การผลิตชาใบหม่อนในระดับครัวเรือน


การทำชาใบหม่อนไว้ดื่มเอง

การผลิตชาใบหม่อนในระดับครัวเรือน

วิโรจน์  แก้วเรือง

          การทำชาใบหม่อนแบบครัวเรือน มุ่งเน้นเกษตรกรและบุคคลทั่วไปทำไว้บริโภคเองได้ เกษตรกรที่มีแปลงหม่อนเพี่อใช้เลี้ยงไหมอยู่แล้ว และบุคคลทั่วไปที่ปลูกหม่อนไว้ตามสวนหลังบ้าน หรือปลูกไว้เป็นไม้ประดับ สามารถทำชาใบหม่อนได้ด้วยตนเอง โดยการใช้อุปกรณ์ในครัวเรือนที่มีอยู่แล้ว ไม่ต้องไปหาซื้อเพิ่มเติมประการใด เพราะจากการศึกษาพบว่า ชาใบหม่อนที่ได้จากการทำแบบครัวเรือน  มีคุณสมบัติ เช่นเดียวกับการทำชาแบบอุตสาหกรรมโรงงาน การทำชาใบหม่อนแบบครัวเรือนอาจพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมภายในครอบครัวได้ แต่การทำเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่ายปริมาณมากๆ ต้องคำนึงถึงความสม่ำเสมอในเรื่องคุณภาพ เนื่องจากจะมีความแตกต่างกันในการทำแต่ละครั้ง รวมทั้งมีความแปรปรวนที่อาจเกิดจากความชำนาญของแต่ละบุคคล โดยเฉพาะเรื่องความชื้น ถ้าคั่วชาไม่ได้ที่ ความชื้นในใบชาใบหม่อนสูง อาจก่อให้เกิดเชื้อราและแบคทีเรียเข้าทำลายได้ ทำให้ชาใบหม่อนเสื่อมคุณภาพ และอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค

การทำชาเขียวใบหม่อนแบบครัวเรือน

ใช้ใบหม่อนสดได้ทั้งใบอ่อนและใบแก่ มีขั้นตอนการทำดังนี้

  1. หั่นใบหม่อนให้มีขนาดประมาณ(0.5-1.0) x (3.0-4.0) เซนติเมตร ตัดก้านใบออก
  2. นึ่งด้วยไอน้ำเดือดนาน 1-2 นาที โดยเกลี่ยให้ใบหม่อนถูกไอน้ำร้อนอย่างทั่วถึง แต่ต้องระวังอย่าให้ใบหม่อนสุกเป็นสีน้ำตาล(หรือลวกในน้ำร้อนประมาณ 90 องศาเซลเซียส นาน20 วินาทีแล้วจุ่มลงในน้ำเย็นทันที นำขึ้นผึ่งลมให้แห้งหมาดๆ)
  3. คั่วในกระทะด้วยไฟอ่อนๆ ประมาณ 20 นาที
  4. อบที่อุณหภูมิ 80 องศาเซลเซียส นาน 1 ชั่วโมง สามารถเก็บรักษาไว้ชงดื่มได้นาน

  

  

 

 

ลักษณะทั่วไปของน้ำชา

    -  สี  เขียวอ่อนปนน้ำตาล

    -  กลิ่น  หอมใบไม้คั่ว เช่นเดียวกับใบชา แต่มีกลิ่นน้อยกว่า

    -   รส  หวานเล็กน้อย ฝาดน้อยกว่าชาจากใบชา ไม่มีรสขม

         ใบหม่อนสดพันธุ์ บร.60 เมื่อนำมาทำชาเขียวจะได้น้ำหนักใบชาเพียง 18.9 % ที่มีความชื้นน้อยกว่า 1.0 % ดังนั้นการจะได้ผลิตภัณฑ์ชาเขียวหม่อนแบบครัวเรือน 1 กิโลกรัม จะต้องใช้ใบหม่อนสดประมาณ 5.3 กิโลกรัม

 

การทำชาจีนใบหม่อนแบบครัวเรือน

  1. นำใบหม่อนสดมาหั่นให้มีขนาดเท่ากับการทำชาเขียว
  2. คั่วในกระทะด้วยไฟอ่อนๆ นานประมาณ 20-25 นาที
  3. อบที่อุณหภูมิ 80 องศาเซลเซียส นานประมาณ 1 ชั่วโมง
  4. เก็บไว้ในภาชนะป้องกันความชื้นเข้าได้ และแสงแดดส่องถึง

 

ลักษณะทั่วไปของน้ำชาใบหม่อน

     -  สี  เหลืองอ่อนปนน้ำตาล

     -  กลิ่น  หอมใบไม้คั่ว เช่นเดียวกับใบชา แต่มีกลิ่นน้อยกว่า

     -  รส  หวานเล็กน้อย ฝาดน้อยกว่าชาจากใบชา

         ใบหม่อนสดพันธุ์ บร.60 เมื่อนำมาทำชาจีนแบบครัวเรือนจะได้น้ำหนักใบชาเพียง 15.8 % ที่มีความชื้นน้อยกว่า 1.0 % ดังนั้นการจะได้ผลิตภัณฑ์ชาเขียวหม่อนแบบครัวเรือน 1 กิโลกรัม จะต้องใช้ใบหม่อนสดประมาณ 6.3 กิโลกรัม

หมายเหตุ

  1. ถ้าไม่มีเครื่องอบต้องคั่วใบหม่อนให้แห้งสนิท ( แต่อย่าให้ไหม้) แล้วเก็บในภาชนะที่ป้องกันความชื้นและแสงแดดได้

การทำชาฝรั่งใบหม่อนแบบครัวเรือน

  1. ตัดก้านใบทิ้ง หั่นใบหม่อนให้มีขนาด เท่ากับการทำชาเขียวใบหม่อน
  2. คั่วในกระทะด้วยไฟอ่อนๆ ขณะคั่วให้นวดใบหม่อนแรงๆเพื่อให้เซลล์ใบหม่อนแตกช้ำ จนกระทั่งใบหม่อนแห้งกรอบ ใช้เวลานานกว่า 25 นาที
  3. บดใบหม่อนให้ร่วนเป็นผงด้วยมือ
  4. บรรจุซอง เก็บไว้ในภาชนะที่ป้องกันความชื้นและแสงแดดได้

ลักษณะทั่วไปของน้ำชา

  1. สีน้ำตาล ( เหลืองทองแดง)
  2. กลิ่น  หอมใบไม้คั่ว เช่นเดียวกับชาฝรั่งจากใบชา
  3. รส  ฝาดน้อยกว่าชาจากใบชา

         ใบหม่อนสดพันธุ์ บร.60 เมื่อนำมาทำชาฝรั่งแบบครัวเรือนจะได้น้ำหนักชาผงเพียง 15.8 % ที่มีความชื้นน้อยกว่า 1.0 % ดังนั้นการจะได้ผลิตภัณฑ์ชาเขียวหม่อนแบบครัวเรือน 1 กิโลกรัม จะต้องใช้ใบหม่อนสดประมาณ 6.3 กิโลกรัม

 

หมายเลขบันทึก: 405834เขียนเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2010 16:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
นายเกรียงศักดิ์ ศิริพงษาโรจน์

ถ้าผลิตเพื่อจำหน่าย ต้องขออนุญาตไหม ถ้าขออนุญาตต้องขอหน่วยงานใดครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท