สยามประเทศ : เรื่องเดียวกันที่ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน


พี่น้องชาวไทย

สยามประเทศ  : เรื่องเดียวกันที่ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน

 

                เรื่องที่จะเล่าสู่กันฟังนี้  ถ้าจะพูดว่าเป็นเรื่องพื้น ๆ ก็ใช่  แต่จะละเลยไปสนใจซะเลยก็ไม่เชิง ถ้าเป็นคุณโน๊ต (อุดม แต้พานิช) เอาไปเล่า คงสนุกกว่านี้           ณ ขณะนี้ชีวิตดิฉันวนเวียนอยู่ ๔ มหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยศิลปากร  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม

               ไม่รู้ว่าตัวเองขวางโลกหรือเปล่า หรือไปอยู่ต่างจังหวัดซะนานก็ไม่รู้  วันหนึ่งได้ไปงานเกี่ยวกับสื่อเด็กที่มีความต้องการพิเศษงานหนึ่งเป็นการนำเสนองานของนิสิตปริญญาโทภาควิชาศิลปะ  เป็นงานที่ดีมากมีสื่อสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ที่จุดประกาย  สามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้ได้เยอะมาก  ดิฉันก็ได้รับประโยชน์จากตรงนี้นะ  เพราะชอบผลิตสื่อเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว คงจะนำแนวคิดไปประยุกต์ใช้และนำไปเผยแพร่กับลูกศิษย์ลูกหา  กราบขอบพระคุณ ศาสตราจารย์ศรียา  นิยมธรรม ไว้ ณ ตรงนี้ด้วยค่ะ  ที่ส่งข่าวดี ๆ ให้ลูกศิษย์ตลอดเวลาค่ะ 

               เรื่องแรก  ปลายเดือนกันยายน งานสื่อดังกล่าวข้างต้น ลักษณะงานก็ดำเนินไปตามแบบสากล พิธีเปิด ผู้ใหญ่พูดเปิดงาน  จากนั้นก็เป็นการแสดงของเด็ก ๆ พิเศษ ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กดาว์นซินโดรม น่ารัก ชุดแล้วชุดเล่า  และเด็กปกติ  แต่สิ่งที่สะดุดหูสะดุดตาในบรรดาน้อง ๆ ที่มาแสดงและน้อง ๆ ที่มาร่วมงาน ก็คือ  ทางเจ้าของงานจะมีป้ายชื่อน้องห้อยคออยู่ทุกคน  ชื่อน้อง ๆ เช่น น้องจัสติน น้องชีอาน  น้องเอริ์ท  น้องชิง ชิง น้อง... ฯ  สรุปว่าทั้งเด็กพิเศษ และเด็กปกติเป็นเด็กไทย แต่มีชื่อเล่นทันสมัยเป็น  ชื่อต่างประเทศทั้งสิ้น

              เรื่องที่สอง  ต้นเดือนตุลาคม  ดิฉันได้เดินทางไปขอความอนุเคราะห์อาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้ทรงคุณวุฒิงานวิจัย  เสร็จภารกิจก็มานั่งกินข้าวที่ใต้ตึกใกล้ ๆ กับคณะครุศาสตร์  เพราะมีซุ้มอาหารอยู่ตรงนั้น เนื่องจากโรงอาหารคงจะปรับปรุงนะคะ  ขณะซื้ออาหารก็ต้องถามซ้ำว่าเท่าไหร่คะ  เพราะว่าคนขายพูดไม่ชัด  คงไม่ต้องบอกใช่ไหมว่าคนขายเป็นชนชาติไหน อย่างน้อยก็ ๒-๓ ซุ้ม แต่อาจจะมีมากกว่านั้น ณ ขณะนั้นก็ไม่ได้สนใจหรือฉุกคิดอะไร

               เรื่องที่สาม  อีกสัปดาห์ถัดมาของเดือนตุลาคม เป็นวันเสาร์ เดินทางจากบ้านไปจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเอาเอกสารไปให้อาจารย์ที่จุฬาฯ  จากนั้นก็เดินทางไปมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  เพื่อเอาหนังสือไปคืนห้องสมุด  เนื่องจากบ่ายมากแล้ว ประมาณบ่าย ๒ โมง  ตั้งใจว่าจะไปกินข้าวที่ มศว. ลงรถฝั่งถนนเพชรบุรี  เดินไปตามซอยซึ่งเคยมีอาหารขายมากมาย  ถ้ามหาวิทยาลัยยังไม่ปิด  แต่เผอิญวันที่ไปมหาวิทยาลัยเริ่มปิดแล้ว  จึงมีร้านขายอาหารไม่มากนัก มีบางร้านที่ยังเปิดอยู่ ก็เลยไปถามว่ามีอะไรกินบ้าง  คนขายตอบว่า  “โหมะแล้คะคุงพี่”  พูดไม่ชัด  คงไม่ต้องบอกว่าเป็นชนชาติไหน คราวนี้เริ่มงงแล้ว ทำไมเยอะจัง

                เรื่องที่สี่  จะว่าไปดิฉันเคยรู้ว่า  เพื่อนเคยลำบากเนื่องจากลูกจ้างชาวพม่า ลาออก  เพื่อจะไปหางานที่บ้านอื่นจะได้เงินเดือนที่มากกว่า เพราะมีประสบการณ์ดูแลคนแก่ ทำอาหารไทยเป็น พูดภาษาไทยได้  คุณสมบัติสามารถเรียกเงินเดือนแพงๆ ได้  คุณแม่ของเพื่อนก็เศร้าสร้อยเพราะคิดถึงลูกจ้าง ง้อเท่าไหร่ นายหน้าก็ไม่ให้กลับมา เพราะว่าเล่นตัวได้  เพื่อนจึงต้องให้นายหน้าอีกคน ช่วยหาลูกจ้างพม่าให้ใหม่ ต้องมาฝึกกันใหม่ทุกอย่าง ดิฉันเคยถามว่าทำไมไม่ใช้ลูกจ้างคนไทย เพื่อนบอกว่าหาไม่ได้

                แม้กระนั้น ในซอยบ้านดิฉันเอง  ชายแดนกรุงเทพฯ  เข้าเขตจังหวัดปทุมธานี  ก็เริ่มมีชาวโฮริงยา  (คิดว่าใช่นะ)  มาเช่าอยู่กลางซอยบางครั้งมีจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงสงกรานต์เล่นกันมืดเต็มซอยไปหมด เพราะพวกเขาผิวดำด้วย บางครั้งก็มีจำนวนน้อย เหมือนเตรียมจะไปทำงานในที่ต่าง ๆ

                ดิฉันก็คิดคำนึง อุทานในใจโอ้โฮ ทำไมเยอะจัง  ซึ่งจริงๆ แล้วคนที่อยู่เมืองสมุทรปราการ  ระนอง  ฯลฯ คงจะชินแล้ว และไม่แปลกใจอะไร  เพราะที่นั่นคนหลาก ชนชาติอยู่กันอย่างกระจุก  แต่ดิฉันไม่คิดว่าปัจจุบันจะกระจายอยู่เยอะมาก (ดิฉันคงไป อยู่หลังเขามา หรือเขาคงขึ้นหน้าบ้านดิฉันที่มหาสารคาม)

                แต่โรงอาหารที่มหาวิทยาลัยศิลปากร สนามจันทร์ คุณแม่ค้ายัง “พูดเหน่อ”  แบบคนไทยพื้นเมืองนครปฐม ราชบุรี สุพรรณบุรี  อยู่นะคะน่ารักดี ไทยแท้ๆ  และเช่นเดียวกันโรงอาหารที่มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม คุณแม่ค้าก็ยัง “เว้าลาว คัก คัก” (ขอโทษนะคะถ้าเขียนไม่ถูก)  กันอยู่เลย  หรือแม้แต่ลูกศิษย์ลูกหาของดิฉันก็มีชื่อเล่นน่ารัก ๆ แบบไทย ๆ เช่น ไอ้เม้ง (ผู้หญิง)  พลอย  แพรว หงส์  ฝน น้อย อ้อ หญิง  กุ้ง ปู ปุ๋ม นั่นคือนักศึกษาปี ๒–๔  แต่นักศึกษาปี ๑  เดิมมีชื่อเล่น  จี้ เฉยๆ   พอมาเรียนปี ๑ ก็กลายเป็น จีจี้ ตามสมัยนิยม

                เกร็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เล่าสู่กันฟัง เป็นเรื่องฉงนของดิฉัน  แต่กระนั้นหลานของดิฉันก็มีชื่อเป็น ๒ ฝ่าย ค่ะ คือ ฝนกับฟ้า และมิลลิ่งกับแม๊กกี้  อันนี้ก็คงขึ้นอยู่กับรสนิยมของครอบครัวนะคะพี่น้องชาวไทย

                ต้องขอโทษด้วยค่ะที่เอ่ยชื่อมหาวิทยาลัย เพราะเป็นข้อมูลที่เจอะเจอมาจริงๆ

 

หมายเลขบันทึก: 401975เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2010 00:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤษภาคม 2012 10:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

หากไปสมุทรสาครหรือระนอง คงจิตใจห่อเหี่ยวมากกว่านี้แน่ ร้านอาหารเป็นชื่อร้านพม่าหมดแล้ว แรงงานพม่าก็มากล้นจนเกินประชากรไทยของแต่ละจังหวัด คงต้องจัดระเบียบตัวตนทำประวัติให้ชัดเจน น่าจะลดปัญหาระยะยาวได้

ขอบพระคุณค่ะอาจารย์ ที่อาจารย์สนใจเข้ามาอ่าน ในอนาคตห่วงครอบครัวคนไทยที่อ่อนแอ เพราะช่วงที่ผ่านมามีกรณีถูกสวมบัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งคงเกิดขึ้นมากมายและนานแล้ว แต่ไม่เป็นข่าวเพราะคนถูกกระทำเป็นคนรากหญ้าเสียส่วนใหญ่ ไม่มีปาก มีเสียง (ถ้ามีปากมีเสียงจะถูกเรียกว่า "หัวหมอ" ก็จะอยู่ยากในสังคมนั้นๆ ) กว่าจะรู้ตัวว่าถูกสวมสิทธิ์ ก็ทำอะไรเกือบไม่ได้แล้ว และอาจเป็นช่วง/ยุคของสื่อไม่เฟื่องฟู

เห็นด้วยกับอาจารย์ค่ะ รัฐบาลควรมีการคุมกำเนิด ควบคุมจำนวนแรงงานต่างชาติให้จริงจัง ถ้าจำไม่ผิด อาชีพบางอย่างชนชาติพม่ามาแย่งคนไทยทำงานแล้ว เช่น มอเตอร์ไซด์รับจ้างที่จังหวัดระนอง ออกข่าวโทรทัศน์อยู่ช่วงหนึ่ง และควรระบุโทษคนที่ค้ามนุษย์ให้หนักกว่านี้ค่ะ ขอฝากอีกนิดค่ะ รัฐบาลแบ่งคนมาทำงานทางด้านอื่นบ้างค่ะ (เกมเรื่องสีเสื้อ เบื่อแล้ว)

ขอบคุณในบันทึกที่เสริมสร้างพลังใจให้เป็นรากฐานดีๆ ครับ

ขอบคุณค่ะที่ให้ความใส่ใจ คนนอกกะลาเช่นกัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท