ธุรกรรมทางอิเล็คทรอนิกส์:ทางสวรรค์ของการฟอกเงิน


พระราชบัญัญติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็คทรอนิกส์ พ.ศ.๒๕๔๔ ส่งผลกระทบต่อผู้มีหน้าที่เฝ้าระวังการประกอบอาชญากรรมทางเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นจึงควรมีการพิจารณาเพื่อปรับแก้กฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยไม่ต้องรอให้ปัญหานั้นเกิดขึ้นเสียก่อน เพราะการไล่ให้ทันเทคโนโลยีนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย

ธุรกรรมทางอิเล็คทรอนิกส์ : ทางสวรรค์ของการฟอกเงิน 

                  การทำธุรกรรมในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการในการติดต่อสื่อสารที่อาศัยการพัฒนาการเทคโนโลยีทางอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีความสะดวก รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ แต่เนื่องจากการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวมีความแตกต่างจากวิธีการทำธุรกรรมซึ่งมีกฎหมายรองรับอยู่ในปัจจุบันเป็นอย่างมาก อันส่งผลให้ต้องมีการรองรับสถานะทางกฎหมายของข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นการส่งเสริมการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ให้น่าเชื่อถือ และมีผลในทางกฎหมายเช่นเดียวกับการทำธุรกรรมโดยวิธีการทั่วไป จึงเป็นที่มาของการตราพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกอบธุรกรรมทางอิเล็คทรอนิกส์ พ.ศ.๒๕๔๔

  ในพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ให้นิยามศัพท์ที่เกี่ยวข้อง คือ       

ธุรกรรม หมายความว่า การกระทำใดๆ ที่เกี่ยวกับกิจกรรมในทางแพ่งและพาณิชย์ หรือในการดำเนินงานของรัฐตามที่กำหนดในหมวด ๔

               อิเล็กทรอนิกส์ หมายความว่า การประยุกต์ใช้วิธีการทางอิเล็กตรอน ไฟฟ้า คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือวิธีอื่นใดในลักษณะคล้ายกัน และให้หมายความรวมถึงการประยุกต์ใช้วิธีการทางแสง วิธีการทางแม่เหล็ก หรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้วิธีต่างๆ เช่นว่านั้น

                ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หมายความว่า ธุรกรรมที่กระทำขึ้นโดยใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนดังนั้นตามความในพระราชบัญญัตินี้ ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์จึงเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐ รัฐต่อเอกชน และเอกชนต่อเอกชน โดยใช้วิธีการทางอิเล็คทรอนิกส์ ไม่ใช่วิธีการโดยปกติสามัญ และห้ามมิให้ปฏิเสธความมีผลผูกพันและการบังคับใช้ทางกฎหมายของข้อความใดเพียงเพราะเหตุที่ข้อความนั้นอยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ การรับรองโดยกฎหมายทำให้ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ได้รับการยอมรับมากขึ้นในการดำเนินธุรกิจ และในส่วนที่เกี่ยวข้องกบทางด้านการเงินนั้น ได้มีการอนุญาตให้ประกอบธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็คทรอนิกส์ได้ เราจึงได้เห็นบริการทางการเงินของหลายธนาคารในรูปแบบ E-Banking 

           การที่ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ได้รับการรับรองโดยกฎหมายส่งผลให้เกิดการขยายตัวของการดำเนินธุรกิจประเภทนี้เพิ่มมากขึ้น และการบริการ E-Bankingได้รับการยอมรับและได้รับการคุ้มครองทั้งฝ่ายผู้ประกอบกิจการและฝ่ายผู้บริโภค แต่การประกอบธุรกิจดังกล่าวก็ต้องได้รับการควบคุมและดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นธุรกิจที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก และเทคโนโลยีทางอิเล็กทรอนิกส์มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลา ซึ่งอาจทำให้กฎหมายที่ใช้ในการควบคุมดูแลตามไม่ทันภายในเวลาไม่กี่ปีนี้     

                   หากมองในแง่ของภาพรวมต่อระบบเศรษฐกิจแบบเสรี การดำเนินธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ย่อมส่งผลในการพัฒนาเศรษฐกิรของประเทศให้มีความหลากหลายเพิ่ทมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการรองรับการขยายตัว และเพิ่มโอกาสในการแข่งขันของภาคธุรกิจการค้า และบริการ ซึ่งอีกไม่นานประเทศไทยจะต้องทำการเปิดเสรีอย่างเต็มรูปแบบตามเงื่อนไขของการยอมรับข้อผูกพันตาม GATS ในฐานะที่เป็นสมาชิกของ WTO แต่หากพิจารณาในมุมมองของผู้ตรวจสอบและป้องกันอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการฟอกเงิน จะพบว่าการที่มีกฎหมายให้การรับรองการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์นั้น เป็นการขยายช่องทาง หรือสร้างทางด่วนให้แก่อาชญากรต่างๆใช้ในการฟอกเงินได้เป็นอย่างดี

                   โดยธุรกรรมตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หมายถึง กิจกรรมที่เกี่ยวกับการทำนิติกรรม สัญญาหรือการดำเนินการใด ๆ กับผู้อื่น ทางการเงิน ทางธุรกิจ หรือการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สิน และธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย หมายถึง ธุรกรรมที่มีความซับซ้อนผิดไปจากการทำธุรกรรมในลักษณะเดียวกันที่ทำกันอยู่ตามปกติ ธุรกรรมที่ขาดความเป็นไปได้ในเชิงเศรษฐกิจ ธุรกรรมที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ากระทำขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงมิให้ต้องตกอยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้ หรือธุรกรรมที่เกี่ยวข้องหรืออาจเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมูลฐาน ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกรรมเพียงครั้งเดียวหรือหลายครั้ง ดังนั้นธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์จึงรวมอยู่ในธุรกรรมตามความหมายของกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินด้วย แต่ธุรกรรมที่กำหนดให้ต้องมีการรายงานนั้นจำกัดเฉพาะสถาบันการเงินตามกฎหมายและสำนักงานที่ดินเท่านั้น ไม่รวมถึงผู้ประกอบการทางธุรกิจรายอื่นๆ

                           หากมีการโอน รับโอน หรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินนั้น หรือ กระทำด้วยประการใด ๆ เพื่อปกปิดหรืออำพรางลักษณะที่แท้จริงการได้มาแหล่งที่ตั้ง การจำหน่าย การโอน การได้สิทธิใด ๆ ซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด โดยผ่านช่องทางของธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ถือว่าเป็นการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยรุดหน้าอยู่ตลอดเวลาทำให้การควบคุมและตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินที่เป็นธุรกรรมทางอิเล็คทรอนิกส์เป็นไปได้ยากมากขึ้น และมีการหลีกเลี่ยงการรายงานธุรกรรมทางการเงิน โดยใช้รูปแบบของการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบอื่น เช่น การเปิดร้านค้าออนไลน์บังหน้า ซึ่งไม่ต้องรายงานการทำธุรกรรมให้แก่หน่วยงานของรัฐ เป็นต้น

                            จะเห็นได้ว่าเมื่อมีการออกพระราชบัญัญติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็คทรอนิกส์ พ.ศ.๒๕๔๔แล้วย่อมส่งผลกระทบต่อผู้มีหน้าที่เฝ้าระวังการประกอบอาชญากรรมทางเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นจึงควรมีการพิจารณาเพื่อปรับแก้กฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยไม่ต้องรอให้ปัญหานั้นเกิดขึ้นเสียก่อน เพราะการไล่ให้ทันเทคโนโลยีนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย                                               

  ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.- - ;และ, ร่างพระราชบัญญัติลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.- - ฉบับผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี 14 มีนาคม 2543.     คำอธิบายกฎหมายฟอกเงิน : ปัญหา ข้อเท็จจริง คำอธิบาย พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 / สุรพล ไตรเวทย์.               

หมายเลขบันทึก: 40426เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2006 13:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 14:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

       ถ้าผู้ที่ต้องการฟอกเงิน ปลอมแปลงตนเป็นคนอื่นโดยอาศัยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า  แม้กฎหมายจะทันสมัย แต่วิธีการให้ได้มาซึ่งตัวผู้กระทำผิดพร้อมหลักฐานก็ทำได้ยากเหมือนนะครับ เพราะเดี๋ยวนี้สำหรับโลกออนไลน์ถ้าเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด    ก็สามารถทำธุรกรรมได้ 

       เคยได้ยินข่าวว่าจะแก้กฎหมายเรื่องการรายงาน   ธุรกรรมเพิ่มเติมจากเดิม เช่น เช่าพระเครื่อง              รถมือสอง อยู่ขั้นตอนไหนแล้วครับ ?

                                                                                                                                                          Bee           

เป็นเรื่องที่น่าสนใจค่ะ ยังไม่ค่อยเข้าใจในรายละเอียดแต่คิดว่า เมื่อมีคนทำผิด คนปราบปรามก็ต้องสามารถตามได้ ไม่มีอะไรเกินความสามารถหรอกถ้าตั้งใจจริง

 

ตามพรบ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็คทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 นั้น จุดมุ่งหมายของพระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นเพียงการรับรองข้อมูลอิเล็คทรอนิกส์ ให้มีผลเท่าเทียมกับข้อมูลเอกสาร

ส่วนเรื่องของการกระทำใดที่เป็นการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์นั้นจะอยู่ในกฎหมายอีกฉบับหนึ่งซึ่งก็คือ ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พศ.....

ซึ่งในขณะนี้ร่างพรบ.ดังกล่าวผ่านกฤษฎีกาแล้ว กำลังรอเข้าครม.อยู่ แล้วจึงไปยังรัฐสภาต่อไป

แต่ถ้าการเมืองไทยยังเป็นเหมือนกับทุกวันนี้แล้วละก็ คนที่ทำความผิดก็ยังคงลอยนวลไปได้เรื่อย ๆ

ขอบคุณทุกความเห็นค่ะ ในส่วนของการร่างแก้ไขเพิ่มเติม กฎหมายฟอกเงิน กำลังอยู่ในระหว่างรอให้มีรัฐสภา และในส่วนเรื่องการรายงานธุรกรรม รู้สึกว่าจะมีการเพิ่มเติมระเบียบอีกนะคะเท่าที่ได้คุยกับเจ้าหน้าที่ธนารแห่งประเทศไทย และต่อไปจะให้การขายทองคำต้องรายงานธุรกรรมด้วย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท