หมอลำขับขานตำนานศิลป์


หมอลำขับขานตำนานศิลป์ 

 

 

 

 

 

 

 

 

"พี่น้องเอย เพิ่นว่าเมืองอีสานนี่ดินดำน้ำซุ่ม
ปลากุ่มบ้อนคือแข้แกว่งหาง
ปลานางบ้อนคือขางฟ้าลั่น
จักจั่นฮ้องคือฟ้าล่องบน

แตกจ้นจ้นเสียงปีบโฮแซว

มีหลายแนวแอ่นระบำลำฟ้อน
คนมีศีล ดินมีน้ำ บ่ห่อนขาดเขินบก
ฝูงหมู่สกุณานก บินซวนซมปลายไม้
ไทเมืองไกล เมืองใกล้ ไปมาได้จอดแว้
น้ำใจหลายดีแท้น้อ หมู่เฮาซาวอีสาน ซั่นแล้ว"

 

                หากกล่าวถึงคำว่า   “อีสาน”  สิ่งที่นึกถึงและอยู่ในความทรงจำเป็นอันดับแรกคือ  หมอลำหมอแคน  ซึ่ง “หมอลำหมอแคน” เป็นศิลปวัฒนธรรมที่ผูกพันกับชาวอีสานมานานแสนนาน  หมอลำเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านของคนอีสานที่ได้รับความนิยม  การลำนั้นมีบทบาทที่สำคัญต่อวิถีชีวิตของคนอีสานหลายด้าน  เช่น  ด้านพิธีกรรม  ด้านความบันเทิง  เป็นต้น 

            หมอลำกลอน เป็นการแสดงศิลปะพื้นบ้านของชาวอีสาน เริ่มมีมานานแล้วเท่าใดไม่ปรากฏหลักฐาน ทราบเพียงแต่ว่าเป็นศิลปะที่แทรกซึมอยู่ในสายเลือดของชาวอีสาน เป็นมรดกทางวัฒนะธรรมของพวกเขา นักแสดงจะมีชื่อเรียกกันว่า "หมอลำ" คำว่า"หมอ" ก็แปลว่าผู้เชี่ยวชาญทางใดทางหนึ่ง คำว่าก็หมอกลอน คือหมอกวีที่ชำนาญการขับร้องลำนำ คำบท คำกลอนนั่นเอง

            เพลงหมอลำกลอน มีไว้เพื่อให้ชาวบ้านได้นำมาร้องมารำในยามมีงานบุญต่าง ๆ ในหมู่บ้าน หรือในงานวัด ทั้งงานสุขและงานทุกข์ ชาวบ้านก็จะนำเอาหมอลำกลอนมาเล่นกันให้สนุกสนาน โดยเฉพาะในช่วงหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าว โดยมักนำเอาเรื่องราวในวรรณคดี นิทานพื้นเมืองความเป็นอยู่หรือสภาพของสังคม ตลอดจนเหตุการณ์ทั่วไป มาแต่งเป็นเรื่องราวเพื่อขับร้องเพื่อให้ผู้ฟังได้เกิดความเข้าใจและบันเทิง

 

 วิวัฒนาการของหมอลำ

            ความเจริญก้าวหน้าของหมอลำก็คงเหมือนกับความเจริญก้าวหน้าของสิ่งอื่นๆ เริ่มแรก คงเกิดจากผู้เฒ่าผู้แก่เล่านิทาน นิทานที่นำมาเล่าเกี่ยวกับจารีตประเพณีและศีลธรรม โดยเรียก ลูกหลานให้มาชุมนุมกัน ทีแรกนั่งเล่า เมื่อลูกหลานมาฟังกันมากจะนั่งเล่าไม่เหมาะ ต้องยืนขึ้นเล่า เรื่องที่นำมาเล่าต้องเป็นเรื่องที่มีในวรรณคดี เช่น เรื่องกาฬเกษ สินชัย เป็นต้น ผู้เล่าเพียงแต่เล่า ไม่ออกท่าออกทางก็ไม่สนุก ผู้เล่าจึงจำเป็นต้องยกไม้ยกมือแสดงท่าทางเป็น พระเอก นางเอก

เป็นนักรบ เป็นต้น      เพียงแต่เล่าอย่างเดียวไม่

สนุก จึงจำเป็นต้องใช้สำเนียงสั้นยาว ใช้เสียงสูง

ต่ำ ประกอบ และหาเครื่องดนตรีประกอบ เช่น

ซุง ซอ ปี่ แคน เพื่อให้เกิดความสนุกครึกครื้น

ผู้แสดง มีเพียงแต่ผู้ชายอย่างเดียวดูไม่มีรสชาติ

เผ็ดมัน จึงจำเป็นต้องหา ผู้หญิงมาแสดงประกอบ

เมื่อ ผู้หญิงมาแสดงประกอบจึงเป็นการลำแบบ

สมบูรณ์ เมื่อผู้หญิงเข้ามาเกี่ยวข้องเรื่องต่างๆ

ก็ตามมา เช่น เรื่องเกี้ยวพาราสี เรื่องชิงดีชิงเด่น ยาด (แย่ง) ชู้ยาดผัวกัน เรื่องโจทย์ เรื่องแก้ เรื่องประชัน ขันท้า เรื่องตลกโปกฮาก็ตามมา จึงเป็นการลำสมบูรณ์แบบจากการมีหมอลำชายเพียงคนเดียวค่อยๆ พัฒนาต่อมาจนมีหมอลำฝ่ายหญิง มีเครื่อง ดนตรีประกอบจังหวะเพื่อความสนุกสนาน จนกระทั่งเพิ่มผู้แสดงให้มีจำนวนเท่ากับตัวละครที่มีในเรื่อง มีพระเอก นางเอก ตัวโกง ตัวตลก เสนา ครบถ้วน ซึ่งพอจะแบ่งยุคของวิวัฒนาการได้ดังนี้

 

ลำโบราณ  เป็นการเล่านิทานของผู้เฒ่าผู้แก่ให้ลูกหลานฟัง ไม่มีท่าทาง และดนตรี ประกอบ

            ลำคู่หรือลำกลอน เป็นการลำที่มีหมอลำชายหญิงสองคนลำสลับกัน มีเครื่องดนตรีประกอบ คือ แคน การลำมีทั้งลำเรื่องนิทานโบราณคดีอีสาน เรียกว่า ลำเรื่องต่อกลอน ลำทวย (ทายโจทย์) ปัญหา ซึ่งผู้ลำจะต้องมี ปฏิภาณไหวพริบที่ดี สามารถตอบโต้ ยกเหตุผลมาหักล้างฝ่ายตรงข้ามได้ ต่อมามีการเพิ่มผู้ลำ

 ขึ้นอีกหนึ่งคน อาจเป็นชายหรือหญิง ก็ได้ การลำจะเปลี่ยนเป็นเรื่อง ชิงรัก หักสวาท ยาดชู้ยาดผัว เรียกว่า ลำชิงชู้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ลำหมู่  เป็นการลำที่มีผู้แสดงเพิ่มมากขึ้น จนเกือบจะครบตามจำนวนตัวละครที่มีในเรื่อง มีเครื่องดนตรีประกอบเพิ่มขึ้น เช่น พิณ (ซุง หรือ ซึง) กลอง การลำจะมี 2 แนวทาง คือ ลำเวียง จะเป็นการลำแบบลำกลอน หมอลำแสดง เป็นตัวละครตามบทบาทในเรื่อง การดำเนินเรื่องค่อนข้างช้า แต่ก็ได้อรรถรสของละครพื้นบ้าน หมอลำได้ใช้พรสวรรค์ของตัวเองในการลำ ทั้งทางด้านเสียงร้อง ปฏิภาณไหวพริบ และความจำเป็นที่นิยมในหมู่ผู้สูงอายุ ต่อมาเมื่อดนตรีลูกทุ่งมีอิทธิพลมากขึ้นจึงเกิดวิวัฒนาการของลำหมู่อีกครั้งหนึ่ง กลายเป็น ลำเพลิน ซึ่งจะมีจังหวะที่เร้าใจชวนให้สนุกสนาน ก่อนการลำเรื่องในช่วงหัวค่ำจะมีการนำเอารูปแบบของ วงดนตรีลูกทุ่งมาใช้เรียกคนดู กล่าวคือ จะมีนักร้อง (หมอลำ) มาร้อง เพลงลูกทุ่งที่กำลังฮิตในขณะนั้น มีหางเครื่องเต้นประกอบ นำเอาเครื่องดนตรีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้

 เช่น กีตาร์ คีย์บอร์ด แซ็กโซโฟน ทรัมเปต

 และกลองชุด โดยนำมาผสมผสานเข้ากับ

เครื่องดนตรีเดิมได้แก่ พิณ แคน ทำให้ได้

รสชาติของดนตรีที่แปลกออกไปยุคนี้นับว่า

หมอลำเฟื่องฟูมากที่สุด คณะหมอลำดังๆ

ส่วนใหญ่จะอยู่ในแถบจังหวัด ขอนแก่น

มหาสารคาม อุบลราชธานี

 

ลำซิ่ง  หลังจากที่หมอลำคู่และหมอลำเพลิน ค่อยๆ เสื่อมความนิยมลงไป อันเนื่องมาจากการก้าวเข้ามาของเทคโนโลยีวิทยุโทรทัศน์ ทำให้ดนตรีสตริงเข้ามาแทรกในวิถีชีวิตของผู้คนอีสาน ความนิยมของการชมหมอลำ ค่อนข้างจะลดลงอย่างเห็นได้ชัด จนเกิดความวิตกกังวลกันมากในกลุ่มนักอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน แต่แล้วมนต์ขลังของหมอลำก็ได้กลับมาอีกครั้ง ด้วยรูปแบบที่สะเทือนวงการด้วยการแสดงที่เรียกว่า ลำซิ่ง ซึ่งเป็นวิวัฒนาการของลำคู่ (เพราะใช้หมอลำ 2-3 คน) ใช้เครื่องดนตรีสากลเข้าร่วมให้จังหวะเหมือนลำเพลิน มีหางเครื่องเหมือนดนตรีลูกทุ่ง กลอนลำสนุกสนานมีจังหวะอันเร้าใจ ทำให้ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งระบาดไปสู่การแสดงพื้นบ้านอื่นให้ต้องประยุกต์ปรับตัว  เช่น เพลงโคราชกลายมาเป็นเพลงโคราชซิ่ง    กันตรึมก็กลายเป็นกันตรึมร็อค  หนังประโมทัย (หนังตะลุงอีสาน) กลายเป็นประโมทัยซิ่ง    ถึงกับมีการจัดประกวดแข่งขัน บันทึกเทปโทรทัศน์จำหน่ายกันอย่างแพร่หลาย จนถึงกับ มีบางท่านถึงกับกล่าวว่า "หมอลำไม่มีวันตาย จากลมหายใจชาวอีสาน"

 

กลอนลำแบบต่างๆ 

            กลอนที่นำมาเสนอ ณ ที่นี้มีหลายกลอนที่มีคำหยาบโลนจำนวนมาก บางท่านอาจจะทำใจยอมรับไม่ได้ก็ต้องกราบขออภัย เพราะผู้จัดทำมีเจตนาที่จะเผยแพร่ไว้เพื่อเป็นการสืบสาน วัฒนธรรมประเพณี มิได้มีเจตนาที่จะเสนอให้เป็นเรื่องลามกอนาจาร ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า นี่คือวิถีชีวิตของคนอีสาน กลอนลำทั้งหลายทั้งปวงผู้ลำมีเจตนาจะทำให้เกิดความสนุกสนาน ตลกโปกฮาเป็นที่ตั้ง ท่านที่อยู่ในท้องถิ่นอื่นๆ ขอได้เข้าใจในเจตนาด้วยครับ สนใจในกลอนลำหัวข้อใดคลิกที่หัวข้อนั้นเพื่อเข้าชมได้ครับ

           

กลอนสั้นคือ คำกลอนที่สั้นๆ ใช้สำหรับลำเวลามีงานเล็กๆ น้อยๆ เช่น งานทำบุญบ้าน หรืองานประจำปี เช่น งานบุญเดือนหก เป็นต้น กลอนสั้น มีดังต่อไปนี้

1. กลอนขึ้น

2.  กลอนลงลำ

3. กลอนลำเหมิดคืน

4. กลอนโต้น

5. กลอนติ่ง

6. กลอนต่ง

7. กลอนอัศจรรย์

8. กลอนสอย

9. กลอนหนังสือเจียง

10. กลอนเต้ยหรือผญา

11. ลำสีพันดอน

 

กลอนยาว  คือ กลอนสำหรับใช้ลำในงานการกุศล งานมหรสพต่างๆ กลอนยาวนี้ใช้เวลาลำ เป็นชั่วโมงบ้าง ครึ่งชั่วโมงบ้าง หรือแล้วแต่กรณี ถ้าลำคนเดียวเช่น ลำพื้น หรือ ลำเรื่อง ต้องใช้เวลาลำเป็นวันๆ คืนๆ ทั้งนี้แล้วแต่เรื่องที่จะลำสั้นหรือยาวแค่ไหน แบ่งออกเป็นหลายชนิดดังนี้

  1. กลอนประวัติศาสตร์

2. กลอนลำพื้นหรือลำเรื่อง

3. กลอนเซิ้ง

4. กลอนส้อง  กลอนเพอะ

6. กลอนล่องของ (โขง)

7. กลอนเว้าสาว

หมอลำ

หมอลำเป็นศิลปะของอีสาน                หมายถึงการเอ่ยคำนำด้วยเสียง

จากตำนานนิทานอ่านสำเนียง                         แล้วเรียบเรียงถ้อยคำลำนำกลอน

หมอลำแฝงลักษณะทุกชนิด                            ไม่ต้องคิดลำบากยากเรื่องสอน

ลำพื้นคือลำเรื่องต่อเนื่องกลอน                       ทุกบทตอนสำพันธ์เป็นเรื่องยาว

ตัวละครใช้เสดงทั้งชายหญิง                           แต่งตัวจริงเกล้ามวยสวยจริงสาว

หมอลำชายคนเก่งกางเกงยาว                          ใช้ผ้าขาวม้าพาดเอวบ้างก็มี

สถานที่ไม่ต้องมีฉากหลังกั้น                           โต้ตอบกันพอเพียงไม่เบี่ยงหนี

เป็นการเสร็จสิ้นการจัดเวที                             หมอลำมีชุดเดียวจบรายการ

วิชาการแสดงแข่งโต้ตอบ                               ตามที่ชอบว่ากลอนสดลดเลี้ยวขาน

ทั้งหญิงชายแก้ลำด้วยชำนาญ                         ดูสำราญต่อผู้ชมภิรมย์ใจ

หมอลำคู่ตัวละครมีเพียงสอง                           ตามทำนองกลอนลำกล่อมเสียงใส

หมอแคนหนึ่งเป่าคลอกันต่อไป                      ร้องลำได้ไพเราะเสนาะจริง

ลำประชันหรือลำโจทย์ให้ถามตอบ                  ปัญหารอบรู้ทันทั้งชายหญิง

มีทั้งเกี้ยวพาราสีดีจริงจริง                               ทุกๆ สิ่งใช้ปฏิภาณไหวพริบตาม

ลำชิงชู้ชิงใครพึงใคร่รู้                                     ชายหนึ่งคู่หญิงหนึ่งคนรวมเป็นสาม

ผู้ชายเกี้ยวให้หญิงรักจักพยายาม                     ต้องใช้ความสามารถในการลำ

แมงตับเต่าเป็นลำมีดนตรีด้วย                         กั๊บแก๊บช่วยเกิดเสียงดังฟังขำขำ

กั๊บแก๊บใช้ไม้ประดู่ พยุงทำ                             เมื่อร้องลำขยับเสียงดังก้องกังวาน

หมอลำซิ่งเป็นหมอลำสมัครเล่น                      ชี้ให้เห็นศรัทธาอย่างกล้าหาญ

แสดงตามงานวัดเทศกาล                                งานกฐินผ้าป่าและบั้งไฟ

ลำส่องหรือผีฟ้าหน้าที่หลัก                             เริ่มรู้จักความเชื่อหน้าสงสัย

ว่าสาเหตุของการเจ็บป่วยไข้                           เกิดจากใต้อำนาจผีมีมานาน

การลำส่องคล้ายมองเห็นเป็นเรื่องโรค             ถูกโฉลกรักษาไข้ให้สมาน

ใช้ชายลำหนึ่งคนช่วยบนบาน                         ให้อาการไข้ทุลาเข้าตำรา

เอาหญิงสาวบริสุทธิ์มารำฟ้อน                         ตามขั้นตอนลำส่องถูกต้องหนา

มียกครูเรียกคายหลายอย่างมา                          ทำบูชาเสียก่อนค่อยฟ้อนรำ

ใช้ขันห้าขึ้นยกครูคู่ขันแปด                             เทียนคู่แฝดสองคู่ดูน่าขำ

ดอกไม้สิบสามคู่ดุแล้วจำ                                เงินที่ทำสี่บาทประหลาดจริง

มีข้าวสารหนึ่งขันข้าวสุกด้วย                          ไข่ไก่สวยหนึ่งฟองคล่องทุกสิ่ง

ผ้าขาวยาววาครึ่งอย่าเพิ่งติง                             ผ้าถุงหญิงหนึ่งผืนนำมาวาง

เสร็จแล้วตั้งเสี่ยงทายรักษาได้                         โดยวางไข่ใส่มือผู้ป่วยขวาง

ไข่กระดกตั้งไว้จึ่งให้นาง                                รำแล้ววางค่อยอ่อนช้อยแล้วเร่งตาม

ถึงจังหวะเร็วรี่คล้ายผีฟ้า                                 ผู้ร้องว่าถึงอาการหมั่นซักถาม

เมื่อทราบถึงอาการอ่านได้ความ                      พยายามรักษาจนหายดี

หมอลำเพลินจัดเป็นลำพิเศษ                           คือประเภทลำเรื่องเฟื่องศักดิ์ศรี

จุดมุ่งหมายเพลิดเพลินเจริญดี                         เป็นลำที่คนนิยมมาชมกัน

มีดนตรีประกอบคือกลองแคน                                    มีออร์แกนกีร์ตา  พาสุขสันต์

มีสาวสวยเต้นโชว์กระโปงสั้น                         สีเสื้อนั้นดูฉูดฉาดบาดนัยน์ตา

ประโยชน์ของหมอลำมีมากนัก           หนึ่งเพื่อพักผ่อนใจให้หรรษา

สองช่วยสอนศีลธรรมและจรรยา                     สามนำพาเป็นสื่อสารของมวลชน

สี่ช่วยแก้ปัญหาสังคมไทย                               ห้าแก้ไขคุมกำเนิดคนเกิดล้น

หกวางแผนครอบครัวทั่วตำบล                       เจ็ดกลอนด้นกล่าวตำนานนี้ไม่ตาย

หมอลำเป็นเอกลักษณ์ของอีสาน                     แต่โบราณปัจจุบันไม่สูญหาย

พึงรักษาประเพณีไม่มีคลาย                             ตราบชีพวายอีสานพื้นแผ่นดินทอง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

อ้างอิง 

 

ชลิต ชัยครรชิต และคนอื่น ๆ.  สังคมและวัฒนธรรมอีสาน.  หอศิลปวัฒนธรรม      

 มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2544.

ธวัช ปุณโณทก.  “ความเชื่อพื้นบ้านอันสัมพันธ์วิถีชีวิตในสังคมอีสาน”.  ใน วัฒนธรรม

            พื้นบ้านคติความเชื่อ.  พิมพ์ครั้งที่ 4 กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2536.

บุญเกิด พิมพ์วรเมธากุล และนภาพร พิมพ์วรเมธากุล.  พจนานุกรมภาษาถิ่นอีสาน : เว้า

            อีสาน. ขอนแก่น : ขอนแก่น คลังนานาธรรม, 2545.

บุญเลิศ สดสุชาติ.  “กะลำกฎหมายชาวบ้านท้องถิ่นอีสาน” . ใน อีสานศึกษา.  2 ;

            5.  ตุลาคม-ธันวาคม

ปรียา หิรัญประดิษฐ์.  “วรรณคดีท้องถิ่นไทย”  ใน พัฒนาการวรรณคดีไทย หน่วยที่ 8 –

            15.  นนทบุรี : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2533.

พรทิพย์ ซังธาดา.  วรรณกรรมท้องถิ่นอีสาน.  กรุงเทพฯ : ชมรมเด็ก, 2545

คำสำคัญ (Tags): #หมอลำ
หมายเลขบันทึก: 407018เขียนเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2010 00:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 22:02 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

หมอลำ ศิลปวัฒนธรรม ที่ยังมีชีวิต และยังสืบทอดได้อีกยาวนาน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท