อคติ (Bias)


อคติ มีผลให้ผลการศึกษาคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงได้

อคติ (Bias)

อคติ มีผลให้ผลการศึกษาคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงได้ แบ่งตามแหล่งที่มาได้ 4 กลุ่มคือ information, recall, sampling และ selection bias โดยสามารถป้องกันได้ตั้งแต่ก่อนที่จะเริ่มเก็บข้อมูล  

1. information bias คือ ข้อมูลที่ได้มามีอคติ อาจเกิดจากคุณภาพเครื่องมือ หรือตัวผู้ตอบ สามารถป้องกันได้โดย

ก. สร้างข้อคำถามที่ cross check ว่าตอบขัดแย้งกันเองหรือไม่ เป็นการตรวจสอบความน่าเชื่อถือและความสม่ำเสมอ (consistency) ในการตอบ   ข้อนี้เป็นหลักการทั่วไปในการสร้างแบบสัมภาษณ์  

ข. หาวิธีการไม่ให้รู้ว่าผู้ตอบคือใคร (เช่น ให้เขียนตอบและหย่อนลงกล่องเอง แทนการสัมภาษณ์) เพื่อให้ผู้ตอบมั่นใจว่าจะไม่เกิดผลกระทบใดๆ จากการตอบตามความเป็นจริง    ขอยกตัวอย่างที่เคยทำในการให้ผู้เข้าอบรมหลักสูตร Oral health R2R ประเมินผลการอบรม เพื่อให้ตอบได้เต็มเหนี่ยว ไม่ต้องเกรงใจกัน (เพราะคณะกรรมการยังไม่ได้ประเมินโครงร่างวิจัยของผู้เข้ารับการอบรม) จึงขอให้แต่ละคนตอบแบบประเมินด้วยการพิมพ์ลงใน e-form ไม่ต้องลงชื่อ ส่งทาง e-mail ไปให้ตัวแทนคนหนึ่งรวบรวมต่อเป็นไฟล์เดียว  แล้วส่งมาให้ผู้จัดอีกทอดหนึ่ง ด้วยวิธีนี้ ผู้จัดก็จะไม่ทราบว่า แผ่นไหนเป็นของใคร ทั้งยังไม่สามารถเดาลายมือเพราะใช้พิมพ์

ค. ชี้แจงให้ผู้ตอบเข้าใจวัตถุประสงค์/วิธีวิเคราะห์/และการนำเสนอผลว่าจะเป็นภาพรวม ไม่แยกรายบุคคล จึงไม่ทราบว่าแต่ละคนตอบอย่างไร เพื่อให้ผู้ตอบมั่นใจว่าจะไม่เกิดผลกระทบใดๆ จากการตอบตามความเป็นจริง  

ง.  ปรับมาตรฐานผู้สัมภาษณ์ หรือผู้ตรวจ/ผู้บันทึกผล (กรณีมีการตรวจสุขภาพ)

จ. ทดสอบเครื่องมือที่พัฒนาขึ้นเอง ในกลุ่มตัวอย่างที่มีคุณลักษณะใกล้เคียงกับกลุ่มศึกษา (n ≥ 30)

ฉ. ใช้การเก็บข้อมูลหลายๆ วิธีร่วมกันเช่น สัมภาษณ์  สังเกต ดูประวัติการรักษา การตรวจสุขภาพช่องปาก เพื่อสอบทานข้อมูลที่ได้มา เช่น ผู้ตอบบอกว่า แปรงฟันถูกวิธีหลังอาหารทุกมื้อแต่การตรวจอนามัยช่องปากจะบอกได้ว่า อนามัยช่องปากเป็นอย่างไร สอดคล้องกับพฤติกรรมดังกล่าวหรือไม่   

2. Recall bias  ความคลาดเคลื่อนของข้อมูลมาจากความทรงจำอาจเพราะเป็นเวลานานมาแล้วหรือไม่สนใจไม่ให้ความสำคัญเช่น การเลี้ยงลูก ถ้าเป็นลูกคนเดียวหรือเป็นลูกหลงที่เห่อเหลือเกิน ก็เป็นไปได้ว่าจะจำได้แม้ว่าจะผ่านมาหลายปี แต่ถ้ามีลูกห้าหกคนติดๆ กัน ก็น่าจะสับสน  หรือกรณีให้บอกชนิดและปริมาณอาหารที่กินใน 7 วันที่ผ่านมาซึ่งคนทั่วไปไม่น่าจะจำได้   อคติประเภทนี้ป้องกันได้โดย

ก. การหาจุดอ้างอิงเตือนความจำโดย อ้างอิงเทศกาลสำคัญ (เช่น ปีใหม่ สงกรานต์) ลำดับเวลาเหตุการณ์ (เช่น ก่อน/หลังคลอด) หาพยาน (ไปกับใคร) ดูจากหลักฐาน (เช่น บัตรโรงพยาบาล ใบเสร็จ) หรือให้ผู้ตอบมีเวลารวบรวมข้อมูลจากพยานหลักฐานที่มี (เช่น ระบบข้อมูลบริการทันตกรรม)  

ข. ใช้ข้อมูลที่แน่นอน/น่าเชื่อถือกว่าแทน ถ้าแน่ใจว่าผู้ตอบจำไม่ได้ โดยเปลี่ยนคำถามเช่น ถามว่า ใช้สิทธิประกันสุขภาพอะไร ใช้บริการที่ไหน จ่ายค่ารักษาร่วมด้วยหรือไม่ แล้วใช้อัตราค่ารักษาของสถานพยาบาลนั้นมาประมาณค่ารักษา  แทนการถามว่า ค่ารักษากี่บาท    

ค. ถามให้ถูกคนเช่น ถ้าอยากถามเรื่อง การจัดตารางเวลาออกโรงเรียน ก็ควรถามทันตาภิบาล มากกว่าจะถาม ทันตแพทย์  หรือการจัดระบบบริการทันตกรรมก็ต้องถาม ทันตแพทย์ แทนที่จะถามผู้อำนวยการโรงพยาบาล

ง.  ใช้วิธีการเก็บข้อมูลไปข้างหน้า (prospective) โดยให้กลุ่มตัวอย่างจดบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นหรือเก็บหลักฐานตามช่วงเวลากำหนดแล้วนำมาตอบ (เช่น 1 สัปดาห์สำหรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน 1 เดือนสำหรับพฤติกรรมที่เกิดไม่บ่อย) วิธีนี้ต้องใช้ระยะไม่นานนัก ไม่เช่นนั้นผู้ให้ข้อมูลอาจเบื่อ/ละเลยการบันทึกทำให้ได้ข้อมูลไม่ครบถ้วน  และวิธีนี้มีโอกาสเกิด Hawthorne effect ได้

3. Sampling bias เกิดในขั้นตอนการเลือกประชากร สุ่มตัวอย่างทำให้ไม่เป็นตัวแทนประชากร เพราะประชากรมีคุณลักษณะที่หลากหลาย (heterogeneous) ป้องกันโดย

ก.  ใช้ cluster หรือ systematic random sampling ในการสุ่มเลือกกลุ่มตัวอย่าง  

ข.  กรณีที่เป็นการทดลอง ต้องมีกลุ่มควบคุมที่มีคุณลักษณะคล้ายคลึงกับกลุ่มศึกษามากที่สุดยกเว้นปัจจัยที่ต้องการศึกษาหรือ intervention ที่จะใส่เข้าไป  ในการแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็นกลุ่มศึกษาและกลุ่มควบคุมต้องใช้การสุ่ม (Randomized Controlled Trial)

4. Selection bias เกิดในขั้นตอนการเลือกกลุ่มตัวอย่างมาเปรียบเทียบกัน เป็นกลุ่มศึกษาและควบคุม    ป้องกันโดย กำหนดเกณฑ์คัดเข้าและออก (inclusion/ exclusion criteria) อย่างชัดเจนและครอบคลุมคุณลักษณะต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน

นอกจาก bias แล้วยังมีอีก 2 ปัจจัยที่อาจทำให้การสรุปผล คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงได้คือ chance และ confounder  แปลเป็นไทยง่ายๆ คือ ความบังเอิญ (ฟลุ๊ค) และตัวก่อกวน

หมายเลขบันทึก: 403468เขียนเมื่อ 19 ตุลาคม 2010 08:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 15:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท