บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน


CAI  คอมพิวเตอร์ช่วยสอน

        "คอมพิวเตอร์" ปัจจุบันได้เข้ามาแพร่หลายในหลายด้าน เช่น ด้านธุรกิจ , ด้านการบริหารและการวิจัย , ด้านการศึกษา และแทบจะพูดได้ว่าการใช้คอมพิวเตอร์นั้นเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันอย่างสิ้นเชิงและในด้านการศึกษานั้นได้มีผู้ทำการวิจัยหลายท่านทำวิจัยเกี่ยวกับการนำคอมพิวเตอร์มาเป็นสื่อช่วยในการเรียนการสอนโดยนำมาเป็นเครื่องมือช่วยสอน (Computer Assisted Instruction) หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า "CAI" ในหลายระดับการศึกษาตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลประถม มัธยมอาชีวะ ปริญญาตรี เป็นต้น และประเภทของคอมพิวเตอร์ช่วยสอนนั้นแบ่งออกได้หลายประเภทซึ่งแต่ละประเภทได้มีผู้นำมาทำเป็นรูปแบบในการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอนและในการทำการวิจัยในเรื่องของคอมพิวเตอร์ช่วยสอนนั้นก็ไม่ได้มีการนำมาวิเคราะห์ว่าประเภทใดที่นิยมนำมาทำมาก

 คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (Computer Assisted Instruction) รูปแบบหนึ่งของบทเรียนสำเร็จรูปหรือบทเรียนโปรแกรม (Programmed Instruction) เป็นการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์เป็นสื่อด้วยการเสนอบทเรียนที่ได้จัดเรียงไว้เป็นลำดับขั้นให้แก่ผู้เรียนและให้ผู้เรียนมีโอกาสโต้ตอบกับบทเรียนนั้นซึ่งบทเรียนอาจออกมาหลายรูปแบบ ที่จะช่วยให้นักเรียนเรียนรู้เนื้อหาวิชาต่าง ๆ ซึ่งประกอบด้วยโปรแกรมวิชาต่าง ๆ ที่สร้างไว้แต่ละเนื้อหาหรือแต่ละวิชาแล้วเอาโปรแกรมเหล่านี้ไปสอนโดยผ่านคอมพิวเตอร์ ปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันในชื่อ CAI (Computer Assisted Instruction) นอกจากนี้
คอมพิวเตอร์ช่วยสอนมีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษแตกต่างกันออกไปหลายชื่อ ได้แก่
       1. Computer Assisted Instruction (CAI)
       2. Computer Assisted Learning (CAL)
       3. Computer Aided Instruction (CAI)
       4. Computer Based Instruction (CBI)
       5. Computer Based Learning (CBL)
       แต่ชื่อที่นิยมใช้กันคือ Computer Assisted Instruction เรียกโดยย่อว่า CAI
       การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน เป็นกระบวนการสอนที่มุ่งตอบสนองการเรียนเป็นรายบุคคล หรือเป็นการสอนตัวต่อตัว (Face to face) กล่าวคือนักเรียนหนึ่งคนเรียนกับครูหนึ่งคน ในที่นี้คอมพิวเตอร์จะทำหน้าที่แทนครู คอมพิวเตอร์ช่วยสอน หมายถึง การนำเอาคอมพิวเตอร์มาใช้เป็นสื่อหรือเครื่องมือในการเรียนการสอน โดยที่เนื้อหาวิชา แบบฝึกหัด และแบบทดสอบก่อนเรียน - หลังเรียน ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นในรูปของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โดยผู้เรียนจะเรียนบทเรียนจากคอมพิวเตอร์ซึ่งอาจจะเสนอเนื้อหาวิชาทั้งในรูปตัวหนังสือ และภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว สามารถถามคำถาม รับคำถาม และแสดงผลการเรียนในรูปของข้อมูลย้อนกลับ (Feedback) ให้แก่ผู้เรียน ซึ่งเป็นการช่วยเสริมแรงให้แก่ผู้เรียน

 

ประเภทของคอมพิวเตอร์ช่วยสอน 

        คอมพิวเตอร์ช่วยสอนได้แบ่งออกไว้เป็นประเภท ๆ ดังนี้ (กิดานันท์ มลิทอง,2536; ทักษิณา สวนานนท์,2530 ; ปรัชญนนท์ นิลสุข, 2538 ;ไพโรจน์ ตีรณธนากุล,2528 ;ผดุง อารยะวิญญู,2527)

          1. แบบสอนซ่อมเสริมหรือทบทวน (Tutorials) เป็นบทเรียนเพื่อทบทวนการเรียนหรือสอนแทนครูในเฉพาะเนื้อหาบางตอน

           2. แบบฝึกหัดและปฏิบัติ (Drill and Practice) ส่วนใหญ่จะใช้เสริมการปฏิบัติหรือเสริมทักษะหลังจากครูสอนบทเรียนบางอย่างไปแล้วและให้ผู้เรียนทำแบบฝึกหัดจากคอมพิวเตอร์เพื่อวัดความเข้าใจ ทบทวน

            3. แบบสถานการณ์จำลอง (Simulation) เป็นการจำลองสถานการณ์ต่าง ๆ ให้ใกล้เคียงกับสถานการณ์จริงด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ใช้สอนหรือฝึกอบรมผู้เรียนในลักษณะที่สมจริง

            4. แบบเกมการเรียนการสอน (Instructional Games) เป็นการสอนเนื้อหาวิชาในรูปแบบของเกม และกิจกรรมที่ตื่นเต้นเร้าใจอยากให้เรียนรู้

             5. แบบการสอบ (Testing) เป็นการทดสอบผู้เรียนหลังจากที่ได้เรียนเนื้อหาหรือฝึกปฏิบัติไปแล้วด้วยคอมพิวเตอร์ มีการแจ้งผลให้ทราบทันทีที่ทดสอบเสร็จ

              6. แบบการสาธิต (Demonstrations) ส่วนใหญ่เป็นการแสดงขั้นตอนทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์

              7. แบบการแก้ปัญหา (Problem Solving) จะเน้นให้ฝึกการคิด การตัดสินใจ โดยมีการกำหนดเกณฑ์ให้ แล้วผู้เรียนพิจารณาไปตามเกณฑ์มีการให้คะแนนหรือน้ำหนักกับเกณฑ์แต่ละข้อ

               8. แบบบทสนทนา (Dialogue) เป็นการเลียนแบบการสอนในห้องเรียน กล่าวคือพยายามให้เป็นการพูดคุยระหว่างผู้สอนและผู้เรียน

                 9. แบบสร้างสถานการณ์ให้ค้นพบ (Discovery) เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ของตนเองมากที่สุดโดยคอมพิวเตอร์ช่วยสอนสามารถใช้ในการค้นหาข้อเท็จจริง ความคิดรวบยอด หรือข่าวสารที่เป็นประโยชน์

                10. แบบการสอน (Instruction) เพื่อใช้สอนความรู้ใหม่ ๆ แทนครู ซึ่งจะเป็นรูปแบบของการศึกษาด้วยตนเอง (Self Study Package) เป็นรูปแบบที่ต้องใช้ทักษะในการพัฒนาที่สูงมาก

                 11. แบบรวมวิธีการต่าง ๆ เข้าด้วยกัน (Comvination) คอมพิวเตอร์สามารถสร้างวิธีการสอนหลายแบบรวมกันได้ ตามธรรมชาติของการเรียนการสอน ซึ่งมีความต้องการวิธีการสอนหลายๆ แบบ

ข้อดีและข้อจำกัดของคอมพิวเตอร์ช่วยสอน

คอมพิวเตอร์ช่วยสอนมีทั้งข้อดีและข้อจำกัดพอจะสรุปได้ดังนี้
        ข้อดีของคอมพิวเตอร์ช่วยสอน
                1. คอมพิวเตอร์จะช่วยเพิ่มแรงจูงใจในการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน เนื่องจากการเรียนด้วยคอมพิวเตอร์นั้นเป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่ และมีผลย้อนกลับมาได้เร็วทันที โดยไม่ต้องรอครูผู้สอน
                2. การใช้สี ภาพกราฟิกที่มีการเคลื่อนไหว เสียงดนตรี ซึ่งเป็นการเพิ่มความเหมือนจริงและดึงดูดใจผู้เรียนให้อยากเรียนรู้ ทำแบบฝึกหัดหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้เป็นต้น
                3. ความสามารถของหน่วยความจำของเครื่องคอมพิวเตอร์ จะช่วยในการบันทึกพฤติกรรมต่าง ๆ ของผู้เรียนไว้เพื่อใช้ในการวางแผนบทเรียนในขั้นต่อไปได้
                4. การเก็บข้อมูลของเครื่องทำให้สามารถนำไปใช้ในลักษณะของการศึกษารายบุคคลได้เป็น อย่างดี โดยสามารถกำหนดบทเรียนให้แก่ผู้เรียนแต่ละคน และแสดงผลความก้าวหน้าให้เห็นได้ทันที
                5. ลักษณะโปรแกรมบทเรียนที่ให้ความเป็นส่วนตัวแก่ผู้เรียน เป็นการช่วยให้ผู้เรียนที่เรียนช้าสามารถเรียนไปได้ตามความสามารถของตน โดยสะดวกอย่างช้า ๆ โดยไม่ต้องอายผู้อื่น และไม่ต้องอายเครื่องเมื่อตอบผิด และผู้เรียนเรียนที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ เนื่องจากปัจจุบันเราได้ใช้ระบบการสื่อสารทางด้านคอมพิวเตอร์ติดต่อหรือค้นคว้าด้วยตนเองอยู่ตลอดเวลา
                6. เป็นการช่วยขยายขีดความสามารถของครู ในการควบคุมผู้เรียนได้อย่างใกล้ชิด เนื่องจากสามารถบรรจุข้อมูลได้ง่ายและสะดวกในการนำออกมาใช้
       ข้อจำกัดของคอมพิวเตอร์ช่วยสอน
                1. ใช้วิธีการเร้าความสนุกมากเกินไป ซึ่งบทเรียนบางบทเรียนที่เน้นความสนุก โดยนำเข้าไปแทรกในบทเรียน บางทีอาจจะไม่มีสาระต่อการเรียนรู้ก็ได้
                2. การออกแบบโปรแกรมของคอมพิวเตอร์ใช้ในการเรียนการสอนนั้น ยังพัฒนาไปได้ไม่มากนัก เมื่อเทียนกับการออกแบบโปรแกรมเพื่อใช้ในวงการด้านอื่น ๆ และยังไม่มีการนำมาใช้อย่างแพร่หลาย
                3. เนื้อหาไม่ตรงกับสาระวิชาหรือหลักสูตร ซึ่งอาจจะยังไม่เป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่แท้จริง ที่จะสามารถนำมาสอนได้
                4. การที่จะให้ครูผู้สอนเป็นผู้ออกแบบโปรแกรมบทเรียนเองนั้น นับว่าเป็นงานที่ต้องอาศัยเวลา สติปัญญา ความชำนาญและความสามารถเป็นพิเศษ ทำให้เป็นการเพิ่มภาระของครูผู้สอนให้มีมากยิ่งขึ้น
                5. ผู้เรียนบางคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เรียนที่เป็นผู้ใหญ่ อาจจะไม่ชอบโปรแกรมที่เรียนตามขั้นตอน ทำให้เป็นอุปสรรคในการเรียนรู้ได้
                6. โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอนจำนวนมาก ไม่มีความเป็นธรรมชาติเหมือนอยู่ในห้องเรียน

ประโยชน์ของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน
             1. สามารถตอบสนองการเรียนรู้ส่วนบุคคลได้ ซึ่งผู้เรียนสามารถเรียนรู้ตามระดับ
ความสามารถและอัตราความเร็วตามที่ต้องการ
              2. สามารถสร้างแรงจูงใจในการเรียนโดยการใช้สี เสียงและภาพ รวมทั้งการออกแบบ
โปรแกรมที่น่าสนใจ
             3. สามารถคิดคำนวณได้รวดเร็วและแม่นยำ ช่วยให้ผู้เรียนเรียนวิชาคณิตศาสตร์ได้
อย่างมีประสิทธิภาพ
              4. ช่วยสอนความคิดรวบยอด (Concept) และทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี
              5. สามารถเรียนได้อย่างไม่จำกัดเวลา และทบทวนได้ตามที่ ต้องการ
              6. สามารถจัดแผนการสอนได้ดี ด้วยการที่ผู้สอนสร้างโปรแกรมที่มีขั้นตอนและ
ระบบที่ดี เช่น มีจุดมุ่งหมาย สอนเนื้อหา ทดสอบและให้ผลย้อนกลับ และยังสามารถเก็บ
ข้อมูลผู้เรียน วิเคราะห์และเสนอผลการประเมินได้

          ซึ่งจะเห็นได้ว่า CAI  นี้มีบทบาทในการเรียนการสอนในปัจจุบันมาก  เพราะสามารถที่จะเรียนได้ทุกๆที่โดยไม่จำเป็นต้องไปโรงเรียนเลย  สามารถที่จะพัฒนานักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ  และทันต่อเทคโนโลยี  สามารถที่จะแข่งขันกับคนอื่นๆได้

 

 

หมายเลขบันทึก: 403166เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2010 00:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มีนาคม 2012 13:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท