ท่านคิดอย่างไรกับการใส่ท่อช่วยหายใจในผู้ป่วยระยะสุดท้าย


ทั้งที่เคยคิดและตัดสินใจมาก่อนหน้านี้แล้ว ว่าขอที่จะไม่รับการใส่ท่อช่วยหายใจ...แต่กระนั้น เมื่อถึงเวลาที่ต้องทุกข์ทรมานจากภาวะการหายใจลำบากจริงๆเข้า...มันช่างทะลุผ่านไปได้แสนยากจริงๆ...

            คงยังจำกันได้ กับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะสุดท้ายที่มีการแพร่กระจายมาที่ปอด ที่เคยเขียนถึงไว้ในบล็อค 3 Wishes กับ Unfinished business ของท่านอาจารย์ดาริน เมื่อหลายเดือนก่อนนะคะ...   

            ในช่วงประมาณ 1 เดือนก่อนหน้านี้ พี่เขาต้องทุกข์ทรมานมากมายกับภาวะหายใจลำบากที่กำเริบหนัก จนไม่สามารถดูแลตนเองที่บ้านต่อไปได้ ญาติต้องตัดสินใจนำมารับการบำบัดอาการรบกวนดังกล่าวที่โรงพยาบาล และการมาโรงพยาบาลครั้งนั้น กลับเป็นครั้งสุดท้าย...หลังจากที่พี่เขาได้รับการบำบัดด้วยการใส่ท่อช่วยหายใจ และต้องพึ่งพาเครื่องช่วยหายใจไปตลอดเวลาเกือบ 1 เดือน...ตราบจนวินาทีสุดท้ายของชีวิต

            ทั้งๆที่เคยคิดและตัดสินใจมาก่อนหน้านี้แล้ว ว่าขอที่จะไม่รับการใส่ท่อช่วยหายใจ และการช่วยฟื้นคืนชีพใดๆ ที่เป็นไปเพื่อยืดชีวิตของตนเองไปให้นานกว่าที่ธรรมชาติกำหนดแล้ว  แต่กระนั้น เมื่อถึงเวลาที่ต้องทุกข์ทรมานจากภาวะการหายใจลำบากจริงๆเข้า...มันช่างทะลุผ่านไปได้แสนยากจริงๆ  กับอาการแน่นที่อกโดยเฉพาะเวลาหายใจเข้า...อกข้างซ้าย...บริเวณที่เคยผ่าตัดเต้านมออกไปแล้วนั่นเอง สีหน้าแววตาที่ทุกข์ทรมานนั้นเรียกความเห็นใจจากผู้ที่พบเห็นเป็นที่สุด...ให้ออกซิเจนและพ่นยาขยายหลอดลมก็แล้ว กำหนดสติก็แล้ว...ผู้ป่วยรับการสังเกตอาการอยู่ที่ห้องฉุกเฉินนานกว่า 3  ชั่วโมง ก็ด้วยความที่ไม่อยากนอนโรงพยาบาล...แต่จนแล้วจนรอด ก็หนีไม่พ้น ต้องยินยอมนอนโรงพยาบาล เนื่องจากอาการไม่ดีขึ้นเลย...

            หลังจากรับไว้นอนในโรงพยาบาลที่หอผู้ป่วยสามัญ ได้อีกสักพักใหญ่ แพทย์ก็ต้องหารือร่วมกับผู้ป่วยและญาติถึงทางเลือกในการใส่ท่อช่วยหายใจ...เมื่อทนไม่ได้กับความทุกข์ทรมานที่รุมเร้า ในที่สุดพี่เขาก็ตัดสินใจยอมรับการใส่ท่อช่วยหายใจ และต้องย้ายจากหอผู้ป่วยสามัญเข้ารับการรักษาต่อที่หอผู้ป่วยหนักของโรงพยาบาล

            ในช่วงแรก  ความทรมานจากการหายใจไม่ออกของคนไข้ดูเหมือนจะดีขึ้น  ผู้ป่วยเขียนบอกระดับของการหายใจลำบาก (Dyspnea score)  แก่เราได้  อยู่ที่ประมาณ 2 ใน 10 เท่านั้น...แต่ความไม่สุขสบายในช่องปากและการเจ็บคอจากท่อช่วยหายใจก็เข้ามาแทน...ผู้ป่วยต้องฝืนทน...เป็นเช่นนั้นอยู่ได้ไม่นาน...เมื่อทางทีมแพทย์และพยาบาลได้พยายามหย่าเครื่องช่วยหายใจ แต่ไม่มีวี่แววว่าจะหย่าได้...หลังจากยื้อเวลามาจวบจนจะเข้าสัปดาห์ที่ 3 แล้ว ก็ต้องตัดสินใจเจาะคอ เพื่อใส่ท่อหลอดลมคอแทนการใส่คาไว้ทางปาก...ผู้ป่วยสุขสบายปากขึ้นเหมือนกันนะ...แต่อาการหายใจลำบากก็กลับกำเริบขึ้นอีก...ดูเหมือนว่าวงจรของความทุกข์ทรมานนั้นยังคงหมุนไปเรื่อยๆ  ไม่หยุดหย่อน...ผู้ป่วยดูท้อถอยขึ้นทุกวัน จนในที่สุดก็ยอมแพ้ ถอดใจ...ผู้ป่วยหายใจลำบากมากขึ้นจนทนไม่ไหว ให้คะแนนการหายใจลำบากถึง  8 ใน 10…ร้องขอให้ทีมแพทย์ พยาบาล ทำอย่างไรก็ได้ให้ตนเองหลับไปเถอะ ทนไม่ไหวแล้วกับความทุกข์ทรมานที่ถาถม...จนในที่สุด เมื่อไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว การจัดการภาวะหายใจลำบากด้วยมอร์ฟีน ก็เริ่มขึ้น

            มอร์ฟีนที่ผสมในน้ำเกลือหยดให้ทางหลอดเลือดดำ  ช่วยบรรเทาให้การรับรู้ภาวะหายใจลำบากนั้นลดลง...ผู้ป่วยลดความกระวนกระวายและบ่นหายใจลำบากน้อยลง...เริ่มหลับมากขึ้น  แต่ยังรู้สติ ปลุกตื่นสะลึมสะลือ และหลับต่อ...เป็นเช่นนั้นอยู่ได้ประมาณ 2 วัน...จวบจนย่างเข้าวันที่ 3  พี่เขาก็จากไป...อย่างสงบ

            กรณีศึกษานี้ทำให้เราต้องนำกลับมาถกคิดกันว่า การใส่ท่อช่วยหายใจให้กับผู้ป่วยรายนี้นั้น เป็นการเหมาะสมที่สุดแล้วหรือ? ต่างคนต่างความคิด  ต่างคนต่างเหตุผล อะไรล่ะที่จะบอกว่าเหมาะสม...ท่านล่ะคะ... คิดอย่างไรบ้าง?

หมายเลขบันทึก: 407027เขียนเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2010 05:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 08:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (20)

ท่านคิดอย่างไรกับการใส่ท่อช่วยหายใจในผู้ป่วยระยะสุดท้าย

กับคำถามนี้ คิดว่าไม่ควรใส่ ควรให้เขาไปอย่างสงบ ทางที่ดีที่สุดของอิสลาม คนมุสลิมก่อนหมดลม ต้องมีญาติมาสอนคำปฎิญาณตนต่อพระเจ้าจะเป็นสิ่งที่ปราถนาทั้งผู้จากไปและผู้ที่ยังอยู่ (ยินดีร่วม ลปรร.ครับท่าน)

ผมว่า แล้วแต่การแสดงเจตนาของคนไข้นะครับ

อย่างกรณีหลวงพ่อพุทธทาส ท่านมีความประสงค์ที่จะ

ล่วงไปตามธรรมชาติ และไม่ต้องการสายอะไรที่ระโยงระยาง

การกลับคืนสู่ธรรมชาติด้วยวิธีธรรมชาติ นั้นน่าจะดีที่สุด

ผมว่าเราพยายามหาทางเลือกที่ดีที่สุดให้กับผู้ป่วยแล้ว สุดท้าย ก็คงเป็นวิธีที่ผู้ป่วยจะต้องเป็นผู้เลือกเอง....

ขอบคุณวอญ่า-ท่านผู้เฒ่าค่ะ ที่เข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น...พวกเราบุคลากรส่วนหนึ่งก็มีความเห็นคล้ายกันนี้ค่ะ คือ "ไม่ควรใส่" พยาบาลหลายคนเมื่อทราบว่าเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้ายและได้รับการใส่ท่อช่วยหายใจ รับเข้านอนโรงพยาบาลเพื่อใช้เครื่องช่วยหายใจ จะเกิดคำถามขึ้นในใจ ว่าทำไม? ไม่ทราบหรือว่าเป็นคนไข้ระยะสุดท้าย ใส่เข้าไปแล้วมันทรมานนะ ใส่ไว้ก็เพียงแค่ยืดชีวิตออกไปเพียงชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น หรือเราจะตัดสินใจผิดตั้งแต่ต้น!...

ทั้งตัวผู้ป่วยเอง ญาติ พยาบาลและแพทย์ที่ต้องตัดสินใจ ณ เวลาวิกฤตนั้น...ตัดสินใจได้ไม่ง่ายนักค่ะ ถึงแม้ผู้ป่วยจะเคยแสดงเจตนาบอกกล่าวไว้ก่อนแล้วว่าจะขอไม่ใส่ท่อช่วยหายใจก็ตาม แต่ ณ เวลานั้น ความทุกข์ ทรมานที่หายใจไม่ออก...มันไม่มีทางเลือกอื่นน่ะค่ะ...แพทย์ก็ยึดเอาเจตนา ณ เวลานั้นของผู้ป่วยเป็นสำคัญ ดีที่ผู้ป่วยรายนี้ยังรู้สติอยู่ จึงสามารถตัดสินใจเองได้...ยอมรับการใส่ท่อช่วยหายใจในที่สุด...แต่ก็นั่นแหละค่ะ สิ่งที่ตามมา เมื่อเห็นผู้ป่วยต้องเผชิญกับความทรมานเรื่องอื่นๆอีกไม่หยุดหย่อน...จึงทำให้เรา ซึ่งมีส่วนในการรักษาพยาบาลดังกล่าวอดคิดมากไม่ได้...มันจะมีทางใดไหม ที่จะช่วยลดความทุกข์ทรมานกับภาวะการหายใจลำบากที่กำเริบรุนแรงของผู้ป่วยเสียตั้งแต่ต้น ก่อนที่จะยอมจำนนต่อท่อช่วยหายใจ...

ผู้ป่วยรายนี้ เคยได้รับการแนะนำให้ลองกำหนดสติตามลมหายใจ แต่ผู้ป่วยบอกว่าไม่เป็นผล ยิ่งเอาใจไปจดจ่อกับลมหายใจเข้า-ออก ยิ่งหายใจลำบาก...เคยได้ศึกษาซีดี "มรณานุสรณ์คุณสุภาพร พงศ์พฤกษ์" ที่ช่วยสนับสนุนให้เรียนรู้การอยู่กับมะเร็งอย่างไม่ผลักไส จนจากไปอย่างสงบ...เราหวังว่าวิธีการเหล่านี้จะช่วยให้พี่เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะสุดท้ายได้บ้าง และมีคุณภาพการตาย(Quality of death)ที่ดี...

ขอบคุณท่าน ผอ.วัฒนา คุณประดิษฐ์ ค่ะ...

...มีหลายครั้งหลายครา ที่เจตนาของผู้ป่วยถูกละเลย โดยไม่ตั้งใจ ค่ะ...เมื่อวันก่อน มีผู้ป่วยมะเร็งท่อทางเดินน้ำดีระยะสุดท้าย มา รพ ด้วยเรื่องปวดเกร็งที่ท้อง และญาติบอกว่ามีอาการคล้ายชักเกร็งมาจากบ้านแล้วหลายครั้งในวันนั้น...ณ ที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล ผู้ป่วยมีอาการชักเกร็งอีก แพทย์จึงให้การรักษาด้วยยาลดอาการชัก แต่ผู้ป่วยหยุดหายใจ ในเวลานั้นญาติถูกกันให้ออกไปนอกบริเวณ ทีมสุขภาพรีบทำการใส่ท่อช่วยหายใจ เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วย...และรับไว้ในโรงพยาบาลเพื่อใช้เครื่องช่วยหายใจ โชคดีที่ผู้ป่วยเริ่มรู้สติขึ้นหลังได้รับการช่วยหายใจได้ 2 วัน...ถอดท่อช่วยหายใจได้...กลับมาอยู่ในสภาพที่อ่อนแรงเหมือนเดิม กินอาหารด้วยตนเองไม่ได้ ใส่สายยางทางจมูกเพื่อให้อาหารและยา หายใจแผ่ว แต่ที่สำคัญ บอกได้ว่าอยากกลับบ้าน...ญาติและทีมสุขภาพยอมที่จะตอบสนองความต้องการในระยะสุดท้ายของผู้ป่วย...ก่อนที่จะนำผู้ป่วยกลับบ้าน ญาติบอกเราว่า...ถ้ารู้ว่าหมอจะใส่ท่อช่วยหายใจให้แม่ตั้งแต่ต้น จะไม่ยอมให้ใส่ เพราะแม่สั่งไว้แล้ว...แต่วันนั้นหมอไม่ถามซักคำ ญาติก็ถูกกันออกไปข้างนอก..แต่ก็ไม่ได้ถือโทษโกรธหมอ เพราะรู้ว่าหมอก็ต้องการช่วยชีวิตคนไข้...

...กรณีปัญหาเช่นนี้ เราคงต้องอาศัยการทบทวนหาแนวทางป้องกันแก้ไขกันต่อไปค่ะ...

ขอบคุณสำหรับกรณีศึกษาดีๆ คะ

ณ ตอนนััน (ที่อาการเหนื่อยหนัก แม้มีประสงค์ไม่ใส่ท่อ) เป็นใครก็คงตัดสินใจลำบากคะ

เชื่อว่าอย่างน้อยผู้ป่วยก็รับรู้ว่า ทุกคนมีเจตนาดีให้พ้นจากความทรมาน

ขออนุญาตมีประเด็นต่อเนื่องนิดนึงคะ

ถ้ามีวิธีการบรรเทาอาการอื่นนอกจากใช้ท่อช่วยหายใจ

เช่น การให้ Morphine ผู้ให้จะสะดวกใจหรือไม่

คิดว่าเป็น Euthanasia หรือไม่

ขอบคุณสำหรับความเห็นของคุณ MAX และท่าน อ.ปัทมาค่ะ...เรื่องการให้มอร์ฟีนเพื่อบรรเทาอาการหายใจลำบากนั้นเป็นอะไรที่เราพยายาม share กันในทีมบุคลากรที่มีส่วนดูแลคนไข้ร่วมกันเป็นรายๆไปค่ะ ก็มีด้วยกันหลากหลายความเห็น สำหรับส่วนตัวแล้วแทบไม่มีประสบการณ์ตรงเลย ว่าคนไข้ในความดูแลรายกรณีแต่ละเคสนั้นได้รับการบำบัดด้วยมอร์ฟีนมาตั้งแต่ต้น จะเคยเจอก็แต่รายที่ PPS หนักๆแล้วโน่นล่ะค่ะ ที่แพทย์เคยสั่งใช้ (vien drip ใน End of life stage,และอีก 1 รายให้เป็น MST ไปรับประทานต่อเนื่องจากผู้ป่วยและญาติขอกลับไปใช้เวลาช่วงสุดท้ายของชีวิตที่บ้าน) ยังไม่เคยมีประสบการณ์ดูแลคนไข้ที่ใช้มอร์ฟีน ตั้งแต่ mild or moderate Dypsnea เลยค่ะ

ส่วนเรื่อง คิดว่าเป็น Euthanasia หรือไม่นั้น...ก็เป็นประเด็นที่หลายท่านเกรงอยู่ โดยส่วนตัวแล้วเมื่ออยู่ในภาวะที่ต้องเผชิญกับการหายใจลำบากขนาดนั้น ความทุกข์ทรมานของคนไข้มันเด่นชัดเสียจนบดบังความกังวลในเรื่องนี้ไปเลยมากกว่าค่ะ...คงต้องขอคำชี้แนะและความเห็นจากท่านอาจารย์และประสบการณ์จากคนทำงานตรง ล่ะค่ะ

อีกประเด็นหนึ่งถ้าเราเริ่มใช้ตั้งแต่คนไข้มี moderate dyspnea ซึ่งผู้ป่วยมักยังรู้สติดีอยู่ PPS ดีอยู่ ไม่ทราบมีความเห็นอย่างไรบ้างคะ

ขอร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในบริบทของเทพา สงขลา ผู้ป่วยส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม เมื่อรู้ว่าตนเองอยู่ในระยะสุดท้ายของชีวิต ไม่มีทางรักษา จะขอกลับไปตายที่บ้าน ตายในพิธีกรรมตามหลักศาสนา ได้ตายท่ามกลางคนที่เรารัก ลูกหลาน ญาติพี่น้อง ได้ตายในบ้านที่อยู่อาศัย ได้อ่านหนังสือ ยาซีน ผู้ป่วยและญาติ ปฏิเสธการใส่ท่อช่วยหายใจ ปฏิเสธการกดนวดหัวใจ เพราะถึงยื้อเวลาออกไป สุดท้ายก็ไม่อาจหนีพ้นระยะสุดท้ายของชีวิต เพราะขึ้นอยู่กับประสงค์ของอัลลอฮ เมื่อเราได้พูดคุยทำความเข้าใจกับผู้ป่วย และ ญาติ เข้าใจถึงความต้องการของเค้า และทำตามความประสงค์ของเค้า ทำให้ผู้ป่วยจากไปอย่างสงบ ที่ทีมสุขภาพเคารพในการตัดสินใจ คุณ ค่า ความเชื่อ หลักศาสนาที่เค้านับถือ ทำให้เค้าจากไปอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ต้องเสียชิวิตคาท่อช่วยหายใจ และเดียวดาย ห่างไกลญาติพี่น้องและหลักศาสนา

นับว่าเป็นโชคดีของผู้ป่วย และครอบครัวที่ได้รับการดูแลจาก ทีมสุขภาพของ รพ.เทพา...ที่เคารพในการตัดสินใจ ให้คุณค่ากับความเชื่อตามหลักศาสนาที่เค้านับถือ ทำให้เค้าจากไปอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ต้องเสียชิวิตคาท่อช่วยหายใจ และเดียวดาย ห่างไกลญาติพี่น้องและหลักศาสนา...ขอบคุณแทนผู้ป่วยจริงๆค่ะ

กิติศักดิ์ เกษตรสินสมบัติ

ผมว่าไม่มีอะไรเป็นสูตรสำเร็จ หรือดีที่สุด ขึ้นอยู่กับความพร้อมทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจในขณะนั้น ทั้งตัวผู้ป่วยและญาติ แต่สิ่งที่สำคัญคือ สิ่งที่เราได้เตรียมความพร้อมไว้ให้ เพื่อการตัดสินใจ ไม่ว่ายินยอม/ต้องการใส่ท่อช่วยหายใจหรือไม่ สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ณ เวลานั้นแล้ว รวมถึงวาระสุดท้าย ที่จากไปอย่างสงบครับ

ขอบคุณ คุณไพรินทร์จริงๆ คะ ที่นำเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟัง

จริงๆแล้วต้องชื่นชมทีมของคุณไพรินทร์ที่มีประสบการณ์ให้ มอร์ฟีนที่บ้าน คะ

ได้นำไปเล่าต่อกับอาจารย์ที่ปรึกษา

ว่าหากสามารถใช้มอร์ฟีนหรือยาอื่นๆ (เช่น lorazepam) ในการบรรเทาอาการเหนื่อย จะช่วยลดอัตราการ Intubation ได้หรือไม่

ตอนนี้หลายประเทศยอมรับ การให้มอร์ฟีนเพื่อบรรเทาอาการเหนื่อยในผู้ป่วยระยะสุดท้าย

ไม่ว่าจะมะเร็งหรือไม่ใช่มะเร็ง ตั้งแต่ระดับ moderate ขึ้นไป ว่าเป็น First line

แต่การจะให้ยอมรับแพร่หลายในบ้านเรา เป็นเรื่องที่น่าศึกษาข้อดีข้อเสียกันต่อไป

เพราะขึ้นกับ ความยอมรับของผู้ป่วยและญาติ และที่สำคัญความสะดวกใจของทีมรักษาด้วยคะ

ผู้ป่วยระยะสุดท้ายส่วนใหญ่เข้าใจตนเองและส่วนใหญ่ไม่ต้องการใส่ท่อช่วยหายใจเพราะเคยสอบถามผู้สูงอายุที่ผ่านการประชุมเสวนาในหัวข้อการเตรียมตัวสู่วาระสุดท้ายของชีวิตตอบว่าไม่อยากใส่ท่อช่วยหายใจ แต่ประเด็นอยู่ที่ลูกหลาน ญาติ ที่มาจากที่ไกลๆ จะมาตำหนิว่าทำไมไม่ช่วย ทำให้ผู้ใกล้ชิดตัดสินใจลำบาก ฉะนั้นถ้าเป้นความประสงค์ของผู้ป่วยควรเขียนเป็นพินัยกรรมชีวิตไว้จะทำให้ญาติและทีมแพทย์พยาบาลตัดสินใจง่ายขึ้น ค่ะ

สวัสดีค่ะ

ขอบคุณมากจริงๆสำหรับกรณีศึกษา

เรื่องการใส่ท่อช่วยหายใจและการช่วยฟื้นคืนชีพในผู้ป่วยระยะสุดท้ายนั้น แล้วแต่มุมมองและความต้องการของผู้ป่วยค่ะ

โดยส่วนตัวแล้วคิดว่าไม่ควร (เป็นความคิดเห็นส่วนตัวมากๆๆจริงๆค่ะ คิดว่าหากตัวเราป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายก็คงขอ no CPR แน่นอน)

หากเราคิดตรงไปตรงมา ยิ่งกรณีผู้ป่วยมะเร็งด้วยแล้ว หากช่วยกลับคืนมาได้จริง ผู้ป่วยต้องหายใจด้วยท่อช่วยหายใจ

ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าอย่างน้อยก็จะต้องอึดอัดในคอ เจ็บปวดจากการใส่ท่อ พูดก็ไม่ได้ สมมติว่าสามารถถอดเครื่องช่วยหายใจได้จริง

ผู้ป่วยอาจกลับมาหายใจได้เองอีกครั้ง แต่โรคมะเร็งที่เป็นอยู่ก็ยังคงเป็น และก่อกำเนิดความเจ็บปวดทุกข์ทรมานจากตัวโรคต่อไปยาวนานกว่าการปล่อยให้ผู้ป่วยจากไปอย่างสงบตามธรรมชาติ

สำหรับการเตรียมผู้ป่วยให้จากไปอย่างสงบในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตนั้น จากประสบการณ์ หากผู้ป่วยไม่เคยสวดมนต์ไหว้พระ หรือไม่เคยฝึกสมาธิมาก่อนเลย(ในช่วงก่อนป่วย หรือช่วงตลอดชีวิตที่ผ่านมา) ถึงจะมีการเตรียมผู้ป่วยด้วยการฝึกหายใจ ฝึกสมาธิ กำหนดสติ ที่ผู้ป่วยไม่เคยทำมาก่อน ก็อาจช่วยได้ไม่มากนักค่ะ (เมื่อถึงช่วงเวลาก่อนการหยุดหายใจ จะมีอาการหายใจลำบาก ผู้ป่วยอาจไม่สามารถทบทวนสิ่งที่เพิ่งฝึกเพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆก่อนนี้ได้ และจะมีอาการทุรนทุราย ทรมานมากกว่า ผู้ป่วยที่เคยมีประสบการณ์ฝึกสมาธิมาก่อนหรือผู้ป่วยที่เคยปฏิบัติธรรมมาก่อน เป็นต้นค่ะ) ก่อนหน้านี้เคยสงสัยว่าทำไมผู้ป่วยบางรายจึงจากไปอย่างสงบด้วยการกำหนดลมหายใจ บางรายไม่ว่าจะใช้วิธีไหนก็ยังทุกข์ทรมาน) ดังนั้น อาจต้องเลือกวิธีการเตรียมผู้ป่วยให้เหมาะสมในแต่ละรายค่ะ

ผู้ป่วยระยะสุดท้าย น่าสงสารที่สุดจึงควรได้รับการดูแลที่ดีที่สุดตามความต้องการที่แท้จริงของผู้ป่วย ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าผู้ป่วยอื่นๆ

จากประสบการณ์ปลายปี56 ญาติอายุ67 ป่วยหนักเข้า ร.พ. หายใจลำบาก ไปเยี่ยมหมอให้ที่ช่วยหายใจครอบปาก ซึ่งพอพูดได้ กินน้ำได้ พอตกกลางคืน โรคหอบกำเริบ หายใจถี่มาก หมอให้ยา 2 ครั้ง ก็ยังหายใจแรงอยู่ดี ซักพักพยาบาลมากบอกว่าต้องใส่ท่ออ๊อกซิเจนแล้วนะ เราก็ไม่รู้ว่ามันจะน่ากลัวขนาดนี้ และไม่ทันบอกคนไข้ ก็ดึงเตียงคนไข้ไปอีกด้าน ฉีดยา แล้วให้หมอใช้เครื่องมือง้างปากคนไข้เพื่อใส่ท่อ คนไข้ก็สู้เต็มกำลังเพราะเจ็บ หมอบอกเราให้บอกคนใข้ให้สงบ แต่ภาวะนั้น...ใครจะไปสงบได้ ดูแล้วมันทรมานน่าดู สู้กันซักพักคนใข้ก็ยอมจำนนกับหมอและพยาบาล.....หลังจากใส่ได้ประมาณ 1 วัน คนไข้อาการแย่ลง ความดันต่ำ ให้เลือด ตกเย็นเกิดภาวะหัวใจรัวริน พยาบาลมาปั๊มหัวใจ แล้วบอกว่าผล 50/50 นะ (ไม่รู้ 50 เนื่อยมันคืออะไร) หลังจากปั๊มหัวใจก็ย้ายไป icu อยู่ในภาวะนิ่งไม่รับรู้ มีแค่ลมหายใจผ่านท่ออ๊อกซิเจนเท่านั้น

ส่วนมากคนที่ใส่ทอช่วยหายใจไม่รอดสักราย ทอช่วยหายใจเป็นการรักษาหรือช่วยให้เสียชีสิตเร็วขึ้นคะ สงาย

สำหรับความคิดของผมน๊ะคับ ไม่ควรใส่ครับ เพราะเรารู้แล้วว่าโรคที่เป็นอยู่มันเป็นระยะสุดท้ายแล้ว ไม่มีวันหาย เช่นมะเร็งระยะสุดท้าย การปล่อยให้กินยาเป็นสิ่งที่ดีที่สุด การที่เราใส่ท่อช่วยหายใจมันทำให้คนไข้ทรมานมากกว่าเดิม ไหนจะเจ็บบริเวณคอ บางที่เกิดการอักเสบได้ แต่ทุกสิ่งอย่างถ้าผู้ป่วยต้องการเราคงปฎิเสธไม่ได้ คับ อีกอย่างคำอธิบายถึงการใช้ท่อช่วยหายใจให้แกผู้ป่วยและญาติฟังน่าจะดี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท