จากดวงดาวอันไกลโพ้นสู่ดวงจิตที่ติดอยู่กับเรา


คุณคิดว่ามนุษย์ธรรมดาๆอย่างเราๆนี้ใช้เวลาตลอดทั้งชีวิตเดินทางได้ระยะทางไกลที่สุดสักเท่าใด? มีเหตุผลใดที่มนุษย์ต้องพยายามเดินทางไกลๆซึ่งมีทั้งความเสี่ยง ความไม่แน่นอนรออยู่เบื้องหน้า แต่เราก็มีความยินดีจะทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างเพื่อไปให้ถึงแม้กระทั่งจะเกิดการสูญเสียก็ตาม ในขณะที่มีอีกสิ่งหนึ่งที่อยู่กับตัวเราแต่เราก็ไม่เคยแม้แต่จะคิดเริ่มต้นออกเดินทางเพื่อค้นหามันเลย

            มนุษยชาติไม่เคยหยุดยั้งในเรื่องของความอยากที่จะใฝ่เรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวมากที่สุดที่ถึงขั้นมนุษย์ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ไปจนถึงสิ่งที่อยู่ไกลแสนไกลที่สุดที่มนุษย์ธรรมดาจะสามารถใช้เวลาตลอดชั่วชีวิตเดินทางไปถึงได้ ไม่มีสิ่งใดที่เป็นเรื่องยากเย็นสำหรับมนุษย์ ยกเว้นเพียงสิ่งเดียว.....ซึ่งก็คือสิ่งที่ผมจะนำเสนอจากบทความนี้โดยผ่านเรื่องราวของผู้ชายธรรมดาคนหนึ่ง 

            ๒๐ กรกฎาคม ค.ศ.๑๙๗๖ (พ.ศ.๒๕๑๙) เป็นวันที่มนุษยชาติบันทึกความสำเร็จในประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ เมื่อยาน “ไวกิ้ง๑”[๑] ส่งยานสำรวจภาคพื้นลงจอดบนพื้นผิวของดาวอังคารได้เป็นผลสำเร็จอย่างสมบูรณ์ และหลังจากนั้นอีก ๔๔ วัน (๓ กันยายน) ยานแฝดผู้น้อง “ไวกิ้ง๒”[๒] ได้ส่งยานสำรวจภาคพื้นลงจอดบนพื้นผิวของดาวอังคารด้วยวิธีการเดียวกัน แต่จุดลงจอดนั้นจะอยู่คนละตำแหน่งกับยานสำรวจของไวกิ้ง๑ ความสำเร็จในการลดจอดของยานสำรวจภาคพื้นไวกิ้งนั้น ดูเหมือนจะเป็นความภาคภูมิใจของมนุษยชาติอย่างมากหลังจากที่มนุษย์ได้พยายามคิดค้นหาวิธีการลงจอดซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญในช่วงสุดท้ายที่บ่งชี้ถึงความคุ้มค่าของโครงการ แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จอย่างสมบูรณ์แบบ.....จนกระทั่งวันที่รอคอยก็มาถึง

            ระบบการลงจอดของยานไวกิ้ง๑และ๒[๓] นั้น องค์การบริหารการบินและอวกาศของสหรัฐ (NASA) กับบริษัท Martin Marietta ร่วมกันออกแบบขาและชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่ใช้ในการลงจอดของยานไวกิ้ง ที่ NASA จะส่งไปสำรวจดาวอังคาร นี่คือข้อเท็จจริงที่หนึ่งในวิศวกรของโครงการนี้ได้กล่าวไว้ในหนังสือของท่านเล่มหนึ่ง.....

            “อาจจะถือได้ว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติที่ส่งยานสำรวจไปลงบนพื้นผิวของดาวเคราะห์ได้สำเร็จ โดยอุปกรณ์ทุกชิ้นรวมไปถึงตัวยานสำรวจภาคพื้นยังคงปลอดภัย ผมสร้างชิ้นส่วนดังกล่าวได้ โดยใช้ทฤษฎีของคนไทยอย่างเดียว นั่นคือ ไตรสิกขา อันประกอบไปด้วย ศีล สมาธิ และปัญญา เมื่อจิตเป็นสมาธิปัญญาจึงเกิด ผมไปนั่งสมาธิอยู่บนหุบเขาในรัฐแคลิฟอร์เนีย ๕ วัน ๔ คืน จนในวันสุดท้ายขณะนั่งอยู่เฉยๆโดยไม่ได้คิดอะไร อยู่ๆองค์ความรู้ที่เป็นคำตอบแวบเข้ามา ซึ่งทำให้ผมรู้ว่าผมจะสร้างชิ้นส่วนดังกล่าวนั้นได้อย่างไร”

            บทเรียนนี้ถ้าพิจารณาด้วยความแยบคายจะเห็นว่าไม่ได้เกิดจากความบังเอิญ หรืออิทธิฤทธิ์ปาฏิหารใดๆ แต่มันเป็นการบูรณาการองค์ความรู้ที่อยู่ในจิตใต้สำนึกของตัวบุคคลซึ่งขึ้นอยู่กับการรับรู้ข้อมูลของบุคคลในอดีต เป็นภาพความทรงจำในอดีตที่ได้เคยเห็น เคยได้ยิน เคยสัมผัส เคยทำ หรือเคยคิด มันก็จะถูกเก็บบันทึกข้อมูลทั้งหมดไว้ในจิตใต้สำนึกร่วมกับสภาวะที่จิตสำนึกในเวลานั้นนิ่งสงบ จะเกิดสภาพที่เราเรียกว่าการยกระดับจิตใจให้สูงขึ้นจนเริ่มไปสัมผัสกับจิตเหนือสำนึก หรือจิตอันบริสุทธิ์ที่อยู่ในตัวเรา สิ่งที่ได้ตามมาก็คือ “ความรู้อันเกิดจากปัญญาสูงสุด” หรือเราอาจเรียกว่า “การหยั่งรู้ด้วยตนเอง” การหยั่งรู้เป็นสภาพที่อยู่เหนือความคิด เมื่อเราใช้การหยั่งรู้ เรากลับไม่ต้องคิด เพียงแต่ต้องทำจิตสำนึกให้อยู่นิ่ง ปราศจากความคิดอื่นใด การหยั่งรู้จึงจะเกิดขึ้น การหยั่งรู้หรือปัญญาสูงสุดนั้นจะไม่มีขอบเขตใดๆเราสามารถรู้ได้ทั้งในเรื่องของวิทยาศาสตร์ หรือความรู้ด้านจิตวิญญาณ ไม่มีขอบเขตในเรื่องของเวลาหรือสถานที่ เราสามารถรู้ได้ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต หรือเป็นเรื่องราวที่ยิ่งใหญ่จนถึงเรื่องราวที่เล็กที่สุด ซึ่งตอนนี้มโนสำนึกจะเกิดขึ้นในตัวเรา[๔]

            เมื่อโครงการไวกิ้ง๑และ๒ ลุล่วงแล้ว วิศวกรท่านนี้ปฏิเสธที่จะใช้ชีวิตอยู่ต่างบ้านต่างเมือง ถึงแม้อเมริกาจะยื่นข้อเสนอต่างๆให้[๕] ซึ่งผมเองคิดว่าถ้าเป็นคนส่วนใหญ่เขาคงจะดีใจจนเนื้อเต้นแล้ว มีที่ไหนอยู่ๆก็ได้สัญญชาติอเมริกัน และมีเงินเดือนใช้มากกว่าทำงานอยู่ในบ้านเราหลายเท่าตัว ทำงานในองค์กรในประเทศที่มีชื่อเสียง และในชีวิตจริงผมก็เห็นหลายๆคนถึงขั้นใฝ่ฝันและทะเยอทะยานด้วยความอยากที่จะไปให้ได้ทุกวิถีทางที่พึงกระทำได้ประโยคหนึ่งผมอ่านแล้วโดนใจผมมากๆท่านได้กล่าวไว้ว่า.....

            “ตอนนั้นอยู่ๆก็เกิดความรู้สึกเสียใจเหลือเกิน ที่ผมเสียเวลาในการสร้างยานอวกาศให้เดินทางไปได้ไกลแสนไกลจนถึงดาวอังคาร ระยะทางจากโลกกว่า ๒๕๐ ล้านไมล์ แต่ผมก็ไม่ได้ภูมิใจใดๆเลย และเสียใจมากด้วย เมื่อหันกลับมามองรอบๆตัวผมกลับพบว่า มนุษย์เรานี้ยังไม่สามารถเดินทางเข้าไปถึงดวงจิตของเราเองที่มันไม่ได้อยู่ห่างไกลจากตัวเราเลย มันอยู่ใกล้แค่เพียงไม่กี่มิลลิเมตรเสียด้วยซ้ำ แล้วเราจะเดินทางไปดาวอังคารกันทำไม เพื่ออะไร?"

            แล้วนี่ก็คือเหตุผลที่ปัจจุบัน วิศวกรท่านนี้กลับมายังผืนแผ่นดินบ้านเกิดของตน มุ่งมั่นสร้างคนให้รู้จักการเดินทางเข้าสู่จิตของตนเอง ให้รู้จักตัวตนก่อนที่จะเดินทางไปศึกษาสิ่งอื่นๆที่ไกลตัวออกไป สร้างคนให้ ดี ก่อนที่จะ เก่ง  เพราะคนดีสามารถเก่งได้ด้วยการกระทำอย่างมีมโนสำนึก แต่คนเก่งหากขาดซึ่งมโนสำนึกที่ดี ความเก่งจะไม่มีประโยนชน์อันใดต่อส่วนรวมเลย นี่คือจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งโรงเรียน “สัตยาไส” จ.ลพบุรี และท่านเองก็อุทิศตนเพื่อสอนเด็กๆตามแนวทางที่ท่านได้หยั่งรู้ตลอดมาจนถึงทุกวันนี้

            ลองทบทวนตนเองนะครับว่าชีวิตเราออกเดินทางมานานเท่าใดแล้ว? เราได้เดินทางถึงจุดหมายปลายทางหรือยัง? และปัจจุบันเราลงจอดได้หรือยัง? เราเหลือเวลาที่จะสำรวจอยู่อีกนานเท่าใด? นี่คือบทเรียนชีวิตของเราที่ได้จากบทความนี้นะครับ

            ผมไม่ได้รู้จักท่านเป็นการส่วนตัวใดๆครับ เพียงแต่ติดตามผลงานของท่านและได้อ่านหนังสือที่ท่านเคยเขียนไว้หลายๆเล่ม ทุกครั้งที่ได้อ่านทำให้ผมได้พลังใจในการดำเนินชีวิตมากมาย ผมอาจเป็นแค่คนธรรมดาๆคนหนึ่ง คงจะไม่สามารถทำอะไรให้ยิ่งใหญ่ได้เกินตัว แต่สิ่งเดียวที่ผมหยั่งรู้ได้จากบทเรียนของท่านและได้นำมาใช้ในการดำเนินชีวิตทุกวันนี้ก็คือ เราจงทำในสิ่งเล็กๆที่คิดว่าเราทำมันได้ดีที่สุดก่อน เพราะนั่นคือสาระสำคัญของชีวิตในวันข้างหน้าที่สนับสนุนคุณค่าที่แท้จริงของการได้เกิดเป็นมนุษย์ ขอขอบพระคุณท่านอาจารย์ ดร.อาจอง  ชุมสาย ณ อยุธยา[๖] ที่ได้เผยแพร่สิ่งดีงามจากประสบการณ์ของท่านที่มีคุณค่ายิ่งสู่สังคม ด้วยความเคารพจากใจจริงครับผม

 



[๑] ยานไวกิ้ง๑ เป็นยานสำรวจดาวอังคาร ประกอบด้วยยานโคจรและยานสำรวจภาคพื้น ออกเดินทางจากโลกเมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ค.ศ.๑๙๗๕ เข้าสู่วงโคจรของดาวอังคารในวันที่ ๑๙ มิถุนายน ค.ศ๑๙๗๖ ยานสำรวจภาคพื้นลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคารในวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ค.ศ.๑๙๗๖

[๒] ยานไวกิ้ง๒ เป็นยานสำรวจดาวอังคาร ประกอบด้วยยานโคจรและยานสำรวจภาคพื้น ออกเดินทางจากโลกเมื่อวันที่ ๙ กันยายน ค.ศ.๑๙๗๕ เข้าสู่วงโคจรของดาวอังคารในวันที่ ๗ สิงหาคม ค.ศ๑๙๗๖ ยานสำรวจภาคพื้นลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคารในวันที่ ๓ กันยายน ค.ศ.๑๙๗๖

[๓] การลงจอดของยานสำรวจภาคพื้น ไวกิ้ง๑และ๒ นั้นใช้วิธีการเดียวกัน กล่าวคือ ยานแม่จะสลัดแคปซูลป้องกันความร้อนจากการเสียดสีของชั้นบรรยากาศที่ภายในบรรจุตัวยานสำรวจภาคพื้นไว้ ตอนนี้ชุดแคปซูลจะถึงดึงลงสู่พื้นผิวดาวอังคารด้วยแรงดึงดูดเข้าสู่ศูนย์กลางของดาวอังคาร จนถึงระดับหนึ่งร่มชูชีพจะกางออกเพื่อช่วยพยุงลดอัตราเร่งเข้าสู่ศูนย์กลาง จากนั้นฝาแคปซูลด้านล่างจะเปิดปล่อยยานสำรวจภาคพื้นออกมาพร้อมกับจุดเครื่องยนต์ไอพ่นสร้างแรงขับดันเพื่อช่วยพยุงการลงจอดของยานให้เป็นไปอย่างนิ่มนวล

[๔] ดร.อาจอง  ชุมสาย ณ อยุธยา “คุณธรรมนำความรู้” ฉบับปรับปรุงใหม่ พิมพ์ครั้งที่๑ มีนาคม ๒๕๕๓ : ๗๖-๘๑

[๕] ตอนนั้นอเมริกาเสนอโครงการสร้างเครื่องบิน B-๑ ขึ้นมาทดแทนเครื่องบินรุ่น B-๕๒ ที่ถูกรัสเซียยิงตกในเวียดนาม อเมริกาจึงมีความต้องการที่จะสร้างเครื่องบินที่ดีที่สุดในตอนนั้น ที่ไม่มีใครสามารถยิงตกได้

[๖] - ปริญญาตรีเกียรตินิยม และปริญญาโท สาขา Mechanical Science จาก Cambridge University ประเทศอังกฤษ

  - ปริญญาเอก สาขาการสื่อสารโทรคมนาคม จาก Imperial College of Science and Technology , London University ประเทศอังกฤษ

  - ปริญญาครุศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาหลักสูตรและการสอน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

  - ปริญญาครุศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาบริหารการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

หมายเลขบันทึก: 402092เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2010 15:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 16:44 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท