การมองโลกมองธรรม


คนมีราคะมากจะมีฝ่าเท้าเว้ากลาง คนโกรธง่ายจะจะเดินส้นเท้าหนัก คนปัญญาน้อยจะเดินหนักไปทางปลายเท้า

         การมองโลก มโนทัศน์ มโนมติ วิสัยทัศน์ของคนเรานั้นย่อมมีแตกต่างกันตามปัญญาและประสบการณ์ของแต่ละคน และความจริงอย่างหนึ่งที่เป็นที่ยอมรับคือคนเราทำอะไรก็ทำได้ตามปัญญาของตนเอง ในโลกนี้คนเรามีปัญญาไม่เท่ากันบางคนมีปัญญามาก บางคนมีปานกลาง บางคนมีน้อย ความรู้หรือปัญญานั้นนอกจากปริมาณที่รู้จะแตกต่างกันแล้วคุณภาพยังแตกต่างกันคือบางอย่างเรารู้ถูกต้อง บางอย่างเรารู้ผิดพลาด เมื่อรู้ผิดการมองก็ผิดไปอีก ดังคำกล่าวที่ว่า สองคนยลตามช่องคนหนึ่งมองเห็นโคลนตม อีกคนตาแหลมคมมองเห็นดาวอยู่พราวพราย  “การมองโลก” เป็นสิ่งที่สำคัญข้อหนึ่งของคนเรา
                คำว่า  “โลก”  หมายถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับตัวเราขยายความให้ชัดอีกที  การมองโลกคือการมองสิ่งต่าง ๆ ไม่ค่อยจะเหมือนกัน  นอกจากผู้ที่มีแนวความคิดคล้ายคลึงกันเท่านั้น จึงจะมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ใกล้เคียงกัน  ทั้งนี้เป็นเพราะมโนธรรมที่มีอยู่ต่างกัน  ความรู้สึกนึกคิดทางจิตใจ  ของคนที่มีความเห็นแตกต่างกันนี้เปรียบเหมือนคนสวมแว่นตาสี
            เรารู้ว่าถ้าเราสวมแว่นตาที่มีสีต่างกัน  สิ่งที่มองเห็นรอดแว่นออกไปนั้น  จะเห็นเป็นสีต่างกันตามสีของแว่นที่สวมใส่  สมมติเราสวมแว่นตาสีแดง สิ่งที่มองเห็นผ่านแว่นตาออกไป ก็จะเป็นสีแดงไปด้วย  ถ้าเราสวมแว่นสีเขียว  สิ่งที่มองผ่านแว่นตาออกไปก็จะเป็นสีเขียวไปด้วย  ในทำนองเดียวกัน  ถ้าเราสวมแว่นตาสีดำ สิ่งที่มองผ่านแว่นตาออกไปก็จะกลายเป็นสีดำไปหมด  แต่เมื่อเราถอดแว่นตาออก  แล้วมองดูสิ่งนั้น ๆ ด้วยตาเปล่า  เราก็จะมองเห็นเป็นสีเดียวกันทุกคน  ทั้งนี้เพราะไม่มีอะไรมาเคลือบแฝง (ยกเว้นคนตาบอดสี)
          ถามว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น  คำตอบง่าย ๆ ก็คือ  เป็นเพราะสีของแว่นตาที่เราสวมใส่นั่นเอง  คราวนี้ถ้าจะถามต่อไปอีกว่า  ถ้ายกแว่นตาออกไปเสีย  คือไม่สวมแว่นกันนั่นเองแล้วทำไมคนจึงเห็นสิ่งต่าง ๆ ไม่เหมือนกันอีก  คำตอบก็จะเป็นดังที่กล่าวแล้วในตอนต้น เพราะมโนธรรมที่มีอยู่ไม่เหมือนกันนั่นเอง
                               
           มโนธรรมคืออะไร มโนธรรมก็คือธรรมส่วนดีที่มีอยู่ในจิตใจของคนเรานั่นเอง กล่าวในทางลบ มโนธรรมก็คือส่วนที่ไม่ดี หรือจะเรียกว่าอธรรมก็ได้ ทำไมจึงจะรู้ได้ว่า มโนธรรมทั้งในส่วนดีและส่วนไม่ดีมีอยู่อย่างไร ในข้อนี้เราอาจมองเห็นได้จากพฤติกรรมที่เขากระทำ ในทางพระพุทธศาสนากล่าวถึงพฤติกรรมของคนที่แสดงออกมาในรูปต่าง ๆ กันนั้นไว้ว่า ประกอบด้วยจริต  ๓  สายใหญ่ ๆ คือสายราคจริต  สายโทสจริต และสายโมหจริต
           คนที่มีราคจริตมาก การแสดงออกของเขาก็เป็นไปในทางรักสวยรักงาม รักความเป็นระเบียบเรียบร้อย ถ้าเป็นการรักคนก็ต้องรักคนที่มีรูปร่างสวยงาม แต่งกายสะอาด ถ้าเป็นการซื้อของใช้ก็ต้องพิจารณาถึงรูปทรงที่ชอบใจถูกอัธยาศัย ถ้าเป็นการถูบ้านหรือล้างชามก็ต้องถูหรือล้างให้สะอาดหมดจด ถ้าเป็นการจัดข้าวของภายในบ้านก็ต้องจัดวางให้เป็นระเบียบไม่แลดูเกะกะนัยน์ตา ถ้าเป็นการตากเสื้อผ้าก็ต้องดึงชายให้เป็นระเบียบ ลักษณะหรือพฤติกรรมดังกล่าวนี้เป็นสัญลักษณ์ของคนที่มีราคจริตมาก (อรรถกถาธรรมบทภาค 2 กล่าวสอดคล้องข้อความนี้ว่า รตฺตสฺส หิ อุกฺกุฏิกํ ปทํ ภเว )คนมีราคะมากจะมีเท้าที่เว้ากลางมาก ดูรูปกายก็บอกได้เลยว่าคนเท้าเว้ากลางมากคือคนมีราคะตัณหามาก
                                    
           คนที่มีโทสจริตมาก การแสดงออกของเขาก็จะเป็นไปในรูปโกรธง่าย อะไรนิดอะไรหน่อยไม่ควรโกรธก็โกรธ ไม่ควรขึ้นเสียงดังก็ขึ้นเสียงดัง เอะอะโวยวาย เป็นคนมีอารมณ์ฉุนเฉียว มองดูอะไรเห็นอะไรมักไม่ค่อยจะชอบใจ แลดูขวางหูขวางตาไปทั้งนั้น จะพูดจาอะไรกับใคร ก็มักจะเถียงกับเขาเสมอ เถียงสู้เขาไม่ได้ ก็หาว่าเขาหักหน้าแล้วแสดงอาฆาตมาดร้าย  จะล้างชามจะถูบ้านก็ทำอย่างลวก ๆ พอให้เสร็จ แต่งเนื้อแต่งตัวก็ไม่ค่อยจะพิถีพิถัน ขาดความเรียบร้อย พูดจาพาทีก็ไม่ค่อยจะนิ่มนวลรื่นหู ลักษณะและพฤติกรรมดังกล่าวนี้ เป็นลักษณะของคนที่มีโทสจริตมาก และคนมีโทสจริตมากจะมีรอยเท้าส้นหนัก ( ทุฏฺฐสฺส โหติ สหสานุปีฬิตํ)
                                        
           คนที่มีโมหจริต มักชอบสนุกสนาน ชอบใช้เวลาไปในทางเที่ยวเตร่หาความสำราญ คนมีโมหจริต มักขาดความสนใจในชีวิตในอนาคต ชีวิตในวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไรก็ช่าง ขอให้ได้กิน ขอให้ได้เที่ยว ขอให้ได้เล่นไปวันหนึ่ง ๆ ก็พอใจแล้ว ขาดความกระตือรือร้น ขาดความเอาจริงเอาจังต่อการงาน ขาดนิสัยเป็นนักต่อสู้ ลักษณะหรือพฤติกรรมดังกล่าวนี้ เป็นสัญลักษณ์ของคนที่มีโมหจริตมักแสดงออกเสมอ เวลาเดินคนมีโมหจริตจะเดินไปทางปลายนิ้วเท้าคือเดินหนักไปทางหน้าปลายนิ้วเท้า(มูฬฺหสฺส โหติ อวกฑฺฒิตํ ปทํ)
                                      
          ทำอย่างไรจึงจะหาทางปรับชีวิตหรือการมองโลกที่ต่างกันนี้ให้เห็นคุณค่าของชีวิตที่สร้างตัวเองให้เป็นปึกแผ่นสร้างฐานะให้เป็นหลักฐาน ทำชีวิตให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองและสังคมมากขึ้น ในข้อนี้ถ้าเราหันมาศึกษาคำสอนในพระพุทธศาสนาก็จะพบคติธรรมที่มีลักษณะเป็นคำพังเพย หรือข้อธรรมะที่มีลักษณะเป็นเครื่องเตือนใจมากมาย
             คติธรรมที่เป็นคำพังเพย เช่นว่า  “เห็นช้างขี้  อย่าขี้ตามช้าง”  หมายความว่าเห็นคนอื่นเขาทำอะไร ก็อย่างเพิ่งไปทำตามเขา โดยไม่คำนึงถึงความรู้  ฐานะ  ยศศักดิ์  และชาติตระกูลของตน,  “อดเปรี้ยวไว้กินหวาน”  นี่ก็เป็นคติธรรมพังเพยอีกข้อหนึ่ง  หมายความว่า พยายามงดความสนุกสนานรื่นเริง อันจะพึงมีในวัยหนุ่มวัยสาวตั้งหน้าตั้งตาสะสมความรู้ไว้เป็นเสบียงเครื่องหากิน ในวันข้างหน้าให้มาก หรือเพียงพอ,  “ฝนทั่งให้เป็นเข็ม”  นี่ก็เป็นคำพังเพยที่มีความหมายแก่ชีวิตมาก หมายความว่า ให้เพียรพยายามสร้างตน อดทนต่อเครื่องล่อใจที่จะพาตัวให้หลงละเลิงอยู่ในอบายมุขต่าง ๆ ซึ่งเป็นความสุขเพียงชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น หาแก่นสารอะไรในชีวิตไม่ค่อยจะได้ คำพังเพยทั้ง  ๓  ข้อนี้ เป็นคติสอนใจได้ดีมาก
            ข้อธรรมที่เป็นคติชีวิตสั้น ๆ  ๓  ข้อ
                      ๑.“บุคคลหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้ผลเช่นนั้น ผู้ทำกรรมดีย่อมได้ผลดี ผู้ทำกรรมชั่วย่อมได้ผลชั่ว” 
                       ๒. “กามทั้งหลายเป็นของเผ็ดร้อนและเป็นดุจอสรพิษ เป็นที่หมกมุ่นของคนมีปัญญาน้อย ครั้นแล้วก็ประสบความเดือดร้อนสิ้นกาลนาน” 
                       ๓. “วันคืนล่วงไป ๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่” 
               ข้อธรรมในพระพุทธศาสนาทั้ง  ๓  ข้อนี้ มีความหมายชัดเจนพอที่จะเข้าใจได้แล้ว จึงไม่ต้องอธิบายเพิ่มเติมอีก นับว่าเป็นข้อคิดที่จะนำไปปรับแก้จริตของตนได้เป็นอย่างดี
               อนึ่ง เหตุที่คนเรามองโลกไม่เหมือนกันนั้น เป็นเพราะวัยหรืออายุของคนด้วย คือถ้าคนอยู่ในวัยเด็ก การมองโลกก็จะเห็นแต่ความสนุกสนานเท่านั้น เราจะสังเกตเห็นเด็ก ๆ ชอบเล่นขายของ เล่นร่อนรูป ชอบเล่นลูกหิน ชอบเล่นหยอดหลุม แต่เมื่อพ้นวัยเด็กกลับมองเห็นไปว่าการเล่นอย่างนั้น การทำอย่างนี้ ไม่เห็นจะน่าสนุกที่ตรงไหนเลย เสียเวลาเปล่า ๆ
              ครั้นโตขึ้นเข้าเขตวัยหนุ่มสาว การมองโลกก็จะหนักไปในทางรักความสวยงาม ดังนั้นคนในวัยนี้จะชอบแต่งตัวสวย ๆ ชอบเครื่องประดับที่มีราคาสูง บางทีของตนเองไม่มีไปยืมของเพื่อนมาใช้ก็ยังมี บางคนก็ยอมอดอยากปากแห้ง อุตส่าห์เก็บเงินไว้ซื้อเครื่องแต่งตัวเพื่อให้สวยงามเทียมเพื่อนฝูง โดยไม่ได้คำนึงถึงฐานะของตน บางรายก็ชอบเด่นชอบดัง ชอบแสดงออกแปลก ๆ เพื่อให้คนทั้งหลายเขายกย่องว่าเป็นคนเก่ง เป็นคนสามารถ พฤติกรรมต่าง ๆ ดังกล่าวนี้จะมีอยู่ในคนวัยหนุ่มสาวทั่วไป
                                             
                เมื่อพ้นวัยหนุ่มสาวไปแล้ว ก็ขึ้นสู่ความเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว คนในวัยนี้จะมีอยู่ในเกณฑ์อายุ  ๓๐-๔๐  ปี  การมองโลกก็เปลี่ยนไปเป็นแบบมุ่งก่อร่างสร้างตัว เพื่อเตรียมฐานะวางรากฐานไว้ให้มั่นคง เมื่อย่างเข้าสู่วัยชรา ทำมาหากินไม่สะดวกหรือทำไม่ได้แล้ว จะได้ครองชีวิตอยู่ได้โดยไม่ลำบาก เรื่องที่เขาคิดเขาทำเขาพูด ส่วนมากจะประกอบไปด้วยเหตุผล ดำรงความเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว ถ้าจะเทียบอายุของคนในวัยนี้ ก็เหมือนคนเดินขึ้นสะพานและเดินขึ้นไปถึงจุดส่วนโค้งของสะพานที่สูงที่สุด คนที่ยืนอยู่บนสะพานส่วนตรงที่สูงที่สุดนั้นสามารถมองเห็นได้ทั้งข้างหน้าและข้างหลัง ส่วนข้างหลังนั้นได้เดินผ่านมาแล้ว ย่อมมีประสบการณ์และรู้ว่ามีอะไรไม่มีอะไร ส่วนข้างหน้าแม้จะยังมิได้เดินลงไป แต่ก็พอมองเห็นว่า มีอะไรหรือไม่มีอะไรเช่นเดียวกัน การมองโลกของคนที่เห็นทั้งข้างหน้าและข้างหลังนี้มีโอกาสมองสิ่งต่าง ๆ เห็นถูกต้องมากกว่าคนที่อยู่ในวัยอายุน้อย เพราะผ่านชีวิตมาแล้วพอสมควร รู้เรื่องทั้งของเด็กและของผู้ใหญ่
               เมื่อผ่านวัยกลางคนไปแล้ว ในคราวนี้ชีวิตก็มีแต่จะเดินลงก้าวเข้าสู่วัยชรา ความคิดความอ่านการทำการพูด ก็จะมีลักษณะเป็นคนแก่มากเพิ่มขึ้น นั่นคือความแคล่วคล่องว่องไวเริ่มลดน้อย สติปัญญาความจำเริ่มเสื่อม สังขารสุขภาพร่างกายเริ่มทรุดโทรม ถ้าจะเทียบกับราคาสิ่งของก็เรียกกันว่าราคาตกแล้ว
               ถ้าจะเปรียบเทียบชีวิตของคนวัยต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว จะเห็นได้ว่าวัยที่มีความสำคัญในชีวิตมากที่สุดคือวัยกลางคน เพราะรู้จักมองโลกเห็นทั้งข้างหน้าและข้างหลัง เป็นวัยกำลังทำงาน คนที่จะมีชื่อเสียงโด่งดังหรือทำคุณให้แก่ประเทศชาติได้มาก ก็คือคนในวัยนี้เป็นส่วนมาก
                           
                การมองโลกขี้นอยู่กับอายุด้วย ในทางพระพุทธศาสนาสอนว่า การมองอะไรนั้น ถ้ามองไม่เห็นตลอดสายแล้ว อาจจะเกิดความผิดพลาดในการทำการพูดและการคิดได้มากทีเดียว ยกตัวอย่างเช่นพวกขโมยที่ชอบลักเล็กขโมยน้อย หรือชอบงัดแงะตัดช่องย่องเบาในยามวิกาลนั้น เขามองเห็นเรื่องที่เขากระทำได้ไม่ตลอดสาย คือเขาเพียงมองเห็นทางจะได้มาเท่านั้น เขามองไม่เห็นทางเสียเลย
               ยกตัวอย่างคนขี้ขโมย ย่องเข้าไปขโมยของคนอื่น เขามองเห็นแต่เพียงว่า เมื่อขโมยของได้มาแล้วก็เอาไปขายได้เงินมาใช้ เขามักคิดมองเห็นได้แต่เพียงนี้ แต่เขาไม่ได้มองให้ตลอดสายยาวออกไปอีกว่า ถ้าในขณะที่เขากำลังทำโจรกรรมอยู่นั้น หากเจ้าของบ้านตื่นหรือรู้ตัวเขาจะทำร้ายร่างกายเอา หรือถ้าตำรวจมาพบเห็นเข้า จะจับไปสอบสวนที่โรงพัก จะถูกส่งฟ้องศาล ศาลจะตัดสินลงโทษจำคุกตามกฎหมาย เขาจะต้องไปนอนทุกข์ทรมานอด ๆ อยาก ๆ ไร้อิสรภาพอยู่ในเรือนจำ เขาไม่ได้คิดมองให้ตลอดสายไปยาวหรือไกลถึงขนาดนั้น จึงได้เกิดประมาทนึกเสียว่าเจ้าของบ้านคงไม่รู้ ตำรวจคงจับไม่ได้ เพราะฉะนั้นในสังคมจึงได้เกิดมีขโมยอยู่ทั่วไป ทั้งในชนบทและในเมือง หากบรรดาโจรผู้ร้ายทั้งหลายคิดได้และมองเห็นตลอดสายดังกล่าวแล้ว คิดว่าขโมยคงจะลดน้อยลงเป็นแน่ เพราะคิดไปคิดมาแล้ว มีความเสียมากกว่าผลดี ขาดทุนมากกว่าได้กำไรแล้วใครเล่าจะกล้าทำ
                จิตของคนเราเป็นธรรมชาติเก็บ และสั่งสมคล้ายโรงงานเก็บสิ่งของ ถ้าเราชอบมองแง่ร้าย จิตก็เก็บเอาความร้ายไว้ ความร้ายที่จิตเก็บไว้นั้น จะไม่มีประโยชน์อันใดเลย เหมือนบริโภคยาพิษหรือรับประทานอาหารบูดเน่า ย่อมไม่มีประโยชน์แก่ร่างกาย ฉะนั้นความชั่วร้ายไม่มีประโยชน์ทั้งผู้กระทำและผู้เพ่งดู กล่าวคือผู้กระทำก็เดือดร้อน ผู้มองดูก็เดือดร้อน เช่นการนินทาว่าร้ายกัน ผู้นินทาเองก็ต้องเดือดร้อน เพราะกลัวเขาจะรู้ กลัวเขาจะจับได้ ทั้งเป็นที่เกลียดชังของผู้อื่น เป็นการสร้างศัตรูหมู่ปัจจามิตรไว้ทำลายตนเองโดยหาประโยชน์อะไรมิได้ ผู้ถูกนินทาก็ไม่ได้รับประโยชน์อะไร การมองแง่ร้ายจะใช้ศึกษาหาความรู้ก็ไม่ได้ จะใช้เป็นเครื่องมือหาเงินหาทองเลี้ยงชีวิต หรือสร้างคุณงามความดีอะไรก็ไม่ได้ นักปราชญ์ทั้งทางโลกและทางธรรมทุกยุคทุกสมัยจึงพากันแนะนำพร่ำสอนประชากรของโลกไม่ให้มองในแง่ร้าย โดยเฉพาะในทางพระพุทธศาสนาสอนให้มองแต่แง่ดีและกระทำดี เช่นสอนให้ชนะความชั่วของเขาด้วยความดีของเรา เขาโกรธอย่าโกรธตอบ พึงชนะความโกรธของเขาด้วยความไม่โกรธของเราดังนี้เป็นต้น สอนให้มองแต่แง่ดี เพราะการมองแต่แง่ดีเป็นเหตุให้จิตคุ้นกับความดี และดึงดูดเอาความดีเข้ามาไว้ในตน ทำให้จิตใจสบาย มีความคิดเจริญก้าวหน้า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นศาสดาของโลกได้ ก็เพราะเรื่องมองแง่ดี เช่นทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้งสี่ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ ก็ทรงค้นหาความดีจากการทอดพระเนตรเห็นนั้น แล้วเสด็จออกบรรพชา
               เหตุที่คนเราไม่มองแง่ดีนั้น เป็นเพราะคนเราไม่ชอบค้นหาความจริงก่อน ถ้ารู้จักค้นหาความจริงก่อนแล้ว การมองแง่ร้ายก็จะหมดไปคงเหลืออยู่แต่มองแง่ดี เหตุร้าย ๆ ต่าง ๆ เช่น เสนียดจัญไร ตัวอุบาทว์ ตัวพินาศ ก็จะหมดไปจากจิตใจของมนุษย์ การตำหนิติเตียน ถ้าเราไม่พิจารณาโดยสุขุมเยือกเย็น จะเห็นว่ามีแต่ความชั่วร้ายฝ่ายเดียว แต่ถ้าเราพิจารณาให้ซึ้งลงไปแล้ว จะพบว่ามีความจริงอยู่มาก คือถ้าคนคอยติเตียนเรา เท่ากับเรามีคนคอยอุ้มชูระแวดระวังไม่ให้เป็นอันตราย เหมือนการแต่งตัวถ้ามีคนคอยดูหรือคอยบอกความไม่เรียบร้อยจะทำให้การแต่งตัวเป็นไปด้วยความเรียบร้อยดีมาก ดีกว่าที่เราจะแต่งตัวโดยลำพัง ซึ่งไม่มีใครช่วยดูแลให้
                เพราะฉะนั้น ตามที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น พอจะสรุปความเพียงสั้น ๆ ว่า การมองแง่ร้ายไม่ดี หาประโยชน์อันใดมิได้ การมองแง่ดีมีแต่คุณประโยชน์ ฉะนั้นการเลือกมองแต่แง่ดี เมื่อเรามองแต่แง่ดีหรือสนใจแต่ความดี ก็ย่อมประสบแต่ความดีในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ

                                       

หมายเลขบันทึก: 405607เขียนเมื่อ 31 ตุลาคม 2010 12:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 18:53 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

มองโลกในแง่ดีชีวีจะมีสุข

 

ไม้ให้ใส่แว่นได้ไง แดดมันแรงส์...

โลกสีเขียว ก็ชอบมอง

จะพยายามมองโลกในแง่ดี ขอบคุณสำหรับข้อคิดดี ๆ เพื่อนำมาใช้ในชีวิต แม้ว่าจะทำได้บ้างเป็นบางครั้ง แต่ก็ดีกว่าว่าทำไม่ได้เลย จริงไหมค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท