วิจัยไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป


วิจัยไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ..บทพิสูจน์ ครูดีเป็นนักวิจัยได้..
 

       วิจัยไม่ใช่เรื่องยาก จริงหรือ  นับตั้งแต่พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ประกาศใช้ ความตื่นตัวของครูและผู้บริหารในการเรียนรู้การทำวิจัยในชั้นเรียนมีมากขึ้นตามลำดับ  ครูจำนวนมากได้เข้าฝึกอบรมหลายครั้ง  และมีครูจำนวนไม่น้อยที่ฝึกปฏิบัติจริงกับงานในหน้าที่ จนเกิดเป็นงานวิจัยของครูดี มีฝีมือ   บัดนี้ เวลาผ่านไป 8 ปีแล้ว  ครูได้รับการส่งเสริม และกระตุ้นด้วยการใช้ผลงานวิจัยเพื่อเลื่อนวิทยฐานะ ได้เพิ่มทั้งตำแหน่งและเงินเดือน ตลอดจนผลประโยชน์ต่าง ๆ และโอกาสความก้าวหน้าอีกหลายรูปแบบ   ผลงานวิจัยของครูมีมากขึ้นเรื่อยๆ   สังเกตได้จากการประเมินของ สมศ.  จากการส่งผลงานเพื่อนำเสนอในเวทีต่างๆ เช่น งานประชุมวิชาการประจำปีของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในเดือนกุมภาพนธ์   งานประชุมวิชาการของครุศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย เดือนกรกฎาคม  และ งานประชุมวิชาการของ สกศ. ที่เพิ่งจะผ่านพ้นไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนนี้เอง  ถ้าปริมาณงานวิจัยของครูที่เพิ่ม เป็นการเพิ่มขององค์ความรู้การสอน  ย่อมหมายถึงคุณภาพการสอนของครูเพิ่ม  และส่งผลโดยตรงถึงผู้เรียนเป็นสำคัญอย่างแน่นอน  แต่ยังมีข้อสงสัยอยู่ว่า  ปรากฏการณ์ตามสภาพจริงเป็นไปตามประโยค ถ้า...  หรือไม่  คำตอบที่ได้จากข้อสังเกตของผู้รู้เห็น ผู้สนใจ มีความหลากหลายมาก  อย่างไรก็ตาม  บทความนี้จะไม่พยายามค้นหาความจริงในเรื่องนี้   แต่ตั้งใจจะนำเสนองานวิจัยของ ครูดี มีฝีมือ  ที่มีตัวตน  นับเป็นโชคดีของสังคมไทยเราที่มี ครูดี มีฝีมือ อยู่จำนวนมาก  จากประสบการณ์ที่ได้มีโอกาสศึกษาความเป็นครูดี พบว่า ความมีฝีมือ เป็นความฉลาดที่ได้จากการใฝ่เรียนรู้ของครูเอง  นั่นคือครูมีจิตวิญญาณความเป็นนักวิจัย     ผู้เขียนจึงขอใช้โอกาสของ New School ในปีที่ 2  นี้  แนะนำครูดีกับผลวิจัยในชั้นเรียนที่น่าเรียนรู้สัก 8-10  เรื่อง จะทยอยนำเสนอเป็นตอนๆ ไป  ผู้อ่านจะเห็นภาพครูทำวิจัยในชั้นเรียน และสรุปได้ว่าวิจัยไม่ใช่เรื่องยาก
 
ครูดีเป็นอย่างไร 
      ครูดีจะเป็นเจ้าของคำพูด “ผู้เรียนสำคัญที่สุด”   โดยไม่ต้องอ้าง มาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติฯ แต่อยู่ในสามัญสำนึกของครูดีมาตั้งนานแล้ว   และทำทุกอย่างที่จะให้ผู้เรียนเป็นคนเก่ง คนดี และมีความสุข การทำงานของครู จะทำอย่างมืออาชีพ มีเทคนิค วิธีที่แยบยล อธิบายได้ สอนให้ครูใหม่ หรือ คนอยากเป็นครู เรียนรู้เป็นครูดีด้วยได้

 ครูดีปฏิบัติหน้าที่อย่างสม่ำเสมอเป็นปกติ  ความเป็นปกติของครูดี เป็นการปฎิบัติหน้าที่ด้วยสติ และปัญญา วางแผนการสอนอย่างตั้งใจว่ากำลังสอนใคร  ใครคนนั้นเป็นอย่างไร  และติดตามดูผลการสอนของตนเองจากการเรียนรู้หรือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของครู  ข้อมูลหลักฐานที่สะท้อนให้ตีความจะสอนตนเองถึง จุดเด่น จุดด้อย ที่ปฏิบัติไป พร้อมนำมาปรับ และคิดหาวิธีใหม่ ถ้าวิธีนั้นไม่เข้าท่า  กระบวนการทำงานของครูดี จะมีลักษณะที่นักวิชาการเรียกว่า PDCA เป็นกระบวนการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เป็นวงจร  ย่อมาจาก Plan วางแผน  Do ปฏิบัติตามแผน  Check ตรวจสอบ พิจารณาผลว่าน่าพอใจหรือไม่ และ Action ปฏิบัติการแก้ไขจุดอ่อน ปรับเสริมให้เข้มแข็ง วงจรนี้ ครูดีได้เรียนรู้พร้อมนำการเรียนรู้ไปวางแผนใหม่และดำเนินการให้บรรลุผล เป็นวงจรที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

         ครูดีมีใจใฝ่เรียนรู้  พบความก้าวหน้าในทักษะการเข้าถึงความรู้อย่างชัดเจน เช่น ทักษะการเขียน  เขียนแผนการสอน  เขียนเอกสารให้นักเรียนใช้ประกอบการเรียน เขียนรายงาน เขียนบันทึกหลังสอน  ทักษะการใช้สื่อ ทั้งที่เป็นสื่อการสอน  สื่อการค้นคว้า และสื่อสารที่ใช้วิธีพูด ฟัง อ่าน และ เขียน รวมทั้งทักษะการใช้คอมพิวเตอร์และการสื่อสารด้วย Internet ทักษะการจัดการ รวมทักษะการจัดระเบียบงาน จัดการห้องเรียน และ จัดสภาพแวดล้อม เป็นต้น   ทักษะทางสังคม ทำงานร่วมกับเพื่อนครู ให้เกียรติผู้อื่น เป็นแบบอย่างการทำงานแก่ผู้เรียน ตลอดจนทักษะตามความถนัดเฉพาะตัว ทั้งนี้ ต้องมีพื้นภูมิความเป็นกัลยาณมิตรเป็นฐานที่สำคัญ

        ครูดีฉลาด อันเนื่องมาจากการอ่านมาก ฟังมาก ใช้เหตุผลในการปรับแก้ และเสริมสร้างอย่างสร้างสรรค์   ตรวจสอบตนเอง นำผลมาปรับปรุงตนเอง และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง มองสถานการณ์ตามจริง

 ที่กล่าวมาเป็นเพียงบางด้านในตัวครูดี  ซึ่งเป็นความพร้อมของครูมืออาชีพ  ที่ปฏิบัติงานครูอย่างมีประสิทธิภาพ ได้งานวิจัยเป็นผลพลอยได้ ใช้เป็นหลักฐานแสดงคุณภาพงานครูได้อย่างวิเศษทีเดียว 

งานวิจัยในชั้นเรียนเป็นอย่างไร
วิจัย เป็นการกระทำการค้นหาความจริงเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้องกับงานครู โดยครูและให้เกิดการเรียนรู้แก่ครูเองเพื่อเพิ่มพลังการเสริมสร้างการเรียนรู้และยกระดับคุณภาพชีวิตของนักเรียน  โดยปกติครูนักวิจัยจะมีความเชื่อพื้นฐานการทำวิจัย 4 ประการ
 
    • คุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียน ขึ้นกับคุณภาพการสอน 
    • คุณภาพการสอน เป็นผลการเรียนรู้ของครูเอง
    • กระบวนค้นหาความจริงอย่างเป็นระบบแบบวิจัย เป็นวิถีสู่การสร้างองค์ความรู้ที่มีคุณค่า 
   • คุณค่าของครู คือ เป็นครูดีมีฝีมือ 
 
     วิจัย เป็นเครื่องมือ และปัจจัยพื้นฐานในการสร้างองค์ความรู้ และเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนรายบุคคล รายกลุ่ม  ความรู้ที่ผ่านการวิจัยและนำไปใช้แล้ว มีการวิจัยตรวจสอบซ้ำ จะเกิดความรู้อีกระดับหนึ่ง ที่สร้างพลังความคิดให้เกิดการเรียนรู้ที่กว้าง   ใช้เป็นทุนปัญญาเพื่อพัฒนาประเทศได้  ธรรมชาติการเรียนรู้ของคน เป็นเรื่องละเอียดและมีความซับซ้อน การค้นพบความจริง และสั่งสม สืบทอดภูมิปัญญาอย่างต่อเนื่องทำให้ ครูรุ่นต่อมามีแหล่งเรียนรู้และทำหน้าที่ค้นหาความจริงสร้างเสริมภูมิปัญญาต่อไป

 วิจัย เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาต่าง ๆ  ครูใช้กระบวนการคิดเชิงเหตุผล และแหล่งความรู้จากการเรียนรู้ของภูมิปัญญาที่สั่งสมในศาสตร์ของครู   ทำให้ได้แบบแผนการจัดกระทำลดจุดอ่อน เสริมจุดเด่น และสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพ และให้ผลกระทบที่เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตและสังคมโดยรวม

ลักษณะเด่นของงานวิจัยในชั้นเรียนเป็นอย่างไร
 จากคุณลักษณะครูดี  ความหมายวิจัยในบริบทของการใฝ่เรียนรู้ของครูมืออาชีพ งานวิจัยในชั้นเรียนสรุปได้ ดังนี้
           นักวิจัย             เป็นครู/ผู้ปฏิบัติให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
           ปัญหาวิจัย        สะท้อนถึงคุณค่าของการพัฒนาเพื่อนักเรียน/ส่วนรวม
           จุดมุ่งหมาย       เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลง
           คุณภาพ           ปฏิบัติการเยี่ยงนักวิจัย..
           ความถูกต้อง     สามารถตรวจสอบได้
           คุณค่า      เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์

ลักษณะเฉพาะ 6 ประการนี้  ได้ถูกใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาคุณภาพและคุณค่าของงานวิจัย วิเคราะห์จุดเด่นจุดด้อยในรายละเอียดของการปฏิบัติ  แลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนากับครูผู้เป็นเจ้าของงานวิจัย  และขอร่วมชื่นชมกับการใช้การเรียนรู้ลงปฏิบัติของครูจนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง และเกิดการเรียนรู้เป็นปัญญาอีกระดับหนึ่ง

 

ขอขอบคุณ : รศ.ดร.ภาวิณี ศรีสุขวัฒนานันท์

จากวารสารเพื่อการศึกษาและการเรียนรู้บนโลกออนไลน์ ตุลาคม 2550

หมายเลขบันทึก: 402084เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2010 15:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2012 19:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ่านแล้วมีกำลังใจ .... วิจัยไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป สู้ๆๆๆ ค่ะคุณครูสอนเลข

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท