พระมหาสะง่า
พระมหา พระมหาสะง่า ธีรสํวโร ไชยวงค์

จะทำอะไรกันในวันออกพรรษา


ถ้ามีการพูดจาว่ากล่าวตักเตือนกันได้ และหัดยอมรับในความคิดเห็นของผู้อื่น ....การอยู่ร่วมกันก็จะมีแต่ความผาสุก

จะทำอะไรกันในวันออกพรรษา

 

วันออกพรรษา เป็นวันสำคัญวันหนึ่งในทางพระพุทธศาสนา ซึ่งปีนี้ ตรงกับวันเสาร์ ๒๓  ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๓  เป็นวันที่พระสงฆ์อยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือน หรือ ครบไตรมาส ตามพระพุทธบัญญัติ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ แล้วมาออกพรรษาในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑   ในวันออกพรรษานั้น มีเหตุการณ์สำคัญ คือ

http://i973.photobucket.com/albums/ae218/schaiwong/bb29.gif

๑. เป็นวันที่พระพุทธองค์ทรงเสด็จจากสวรรค์สู่มนุษย์โลก หลังจากไปจำพรรษา ณ ดาวดึงส์เทวโลก เพื่อทรงแสดงพระธรรมเทศนาชื่อ “พระอภิธรรมปิฏก”โปรดพระพุทธมารดา ตลอดพรรษา(๓ เดือน) ยังพระพุทธมารดาให้บรรลุธรรมแล้ว จึงได้เสด็จกลับจากสวรรค์ฯ ในวัน ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ คือ วันออกพรรษา นั่นเอง

ชาวพุทธ ส่วนใหญ่ จึงถือเอาช่วงพรรษา ๓ เดือนนี้ บรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เพื่อตอบแทนบุญคุณของบุพการีผู้ให้กำเนิด ชักนำให้พ่อ แม่ ครูบาอาจารย์ ได้มีโอกาสกระทำตนในฐานะพุทธศาสนิกชนที่ดี ได้มีโอกาสเข้าวัด ทำบุญ ฟังธรรม ทำจิตใจให้ผ่องใส เปรียบ เหมือนกับพระพุทธองค์ที่ได้ทรงแสดงธรรมโปรดพุทธมารดา อันเป็นการแสดงถึงความกตัญญูกตเวที ที่ลูกทุกคนจะต้องกระทำต่อบุพการีผู้ให้กำเนิด  เพราะเหตุนี้ พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า “ความกตัญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี

๒. เป็นวัน “ออกพรรษา - มหาปวารณา” ของพระสงฆ์ที่อยู่จำพรรษาร่วมกันตลอด ๓ เดือนการปวารณา นั้น หมายถึง การแสดงออกถึงความเต็มใจที่จะยอมรับคำตักเตือนของสงฆ์ ซึ่งในวันออกพรรษานั้นพระพุทธองค์ได้ทรงบัญญัติให้ทำพิธีปวารณา แทนการทำพิธีอุโบสถสังฆกรรม หรือ การสวดพระปาฏิโมกข์ พระภิกษุที่อยู่จำพรรษาร่วมกัน ๓ เดือนจะต้องกล่าวคำปวารณาท่ามกลางสงฆ์ มีใจความว่าดังนี้

http://i973.photobucket.com/albums/ae218/schaiwong/art_217268.jpg

"สังฆัมภันเต ปะวาเรมิทิฎเฐนะ วา สุเตนะ วาปะริสังกายะ วา

วะทันตุ มัง อายัส์มันโต อะนุกัทปัง อุปาทายะปัสสันโต ปฎิกะริสสามิ"

 

มีความหมายว่า

ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญกระผมขอปวารณาต่อสงฆ์ ด้วยได้เห็นหรือได้ฟังก็ตาม
ขอท่านทั้งหลายโปรดอนุเคราะห์ว่ากล่าวตักเตือนกระผมด้วย

เมื่อกระผมมองเห็นแล้วจักประพฤติตัวเสียเลยใหม่ให้ดี

เหตุที่พระพุทธองค์ได้ทรงบัญญัติให้พระภิกษุสงฆ์ทำปวารณา แทนอุโบสถสังฆกรรม เรื่องมีอยู่ว่า…

พระภิกษุ สงฆ์ที่จำพรรษาในแคว้นโกศลได้ตั้งกฏกติกาประพฤติมูควัตร คือ การไม่พูดจากัน เมื่อออกพรรษาแล้วได้ไปเฝ้าพระพุทธองค์ และเมื่อพระพุทธองค์ตรัสถามถึงธรรมที่ปฏิบัติตลอดพรรษา ๓ เดือน พระภิกษุเหล่านั้นก็กราบทูลให้ทรงทราบ

เมื่อพระ พุทธองค์ทรงทราบก็ได้ทรงตรัสติเตียนเป็นอันมาก กล่าวว่า การอยู่ร่วมกันโดยการไม่พูดจากันนั้น เป็นการอยู่ร่วมกันของสัตว์เดรัจฉาน เพราะสัตว์เดรัจฉานนั้นไม่มีการพูดจาแนะนำพร่ำสอน ตักเตือนกัน ว่าสิ่งนี้ควรทำ สิ่งนี้ไม่ควรทำเป็นต้น เป็นการอยู่ร่วมกันอย่างไม่ประเสริฐเลย  พระพุทธองค์จึงทรงพระบัญญัติให้พระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายได้กระทำปวารณาต่อกัน

อันนี้แสดงให้เห็นว่า พระ พุทธองค์ได้ทรงเห็นความสำคัญของการอยู่ร่วมกันอย่างมีเหตุมีผล ผู้ที่จะอยู่ร่วมกันนั้นจะต้องตั้งอยู่ในโอวาทและยอมรับคำแนะนำสั่งสอนตัก เตือนของกันและกัน ถืออาวุโส ภันเต ละทิฏฐิมานะที่มีต่อกัน ถือเอาส่วนรวมเป็นใหญ่

ถึงแม้วัน มหาปวารณาจะเป็นเรื่องของพระสงฆ์ แต่ถ้าชาวพุทธเรา พิจารณาให้ดี ก็ควรที่จะนำมาใช้เป็นชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี เพราะการที่เราอยู่ร่วมกันในสังคม ไม่ว่าจะเป็นสังคมในระดับครอบครัว หรือ สังคมในระดับส่วนรวม  ถ้ามีการพูดจาว่ากล่าวตักเตือนกันได้ และหัดยอมรับในความคิดเห็นของผู้อื่น มีเมตตาจริงใจต่อกัน การอยู่ร่วมกันก็จะมีแต่ความผาสุก 

ปัญหาต่าง ๆ ก็จะไม่เกิดขึ้น  เหมือนอย่างเช่นที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ มีการแตกแยกทางความคิดไม่มีใครยอมใคร แบ่งออกเป็นฝักเป็นฝ่าย หาทางปรองดองกันไม่ได้ เพราะเราไม่ยอมรับความคิดเห็นของกันและกัน ไม่ยอมละทิฏฐิที่มีต่อกัน หากปล่อยให้เป็นไปเช่นนี้ เราก็เป็นพุทธ เป็นไไทยเพียงแค่ชื่อ เพราะเนื้อแท้เรากำลังถูกทำลายไปทุกที

หันกลับมาใช้สติ ปัญญา และเมตตาแก้ปัญหาน่าจะเป็นทางออกที่ดีของเรา

 

(เก็บความจาก http://dhammasatta.igetweb.com)

 

หมายเลขบันทึก: 404196เขียนเมื่อ 23 ตุลาคม 2010 09:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2012 17:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

นมัสการเจ้าค่ะ

ขอบพระคุณสำหรับความรู้

นมัสการลา

"การอยู่ร่วมกันโดยการไม่พูดจากันนั้น เป็นการอยู่ร่วมกันของสัตว์เดรัจฉาน เพราะสัตว์เดรัจฉานนั้นไม่มีการพูดจาแนะนำพร่ำสอน ตักเตือนกัน ว่าสิ่งนี้ควรทำ สิ่งนี้ไม่ควรทำเป็นต้น เป็นการอยู่ร่วมกันอย่างไม่ประเสริฐเลย"

การตักเตือนด้วยความปรารถนาดี เป็นสิ่งดีๆของสังคมนะเจ้าคะ

เริ่มต้นสิ่งดี ดี นับจากวันนี้ ด้วยกันเนาะ การได้มีโอกาสพูดจาว่ากล่าวตักเตือนกันได้ และหัดยอมรับในความคิดเห็นของผู้อื่น

มีเมตตาจริงใจต่อกัน ให้อภัยกับสิ่งเล็กน้อย ใช้เวลาบางขณะทำประโยชน์แก่ส่วนร่วมบ้าง คงมีความสุขไม่น้อยกับการอยู่ร่วมกัน

นมัสการขอบคุณเจ้า

ขออนุโมทนาโยม ณัฐรดา ที่แวะเข้ามาร่วมแบ่งปัน พร้อมท่านผู้ไม่ประสงค์ออกนาม การเริ่มต้นสิ่งท่ดีงาม ขอให้ได้สิ่งที่ดีงามกลับคืน

อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท