ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน
ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน เกาะติดชุมชน สิทธิชุมชน สิทธิพลเมือง

ตำนานเมืองนคร ฉบับนายทุน ปลาใหญ่กินปลาเล็ก เราได้แต่มอง ให้ใครมากำหนดการพัฒนาที่บ้านเรา


แทบทุกวงน้ำชา ทุกวงสนทนาตามงานศพ งานแต่งงาน หรือวงสัมมนาอย่างเป็นทางการในนครศรีธรรมราชจะต้องหยิบยกเอาโครงการขนาดใหญ่ที่มีจำนวนมากทยอยกันเปิดตัวว่าจะเข้ามาเดินเครื่องในพื้นที่ของจังหวัดขึ้นมาพูด ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงงานถลุงเหล็ก นิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ท่าเรือน้ำลึก การขุดเจาะน้ำมันในอ่าวไทย การสร้างเขื่อน การขุดคลองไทย การตัดถนน สร้างทางรถไฟ และอีกมากมายจนเรียกได้ว่า “กระหน่ำ”เข้ามาอย่างรวดเร็ว

ตำนานเมืองนคร ฉบับนายทุน ปลาใหญ่กินปลาเล็ก

เราได้แต่มอง ให้ใครมากำหนดการพัฒนาที่บ้านเรา

โดย วิทยา อาภรณ์

ตีพิมพ์ใน ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน ฉบับที่ ๘

 

        นครศรีธรรมราชเป็นเมืองพระ  เมืองแห่งพระบรมธาตุอันเป็นศูนย์รวมของความศรัทธาของผู้คน   แปลตามศัพท์ได้ว่าเมืองที่มีพระราชาผู้มีธรรมอันดีงามปกครอง    จึงเป็นเมืองที่สงบร่มเย็นน่าอยู่อาศัย

        แต่เวลานี้ชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชกำลังกังวลใจกับข่าวที่สะพัดมาอย่างต่อเนื่องว่าการเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่มีพลังทำลายล้างรุนแรงและร้ายลึกกว่าสมัยพายุแฮเรียตถล่มแหลมตะลุมพุกกำลังย่างสามขุมเข้ามา

        แทบทุกวงน้ำชา ทุกวงสนทนาตามงานศพ งานแต่งงาน หรือวงสัมมนาอย่างเป็นทางการในนครศรีธรรมราชจะต้องหยิบยกเอาโครงการขนาดใหญ่ที่มีจำนวนมากทยอยกันเปิดตัวว่าจะเข้ามาเดินเครื่องในพื้นที่ของจังหวัดขึ้นมาพูด  ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงงานถลุงเหล็ก นิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ท่าเรือน้ำลึก การขุดเจาะน้ำมันในอ่าวไทย การสร้างเขื่อน การขุดคลองไทย การตัดถนน สร้างทางรถไฟ   และอีกมากมายจนเรียกได้ว่า “กระหน่ำ”เข้ามาอย่างรวดเร็ว

        เจอแบบนี้ก็อึ้งกันละครับ  เพราะมันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน   แต่ละโครงการทำท่าขึงขังเอาจริงไม่ใช่พูดเล่นๆ แต่ได้มาสำรวจ ศึกษา ขุดเจาะ เข้าหาคนนั้นคนนี้ มาซื้อที่ดิน มาแจกของ เหมือนมาขอเป็นลูกเขยขอมาอยู่กับเราด้วย    อีกด้านหนึ่งก็พอนึกภาพออกว่ามันมีอันตรายแฝงอยู่   ไม่มีใครจะนอนอย่างสบายใจอยู่ใกล้ๆปล่องโรงงานนิวเคลียร์ได้แน่    แต่บางทีได้ฟัง “ว่าที่ลูกเขย”ไม่รู้สักกี่คนที่มาพูดแล้วก็เคลิ้มไปเหมือนกัน    แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจริงๆแล้วสิ่งทั้งหมดที่กำลังจะเกิดขึ้นกับเมืองนครมันเป็นอย่างไรกันแน่   มันดีจริงหรือเปล่า

        เป็นที่ทราบกันดีว่านครศรีธรรมราชเป็นเมืองทีมีความสำคัญมาแต่โบราณ   ขอย่นย่อกล่าวถึงในช่วงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ที่ระบบทุนนิยมได้แผ่ขยายเข้ามายังดินแดนแถบนี้  จนทำให้ต้องปรับจากระบบรัฐแบบศักดินามาเป็นรัฐสมัยใหม่ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงเทพฯอันเป็นการปกครองที่สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่เกิดขึ้นใหม่     เมืองนครศรีธรรมราชก็ค่อยๆถูกดึงเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยาม    การเปลี่ยนแปลงใดๆที่เกิดขึ้นในนครศรีธรรมราชตั้งแต่นั้นมาจึงสัมพันธ์กับนโยบายของสยามและความเป็นไปของระบบทุนนิยมโลก  ซึ่งถ้าดูจากการเปลี่ยนแปลงของชุมชนทั่วไปจะแบ่งได้เป็น 3 ช่วงใหญ่ๆคือ ช่วงที่ 1 ชุมชนในช่วงการผลิตแบบยังชีพเป็นหลักขณะที่ทุนนิยมเริ่มแทรกตัวเข้ามา(พ.ศ. 2398-2503)   ช่วงที่ 2 ชุมชนในช่วงทุนนิยมขยายตัวจนเป็นหลัก ขณะที่การผลิตแบบยังชีพลดลง(พ.ศ. 2504-2540)   และช่วงที่ 3 ชุมชนในช่วงทุนนิยมโลกาภิวัตน์(พ.ศ. 2540-ปัจจุบัน 2553)    ขอให้สังเกตว่าแต่ละช่วงล้วนมีโครงการขนาดใหญ่หรือนโยบายที่ส่งผลกระทบวงกว้างต่อชาวบ้านทั่วไปทุกช่วง    โดยความเข้มข้นของการเสียเปรียบ การถูกขูดรีดได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คือ

 

ช่วงที่ 1 ชุมชนในช่วงการผลิตแบบยังชีพเป็นหลักขณะที่ทุนนิยมเริ่มแทรกตัวเข้ามา(พ.ศ. 2398-2503)  

        ช่วงนี้นับตั้งแต่ พ.ศ. 2398 ที่มีการทำสนธิสัญญาบาวริ่งจนถึง พ.ศ. 2503 หรือหนึ่งปีก่อนการเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1     ช่วงนี้ชาวนครศรีธรรมราชโดยทั่วไปยังคงทำมาหากินแบบยังชีพเป็นหลักโดยไม่ได้ทำเพื่อขาย     แต่ระบบทุนนิยมที่เริ่มปรากฏตัวชัดเจนขึ้นตั้งแต่มีสนธิสัญญาบาวริ่งก็ทำให้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงโดยผู้ที่ได้ประโยชน์ก็คือผู้ปกครองและผู้ที่สามรถสะสมทุนและลงทุนได้มากกว่าผู้อื่น     โครงการหรือนโยบายที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในนครศรีธรรมราชในช่วงนี้มีอย่างน้อย 5 นโยบายคือ  การปลูกข้าวในลุ่มน้ำปากพนัง การสร้างทางรถไฟสายใต้ การส่งเสริมให้ปลูกยางพารา การทำเหมืองแร่  และการทำธุรกิจบริการอื่นๆ

        การปลูกข้าวในลุ่มน้ำปากพนัง เกิดขึ้นมาจากในช่วงนั้นประเทศตะวันตกได้ล่าอาณานิคมในภูมิภาคนี้เพื่อหาวัตถุดิบและตลาดรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจแบบทุนนิยมทำให้ต้องการทำให้มีผู้ใช้แรงงานโดยเฉพาะชาวจีนอยู่ในประเทศต่างๆมาก    จึงต้องการข้าวเพื่อให้แรงงานเหล่านั้นบริโภคอย่างเพียงพอ      ราชการจึงส่งเสริมให้พื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังเป็นแหล่งปลูกข้าวขายอย่างกว้างขวาง    มีการขุดคลองสุขุมตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ห้า  แล้วให้ชาวบ้านขุดคลองย่อยเชื่อมต่อไปยังที่นาของตนในช่วงประมาณ พ.ศ. 2440-2480 ทำให้การปลูกข้าวเพื่อขายขยายตัว   มีโรงสีไฟของคนจีนถึง 19 โรง  ข้าวส่วนมากส่งไปขายที่สิงคโปร์

การสร้างทางรถไฟสายใต้ ได้สร้างมาถึงนครศรีธรรมราชใน พ.ศ. 2456 ทำให้การขนถ่ายผลผลิตและการเติบโตของเศรษฐกิจเป็นไปอย่างรวดเร็ว

การส่งเสริมให้ปลูกยางพารา ระยะแรกผู้ปลูกมักจะบุกเบิกที่ดินปลูกกันมากตามแนวเส้นทางรถไฟที่ตัดผ่านพื้นที่ใหม่ เช่น ที่นาบอน ที่ตำบลท่างิ้ว อ.เมือง  ต่อมายางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ

การทำเหมืองแร่  ได้เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ เช่น เขตอำเภอร่อนพิบูลย์ อำเภอสิชล อำเภอนบพิตำ อำเภอสิชล อำเภอท่าศาลา

การทำธุรกิจบริการอื่นๆ เช่น การค้าขายที่นำสินค้าแบบใหม่ๆเข้ามาขาย

อาชีพที่เกิดขึ้นใหม่เหล่านี้น่าสังเกตว่าชาวบ้านทั่วไปไม่ได้ประโยชน์นักเพราะยังคงทำมาหากินแบบดั้งอยู่   หรือที่ปรับมาทำอาชีพใหม่ก็ต้องขายผลผลิตให้กับเถ้าแก่    ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจึงไปกองรวมอยู่ที่เถ้าแก่ในรูปของกำไรตามกลไกของระบบทุนนิยมที่เกิดขึ้นใหม่     นอกจากนี้ในช่วงนี้รัฐยังส่งเสริมให้คนจีนได้เข้ามาทำอาชีพใหม่มากขึ้น    เนื่องจากรัฐต้องการคนที่จะเข้ามาเสียภาษีให้รัฐเพิ่มขึ้น   และให้แรงงานจีนเข้ามาทำกินให้เต็มพื้นที่มากที่สุดเพื่ออ้างต่ออังกฤษไม่ให้อังกฤษเข้ามาบีบไทยในรูปของการสัมปทานต่างๆในภาคใต้     แรงงานจีนจึงเข้ามามาก โดยเฉพาะในการสร้างทางรถไฟ การทำเหมืองแร่ การปลูกยางพารา แม้แต่การปลูกข้าว      ผู้ที่สะสมทุนได้มากจึงมักเป็นเถ้าแก่ชาวจีน  คนกลุ่มนี้สามารถควบคุมเศรษฐกิจ สามารถลงทุนในในกิจการใหม่ๆ เช่น การผูกขาดภาษีอากรสุรา อากรบ่อนเบี้ย การทำโรงสี เรือโดยสาร รถลำเลียงสินค้า ค้าน้ำมัน โรงภาพยนตร์ ธนาคาร ค้าสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ  เป็นต้น     และก้าวมาสู่การมีบทบาทในการเมืองท้องถิ่นที่เชื่อมต่อเส้นสายอำนาจถึงส่วนกลางได้มากกว่าชาวบ้านทั่วไปที่ยังคงผลิตแบบยังชีพ หรือผลิตมาขายเถ้าแก่อยู่เช่นเดิม     มีชาวบ้านจำนวนมากที่ต้องนำที่ดินมาจำนองกับเถ้าแก่และที่ดินต้องหลุดมือมากองรวมอยู่ที่เถ้าแก่   เถ้าแก่จึงเป็นผู้ที่มีบทบาทนำทางเศรษฐกิจในยุคที่ทุนนิยมกำลังก่อตัวในนครศรีธรรมราช

 

ช่วงที่ 2 ชุมชนในช่วงทุนนิยมขยายตัวจนเป็นหลัก ขณะที่การผลิตแบบยังชีพลดลง(พ.ศ. 2504-2540)   

        ช่วงนี้ประมาณเอาตั้งแต่ประเทศไทยเริ่มประกาศใช้แผนพัฒนาฯฉบับที่ 1 ใน พ.ศ. 2504 จนถึง พ.ศ. 2539 คือก่อนที่จะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งใน พ.ศ. 2540 อันเป็นช่วงที่ระบบทุนนิยมได้ขยายตัวและปักหลักในประเทศจนทำให้คนในแต่ละท้องถิ่นถูกดึงเข้ามาสู่ความสัมพันธ์แบบทุนนิยมมากขึ้น  สวนทางกับการผลิตแบบยังชีพที่ลดลงเรื่อยๆ     การกำหนดนโยบายใดๆจากส่วนกลางมุ่งไปสู่การขยายตัวของทุนนิยมและส่งผลต่อท้องถิ่นอย่างชัดเจน

        ความจริงแล้วแนวทางในการบริหารประเทศควรจะใช้รัฐธรรมนูญที่เกิดมาจากฐานของสมาชิกในประเทศยกร่างขึ้นมาเป็นหลัก    แต่สำหรับประเทศไทยในทางปฏิบัติกลับยึดเอาแผนพัฒนาฯฉบับต่างๆเป็นหลักมากกว่าทั้งที่เป็นการกำหนดโดยที่ประชาชนทั่วไปไม่สามารถกำหนดได้    แต่ตั้งแต่แผนพัฒนาฯฉบับที่ 1 มาจนถึงปัจจุบันแต่ละแผนได้แสดงถึงความต่อเนื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่เข้มข้นขึ้น ในขณะที่รัฐธรรมนูญถูกฉีกทิ้งเป็นว่าเล่น    ดังนั้นการพิจารณาถึงทิศทางของประเทศไทยโดยดูจากเนื้อหาของแผนพัฒนาฯจึงทำให้เห็นถึงพัฒนาการทางเศรษฐกิจสังคมได้อย่างดี

        สงครามโลกครั้งที่สองคือผลพวงของวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของทุนนิยมระดับโลกที่ระเบิดตัวเอง    หลังจากนั้นได้มีการจัดสรรระบบอำนาจของโลกกันใหม่ พร้อมกับทุนนิยมได้ขยายตัวในรอบถัดมา    การจัดทำแผนพัฒนาฯฉบับที่หนึ่งของไทยได้รับอิทธิพลจากอเมริกาดังที่รู้กันดี    ถ้าลักษณะเศรษฐกิจของไทย-รวมทั้งนครศรีธรรมราช-ก่อนจะมีแผนพัฒนาฯฉบับที่หนึ่งคือการสะสมทุนขั้นพื้นฐานของกลุ่มผู้ที่ได้เปรียบ ก็กล่าวได้ว่าตั้งแต่แผนพัฒนาฯฉบับที่หนึ่งเป็นต้นมาก็คือการขยายตัวของทุนออกไปโดยมุ่งระดมปัจจัยการผลิตที่มีในประเทศทั้งที่มีผู้ถือครองอยู่แล้วและที่เป็นของส่วนรวมมาทำการผลิตเพื่อเพิ่มทุนต่อไปมากขึ้นๆ   ไทยจึงเริ่มใช้แนวทางของทุนนิยมเสรีในการประเทศเต็มสูบ

        แผนพัฒนาฯฉบับที่หนึ่ง(พ.ศ. 2504-2509) และแผนพัฒนาฯฉบับที่สอง(พ.ศ. 2510-2514) มีจุดเน้นคล้ายๆกันคือการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน(infrastructure)เพื่อปูฐานให้เอกชนสามารถลงทุนทางด้านอุตสาหกรรมได้ เช่น การสร้างถนน เขื่อน ระบบไฟฟ้า เป็นต้น    มีเป้าหมายเพื่อขยายภาคอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า   ผลที่เกิดขึ้นคือทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี( Gross Domestic Product -GDP) เพิ่มเกินคาดหมายถึงร้อยละ 8 ต่อปีในแผนพัฒนาฯฉบับที่หนึ่ง    แต่สิ่งที่ได้มานั้นต้องแลกกับเกิดโรงงานอุตสาหกรรมที่กระจุกตัวอยู่ส่วนกลางโดยเฉพาะกรุงเทพและปริมณฑล การทำลายทรัพยากรอย่างกว้างขวาง  และรายไก้ของประชาชนเริ่มเหลื่อมล้ำชัดเจนขึ้น  โดยเฉพาะตั้งแต่แผนพัฒนาฯฉบับที่สองเป็นต้นมา    ผู้ที่ได้ประโยชน์อยู่ในวงจำกัดเฉพาะผู้ที่มีทุนมากและเข้าถึงปัจจัยการผลิตและโครงสร้างพื้นฐานได้มากกว่า    ดังนั้นในแผนพัฒนาฯฉบับที่สาม(พ.ศ. 2515-2519) และแผนพัฒนาฯฉบับที่สี่(พ.ศ.2520-2524)จึงได้ให้ความสนใจกับการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม การกระจายรายได้ที่เป็นธรรม และพยายามลดความแตกต่างระหว่างเมืองกับชนบทโดยกระจายการบริการของรัฐไปยังเขตชนบท เช่น สถาบันการเกษตร สินเชื่อ ประกอบกับอีกด้านหนึ่งแผนพัฒนาฯได้กำหนดให้สนับสนุนอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก ทดแทนการนำเข้า และอุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งยังคงเป็นไปตามแนวทางของทุนนิยม  ก็ยิ่งถ่างให้ความเหลื่อมล้ำทวีมากขึ้นไปอีก  

        ตั้งแต่เริ่มใช้แผนพัฒนาฯฉบับที่หนึ่งใน พ.ศ. 2504 เป็นต้นมาพลังในการผลิตจึงขยายตัวอย่างมาก  โดยระยะแรกมีระบบการเมืองแบบเผด็จการทหารคอยเอื้ออำนวย   ต่อมาหลังเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 เผด็จการทหารได้อ่อนตัวลง  กลุ่มนายทุนได้เข้ามามีบทบาทโดยตรงทางการเมืองมากขึ้น  ประกอบกับได้เห็นปัญหาที่เกิดจากการลงทุนที่กระจุกตัวอยู่ที่ส่วนกลางจึงคิดที่จะกระจายการลงทุนและประกอบการไปยังท้องถิ่น   เราจึงได้เห็นนักการเมืองจำนวนมากที่เป็นนายทุนรวมทั้งผู้มีอิทธิพลในระดับท้องถิ่นได้เข้าสู่วงการเมืองโดยตรงเพื่อต่อรองผลประโยชน์เข้าสู่กลุ่มและท้องถิ่นของตน   

ในช่วงนี้เองที่รัฐบาลโดยสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)ได้เริ่มต้นคิดที่จะพัฒนาภาคใต้เป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2518 โดยได้จ้างบริษัท Hunting Technical Service ศึกษาการใช้ทรัพยากรในภาคใต้  และได้กำหนดแผนแม่บทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของประเทศที่แบ่งออกเป็น 4 ระยะเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2523 อันส่งผลให้มีการจัดทำโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้(Southern Seaboard-SSB) ดังจะกล่าวถึงต่อไป

ตั้งแต่แผนพัฒนาฯฉบับที่ห้า(พ.ศ. 2525-2529)และฉบับต่อๆมาอันได้แก่แผนพัฒนาฯฉบับที่หก(พ.ศ. 2530-2534) แผนพัฒนาฯฉบับที่เจ็ด(พ.ศ. 2535-2539) แผนพัฒนาฯฉบับที่แปด( พ.ศ.2540-2544) แผนพัฒนาฯฉบับที่เก้า(พ.ศ. 2545-2549) และแผนพัฒนาฯฉบับที่สิบ(พ.ศ. 2550-2554)  โดยเฉพาะหลัง พ.ศ. 2540 ที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง  แม้แผนพัฒนาฯจะบรรจุคำที่ดูก้าวหน้าอย่าง “เอาคนเป็นศูนย์กลาง” “ยั่งยืน” “การมีส่วนร่วม” ฯลฯ อยู่ด้วย  แต่ทิศทางการพัฒนาทางเศรษฐกิจยังคงมุ่งไปที่การขยายภาคอุตสาหกรรมให้กว้างขึ้น  โดยเฉพาะการกระจายอุตสาหกรรมไปสู่ภูมิภาค  พร้อมๆกับการแก้ไขปัญหาที่แผนพัฒนาฯฉบับก่อนๆทิ้งไว้เป็นงูกินหาง เช่น ปัญหาความยากจนในชนบท การกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม การใช้เงินเกินตัวของรัฐ การค้าขาดดุล หนี้สินต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น เป็นต้น

ที่น่าสังเกตก็คือ ใน พ.ศ. 2525 นี้เองที่แผนการกระจายอุตสาหกรรมไปสู่ภูมิภาคได้เป็นรูปธรรมขึ้น อันได้แก่ โครงการพัฒนาพื้นที่ชายทะเลฝั่งทะเลตะวันออก(Eastern Seaboard)   และได้เตรียมที่จะขยายตัวไปยังภูมิภาคอื่นๆ อันเป็นที่มาของโครงการขนาดใหญ่ที่จะผุดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ   ซึ่งโดยเนื้อแท้แล้วก็คือการที่จะไปแย่งยุดและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของคนในพื้นที่เดิมมาให้กับกลุ่มทุนเพื่อหากำไรจากภูมิภาคเหล่านั้น  

สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นที่นครศรีธรรมราชก็เป็นไปในลักษณะเดียวกัน

ดังนั้นในช่วงประมาณ พ.ศ. 2504-2539 ในนครศรีธรรมราชจึงจะเห็นได้ถึงการขยายเงินทุนของกลุ่มทุนต่างๆที่สัมพันธ์และได้ประโยชน์จากทิศทางการพัฒนาประเทศ   ในขณะที่ชาวบ้านทั่วไปไม่ได้ประโยชน์มากนัก    นโยบายหรือโครงการที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวนครศรีธรรมราชในช่วงนี้ เช่น การบุกเบิกที่ดินเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะยางพารา  ขณะเดียวกันรัฐก็ประกาศเขตอนุรักษ์เพื่อควบคุมชาวบ้านที่ทำกินอยู่ในบางบริเวณ  การสร้างสาธารณูปโภคและบริการของรัฐต่างๆ เช่น การตัดถนน การจัดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธกส.) การตั้งสถาบันการศึกษา การพัฒนาการปลูกข้าวในลุ่มน้ำปากพนัง การพัฒนาการทำประมงในทะเล เป็นต้น

ในช่วงนี้ชุมชนเมืองของนครศรีธรรมราชออกมากขึ้น  เมืองได้เป็นศูนย์กลางในปกครองและการแลกเปลี่ยนสินค้าที่กว้างไกลขึ้น  อันสื่อให้เห็นว่าการผลิตแบบยังชีพ การพึ่งตนเองได้สูงแบบเดิมของชุมชนได้ลดลง   ต้องพึ่งพาผลผลิตจากที่อื่นมากขึ้น    ดังจะเห็นได้จากการขยายตัวของตลาดในตัวเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งเดิมอยู่ที่ตลาดผีหีบ(ตั้งเป็นตลาดตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 2497) ตลาดคลองทา(ตลาดยาว) และตลาดเสาธงทอง   ต่อมา พ.ศ. 2503 เทศบาลมีนโยบายขยายถนนทำให้แม่ค้าบางส่วนย้ายไปอยู่ที่ตลาดคูขวาง  บางส่วนย้ายไปเกิดเป็นตลาดหัวอิฐ   ต่อมาเมื่อถนนนพวงศ์(นาพรุ-ปากพยิง)สร้างเสร็จใน พ.ศ. 2516 ทำให้ตลาดหัวอิฐขยายตัวอย่างรวดเร็ว  สินค้าเกษตรจำนวนมากมาจากความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ฟากตะวันตกแถบพรหมคีรี พิปูน ช้างกลาง      จนได้เปิดตลาดอย่างเป็นทางการใน พ.ศ. 2529 และกลายเป็นตลาดผักและผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดของภาคใต้ในปัจจุบัน

 

ช่วงที่ 3 ชุมชนในช่วงทุนนิยมโลกาภิวัฒน์(พ.ศ. 2540-ปัจจุบัน 2553)

        ความจริงกระแสการเปลี่ยนแปลงในระดับโลกได้ส่งผลกระทบต่อไทยมาก่อนหน้านี้   แต่ตั้งแต่ พ.ศ. 2540 ได้ปรากฏชัดว่าทุนระดับโลกได้เข้ามามีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจสังคมไทยอย่างมากนับตั้งแต่ “วิกฤติต้มยำกุ้ง”ใน พ.ศ. 2540 ที่แผ่ลามจากเมืองไทยจนกระทบไปทั่วโลก   เศรษฐกิจไทยก็ผูกติดกับกระแสโลกยิ่งกว่าเดิม   เห็นได้ชัดเจนจากการที่ไทยต้องยอมรับเงื่อนไขของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ (International Monetary Fund-IMF)   มาปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจภายในประเทศ   จากนั้นก็มีการเปิดให้ทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทย หรือนายทุนไทยไปลงทุนยังต่างประเทศกันง่ายขึ้น   ซึ่งถือได้ว่าเป็นก้าวย่างสำคัญอีกก้าวหนึ่งของการขยายตัวของทุนนิยมนิยมในประเทศไทย

        อย่างไรก็ตามผู้ที่ได้เปรียบจากก้าวสำคัญนี้ก็คือผู้ที่มีเงินลงทุนได้มากกว่านั่นเอง    ขณะที่ชาวบ้านทั่วไปไม่ได้ประโยชน์มากนักอยู่เช่นเดิม   และยังอาจได้รับผลร้ายจากการขยายตัวของทุนยิ่งกว่าเดิม   เพราะแนวทางที่ทุนโลกต้องการให้ไทยปรับตัวก็สอดคล้องกับความต้องการของผู้มีเงินทุนก้อนใหญ่กว่าในประเทศเช่นกัน   นั่นคือการปรับตัวเข้ามายึดครองและใช้ทรัพยากรหรือปัจจัยการผลิตที่จำนวนมากเป็นกรรมสิทธิ์หรือถูกใช้ประโยชน์อยู่โดยผู้ที่มีเงินทุนน้อยกว่า หรือชาวบ้านทั่วไป 

        การขยายตัวของทุนในช่วงนี้สอดคล้องกับแนวทางที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาฯที่มุ่งขยายภาคอุตสาหกรรมโดยให้กระจายไปยังภูมิภาค   โครงการขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นในนครศรีธรรมราชในช่วงนี้จึงเป็นไปตามทิศทางดังกล่าว เช่น โครงการสะพานเศรษฐกิจ(Landbridge)ที่สร้างถนนสาย 44 (กระบี่-ขนอม)เสร็จในเดือนกันยายน 2546   รวมทั้งโครงการขนาดใหญ่ต่างๆที่ชาวนครศรีธรรมราชกังวลใจอย่างยิ่งในปัจจุบันนี้นั่นเอง

        กล่าวโดยสรุปได้ว่า โครงการขนาดใหญ่ที่ชาวนครศรีธรรมราชกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้เป็นรูปลักษณ์หนึ่งของระบบทุนนิยมที่กำลังอยู่ในขั้นโลกาภิวัฒน์   แม้นครศรีธรรมราชจะเคยประสบกับความปลี่ยนแปลงใหญ่ๆอันเนื่องมาจากการขยายตัวของทุนนิยมในช่วงเวลาต่างๆในอดีตมาโดยตลอด แต่ทุนนิยมโลกาภิวัตน์จะมีความรุนแรงมากที่สุดกว่าที่เคยพบเจอมา   ผู้ที่เสียเปรียบจะมีทั้งชาวบ้านทั่วไปตลอดจนถึงนายทุนในท้องถิ่นที่มีทุนน้อยกว่า

        เพราะในระบบทุนนิยมปลาน้อยย่อมเป็นเหยื่อของปลาใหญ่เป็นธรรมดา

หมายเลขบันทึก: 407022เขียนเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2010 02:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 21:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท