สามัคคีเภทคำฉันท์


เนื้อหาโดยสรุป

สามัคคีเภทคำฉันท์

              คำว่าสามัคคีเภท เป็นคำสมาส เภท มีความหมายว่า การแบ่ง การแตกแยก การทำลาย สามัคคีเภท มีความหมายว่า การแตกความสามัคคี หรือ การทำลายความสามัคคี

             ผู้แต่ง  นายชิต บุรทัต กวีในรัชกาลที่ ๖  ในขณะที่บรรพชาเป็นสามเณร อายุเพียง ๑๘ ปี ได้เข้าร่วมแต่งฉันท์สมโภชพระมหาเศวตฉัตรในงานราชพิธีฉัตรมงคล รัชกาลที่ ๖  เมื่ออายุ ๒๒ ปี ได้ส่งกาพย์ปลุกใจลงในหนังสือพิมพ์ สมุทรสาร นายชิต
มีนามสกุลเดิมว่า ชวางกูร ได้รับพระราชทานนามสกุล “บุรทัต” จากพระบาทสมเด็จ
พระมงกุฎเกล้าฯ ในปี ๒๔๕๐ เมื่ออายะ ๒๓ ปี ใช้นามปากกาว่า เจ้าเงาะ  เอกชน  และแมวคราว

             รูปแบบ  แต่งเป็นบทร้อยกรอง โดยนำฉันท์ชนิดต่าง ๆ มาใช้สลับกันอย่างเหมาะสมกับเนื้อหาแต่ละตอน  ประกอบด้วยฉันท์ ๑๘ ชนิด  กาพย์ ๒ ชนิด คือ กาพย์ฉบัง ๑๖ และ กาพย์สุรางคนางค์ ๒๘

             ที่มาของเรื่อง   ในสมัยรัชกาลที่ ๖ เกิดวิกฤตการณ์ทั้งภายในและภายนอกประเทศ เช่น เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ เกิดกบฏ ร.ศ. ๑๓๐ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของบ้านเมือง นายชิต บุรทัต จึงได้แต่งเรื่องสามัคคีเภทคำฉันท์ขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๔๕๗  เพื่อมุ่งชี้ความสำคัญของการรวมกันเป็นหมู่คณะ เรื่องสามัคคีเภท เป็นนิทานสุภาษิต ในมหาปรินิพพานสูตร และอรรถกถาสุมังคลวิลาสินี ทีฆนิกายมหาวรรค ลงพิมพ์ในหนังสือธรรมจักษุ ของมหามกุฎราชวิทยาลัย โดยเรียบเรียงเป้าษาบาลี

             จุดประสงค์ในการแต่ง นายชิต บุรทัต   อาศัยเค้าคำแปลของเรื่องสามัคคีเภทมาแต่งเป็นคำฉันท์ เพื่อแสดงความสามารถในเชิงกวีให้เป็นที่ปรากฏ  และเป็นพิทยาภรณ์ประดับบ้านเมือง

             เนื้อเรื่องย่อ พระเจ้าอชาตศัตรูแห่งกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ ทรงมีวัสสการ พราหมณ์ผู้ฉลาดและรอบรู้ศิลปศาสตร์เป็นที่ปรึกษา มีพระประสงค์จะขยายอาณาจักร
ไปยังแคว้นวัชชีของเหล่ากษัตริย์ลิจฉวี  ซึ่งปกครองแคว้นโดยยึดมั่นในอปริหานิยธรรม (ธรรมอันไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม) เน้นสามัคคีธรรมเป็นหลัก  การโจมตีแคว้นนี้ให้ได้จะต้องทำลายความสามัคคีนี้ให้ได้เสียก่อน วัสสการพราหมณ์ปุโรหิตที่ปรึกษา จึงอาสาเป็นไส้ศึกไปยุแหย่ให้กษัตริย์ลิจฉวีแตกความสามัคคี  โดยทำเป็นอุบายกราบทูลทัดทานการไปตีแคว้นวัชชี  พระเจ้าอชาตศัตรูแสร้งกริ้ว รับสั่งลงโทษให้เฆี่ยนวัสสการ    พราหมณ์ อย่างรุนแรงแล้วเนรเทศไป

             ข่าวของวัสสการพราหมณ์ไปถึงนครเวสารี เมืองหลวงของแคว้นวัชชี  กษัตริย์ลิจฉวีรับสั่งให้วัสสการพราหมณ์เข้ารับราชการกับกษัตริย์ลิจฉวี  ด้วยเหตุที่เป็นผู้มีสติปัญญา มีวาทศิลป์ดี มีความรอบรู้ในศิลปะวิทยาการ ทำให้กษัตริย์ลิจฉวีรับไว้ในพระราชสำนัก ให้พิจารณาคดีความและสอนหนังสือพระโอรส  วัสสการพราหมณ์ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มความรู้ความสามารถ จนกษัตริย์ลิจฉวีไว้วางพระทัย ก็ดำเนินอุบายขั้นต่อไป คือสร้างความคลางแคลงใจในหมู่พระโอรส แล้สลุกลามไปถึงพระบิดา ซึ่งต่างก็เชื่อพระโอรส ทำให้ขุ่นเคืองกันไปทั่ว เวลาผ่านไป ๓ ปี เหล่ากษัตริย์ลิจฉวีก็แตกความสามัคคีกันหมด แม้วัสสการ  พราหมณ์ตีกลองนัดประชุม ก็ไม่มีพระองค์ใดมาร่วมประชุม วัสสการพราหมณ์จึงลอบส่งข่าวไปยังพระเจ้าอชาตศัตรู ให้ทรงยกทัพมาตีแคว้นวัชชีได้อย่างง่ายดาย

              ข้อคิดที่ควรพิจารณา จากเรื่องสามัคคีเภทคำฉันท์  

             ๑. การขาดการพิจารณาไตร่ตรอง  นำไปซึ่งความสูญเสีย ดังเช่น เหล่ากษัตริย์ลิจฉวี “ขาดการพิจารณาไตร่ตรอง” คือ ขาดความสามารถในการใช้ปัญญา
ตริตรองพิจารณาสอบสวน และใช้เหตุผลที่ถูกต้อง จึงหลงกลของวัสสการพราหมณ์ ถูกยุแหย่ให้แตกความสามัคคีจนเสียบ้านเสียเมือง

             ในรัชกาลที่ ๖ ด้วยเหตุที่คนไทยมีความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินกิจการบ้านเมืองแตกต่างกันหลายฝ่าย  ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ กวีจึงนิยมแต่งวรรณคดีปลุกใจขึ้นเป็นจำนวนมาก  สามัคคีเภทคำฉันท์เป็นเรื่องหนึ่งในจำนวนนั้น 
นายชิต บุรทัต  แต่งเรื่องนี้ขึ้น  โดยมุ่งชี้ให้เห็นความสำคัญของความสามัคคี เพื่อบ้านเมืองเป็นปึกแผ่นมั่นคง แต่ในปัจจุบันกระแสชาตินิยมลดลง  แต่ความสามัคคีก็เป็นหลักธรรมสำคัญในการทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะ  วรรณคดีเรื่องนี้จึงเป็นเนื้อหาที่มีคติสอนใจทันสมัยอยู่เสมอ

             ๒. แนวคิดของเรื่องสามัคคีเภท  สามัคคีเภทคำฉันท์ เป็นนิทานสุภาษิตสอนใจให้เห็นโทษของการแตกความสามัคคี  และแสดงให้เห็นความสำคัญของการใช้สติปัญญาให้เกิดผลโดยไม่ต้องใช้กำลัง

             ๓. ข้อคิดเห็นระหว่างวัสสการพราหมณ์กับกษัตริย์ลิจฉวี  บางคนอาจมีทรรศนะว่า วัสสการพราหมณ์ขาดคุณธรรม ใช้อุบายล่อลวงผู้อื่นเพื่อประโยชน์ฝ่ายตน แต่มองอีกมุมหนึ่งก็จะเห็นว่า  วัสสการพราหมณ์น่ายกย่องตรงที่มีความจงรักภักดีต่อพระเจ้าอชาตศัตรูและต่อบ้านเมือง  ยอมถูกลงโทษเฆี่ยนตี  ยอมลำบาก  จากบ้านเมืองตนไปเสี่ยงภัยในหมู่ศัตรู  ด้องใช้ความอดทน  สติปัญญาความสามารถอย่างสูงจึงจะสัมฤทธิผลตามแผนการที่วางไว้

             ส่วนกษัตริย์ลิจฉวีเคยใช้หลักอปริหานิยธรรมร่วมกันปกครองแคว้นวัชชีให้มั่นคงเจริญมาช้านาน  แต่เมื่อถูกวัสสการพรามหณ์ใช้อุบายยุแหย่ให้แตกความสามัคคี 
ก็พ่ายแพ้ศัตรูได้โดยง่ายดาย

             ๔. เรื่องสามัคคีเภทคำฉันท์ให้อะไรกับผู้อ่าน  ข้อคิดสำคัญที่ได้จากเรื่อง คือ โทษของการแตกความสามัคคี ส่วนแนวคิดอื่น ๆ มีดังนี้

                   ๔.๑ การใช้ปัญญาเอาชนะศัตรูโดยไม่เสียเลือดเนื้อ

                   ๔.๒ การเลือกใช้บุคคลให้เหมาะสมกับงานจะทำให้งานสำเร็จได้ด้วยดี

                   ๔.๓ การใช้วิจารณญาณไตร่ตรองก่อนทำการใด ๆ เป็นสิ่งที่ดี

                   ๔.๔ การถือความคิดของตนเป็นใหญ่และทะนงตนว่าดีกว่าผู้อื่น ย่อมทำให้เกิดความเสียหายแก่ส่วนรวม

             ๕. ศิลปะการประพันธ์ในสามัคคีเภทคำฉันท์ นายชิต บุรทัต  สามารถสร้างตัวละคร เช่น  วัสสการพราหมณ์ ให้มีบุคลิกเด่นชัด  และสามารถดำเนินเรื่องให้ชวนติดตาม  นอกจากนี้ ยังมีความเชี่ยวชาญในการแต่งคำประพันธ์ ดังนี้

                   ๕.๑ เลือกสรรฉันท์ชนิดต่าง ๆ มาใช้สลับกันอย่างเหมาะสมกับเนื้อเรื่องแต่ละตอน เช่น ใช้วสันตดิลกฉันท์ ๑๔ ซึ่งมีลีลาไพเราะ ชมความงามของเมืองราชคฤห์  ใช้อีทิสังฉันท์ ๒๐ ซึ่งมีลีลากระแทกกระทั้นแสดงอารมณ์โกรธ

                   ๕.๒ ดัดแปลงฉันท์บางชนิดให้ไพเราะยิ่งขึ้น เช่น เพิ่มสัมผัสบังคับคำสุดท้ายของวรรคแรกกับคำที่ ๓ ของวรรคที่ ๒ ในฉันท์ ๑๑ ฉันท์ ๑๒ และฉันท์ ๑๔  เป็นที่นิยมแต่งตามมาถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ นายชิต บุรทัต  ยังเพิ่มลักษณะบังคับ ครุ ลหุ  สลับกันลงในกาพย์สุรางคนาง ๒๘ ให้มีจังหวะคล้ายฉันท์ด้วย

                   ๕.๓ เล่นสัมผัสในทั้งสัมผัสสระและสัมผัสอักษรอย่างไพเราะ  เช่น  คะเนกล – คะนึงการ  ระวังเหือด – ระแวงหาย

                   ๕.๔ ใช้คำง่าย ๆ ในการเล่าเรื่อง  ทำให้ดำเนินเรื่องได้รวดเร็ว  และผู้อ่านเข้าใจเรื่องได้ทันที

                   ๕.๕ ใช้คำง่าย ๆ ในการบรรยายและพรรณนาดัวละครได้อย่างกระชับ  และสร้างภาพให้เห็นได้อย่างชัดเจน  

 อปริหานิยธรรม ๗ ประการ

             ๑. หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์

             ๒. พร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม พร้อมเพรียงกันทำกิจที่พึงทำ

             ๓. ไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติเอาไว้  ไม่ล้มล้างสิ่งที่บัญญัติไว้  ถือปฏิบัติตามวัชชีธรรมตามที่วางไว้เดิม

             ๔. ท่านเหล่าใดเป็นผู้ใหญ่ในชนชาววัชชี  ก็ควรเคารพนับถือท่านเหล่านั้น  เห็นถ้อยคำของท่านว่าเป็นสิ่งอันควรรับฟัง

             ๕. บรรดากุลสตรีและกุลกุมารีทั้งหลายให้อยู่ดี  โดยมิถูกข่มเหงหรือฉุดคร่าขืนใจ

             ๖. เคารพสักการบูชาเจดีย์ของวัชชีทั้งหลายทั้งภายในและภายนอก  ไม่ปล่อยให้ธรรมิกพลีที่เคยให้เคยทำแก่เจดีย์เหล่านั้นเสื่อมทรามไป

             ๗. จัดให้ความอารักขา คุ้มครอง และป้องกันอันชอบธรรมแก่พระอรหันต์ทั้งหลายทั้งที่ยังมิได้มาพึงมาสู่แว่นแคว้นและที่มาแล้วพึงอยู่ในแว่นแคว้นโดยผาสุก

คุณค่างานประพันธ์ 

             ๑.ด้านวรรณศิลป์

                   - ใช้ฉันทลักษณ์ได้อย่างงดงามเหมาะสม โดยเลือกฉันท์ชนิดต่าง ๆ มาใช้สลับกันตามความเหมาะสมกับเนื้อเรื่อง จึงเกิดความไพเราะสละสลวย

                   - ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย เห็นภาพชัดเจน

              ๒. ด้านสังคม

                   - เน้นโทษของการแตกความสามัคคีในหมู่คณะ

                   - ด้านจริยธรรม เน้นถึงหลักธรรม อปริหานิยธรรม ซึ่งเป็นธรรมอันไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม

                   - เน้นถึงความสำคัญของการใช้สติปัญญาตริตรอง และแก้ไขปัญหาต่าง ๆ โดยไม่ต้องใช้กำลัง

หมายเลขบันทึก: 406381เขียนเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2010 01:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ให้แง่คิดได้อย่างมากในเรื่องความสามัคคี แต่งได้แยบคายน่าติดตาม

โอลิโอยังดีสะกิ้งก่าชอบม่ามาคร่ากะเทียมด้วยพริกหอม จัดว่าเด็ดว่าดีคับ

เคยเรียนสมัยมัธยมต้นท่านอาจารย์ภาษาไทยสอนดีมากคุณค่าของภาษาไทย วรรณคดีไทยบรรพบุรุษไทย ภูมิใจความเป็นคนไทย.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท