ทุน 8 K


ผู้นำที่ดีต้องมีทุน 8 K

ผู้นำที่ดีต้องมีทุน ๘ K

 

มนุษย์ทุกคนย่อมมีทุนของตัวเอง เรียกง่ายๆว่าทุนมนุษย์ ทุนมนุษย์ได้แก่  ทุนที่ได้มาจากความรู้ขั้นพื้นฐานของการศึกษาเล่าเรียนในสถาบันการศึกษาซึ่งถือว่าเป็นทุนขั้นพื้นฐานที่ทุกคนจะต้องมี    

ทุนมนุษย์ของแต่ละคนจะมีมากน้อยขึ้นอยู่กับมนุษย์ผู้นั้นเกิดอยู่ในครอบครัวใด สังคมใด ถ้าเกิดมาในครอบครัวที่ร่ำรวยก็มีโอกาสที่จะมีทุนมนุษย์มากกว่าคนอื่น การศึกษาเป็นจุดเริ่มต้นนับคุณค่าของมนุษย์ในสังคม มนุษย์ทุกคนจึงพยามยามศึกษาเล่าเรียนในสถาบันการศึกษาที่มอบวุฒิบัตรเพื่อให้ได้รับการยกย่องจากสังคมว่าเป็นผู้มีการศึกษาสูง  เป็นบันไดในการเข้าทำงานในบริษัทที่ดีมีเงินเดือนสูง

มนุษย์ในปัจจุบันมีการศึกษาสูงมากกว่ามนุษย์ในสมัย ๒๐ – ๓๐ ปีก่อน สถานประกอบการรับพนักงานใหม่ที่จบปริญญาตรีเป็นอย่างต่ำ ดังนั้นมนุษย์ทุกคนจึงต่างลงทุนเพื่อให้ได้เรียนมหาวิทยาลัย ถ้าไม่สามารถเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐได้ก็ต้องไปเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยของเอกชน ซึ่งค่าเล่าเรียนแพงมาก

เด็กนักเรียนชั้นมัธยมปลายนอกจากต้องเรียนหลักสูตรปกติแล้ว ยังต้องไปเรียนพิเศษเพื่อติวเข้มในบางวิชาตามสถานที่กวดวิชา ทำให้ต้องใช้เงินในการศึกษามากขึ้น เมื่อถึงเวลาเข้ามหาวิทยาก็เลือกเข้าเรียนในคณะที่ตัวเองได้คะแนนพอที่จะเข้าได้ โดยไม่คำนึงว่าคณะที่เลือกเรียนจะทำให้มีความรู้เพื่อไปประกอบอาชีพที่ตัวเองพอใจหรือไม่ ขออย่างเดียวให้ได้เรียนมหาวิทยาลัย และให้จบปริญญาตรีเป็นใช้ได้

เมื่อจบปริญญาตรีก็วิ่งหางานที่สบายและได้เงินเดือนสูงๆ ความรับผิดชอบน้อยๆโดยไม่สนใจว่าตัวเองมีความรู้ในงานแค่ไหน ถ้าหางานที่ตัวเองต้องการไม่ได้ก็ไปเรียนปริญญาโทต่อเพื่อไม่ให้เสียหน้า

ผมไม่ทราบว่ามีผู้ใดทำวิจัยไว้หรือยังว่า มนุษย์แต่ละคนนั้นต้องใช้เงินเป็นจำนวนเท่าใดโดยเริ่มนับตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งจบปริญญาตรี ทุนส่วนตัวเท่าใดและทุนจากรัฐเท่าใด

ปัจจุบันประเทศไทยมีปัญหาเรื่องขาดแรงงานคุณภาพเป็นจำนวนมาก แรงงานในที่นี้ผมหมายถึงพนักงานลูกจ้างทุกประเภท ทั้งที่ใช้แรงงานและใช้สมอง พนักงานปัจจุบันมีเงื่อนไขและต้องการผลตอบแทนในการทำงานมากกว่าสมัยก่อน ส่วนเจ้าของกิจการต้องการได้คนที่ทำงานเก่งและมีความซื่อสัตย์ ลูกจ้างและเจ้าของกิจการมักจะมองเรื่องรายได้เป็นหลัก เจ้าของกิจการจะมองที่กำไรและมองว่าค่าจ้างเป็นรายจ่าย จึงต้องการจ่ายน้อยที่สุดได้งานมากที่สุด สำหรับลูกจ้างต้องการได้รายได้มาก เพราะได้ลงทุนในการศึกษาเล่าเรียนไปมาก และมีรายจ่ายประจำทั้งของตัวเองและผู้ที่อยู่ในความดูแล

เจ้าของกิจการไม่ได้สนใจความเป็นอยู่ของลูกจ้างมากนักถือว่าค่าจ้างคือค่าใช้จ่าย ดังนั้นจึงดูที่ผลการประกอบการเป็นสำคัญ ไม่ได้ดูว่าลูกจ้างจะอยู่ได้หรือไม่ จึงทำให้ลูกจ้างขาดทุนแห่งความสุข จึงไม่สามารถทำงานให้มีคุณภาพได้ เมื่อรายได้ไม่เพียงพอ มองหาโอกาสได้งานใหม่ที่มีรายได้มากกว่า  ถ้ายังหางานใหม่ที่มีรายได้ดีกว่าไม่ได้ ก็ต้องจำยอมทำงานไปวันๆ โดยไม่มีความสุข

เจ้าของกิจการส่วนมากมักจะโทษพนักงานว่าไม่มีฝีมือ พนักงานไม่สนใจทำงาน พนักงานไม่มีความซื่อสัตย์ พนักงานไม่มีความอดทน กิจการเล็กๆมีโอกาสน้อยที่จะได้พนักงานตรงตามคุณสมบัติที่ต้องการเพราะค่าจ้างต่ำ ดังนั้นถ้าต้องการได้พนักงานที่มีคุณภาพสูง เจ้าของกิจการจะต้องลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ โดยกำหนดให้ทรัพยากรมนุษย์เป็นทุนในการประกอบธุรกิจ ไม่ใช่คิดว่าทรัพยากรมนุษย์เป็นรายจ่าย

ผู้ที่อยู่ในครอบครัวที่มีฐานะร่ำรวย หรืออยู่ในสังคมชั้นสูง ผู้ปกครองมีตำแหน่งหน้าที่การงานในระดับสูงของหน่วยงานราชการหรือผู้ที่อยู่ในฐานะที่สังคมยกย่อง ก็จะได้เปรียบมนุษย์ทั่วๆไป จึงสามารถมีงานทำในตำแหน่งสูงๆและรายได้ดี

 

 

สำหรับมนุษย์ทั่วไปที่ไม่ได้มีเส้นสายหรือมีปัญญาเลิศ จะต้องตั้งสติให้ดีว่า เราอยากจะทำงานอะไร และควรจะเรียนอะไรเพื่อจะได้ออกไปทำงานตามอาชีพที่ต้องการ ถ้าเราสามารถเรียนในหลักสูตรที่ตรงกับงานที่เราอยากจะทำ ก็จะทำให้เรามีความสุข เกิดการ เรียนรู้ทำให้เกิดปัญญา และสามารถเข้าทำงานที่ชอบและถนัด ทำงานอย่างมีความสุข มนุษย์ผู้นั้นถือว่ามีทุน มนุษย์ ทุนปัญญา และทุนแห่งความสุข

ทรัพยากรมนุษย์ในระดับหัวหน้า จะต้องเพิ่มทุนทางจริยธรรม ทุนทางสังคม ทุนแห่งความยั่งยืน        ทุนทางเทคโนโลยี  ทุนความรู้ ทักษะ และทัศนคติ จึงจะมีคุณสมบัติเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าได้ หากขาดทุนใดทุนหนึ่ง ก็ไม่สามารถที่จะเป็นผู้นำที่ดีได้

 

ทุนที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นทฤษฎี 8 K ของ ศ . ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ หากท่านสนใจและต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมขอให้ท่านเข้าไปค้นคว้าได้ใน website : www.chiraacademy.com

 

ผู้นำที่ดีจะต้องมองถึงประโยชน์ของสังคมและประเทศชาติมากกว่าประโยชน์ของตัวเองและพวกพร้อง หากสังคมอ่อนแอ ประเทศชาติก็จะล่มสลาย สุดท้ายเราเองก็จะอยู่ไม่ได้เช่นกัน

 

 

 

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

๒๑ พฤษภาคม ๒๕๔๙

หมายเลขบันทึก: 409394เขียนเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2010 22:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 20:55 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท