นักบริหารการศึกษาเพื่อธุรกิจ...!


สืบเนื่องจากบันทึก ความฝันทางการศึกษา (Imagine in Education)

จินตนากรรมของตนเองมาจากไหน มาจากจินตนากรรมของนักวิชาการทางการศึกษาสร้างไว้ใช่หรือไม่ หรือถ้าจะพูดให้เลวร้ายยิ่งกว่าจินตนากรรมของนักเรียนนักศึกษาในปัจจุบันมาจากจินตนากรรมของ "นักธุรกิจ..."

นักธุรกิจที่แฝงตัวอยู่ในคราบนักการเมือง ในคราบนักการศึกษา ผู้บริหาร หรือแม้กระทั่ง "คณาจารย์"

นักธุรกิจคือบุคคลที่ทำกิจกรรมเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ให้กับตนและพวกพ้องเป็นหลัก (Shareholders wealth maximization)

ทำทุกอย่างเพื่อ "ผลกำไร" อันจะตอบแทนกลับมาซึ่งลาภ เกียรติ ยศ สรรเสริญ

นักบริหารการศึกษาปัจจุบันกลายเป็นการเมืองกันมาก และก็เป็นนักการศึกษาในคราบนักธุรกิจกันเยอะ

การแสดงความคิดเห็นแบบนี้อาจจะผิดกฏของ G2K ที่ต้องการให้เขียนแต่ในเชิงบวก เชิงสร้างสรรค์ แต่บางครั้งอะไรที่บวก ๆ นั้นก็ห่างจาก "ความจริง..."

ชีวิตของเราทุกวันนี้ไม่ได้อยู่ในสังคมเชิงบวก ความจริงทางการศึกษาในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องบวก ถ้าหากจะหนีเรื่องบวกโดยการหาเรื่องบวกมาพูด เรื่องลบ ๆ ก็ถูกกลบไว้

การจะแก้ไขปัญหา นั้นนอกจากกระทำดี โดยการคิด พูด ทำในการบวกแล้ว ก็ต้องหยุดการกระทำชั่วร่วมกันไปด้วย

ถ้าไม่รู้จักความชั่ว ไม่นำเรื่องผิด ๆ ลบ ๆ ขึ้นมาพูด ขึ้นมาแก้ไข จะแก้ไขปัญหาให้ครอบคลุมได้อย่างไร...?

เพราะหลักในการดำเนินชีวิตในทางพระพุทธศาสนานั้น พระพุทธองค์กล่าวไว้ว่า คนเราจักต้อง "ละความชั่ว ทำความดี และกระทำตนให้ขาวรอบ"

ปัจจุบันคนทำดีกับทำชั่วนั้นมีสัดส่วนต่างกัน

คนทำความดีกลายเป็นคนส่วนน้อยในระบบประชาธิปไตย เพราะความชั่วในใคร ๆ เขาก็ทำกัน

เรื่องนักการเมืองเข้ามาทำงานเพื่อหาผลประโยชน์ก็กลายเป็นเรื่องธรรมดา ดังนั้นผู้บริหารการศึกษาสวมบทบาทนักการเมืองเข้ามาเพื่อหาผลประโยชน์ก็เป็นเรื่องธรรมดาเช่นเดียวกัน

ถ้าหากการศึกษาไทยไร้ซึ่งผลประโยชน์ การศึกษาไทยคงจะก้าวหน้าไปกว่านี้อีกมาก

ผลประโยชน์นั้นแล เปรียบเสมือนอาหารอันโอชะสำหรับปลวก มด มอด ที่กัดกินรำเรือของตัวเอง

ถ้าครูเปรียบเสมือนเรือจ้าง เรือลำนั้นก็กำลังจะล่ม เพราะถูกปลวกกัดจนน้ำท่วมเข้าเรือจนพายไปได้ไม่ถึงไหน

เรื่องปลวกก็กำจัดไม่ได้ มือหนึ่งต้องพาย อีกมือหนึ่งต้องวิดน้ำ

เด็กที่นั่งอยู่ในเรือ ก็เรียนรู้การกระทำของครู เพราะการกระทำเสียงดังกว่า "คำพูด"

ปากครูก็พร่ำสอนไป แต่ใจนั้นมีภาระหนักอึ้ง

ชีวิตครูในปัจจุบันจึงน่าสงสาร ทั้งต้องสู้รบกับปลวกที่กินเรือ แล้วไหนมือหนึ่งต้องพาย อีกมือต้องวิดน้ำ ปากก็ต้องพร่ำสอนลูกศิษย์ สายตาก็ต้องเหลือบไปดูลูก ดูครอบครัว

ช่วงนี้จึงต้องให้กำลังใจ เพื่อสร้างกำลังกายกับคุณครูให้มาก ๆ เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤติการณ์อันเลวร้าย ที่สรรพภัยรุมล้อมมารอบด้าน

ถ้าประเทศนี้ไม่มีนักธุรกิจ ชีวิตของครูคงจะมีสุขขึ้นอีกมาก

นักธุรกิจที่สร้างจินตนากรรมทางธุรกิจแล้วนำมาครอบคลุมชีวิตของนักวิชาการทางการศึกษา จนกลายเป็น "นักบริหารการศึกษาเพื่อธุรกิจ...!"

หมายเลขบันทึก: 408981เขียนเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2010 14:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 17:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

กล่าวกันว่าการศึกษาของเรากำลังส่งเสริมปริญญาโทและเอก แต่ต้องกลับไปทำงานกินเิงินเดือนระดับป.ตรี  น่าจะถึงทางตันสักวันหนึ่งเร็วๆนี้นะครับผม 

ขออนุญาตแชร์ความคิดเห็นครับ

เป็นไปทั่วทุกวงการแล้วครับ ไม่ว่าจะขยับตัวทำอะไรจะต้องถามก่อนเลยว่า มี Budget ไหม? มีเท่าไหร่? แม้กระทั่งนักศึกษาจบใหม่ที่ยังไม่รู้ตัวเองเลยด้วยซ้ำว่าจะทำงานได้หรือเปล่า มาสมัครงานถามเรื่องเงินเดือนก่อนเลยว่าจะให้เท่าไหร่? ได้ตามวุฒิไหม? พอได้เข้ามาทำงานก็หลบเลี่ยงทุกวิถีทาง บางคนมีปลอกคอ ไม่มีใครกล้ายุ่ง ตั้งแก๊งค์อิทธิพลเล่นการเมืองกัน บางพวกก็ตั้งเป็นแก๊งค์คนบันเทิงเล่นละครตบตากันไปวันๆเข้าตำรา "ละครน้ำเน่า" เหมือนนางร้ายในละครที่ชอบใส่ไฟนางเอกให้คนอื่นๆเข้าใจผิด และทำว่าตัวเองเป็นคนดีมีศีลธรรม ตอนจบทุกคนรู้ความจริงและนางร้ายก็แพ้ภัยตนเองไป....อะไรประมาณนี้ แต่ความต่างอยู่ตรงที่ชีวิตจริงมันไม่มีตอนจบ ไม่มีฉากจบ นางเอกอาจต้องจบชีวิตลงไปเสียก่อน

น่าเห็นใจพวกที่ทุ่มเททำงานให้องค์กรอย่างเต็มกำลังความสามารถ คนพวกนี้กลับถูกมองว่าเป็นพวก "วัว" ไม่ใช่ "ดาวเด่น" ตามตำราตะวันตกกล่าวไว้ คนต่อมาที่น่าเห็นใจคือ เจ้าขององค์กร ผู้ลงทุน ที่ถูกปิดหูปิดตาด้วยการสร้างภาพจากผู้กำกับที่เป็นดาวเด่นทั้งหลายให้่กำลังใจ "วัว" ทุกตัวครับ ส่วนท่านที่เป็นเจ้าขององค์กรผมคิดว่าท่านควรหาเวลามาดูเบื้องหลังการถ่ายทำบ้างก็ดีนะครับ

ขอบคุณที่เปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นครับ

วุฒิการศึกษาของคนก้าวไปไกล แต่วุฒิภาวะของคนในก้าวไม่ทัน

วุฒิการศึกษาของคนก้าวไปไกลขนาดไหน แต่วุฒิภาวะของสังคมนั้นยังอยู่ห่างไกลจากความจริง

คนเรานั้นนำวุฒิการศึกษามาพัฒนาตัวเอง ตัวเองไปแล้ว แต่ไม่นำสังคมไปด้วย เรียกง่าย ๆ ว่า "เอาตัวรอด" เอาตัวไป แต่ไม่เอาส่วนรวมไป

มีสักกี่คนที่จะลาไปศึกษาต่อเพื่ออยากที่จะกลับมาพัฒนาองค์กร พัฒนาประเทศชาติเป็นงานหลัก

เพราะคนหลายคนที่ข้าพเจ้าพบเจอมาลาไปศึกษาต่อเพื่อพัฒนาตำแหน่งหน้าที่การงานของตัวเอง เพราะบางครั้งอยากให้คุณวุฒิก้าวล้ำนำหน้ากว่าวัยวุฒิ อายุน้อย การศึกษามาก

ต้นไม้เวลาโต ยังต้องพัฒนาลำต้นเพื่อรองรับกิ่งก้านที่แผ่ขยายออกมา

ต้นไม้ใดที่ถูกเร่งโต พอเจอลมแรง ๆ อันได้แก่ ลูกน้องที่มีวัยวุฒิมากกว่าก็ดี จำนวนของลูกน้องที่มากมายก็ดี "ปริญญา" จะต้านทานแรงลมไม่ไหว

แต่จะทำอย่างไรได้ ก็เมื่อคนทั้งคมเฮละโลไปเรียนเพิ่มวุฒิกันหมด ซึ่งสมัยนี้เรียนง่าย เพราะสถาบันการศึกษาแข่งขันกันเกิดสาขาวิชาทั้งโท ทั้งเอก

เมื่อก่อนจะเรียนต่อโทกันสักที ต้องสอบแข่งกันหน้าดำคร่ำเครียด แต่เดี๋ยวนี้ "ธุรกิจการศึกษา" ต่างกันแย่งชิงเพื่อให้ได้มาซึ่งนักศึกษาอันจะนำมาซึ่ง "เงิน"

เมื่อสถาบันการศึกษากลายเป็นองค์กรทางธุรกิจ ที่ส่งบุคลากรไปเรียนต่อเพื่อหวังที่ให้กลับมาเปิด ป.โท ป.เอก องค์กรธุรกิจแบบนี้ไม่ต้องคำนึงถึงคุณภาพ

ป.โท ป.เอก เป็นแหล่งรายได้ ยิ่งอาจารย์หรือบุคลากรของตนเรียนจบไวเท่าไหร่ ก็ยิ่งสร้างรายได้ให้เร็วเท่านั้น

ดังนั้นหลักสูตร ป.โท ป.เอก ภาคปกติ เรียนยาก ๆ เรียนนาน ๆ จึงไม่ถูกสนับสนุนจากนักบริหารการศึกษาภาษานักธุรกิจเท่าใดนัก

วิสัยทัศน์ปัจจุบันคือ "จบก่อน ได้ก่อน"

อย่างเช่นทุกวันนี้ สถาบันที่เปิดสอนระดับปริญญาโทเยอะมาก และก็หาคนเรียนได้ยากมากเหมือนกัน เพราะคนที่อยากเรียน เขาก็เรียนจบไปหมดแล้ว

คราวนี้ก็ต้องมาแข่งกัน มีโปรโมชั่นต่าง ๆ นานา เพราะสถาบันก็ได้ลงทุนไปแล้ว ส่งบุคลากรไปศึกษาต่อแล้ว เสียเงินค่าเปิดหลักสูตร และจ้างผู้ทรงคุณวุฒิแล้ว ลงทุนไปแล้วก็ต้องหาทางถอนทุนคืน

ระบบการศึกษาในปัจจุบัน (ซึ่งอาจจะผิด) นั้นเป็นอย่างนี้

ดังนั้น อาจารย์ที่ไปเรียนหลักสูตรเร่งรัดเพื่อให้จบปริญญาเอก ในการที่จะรองรับการเปิดหลักสูตรปริญญาโทนั้น จะสอนให้นักศึกษามีคุณภาพเหมือนอาจารย์รุ่นก่อน ๆ นั้นเป็นไปได้ยาก

สิ่งนี้เอง จึงเป็นปรากฏการณ์อย่างที่ท่าน โสภณ เปียสนิท ได้กล่าวได้ว่า "กล่าวกันว่าการศึกษาของเรากำลังส่งเสริมปริญญาโทและเอก แต่ต้องกลับไปทำงานกินเิงินเดือนระดับป.ตรี  น่าจะถึงทางตันสักวันหนึ่งเร็วๆนี้นะครับผม" 

สิ่งนี้มีเหตุ มีปัจจัยที่ส่งให้มาเป็นอย่างนี้ เพราะถึงแม้นคุณวุฒิจากเกียรติบัตร ปริญญาบัตรจะดูสูงขึ้น แต่คุณภาพไม่สูงขึ้นตามเกียรติบัตรนั้น เกียรตินั้นก็กลายเป็นแค่เศษกระดาษ

องค์กรต่าง ๆ โดยเฉพาะองค์กรธุรกิจ จัดตั้งขึ้นมาเพื่อแสวงหากำไร เขาจ่ายอะไรออกไปก็ต้องหวังว่าได้รับกลับมาสูงกว่า

และในทางกลับกัน หน่วยงานราชการ ก็ดำรงตนเป็นองค์กรธุรกิจมากขึ้น คือ หวังกำไรขาดทุนมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ดังนั้นจะรับคนไม่เก่ง ไม่มีคุณภาพ แต่จ่ายเงินตามวุฒิ หรือจ่ายมากกว่าคุณภาพที่ได้รับ เขาก็เริ่มปฏิเสธเหมือนกัน

เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัย ปัจจุบันก็เริ่มปฏิเสธผลผลิตของตนเอง เพราะรู้อยู่แก่ใจว่าผลผลิตที่ตนเองผลิตออกมานั้นเป็นอย่างไร แต่จะพูดออกไปให้ใครรู้ก็ไม่ได้ เพราะเหมือนกลืนน้ำลายลงคอ

ทุกอย่างกำลังดำเนินไปอย่างเป็นวัฏจักร หมุนเวียน เปลี่ยนไป สุดท้ายก็กลับมาที่จุดเดิมคือ สถาบันการศึกษา หรือมหาวิทยาลัย สถานที่ที่ผลิตคน ผลิตใครออกไป สุดท้ายตนเองก็ได้รับผลอย่างนั้น

การนำสถาบันออกนอกระบบ การกระจายอำนาจ การปกครองตนเอง เป็นดาบสองคม ถ้าไม่พิจารณาถึงเรื่อง "ผลประโยชน์" ผลได้ ผลเสียให้ดี ปรากฏการณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้มีแต่เสียมากกว่าได้...

ขอบพระคุณคุณธนากรณ์ ใจสมานมิตร เป็นอย่างสูงสำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ทรงคุณค่ายิ่ง


สำหรับข้าพเจ้านั้นมีความคิดเห็นส่วนตัว (ซึ่งอาจจะผิด) ว่า คนเราในสังคมทุกวันนี้อยู่ในสภาวะ "น้ำท่วมปาก" คือรู้แต่พูดอะไรไม่ได้ หรือพูดได้ก็ไมอยากจะพูด เพราะพูดไปสองไพรเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง

เมื่อก่อนส่วนใหญ่รู้แต่ไม่อยากพูด หรือเคยพูดแล้วก็เหมือนเอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุง พูดแล้วมีกระแสทางลบตอบกลับมา สัญชาตญาณการเอาตัวเราของตนก็ตอบตนเองว่า "รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี"

เพราะแต่ละคนก็มีครอบครัว รักษาสถานะความมั่นทางการงานของตนไว้ดีกว่า ทำงานไปวัน ๆ ไปตามน้ำ ไม่ขัดใคร หลับตาข้างหนึ่ง ปิดหูสักข้างหนึ่ง มีอะไรกิน ก็กินกับเขาไป อย่าไปทำตัวเป็นไอ้เข้ขวางคลอง แล้วชีวิตการงานที่เป็นหลักประกันของครอบครัวก็จะอยู่รอด "ปลอดภัย"

เมื่อคนเรามีสมการชีวิตแบบนี้ สังคมก็เป็นแบบนี้ เป็นเหตุและเป็นผลกัน

แม้แต่ในวงการวิชาการ บางครั้งพูดเรื่องแบบนี้มาก ก็กลายเป็น Negative Thinking "ไม่สร้างสรรค์..."

ปัจจุบันอุปาทานมันซ้อมอุปาทาน นำความรู้มาปิดปากกันไว้ นำวิชาการจากเมืองนอกมาปิดบังหัวใจคนไทย แล้วไหนฤาจะสร้างคนไทยให้มี "จิตสำนึก"

ผมว่าวงการวิชาการในปัจจุบันก็ตลกดี เมื่อมีการนำทฤษฎีของอีกฝั่งยกขึ้นมาวิพากษ์กับอีกฝั่ง

เรื่องพูดบวก พูดลบ ห้ามพูดลบ แต่ทำลบได้ พูดดีแต่ทำลบได้ ไม่เป็นไรเพราะ "พูดดี..."

นักวิชาการปัจจุบันพูดเยอะ พูดดี แต่บางครั้งไม่ทำดี หรือแย่กว่านั้นคือ "ทำลบ"

คือพูดได้ แต่ทำไม่ได้ หรือพูดได้ แต่ก็ไม่ได้ทำ

ดังนั้น วงการวิชาการจึงกลายเป็นวงการของนักพูด ซึ่งพูดมาก ๆ พูดดี ๆ ก็มีงาน มีเงิน มียศ มีลาภ มีตำแหน่ง มีหน้า มีตา มีอะไรต่ออะไร แต่ "มีการกระทำดี" บ้างหรือไม่? ขอฝากไว้ให้คิด...

มันเริ่มต้นจากระบบการศึกษาที่ตอบสนองต่อระบบทุนนิยมตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว

ระบบที่สนองระบบทุนนิยมได้แก่ ระบบโรงเรียนที่ต้องการผลิตเด็กให้เคยชินกับโรงงานอุตสาหกรรม

ไม่ว่าจะวัดและประเมินอะไร หรือสร้างคุณธรรมอะไร ก็เป็นไปเพื่อสนองระบบธุรกิจทั้งสิ้น

ประกอบกับ ระบบการพัฒนาครูที่ใส่ใจ ในคุณวุฒิมากกว่า สมรรถนะ มันก็ตอบสนองระบบธุรกิจทุนนิยมนี้ทั้งสิ้น

หากจะเพิ่มเติมเสริมต่ออีกนิด ในปัจจุบันเองสถาบันการศึกษาก็แปรสภาพเป็นหน่วยงานธุรกิจที่ดำเนินการตามระบบทุนนิยมอย่างสมบูรณ์ด้วยตนเอง

เพราะนอกจากที่จะผลิตคนไปตอบสนองระบบธุรกิจทุนนิยมแล้ว ในปัจจุบันสถาบันการศึกษาก็ขวนขวายแสวงหาคน (นักศึกษา) เพื่อมาตอบสนองระบบธุรกิจแบบทุนนิยมภายในสถาบันของตนเอง

เพราะเมื่อมีเด็กก็มีเงิน มีเด็กมากก็มีเงินมาก เงินมากก็มีผลประโยชน์มาก

ผู้บริหารหรือนักบริหารการศึกษษที่มีใบปริญญาระดับมหาบัณฑิต หรือดุษฎีบัณฑิต ที่จริงน่าจะมีภูมิต้านทานกิเลส ตัณหา และกามราคะระดับมหาบัณฑิต หรืออภิมหาบัณฑิตด้วย คือ มีภูมิต้านทานต่อกระแสของกิเลสที่แข็งแกร่ง คือไม่ทำอะไรตามอกตามใจตนเอง ให้เห็นผลประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าผลประโยชน์ส่วนรวม

เพราะถ้าหากผู้บริหารพัฒนาองค์กรหรือมหาวิทยาลัยให้กลายเป็นองค์กรธุรกิจที่แสวงหาผลกำไร อนาคตของประเทศชาติที่ฝากไว้กับอนาคตทางการศึกษาคงสิ้นสูญ

เป็นเพราะอะไร...?

ผลผลิตที่เกิดขึ้นจากความตั้งใจที่จะหาผลประโยชน์จากผลผลิตนั้นย่อมซึ่ง "ประโยชน์"

ประโยชน์ที่พึ่งมี พึงได้จากคนที่นำตนเข้าไปพัฒนาตามระบบการผลิตในระดับบัณฑิตก็ดี มหาบัณฑิตก็ดี หรือดุษฎีบัณฑิตก็ดี ต่างก็ไม่ได้รับสิ่งที่ดี ๆ ตามสายการผลิตนั้น

เครื่องจักร อุปกรณ์ บุคลากร และวิศวกรที่คบคุมการผลิต ต่างก็แก่งแย่งชิงเอาผลประโยชน์จากวัตถุดิบในทุก ๆ สายการผลิต ผลิตที่ได้ออกมาก็กรอบเกรียม บิดเบี้ยว พิกล พิการ ตามผู้บัญชาการของสายการผลิตนั้น

พิการทางกายภาพยังพอซ่อมแซมแก้ไขได้ แต่หากพิการทางใจคือกลายเป็นบัณฑิตที่ห่วงใยแต่ผลประโยชน์ของตนเองแล้วไซร้ประเทศชาติคงมืดมน...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท