการไม่ก่อความวุ่นวาย ส่วนใหญ่กลุ่มบุคคลที่มักจะนิยามสันติวิธีในลักษณะนี้เนืองๆ คือ “รัฐ” หรืออาจจะเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลประโยชน์จากอำนาจรัฐ อย่างไรก็ดี “การสร้างความวุ่นวาย” ในลักษณะนี้ “การดื้อเพ่ง” (Civil Disobedience) กลุ่มคนที่ใช้สันติวิธีชนิด “ก่อความวุ่นวาย” มักจะได้รับการตั้งข้อสังเกตว่า เป็นกลุ่มประชาชนที่เรียกร้อง “ความเทียม และเที่ยงธรรม” เกี่ยวกับผลประโยชน์และความต้องการเพื่อให้มาซึ่งอำนาจการเข้าถึงทรัพยากร และอำนาจทางการเมือง การที่จะทำให้ข้อเรียกร้องของกลุ่มได้ความสนใจจากกลุ่มคนทั่วไปในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน” เพื่อให้รัฐได้พิจารณาประเด็นข้อเรียกร้องของกลุ่มตนอย่างรอบด้านมากยิ่งขึ้นจนนำข้อเรียกร้องดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติ หรือกำหนดเป็นนโยบายสาธารณะ

    (๔) สันติวิธีคือการทำตามกฎหมาย กลุ่มคนที่มองสันติวิธีในหมายนี้ ส่วนใหญ่มักจะเป็น “รัฐ” เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ อาจจะรวมถึงกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบทางตรงและทางอ้อมจากการใช้สันติวิธีที่ดื้อเพ่งต่อกฎหมาย ประเด็นปัญหานี้เกิดจากการที่ประชาชนบางกลุ่มเห็นว่า กลุ่มตนไม่ได้การปฏิบัติอย่างเท่าเทียม หรือไม่ได้รับการแบ่งปันผลประโยชน์และความต้องการอย่างเท่าเทียม จึงนำเสนอข้อเรียกร้องดังกล่าวผ่านกิจกรรม “การประท้วง” เป้าหมายการประท้วงคือ การแสดงออกหรือทำให้ “รัฐ” หรือคนทั่วไปได้ “ยิน” สิ่งที่คนเหล่านี้พยายามจะพูดหรือสื่อความ ฉะนั้น เมื่อจำเป็นต้องแสดงออกทางการกระทำ หรือการพูดเพื่อสื่อความมากยิ่งขึ้น จึงมีความจำเป็นที่กลุ่มเหล่านี้ต้อง “ดื้อเพ่งต่อกฎหมาย” บางข้อ เช่น กฎหมายจราจร และกฎหมายว่าการใช้เสียง รวมถึงการบุกรุกสถานที่ราชการซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ

     เมื่อกล่าวโดยสรุป สันติวิธีในความหมายทั่วไปแสดงนัยถึงการตีความของกลุ่มคนสองกลุ่ม คือ “รัฐ” และ “ประชาชน” ที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับผลประโยชน์ ความต้องการ ความสัมพันธ์ ข้อมูล ค่านิยม และโครงสร้าง และพยายามที่จะให้แต่ละฝ่ายมีท่าที่พึงประสงค์ต่อการแสดงออก จะเห็นว่าในความหมายที่หนึ่งนั้นเป็นข้อเรียกร้องจากประชาชนที่ไม่ต้องการให้รัฐใช้ “กำลัง หรือแก้ปัญหาด้วยการใช้อำนาจหรือความรุนแรง” แต่ในขณะเดียวกันรัฐเองก็มีมุมมองว่า “รัฐจะสนใจต่อข้อเรียกร้องในกรณีที่ประชาชนที่เรียกร้องเชื่อฟังรัฐ ไม่ก่อความวุ่นวาย และปฏิบัติตามกฎหมาย” อย่างไรก็ดี ประชาชนบางกลุ่มมีความเห็นที่ต่างกันว่า “รัฐควรเชื่อและฟังข้อเท็จจริงของประชาชนเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่รอบด้าน” แต่การที่ “รัฐไม่ฟัง” จึงทำให้ประชาชนต้องรวมตัวกันประท้วงทั้งในรูปของการก่อความวุ่นวายไม่ปฏิบัติตามข้อกฎหมายบางประการ

๕. มายาคติเกี่ยวกับสันติวิธี

     การมองสันติวิธีด้วยทัศนคติที่บิดเบี้ยวออกไปจากแก่นแท้หรือความหมายและการปฏิบัติที่จริง ของสันติวิธี ถือได้ว่าเป็นมายาคติที่บุคคล หรือกลุ่มบุคคลมีต่อสันติวิธี จากการศึกษาวิเคราะห์ท่าทีของกลุ่มต่างๆ ในสังคมทำให้พบว่า กลุ่มคนต่างๆ มีมายาคติต่อสันติวิธีในประเด็นดังต่อไปนี้

     (๑) สันติวิธีสู้การใช้อาวุธไม่ได้ กลุ่มคนที่มีความโน้มเอียงต่อความคิดในลักษณะนี้ คือกลุ่มคนที่ได้รับการเรียกขานว่า “สายเหยี่ยว” หรือเป็นกลุ่มคนที่มักจะจัดการกับความขัดแย้งด้วยความรุนแรง โดยมองว่า การใช้สันติวิธีมีกระบวนการและขั้นตอนซับซ้อน และต้องสัมพันธ์กับกลุ่มต่างๆ จำนวนมาก ฉะนั้น อาวุธจึงเป็นเครื่องมือที่มีอานุภาพและประสิทธิภาพที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาได้ พื้นฐานสำคัญของการคิดในลักษณะนี้จะอยู่บนฐานของ “อำนาจ” ที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือคนใดคนหนึ่งมีมากกว่าคนอื่นหรือกลุ่มอื่น อย่างไรก็ดี นักสันติวิธีมองว่า “สันติวิธีคืออาวุธที่มีชีวิต” ที่มีพลังยิ่งใหญ่กว่าอาวุธที่ไม่มีชีวิต เช่น ปืน ระเบิด และรถถัง

     (๒) สันติวิธีใช้เวลานานเกินไป กลุ่มคนบางกลุ่มได้พยายามตั้งคำถามต่อสันติวิธีว่า “เพราะเหตุใด เมื่อการใช้สันติวิธีจึงต้องใช้ระยะเวลายาวนาน” หากมองในมิติของการเมืองจะพบว่า ฝ่ายรัฐบาลที่บริหารประเทศได้ทำสัญญาประชาคมในการที่จะดำเนินนโยบายต่างๆ ภายในระยะ ๔ ปีของการเป็นรัฐบาลโดยแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ฉะนั้น อาจจะเกิดจากกรอบระยะเวลาดังกล่าว จึงทำให้กลุ่มนักการเมืองที่กุมอำนาจแห่งรัฐจึงพยายามที่จะเข้าไปจัดการความขัดแย้งโดยคำนึงถึงเวลา หรือให้ความสำคัญกับระยะเวลาในการดำเนินการ ความเป็นจริงแล้ว หากสังคมหรือผู้ที่เกี่ยวข้องตัดสินใจที่จะใช้สันติวิธีในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งหรือความรุนแรง สิ่งที่จะต้องตระหนักรู้ก็คือ เราไม่สามารถกำหนดกรอบระยะเวลาในการทำงานได้ว่าจะเสร็จสิ้นเมื่อใด เพราะในการจัดการความขัดแย้งประกอบด้วยตัวแปรและเงื่อนไขจำนวนมากที่ผู้มีส่วนใดส่วนเสียเรียกร้องและต้องการ 

     (๓) สันติวิธีเป็นวิธีสำหรับคนขี้ขลาด และยอมจำนน ในขณะนักสันติวิธีมองว่า “สันติวิธีเป็นวิธีการสำหรับคนที่เข้มแข็ง” และมหาบุรุษที่ยิ่งใหญ่จำนวนมากได้ใช้สันติวิธีเป็นเครื่องมือในการจัดการความขัดแย้ง อย่างไรก็ดี กลุ่มคนบางกลุ่มมองสันติวิธีด้วยความสงสัยว่า สันติวิธีเป็นวิธีสำหรับคนขี้ขลาด หวาดกลัวและยอมจำนนต่อปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตีความประเด็นเรื่อง “ความสงบนิ่ง” หมายถึงการไม่ต่อสู่ หรือโต้แย้งกับคู่กรณีว่าเป็นความหวาดกลัว ไม่กล้าเผชิญหน้า หรือหลีกเลี่ยงปัญหา แท้ที่จริง ความนิ่งเงียบ การหลีกเลี่ยง และการไม่เผชิญหน้าถือได้ว่าเป็นกุศโลบายสำคัญประการหนึ่งของนักสันติวิธีในขณะที่สถานการณ์ความขัดแย้งกำลังขยายตัวรุนแรง และการตอบโต้จะทำให้สถานการณ์ต่างๆ ยุ่งยากมากยิ่งขึ้น

     (๔) ผู้ใช้สันติวิธีต้องชนะ และฝ่ายตรงข้ามตรงแพ้ ในขณะที่เกิดความขัดแย้ง และความรุนแรงขึ้นในสังคม จะพบว่า ได้มีกลุ่มบุคคลบางกลุ่มพยายามที่จะนำเสนอสันติวิธีเป็นเครื่องมือในการแสวงหาทางออก แต่ถึงกระนั้น เราจะพบประเด็นวาระที่ซ้อนเร้นต่อการนำเสนอประเด็นดังกล่าวในหลายกรณี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่นำเสนอประเด็นนี้มักจะมี “ความคาดหวัง” ต่อการใช้สันติวิธีว่า ผู้ที่ใช้สันติวิธีต้องเป็นฝ่ายชนะเท่านั้น ในขณะที่ผ่านตรงข้ามที่ไม่ได้ใช้สันติวิธีต้องพ่ายแพ้ต่อข้อขัดแย้ง ซึ่งในความเป็นจริงอาจจะไม่ได้เป็นเช่นนั้นก็ได้ เพราะการที่กลุ่มใด หรือบุคคลใดตัดสินใจใช้สันติวิธีแล้วมิได้หมายความว่า “บุคคลหรือกลุ่มบุคคล” นั้นจะต้องประสบชัยชนะเท่านั้น เนื่องจากบางข้อขัดแย้งประกอบด้วยตัวแปร และเงื่อนไขที่สลับซับซ้อน อีกทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เข้าไปเกี่ยวข้องประกอบด้วยกลุ่มคนจำนวนมาก 

     (๕) สันติวิธีคือการไม่ใช่อาวุธ เพราะไม่มีโอกาส การที่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งประกาศว่า จะไม่มีการใช้อาวุธซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความรุนแรงในการจัดการกับความขัดแย้ง นั้น มิได้หมายความกลุ่มคนดังกล่าวจะไม่ใช่อาวุธตามคำประกาศต่อสาธารณชน เพราะในความเป็นจริงกลุ่มเหล่านี้ “อาจจะ” เฝ้ารอจังหวะ และโอกาสที่ความขัดแย้ง และความรุนแรงเดินทางไปสู่วิกฤตที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากคู่กรณีไม่สามารถหาทางออกร่วมกันได้ ฉะนั้น ในขั้นตอนสุดท้าย เมื่อประสบกับโอกาสที่เหมาะสม กลุ่มคนเหล่านี้ จึงสร้างความชอบธรรมเพื่อให้ได้มาซึ่ง “การใช้อาวุธ” โดยประกาศว่าการตัดสินใจใช้อาวุธเพื่อจัดการแก้ปัญหาเนื่องมาจากการที่คู่กรณีไม่สามารถจัดการกับความขัดแย้งและความรุนแรงด้วยสันติวิธี

     (๖) สันติวิธีไม่สามารถประกันความสำเร็จได้ ทุกครั้งที่มีการนำเสนอ และตัดสินใช้สันติวิธีเป็นเครื่องในการจัดการกับความขัดแย้ง และรุนแรง จะพบว่า กลุ่มคนจำนวนมากในสังคมได้สร้างความ “คาดหวัง” ต่อสันติวิธีว่า “น่าจะ” จัดการกับความขัดแย้งและความรุนแรงได้ในทุกปัญหา เหตุผลเบื้องหลังของการคิดเช่นนี้อาจจะเกิดจากตัวนักสันติวิธีเองที่พยายามสร้างภาพว่าสันติวิธีคือคำตอบจนนำไปสู่ความคาดหวังที่สูงไปกว่าความเป็นจริง แท้ที่จริง เมื่อใดก็ตามที่กลุ่มคนในสังคมตัดสินใจที่จะเลือกใช้สันติวิธี การเลือกดังกล่าว มิได้ผูกติดไปกับความสำเร็จแต่ประการใด เพราะบทเรียนจากอดีตจนถึงปัจจุบันพบว่า การใช้สันติวิธีไม่สามารถนำไปสู่ผลสำเร็จได้ในทุกกรณีแต่ประการใด

๖. ตัวแปรที่สร้างความสำเร็จต่อการใช้สันติวิธี

     ปัจจัยและเงื่อนไขที่จะทำให้สันติวิธีทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวสันติวิธีแต่เพียงประการเดียวเท่านั้น ถึงแม้ว่าเราจะยอมรับว่าสันติวิธีคือทางเลือกที่ดีที่สุดในการจัดการความขัดแย้งได้อย่างยั้งยืน แต่ประเด็นที่ควรใส่ใจมากยิ่งขึ้นคือ “ผู้ใช้สันติวิธี” คำถามส่วนใหญ่ที่เรามักจะถามคือ “สันติวิธีเป็นวิธีที่ดีที่สุดจริงหรือ?” แต่เรามักไม่ใส่ใจที่จะถามว่า “ผู้ใช้สันติวิธีมีความรู้และเข้าใจต่อสันติวิธีมากเพียงใด” และ “สามารถประยุกต์ใช้เครื่องมือให้สอดรับกับสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในบริบทต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร?” ด้วยเหตุนี้ งานนี้จึงนำเสนอตัวแปรที่ “น่าจะ” สร้างความสำเร็จต่อการใช้สันติวิธีว่า ควรประกอบด้วยวิธีคิด วิธีการแสดงออกหรือท่าที และวิธีการประยุกต์ใช้เครื่องมือของสันติวิธี

     (๑) วิธีคิด วิธีคิดในบริบทนี้ หมายถึง ความเข้าใจที่มีต่อตัวสันติวิธี และการมองสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในบริบทต่างๆ ผู้เขียนมีสมมติฐานว่า “ความเข้าใจที่แตกต่างนำไปสู่กระบวนการคิดและปฏิบัติที่แตกต่าง” ประเด็นคือ การที่บุคคล หรือกลุ่มบุคคลมีความเชื่อ และความเข้าใจต่อสันติวิธีในมุมมองที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าใจความหมายของสันติวิธีที่แตกต่างกัน ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมจะพบว่า ในขณะที่รัฐมองว่าสันติวิธีหมายถึงการเคารพกฎหมาย และการไม่ก่อความวุ่นวาย แต่ประชาชนมองว่า สันติวิธีคือการประท้วงเพื่อเรียกร้องความต้องการ และการที่รัฐจะยินยอมตามเงื่อนไขการเจรจานั้นมักขึ้นอยู่กับจำนวนปริมาณของจำนวนประชาชนที่รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องผลประโยชน์และความต้องการ ฉะนั้น เมื่อสองกลุ่มเข้าใจสันติวิธีในแง่มุมที่แตกต่างกัน ย่อมส่งผลต่อการปฏิบัติที่ทั้งสองกลุ่มแสดงออกต่อกัน

     (๒) วิธีแสดงออกต่อกันและกัน ผู้เขียนมองว่า ในสถานการณ์ความขัดแย้งที่นำไปสู่ความรุนแรงในมุมต่างๆ ของโลกนั้น ในความเป็นจริงแล้ว ประเด็นปัญหาไม่ได้เกิดจากการที่มนุษยชาติขาดเครื่องมือในการจัดการความขัดแย้งจึงทำให้ความขัดแย้งตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาที่ปรากฏชัดในสถานการณ์ปัจจุบันคือ “ท่าทีที่คู่ขัดแย้งแสดงออกต่อกัน” ไม่ว่าจะเป็นการพูด หรือกล่าวพาดพิงถึงคู่กรณีในสถานการณ์ต่างๆ ที่มีลักษณะของการเหน็บแนม หรือส่อเสียดคู่กรณี จะเห็นว่า ท่าทีที่ไม่เป็นมิตรดังกล่าว ทำให้ช่องว่างของความสัมพันธ์ของคู่กรณีเกิดภาวะสุญญากาศมากยิ่งขึ้น และทำให้กระบวนการสร้างความปรองดองยากยิ่งขึ้นเช่นเดียวกัน

     (๓) วิธีการในการจัดการความขัดแย้ง ดังที่ได้นำเสนอในเบื้องต้นว่า “ในการจัดการความขัดแย้งนั้น ปัญหาสำคัญอาจจะไม่ได้เกิดจากตัวสันติวิธีที่ขาดประสิทธิภาพ” แต่ปัญหาส่วนใหญ่ที่มักปรากฏในสังคมคือ “นักสันติวิธี หรือผู้ใช้สันติวิธี” ไม่สามารถใช้หลักการและเครื่องมือให้สอดรับกับตัวแปรต่างๆ กล่าวคือ สอดรับกับสาเหตุของสถานการณ์และความเป็นไปของความขัดแย้ง สอดรับกับสาระและผลอันเกิดจากสาเหตุของความขัดแย้ง สอดรับและเหมาะสมกับตนเองทั้งในด้านความรู้ และความสามารถในการใช้เครื่องมือจัดการความขัดแย้ง สอดรับกับหลักของความพอดี และเหมาะสมของการใช้เครื่องมือ สอดรับกับจังหวะและเวลาของการเข้าไปใช้เครื่องมือ สอดรับกับการปรับตนและแก้ไขตนให้เหมาะกับสภาพของกลุ่มและชุมชนมีส่วนได้ส่วนเสียต่อสถานการณ์ของความขัดแย้ง และสอดรับกับการปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่มีความแตกต่างกันทั้งความคิด ค่านิยม และโครงสร้าง

 

๗. ส่งท้าย

     บทความเรื่องนี้ ผู้เขียนพยายามที่จะตอบปัญหาว่า การที่กลุ่มคนในสังคมแบบพหุนิยมที่ขัดแย้งกันทั้งในแง่ของความคิด ผลประโยชน์ ความต้องการ ค่านิยม และโครงสร้างจะสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยหลักการและเครื่องมือของสันติวิธีมาประยุกต์ใช้จัดการความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในระหว่างบุคคล หรือกลุ่มบุคคล

     อย่างไรก็ดี ความสำเร็จ หรือล้มเหลวในการใช้สันติวิธีนั้น มักจะประกอบด้วยตัวแปรหลักๆ ๒ ประการคือ ตัวสันติวิธี และผู้ใช้สันติวิธี กลุ่มคนทั่วไปมักจะตีความสันติวิธีให้สอดรับกับผลประโยชน์และความต้องการของตัวเอง หรือกลุ่มตน ซึ่งการตีความเช่นนี้ส่งผลให้สันติวิธีไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้กลไกในการใช้สันติวิธีประสบกับความตัดขัด

     ปัจจัยและเงื่อนไขสำคัญคือ การที่กลุ่มต่างๆ ศึกษาสันติวิธีให้เข้าใจรอบด้านเกี่ยวกับหลักการ และเครื่องมือของสันติวิธีทั้ง ๓ แนวคิด กล่าวคือ สันติวิธีในฐานะเป็นเครื่องมือเรียกร้องความต้องการ สันติวิธีในฐานะเป็นเครื่องมือในการจัดการความขัดแย้ง และสันติวิธีในฐานะเป็นเครื่องมือในการดำเนินชีวิต การศึกษาและทำความเข้าใจดังกล่าวจะนำไปสู่การมีท่าที่ถูกต้อง และแสดงออกทางพฤติกรรม การพูดที่เป็นไปในเชิงบวกมากยิ่งขึ้น

     ด้วยเหตุดังกล่าว วิธีการใช้เครื่องมือจึงมีความสำคัญต่อการจัดการความขัดแย้งในสถานการณ์ต่างๆ ว่าสอดรับ และเหมาะสมกับเหตุ ผล ตน ประมาณ กาล ชุมชน และบุคคลมากน้อยเพียงใด การตระหนักรู้ และใส่ใจต่อความหมายที่แท้จริงของสันติวิธี ย่อมทำให้นักสันติวิธีมีวิธีคิด วิธีการตอบสนองต่อคู่กรณีด้วยท่าทีในเชิงบวก และใช้เครื่องมือได้ถูกต้อง เหมาะสมต่อสถานการณ์ความขัดแย้งได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 

 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 410180เขียนเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2010 00:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 21:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

นมัสการครับ

    ผมว่า "สันติวิธี"  ไม่ใช่กฏธรรมชาติ ครับ

    กฏธรรมชาตื คือ "ปลาใหญ่กินปลาเล็ก"

    "สันติวิธี"  จึงเป็นเรื่อง  "ทวน" กระแส   ที่จะต้องมีการ "ฝึก"  กันอย่างจริงจังและเข้มข้น  นะครับ

      อย่างน้อย   ต้องมาจากพึ้นฐานที่สำคัญ คือ  "การฟัง" ครับ  และ  ต้องเป็น "การฟังอย่างลึกซึ้ง"

 

Khun small man said in #1 ...กฏธรรมชาตื คือ "ปลาใหญ่กินปลาเล็ก"...

A Law of Nature? I think we should observe that germs eat away much larger hosts; people fear mice, snakes, cockroaches, ...

It may be more appropriate to say "the unfit fall preys to fit predators" regardless of size!

ท่าน ผอ. Small Man,

เห็นด้วยว่า สันติวิธีเป็นวิธีที่เหมาะสำหรับ ผู้ที่อดทน เข้มแข็ง และเป็นแนวทางที่ทวนกระแสกิเลส เนื่องจากต้องใช้ระยะเวลา ต้องใช้ความนุ่มนวล และอดทน ส่วนใหญ่คนมักจะทนไม่ได้ รอไม่ได้

ด้วยเหตุึนี้ จึงนำไปสู่การเลือกเอาความรุนแรงมาเป็นเครื่องมือแก้ปัญหา โดยมองว่าว เร็วกว่า เด็ดขาดกว่า จัดการปัญหาได้ไวกว่า แต่ความจริงคือ "เมื่อเราแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง ทุกอย่างอาจจะดูสงบเงียบ แต่ในความสงบเงียบนั้น ได้ซ่อนร่องรอยของความเกลียดชัง และความอาฆาตมาตรร้ายเอาไว้เพื่อรอเวลาแก้แค้นหรือเปล่า

ถูกต้องตามที่อาจารย์นำเสนอว่า "การฟัง" เป็นเครื่องมือหนึ่งของความสำเร็จ ถึงกระนั้น สิ่งที่แวดล้อม "การฟัง" ย่อมมีสิ่งอื่นๆ หรือตัวแปรอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องเยอะมากมาย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับบริบทของความขัดแย้งที่เรากำลัีงเผชิญหน้า

ครับพระอาจารย์

"มนุษย์" คงทนรอหรือรอจนทนไม่ไหว..

การเยียวยาด้วยสันติวิธีจึงเป็นเงื่อนไขความจำยอม หรือจำเป็นต้องมี

หรือเป็นเพราะมีเงือนไขของความดีจึงมีความเลวร้าย

หรือเป็นเพราะมีคนดีจึงมีผู้ร้าย

ป.ล

มจร.จะเปิดทำการเเล้ว.

กราบสวัสดีพระอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท