หู..หัว..ขา..ปาก..สากกะเบือ


       ผมได้มีโอกาสดีๆในช่วงก่อนเข้าพรรษาที่ผ่านมา (กรกฎาคม ๒๕๕๓) หลังจากสำเร็จการศึกษากลับมาจาก วิจัยพันธุศาสตร์ กับสารเสพติด ที่สหรัฐอเมริกา คือได้ไปทำบุญและสนทนาธรรมกับ พระครูกิตติปัญญาวัฒน์ หรือที่ชาวบ้านรู้จักกันดีในนาม หลวงพ่อสุรินทร์ (เทียบผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ชั้นพิเศษ) ขณะนี้ท่านดำรงตำแหน่ง ท่านเจ้าอาวาสวัดนครหลวง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื่องด้วยผมกำลังรอคอยทำงานในตำแหน่งแพทย์ในศูนย์ชีวาภิบาล ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นบทบาทใหม่ที่ตนเองสามารถมีส่วนร่วมในทีมงานได้อย่างเหมาะสม และนั่นก็เป็นที่มาของการสนทนาธรรมที่กำลังจะแบ่งปันต่อไปนี้

 

                สำหรับผมการเข้างานใหม่ซึ่งโดยปกติแล้วเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก และไม่อยากให้เกิดขึ้นเลยในสายตาพ่อแม่ญาติพี่น้อง แต่กระนั้นก็ตาม ไม่มีอะไรพิสดาร หากงานใหม่นั้นตรงตามความถนัดและความชอบที่ผมมีอยู่แต่เดิม หรืออย่างน้อยก็ได้เคยเรียนรู้รูปแบบและองค์ประกอบของงาน สามารถคาดเดาได้ว่าจะต้องพบกับเนื้องานอะไรบ้าง อย่างไรบ้าง ผู้ร่วมงานคือใคร มีความคาดหวังมากน้อยเพียงไร น้อยครั้งที่การเข้างานใหม่จะเกิดปัญหา ด้วยความอยากรู้ในธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการเข้างาน จึงได้ถามถึงมุมมองทางพุทธธรรมที่สามารถนำมาปรับให้เห็นหลักคิด หลักในการปรับตัวต่องานใหม่ในชีวิตกับพระอาจารย์สุรินทร์ ท่านจึงกรุณาตอบอย่างถึงใจและจำได้ไม่ยาก คือ ท่านพูดลอยๆให้เป็นปริศนาธรรมให้คิดด้วยสติสักพักว่า “เอ็งเคยได้ยินไหม หู หัว ขา ปาก สากกะเบือ” ตอนนั้นผมพยายามใช้โยนิโสมนสิการน้อมเอาหลักธรรมทั้งหมดที่เคยผ่านหูหรือผ่านตา พยายามเอามาอธิบาย แต่ไร้ผลเนื่องจากสมองมันไม่แล่นแล้วกับกลุ่มคำดังกล่าว จึงกราบท่านและเรียนว่า “ไม่ทราบขอรับ..สิ่งเหล่านี้ไม่สมควรเดาครับ” ท่านจึงยิ้มรับและตอบด้วยน้ำเสียงแห่งความเด็ดเดี่ยวว่า “ดีแล้วจะบอกให้..แล้วจำให้ขึ้นใจอย่าให้ขาดตกบกพร่องในการใช้พวกนี้ประกอบกัน ไม่ว่าเข้างานใหม่ที่ไหนก็ตาม ไม่ว่าจะถูกใจหรือไม่ถูกใจเรา แต่เราต้องอยู่ให้ได้ คือ อยู่ให้ได้ดี มีสุข..เอ็งจำไว้” ท่านจึงพยายามอธิบายดังนี้

 

                “หู”  หมายถึง การได้ยินได้ฟังที่ดี โดยมากได้ยินแล้วคนเรามักจะเลือกเก็บเอาแต่สิ่งไม่ดี หรือสิ่งไหนดีๆก็ไม่ชอบฟัง เอาแค่ได้ยินแล้วผ่านๆไป แล้วมันก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร ชอบฟังกันจังเลยเรื่องราวที่ไม่ดี ข้อเสียของคนรอบข้าง ซึ่งคนเรามันก็ชอบพูดมากซะด้วย เรื่องอะไรไม่ดี เรื่องนินทา เรื่องไม่จริง เรื่องรู้ครึ่งๆกลางๆ เรื่องที่ต้องเอามาคิดต่อแบบไร้สาระไร้ประโยชน์ บางครั้งเป็นเรื่องที่ไม่ผ่อนคลายแล้วยังมีโอกาสทำให้เครียดอีกด้วยเพราะไม่มีข้อสรุป สมองมันเลยเก็บไปคิดต่อ เอาไปฝัน ทั้งประเภทฝันกลางวัน และฝันกลางคืน เพราะฉะนั้น จำไว้เลยเรื่องของหูนี้ ก็ขอใช้กันให้เกิดประโยชน์ เลือกฟังในสิ่งที่เป็นประโยชน์ อย่าปิดหูไม่รับฟังในสิ่งที่อาจจะเกิดโทษต่อตนเองและผู้ร่วมงาน อย่าฟังความข้างเดียวหากมีลูกน้องใต้บังคับบัญชา เรื่องการฟังนี้สำคัญยิ่งนัก

 

                “หัว” หมายถึง หลังจากเข้างานใหม่หรือทำงานอะไรไปสักระยะ หรือแม้กระทั่งได้ฟังอะไรที่เป็นคุณเป็นประโยชน์มาตอนนี้ก็เป็นหน้าที่ของการใช้หัวคิด หัวเราเองต้องคิดอย่าไปใช้ใครคิดแทน หรือไปคิดแทนใครจนออกนอกหน้านอกตา คิดในสิ่งที่ดีที่สร้างสรรค์ คิดมากๆได้แต่ให้สรุปที่คิดให้เป็นจึงจะเรียกคิดเป็น คิดแบบมีเหตุผลไม่ใช่คิดตามอดีต เลียนแบบอดีตโดยไม่คิด อย่างไรก็ตามกรณีที่คิดไม่ออกก็ให้จดไว้ หลักการคิดในทางพุทธธรรมมีมากมายที่ควรคิด (วิธีคิดตามหลักพุทธธรรม ; พระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ.ปยุตฺโต) แบ่งได้ง่ายๆคือ คิดแง่บวก และคิดเห็นตามจริง

 

                “ขา” หมายถึง ไม่ว่าเราจะเดินทางไปในที่ใดๆก็ตามขอให้เลือกเดินไปแล้วเกิดประโยชน์ต่อที่นั้นๆ ไม่ใช่ไปเพื่อแสวงหาประโยชน์ใส่ตนเองเป็นที่ตั้งดังหลายๆคนคิดอยู่ โดยหลักการใช้ขาให้เป็นประโยชน์นั้นจริงๆแล้วรวมความถึงการเดินทางโดยใช้ยานพาหนะต่างๆด้วย ซึ่งถ้าไปไหนๆแล้วเกิดประโยชน์ต่อที่นั้นๆแล้วเค้าก็ให้เราไปอีก ไม่รังเกียจเรา สนับสนุนการงานเรา ไว้ใจเราตามมาในที่สุด บางครั้งไม่ไปไหนก็มีคือยืนเฉยๆเพื่อสังเกตทิศทางที่ถูกต้องเหมาะสม ใช้ประกอบกับข้อที่กล่าวมาก่อนข้างต้น แล้วจึงตัดสินใจเดินออกไป การเดินในบางครั้งก็เป็นเรื่องของรูปธรรม คือเดินจริงๆเดินเข้าไปช่วยงาน เข้าไปพูดคุย เข้าไปให้กำลังใจ เข้าหางานไม่ใช่เอาแต่รอคอยงานเดินเข้ามาหาเราฝ่ายเดียว การเดินเข้าหาปัญหาก็เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาอย่าเต็มความสามารถหลังจากที่ผ่านการคิดตริตรองที่ดีแล้ว ไม่ใช่เดินเข้าหาปัญหาเพื่อแสดงว่าตนเองแน่เพื่อกดดันเพื่อนร่วมงาน หรือเรียกร้องความน่าสงสาร

 

                “ปาก” ท่านน่าจะเดาออกว่าหมายถึง การกิน การพูด ให้พอดีจริงๆแล้วก็ถูกแต่ไม่ใช่เพียงเป็นพฤติกรรมเชิงรูปธรรมอย่างที่บางท่านคิด โดยเฉพาะ “การกิน”ก็คือ ความอยาก หรือตัณหาต่อสิ่งตอบแทนควรจะมีความรู้จักพอเพียง ไม่โลภไม่เอาแต่ได้ ไม่ตะกละตะกาม ไม่อยากได้ในสิ่งที่ไม่สมควรได้นั่นเอง ส่วนการพูดก็คือ “ปิยวาจา” พูดแต่สิ่งที่ดีมีประโยชน์ต่อผู้ฟัง ไม่พูดสิ่งที่จะก่อให้เกิดความเสียหายเดือดร้อนต่อผู้ฟัง พูดความจริงก็ต้องดูกาลเทศะให้ดีอย่าปล่อยให้ความจริงออกมาจากปากคนโง่ หรือคนอวดดี ช่วงแรกๆของงานก็สำคัญมาก “ปาก” ควรใช้แต่น้อย แต่ให้ใช้ “หู” มากๆ

 

                “สากกะเบือ” เป็นสิ่งสุดท้ายที่ท่านพูดถึง เรียกอีกชื่อหนึ่งสมัยใหม่คือ “ไม้ตีพริก” ก็เปรียบได้กับ คำพูด หรือกิจกรรม ธรรมเนียมปฏิบัติ ของคนโบราณที่สืบทอดต่อๆกันมาในองค์กรใดๆ ซึ่งคำ “สากกะเบือ” ฟังดูไม่ค่อยสุภาพต่อผู้ได้ยิน เปรียบได้กับสิ่งอะไรก็ตามที่ดูเก่าแก่ไร้ค่าไม่น่าอภิสมัยในสายตาของคนรุ่นใหม่ หรือกรณีของผลงาน กิจกรรมเก่าๆในสายตาของเราผู้เป็นคนงานใหม่ในที่นั้น แต่จริงๆแล้วมันอาจจะเป็นสิ่งที่มีคุณประโยชน์ยิ่งนักต่อคนในองค์กร เป็นที่หล่อหลอมจิตใจ ศูนย์รวมจิตวิญญาณของผู้ทำงานอยู่ก็ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นก่อนจะตัดสินใจตัดลดอะไรออกไปควรพิจารณาให้ลึกซึ้ง ให้นานพอต่อสิ่งที่เกิดขึ้นมาก่อนนั้นว่าเป็นอย่างไรโดยนัยแอบแฝง และเหตุผลที่เป็นเช่นนั้น ในความเป็นจริงหลายๆครั้งก็ต้องพยายามอนุรักษ์ไว้ หรือมีการพัฒนาปรับปรุงให้เข้ากับยุคสมัย ส่วนการที่จะตัดออกไปทั้งหมดนั้นคงจะต้องคิดให้นาน หลายๆครั้งการเอาออกต้องถือว่าคิดผิด ช่วยกันคิดทุกคน อย่าลืมไปว่า “สากกะเบือ” ที่ดูไม่สำคัญนี้เองใช้ประกอบอาหารเลี้ยงดูชีวิตมนุษย์มารุ่นต่อรุ่นนับไม่ถ้วนแล้วครับ

 

 

หมายเลขบันทึก: 405278เขียนเมื่อ 29 ตุลาคม 2010 10:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 21:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท