เปิดพื้นที่การเรียนรู้เข้าไปที่ “ใจ” กับหลักสูตร Change Agent & Facilitator ของ สคส.


นี่คือวิธีการเรียนรู้ของคนที่ได้ครบทั้ง KUSA (Knowledge/Understand/Skill/Attitude) อย่างเนียนนุ่มลึก โดยที่ไม่รู้สึกว่ามีสิ่งแปลกปลอมที่เราเรียกว่าความรู้นั้นเข้ามาในชีวิตเรา

 

หลังจากที่ติดตามแนวคิดและผลงานของสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) อยู่ห่างๆ และผมก็ได้ลองนำกลับไปใช้กับตัวเองบ้าง แต่ยังไม่เคยเจอของจริงแบบเต็มตัว และแล้วผมก็สัมผัสกับของจริงๆ ตัวเป็นๆ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานี้เองเป็นเวลา 3 วันเต็มๆ กับหลักสูตร  "ผู้เอื้ออำนวยการเปลี่ยนแปลงในองค์กร (Change Agent and Facilitator)"  ระหว่างวันที่  6-8 ตุลาคม 2553  เป็น 3 วันที่คุ้มค่ามากๆ ซึ่งผมไม่อยากจะใช้คำว่าการฝึกอบรมสัมนาเลยครับ เพราะนี่คือวิธีการเรียนรู้ของคนที่ได้ครบทั้ง KUSA (Knowledge/Understand/Skill/Attitude) อย่างเนียนนุ่มลึก โดยที่ไม่รู้สึกว่ามีสิ่งแปลกปลอมที่เราเรียกว่าความรู้นั้นเข้ามาในชีวิตเรา  

 

 

บรรยากาศการอบรมเป็นไปอย่างอบอุ่น เรียบง่าย และผู้เข้าอบรมสนิทสนมกันเร็วมาก โดยไม่ต้องมีกิจกรรมละลายพฤติกรรมอะไรมากมายนัก ทั้งนี้ผมคิดว่าอาจเป็นเพราะทุกคนที่เข้ามาร่วมกันเรียนรู้ในที่นี้มี Passion ในตัวสูงอยู่แล้ว และมีเป้าหมายเดียวกัน จึงรู้สึกว่าเราเข้าใจกัน วิทยากรกระบวนการ (คุณนภิทร  ศิริไทย (หญิง) และคุณ มุจลินทร์ ศรีหิรัญ (กิ๊ก)) ทำหน้าที่เป็นกันเองมาก และผมก็รู้สึกทึ่งในความเป็นมืออาขีพของพวกเขาที่สามารถดึงศักยภาพความรู้ที่อยู่ในตัวของผู้เข้าร่วมกิจกรรมออกมาได้ค่อนข้างลึกซึ้ง 

 

 

กิจกรรมของช่วงเช้าเราเริ่มต้นด้วยการแนะนำตัวจากการเขียนความคาดหวังของการมาครั้งนี้ใส่กระดาษรูปหัวใจ พร้อมด้วยสิ่งที่คาดว่าเราจะนำไปปฏิบัติต่อ แล้วให้แต่ละคนเล่า Share สิ่งเหล่านี้กันทุกคน  กิจกรรมเหล่านี้ถ้าเรียกชื่ออย่างเป็นทางการมันก็คือกิจกรรม BAR ( Before Action Review) นั่นเอง ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ใช้ในการทบทวนเป้าหมายของการเรียนรู้ร่วมกัน ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องของความคาดหวังของแต่ละคน มีความเข้าใจตรงกันเห็นคุณค่าและประโยชน์ในสิ่งที่กำลังจะทำ

 

 

กิจกรรมต่อมาเป็นกิจกรรมเกี่ยวกับการฟังที่วิทยากรได้นำเรื่องกระต่ายกับเต่ามาเล่าให้พวกเราฟัง แล้วถามผู้ร่วมกิจกรรมว่ารู้สึกอย่างไร หรือมีประเด็นอะไรเกี่ยวกับนิทานเรื่องนี้ กิจกรรมนี้ทำให้เราเข้าใจเรื่องการฟังที่ลึกซึ้งมากขึ้น เพราะถึงแม้จะเป็นเรื่องที่เราคุ้นเคยกันอยู่แล้วแต่วิทยากรก็เล่าเรื่องด้วยมุมมองใหม่ คือ มุมมองของกระต่าย โดยมุมมองเดิมจะเล่าในมุมมองของเต่าซึ่งสอนให้รู้ว่า “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น” แต่ในมุมมองของกระต่าย จะเป็นเรื่องของ “ความประมาทเป็นหนทางแห่งความหายนะ” เรื่องนี้ทำให้เราเรียนรู้ว่าการฟังที่ดีนั้นเราต้องฟังเพื่อฟัง ฟังตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่ตัดสิน ไม่ตีความ ไม่เอาประสบการณ์เดิมไปครอบงำหรือปรุงแต่ง

 

 

กิจกรรมต่อมาเป็นกิจกรรมขายวัว โดยให้โจทย์ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการซื้อขายวัวของชาวนา แล้วถามว่าชาวนาคนนี้ได้กำไรหรือขาดทุน เราได้ถูกแบ่งกลุ่มตามความแตกต่างของคำตอบที่ให้คนที่ตอบแตกต่างกันมาอยู่กลุ่มเดียวกัน  แล้วให้กลุ่มสรุปออกมาเป็นความคิดเดียว ผลของการทำกิจกรรมนี้ทำให้เราได้ร่วม Share ประสบการณ์ทำให้ได้เรียนรู้ถึงคุณค่าของความหมาย บริบท การปลดล็อคความคิด ยอมรับความแตกต่าง  ซึ่งแต่ละคน แต่ละบริบท ไม่เหมือนกัน ไม่มีคำตอบตายตัว ดังนั้นอย่าคิดแทนคนอื่น

 

 

หลังจากพักรับประทานอาหารกลางวันแล้ว ก่อนที่จะเข้ากิจกรรมหลักต่อไป เราได้มีกิจกรรมเตรียมความพร้อมของร่างกายและจิตใจให้เกิดสติสมาธิพร้อมที่จะเรียนรู้ต่อไป โดยการนำของคุณมุจลินท์  ศรีหิรัญ (กิ๊ก)  ซึ่งกิจกรรมนี้ต้องมีสติและสมาธิจดจ่ออยู่กับเรื่องที่ทำอยู่ตลอดเวลา ถ้าขาดหายไปช่วงใดช่วงหนึ่งจะเกิดอาการต่อไม่ติด และทำให้กลุ่มต้องเริ่มใหม่ กิจกรรมนี้นอกจากจะได้กับตัวเองแล้ว ผมคิดว่าน่าจะนำไปใช้กับทีมงานและลูกศิษย์ของผมที่เป็นพนักงานควบคุมรถไฟฟ้าได้เพราะเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงไปยังเรื่องของสติสมาธิได้อย่างเนียนๆ 

 

 

กิจกรรมหลักในช่วงบ่ายเป็นกิจกรรมที่ชื่อว่ากิจกรรม “เชพมือโปร” โดยแบ่งทีมแข่งขันกัน 2 ทีม ในการพลิกไข่ในกะทะให้ได้มากที่สุดโดยไม่ตกจากกะทะ แต่ละทีมแบ่งเป็นทีมย่อย 2 ทีม คือทีมมืออาชีพกับทีมมือสมัครเล่น โดยให้ทีมมืออาชีพช่วยกันเขียน Procedure / Work Instruction ส่วนทีมมือสมัครเล่นให้ทดลองทำจากของจริง ผลของการทำกิจกรรมนี้เราได้เรียนรู้เรื่องขององค์ความรู้ที่เป็นเรื่องของทฤษฏีและปฏิบัติอย่างชัดเจน เราได้เรียนรู้คำว่า “ปัญญาปฏิบัติ” และ “Best Practice” อย่างลึกซึ้ง เพราะการนำความรู้ไปใช้งานนั้น ต้องเป็นความรู้ที่ใช้งานได้จริงตามบริบทนั้นๆ ความรู้เกิดจากการฝึกฝน และมีความสำเร็จเฉพาะตน ความรู้ของเราอาจใช้ไม่ได้กับคนอื่นๆ ความสำเร็จวันนี้อาจไม่ใช่ความสำเร็จของพรุ่งนี้ คำตอบของปัญหาไม่มีตายตัว หนึ่งปัญหามีหลายคำตอบ ขึ้นอยู่กับบริบท ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง  ดังนั้นการจัดการความรู้จึงต้องเน้นไปที่ความรู้ฝังลึก (Tacit Knowledge) แล้วรวบรวมให้ได้มากที่สุด จากนั้นจึงค่อยนำมาวิจัยเพื่อให้ได้ Best Practice ต่อไป

 

 

กิจกรรมหลังพักเบรกช่วงบ่ายต่อมาเป็นกิจกรรมใช้ชื่อว่า “ดีใจจัง ฉันทำได้” เป็นกิจกรรมที่ให้แต่ละคนวาดภาพสิ่งที่เราได้เคยทำสำเร็จมาแล้วด้วยตัวเอง เป็นเรื่องที่มีเคล็ดลับ เทคนิคเฉพาะตัว จากประสบการณ์ของตัวเอง ซึ่งแน่นอนต้องมีความเป็น “How To” อยู่ในนั้น จากนั้นก็ให้จับคู่กันผลัดกันเล่าเรื่องที่ตนเองวาด แล้วให้แต่ละคนสะท้อนเรื่องราวที่ตนเองได้เรียนรู้มา ผลของการทำกิจกรรมนี้ผมคิดว่าเราได้เรียนรู้เกี่ยวกับการฟังและการเล่าเรื่องได้อย่างชัดเจน และจากการฟังและการเล่าเรื่องนี้เราก็ได้รู้เทคนิคการดึง Tacit Knowledge จากคู่ของเราด้วยโดยปริยาย ทำให้แยกและสกัดความรู้ด้าน Explicit Knowledge และ Tacit Knowledge ได้อย่างชัดเจน

 

 

เช้าวันรุ่งขึ้นเราเริ่มกิจกรรมเล็กๆ แต่มีความหมายและมีผลต่อการเริ่มทำกิจกรรมหลักต่อในวันนี้ ด้วยกิจกรรมที่เรียกว่ากิจกรรม “Check In” โดยให้แต่ละคนได้เขียนสิ่งที่ได้เรียนรู้จากเมื่อวานนี้เป็นประโยค วลี Key Word สั้นๆ แล้วนำมาเล่า Share กัน กิจกรรมนี้ผมคิดว่าเป็นกิจกรรมที่ค่อนข้างสำคัญเพราะก่อนที่เราจะทำอะไรต่อไปเราต้องตรวจสอบความพร้อมของผู้เข้าร่วมกิจกรรมว่ามีความเข้าใจเป้าหมายตรงกันแล้วหรือยัง อารมณ์ความรู้สึกเป็นอย่างไรบ้าง พร้อมหรือไม่ กิจกรรมนี้จึงเป็นการตรวจสอบ การรับรู้ อารมร์และความรู้สึก ซึ่งอาจใช้ชื่อว่าเป็นกิจกรรม Check อารมณ์ก็ได้ 

 

 

 

ต่อมาเราเริ่มกิจกรรมหลักด้วยการเรียนรู้ Human KM ผ่านการดู VDO ชุด “ปัญญาปฏิบัติ กรณีศึกษา โรงพยาบาลบ้านตาก” หลังจากดูจบเราก็แบ่งกลุ่มช่วยกันสรุปสิ่งที่ได้จากการ VDO ชุดนี้นำเสนอแต่ละกลุ่มออกมา ในเรื่องความหมาย ปรัชญา แนวคิด ของ KM ว่าเราเข้าใจว่าอย่างไร จากกิจกรรมนี้ ทำให้เราเข้าใจ และซาบซึ้งกับความหมายปรัชญา แนวคิด ของ KM มากขึ้น นั่นคือ KM เป็นเรื่องของการจัดความสัมพันธ์ระหว่างคน อย่างเป็นธรรมชาติ กลมกลืน เนียน เป็นเนื้อเดียวกับงานประจำ การทำ KM เป็นการทำเพราะอยากทำ (Passion) ไม่ใช่ทำเพราะกระแส (Trend) ดังนั้น KM จึงเป็นวัฒนธรรม มากกว่าเครื่องมือ เนื่องจากเราเอา KM ไปขับเคลื่อนและบูรณาการเครื่องมือคุณภาพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น TQM,ISO,HA,OHSAS ไปใช้ให้เหมาะสมตามบริบทและวัฒนธรรมขององค์กรนั้นๆ

 

 

หลังจากพักเบรกในช่วงเข้าก่อนพักอาหารกลางวัน วิทยากรก็ได้มีการบรรยายเล่าถึงทฤษฎีให้ฟังเกี่ยวกับแนวคิดการจัดการความรู้ตามโมเดลของปลาทู ที่ประกอบไปด้วยหัวปลาที่เป็นเป้าหมายของการใช้ KM โดยมีบทบาทของคุณเอื้อเป็นตัวหลัก (KV : Knowledge Vision) ส่วนที่สองคือส่วนของท้องปลา ซึ่งเป็นกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ Share & Learnโดยมีบทบาทของคุณกิจ คุณอำนวย และคุณลิขิตเป็นตัวหลัก (KS : Knowledge Sharing) และส่วนสุดท้ายเป็นส่วนของหางปลา ซึ่งเป็นส่วนของการเก็บความรู้เข้าคลังเพื่อให้นำออกมาใช้ได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิผล โดยมีบทบาทของคุณลิขิตเป็นตัวหลัก (KA: Knowledge Assets) รวมทั้ง Model ปลาตะเพียนด้วย

 

 

ช่วงบ่ายหลังจากที่เราได้ทำกิจกรรมเตรียมความพร้อมในเรื่องของร่างกายและจิตใจกันพอหอมปากหอมคอกันแล้ว เราก็ได้มีโอกาสฝึกการเป็น Facilitator อย่างเต็มรูปแบบ โดยแบ่งกลุ่มให้แต่กลุ่มประกอบไปด้วยแต่ละคนที่ทำหน้าที่เป็นคุณกิจ คุณลิขิต คุณอำนวย และคุณสังเกต หมุนเวียนไปจนครบ จากนั้นเราก็มาแลกเปลี่ยนสะท้อนการเรียนรู้กัน กิจกรรมนี้นอกจากเราจะได้ฝึกการเป็น Facilitator แล้ว เรายังฝึกการเป็นคุณลิขิต (Note Taker) ด้วย ในความรู้สึกผมการเป็นคุณลิขิตต้องเป็นคนละเอียด เพราะต้องจดทุกแง่มุม และสามารถถ่ายทอดความรู้ ตามเนื้อหาที่เป็นจริงได้ทั้งหมดโดยไม่ตีความ แต่การเป็นคุณอำนวย มองเหมือนง่ายเพราะไม่ต้องจดอะไรมาก แต่ต้องรู้จักถาม คอยสร้างแรงบันดาลใจให้คุณกิจถ่ายทอดออกมาให้ได้มากที่สุด หลายๆ แง่มุม ต้องคอยรวมรวมประเด็น ตรวจสอบว่าครบหรือไม่ คอยจัดระเบียบ ต้องมีจิตวิทยาและใช้ศิลปะค่อนข้างสูง

 

 

หลังจากพักเบรกในช่วงบ่ายวิทยาการได้ให้เราดู VDO ชุด “การจัดการความรู้ภาคการศึกษา กรณีศึกษาโรงเรียนวัดท่าไชย จังหวัดสุพรรณบุรี” ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนาการเรียนการสอนการอ่านของนักเรียนชั้น ป. 2 ด้วยการบัตรคำ ของครูวันย์วิสา  แจ้งสว่าง ครูโรงเรียนวัดท่าไชย และบรรยากาศตัวอย่างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของครูในโรงเรียนด้วยการนั่งล้อมวงคุยกันด้วยบรรยากาศเป็นกันเอง อย่างไม่เป็นทางการ  จากนั้นเราก็สะท้อนความรู้สึกพูดคุยกันจากสิ่งที่ได้ดูกัน เราได้เรียนรู้ว่าความรู้ที่ได้จากการปฏิบัตินั้นสามารถแลกเปลี่ยนได้ด้วยวิธีการนี้ได้อย่างเป็นธรรมชาติ  ไม่เหมือนกับความรู้ที่ได้จากทฤษฎีแล้วนำไปปฏิบัติ เพราะบางครั้งอาจจะไม่เห็นผลจริง  การจัดการความรู้เป็นเรื่องของความสนุก ทำแล้วมีความสุข ผู้ที่เป็น Facilitator ต้องหามุกกลยุทธ์มาใช้ให้เหมาะสม อย่ายึดตัวรูปแบบตายตัว ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ กล้าคิด กล้าทำ เริ่มจากสิ่งเล็กๆ รอบตัวก่อน และเนื่องจากเวลาได้ล่วงเลยมามาก ทำให้การทำกิจกรรมไม่ครบถ้วนวิทยากรจึงต้องให้งานกลับไปทำแล้วนำมานำเสนอในวันรุ่งขึ้นตาม Concept “ง่าย มันส์ ดี มีสุข”

 

 

วันสุดท้ายของการอบรมเราได้รับเกียรติจากอ. ดร.ประพนธ์  ผาสุขยืด มาร่วมเสวนาตอบปัญหาที่เราได้เตรียมเขียนถามไว้จากเมื่อวาน ซึ่งสิ่งที่อาจารย์ได้คุยกับพวกเราทำให้เกิดความเข้าที่ “ใจ” และตอกย้ำแนวคิด KM ของสคส. ด้วยความมั่นใจมากขึ้น  อย่ายึดติดคำพูดหรือตัวหนังสือ การทำ KM ไม่มีสูตรตายตัว ทฤษฎีไหนไม่สำคัญ สำคัญที่การนำทฤษฎีนั้นไปปฏิบัติให้รู้แจ้งเห็นจริง ดังนั้นการทำ KM จะให้ความสำคัญกับการฟังมากกว่าการพูด และ ต้องทำให้มากกว่าคิด  มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมถามง่ายๆแต่ตอบยากว่า KM ที่แท้จริงคืออะไร อาจารย์ตอบว่า  KM คือ ลมหายใจ  ดังนั้น KM จึงไม่ใช่โครงการแต่ KM คือ ชีวิต  KM ต้องไม่เป็นภาระ เพราะชีวิตเราต้องทำ KM ตลอดเวลา ตลอดชีวิต ทำแล้ว สนุก มีความสุข

 

 

หลังจากพักเบรกช่วงเข้า อาจารย์ได้ให้พวกเราดู  VDO เกี่ยวกับเรื่องของวาทยากรคนหนึ่งที่เป็นคนที่มีอัธยาศรัยดีมากๆ น่าเป็นแบบอย่างของผู้นำที่ดี จากนั้นอาจารย์ก็ได้พาพวกเราเข้าสู่บรรยากาศของการตั้งวง Dialogue ซึ่งตัวผมเองเพิ่งได้สัมผัสกับบรรยากาศของวง Dialogue นี้เป็นครั้งแรกในชีวิต หลังจากที่ได้แต่อ่านจากหนังสือหรือ Website มา เพราะวง Dialogue นี้ ทำให้รู้สึกถึงพลังทางนามธรรมที่ไม่สามารถอธิบายเป็นคำพูดหรือตัวหนังสือได้ สิ่งที่ผมได้กับตัวเต็มๆ คือ ได้เห็นความคิดของตนเอง ได้ยินเสียงในหัว ได้รู้จักกับอานุภาพของการฟัง เพิ่งรู้จักกับคำว่าฟังแต่ไม่ได้ยิน เพราะวันนั้นผมค่อนข้างจะพูดมาก ตีความ ปั้นคำพูดให้ดูดี ซึ่งนี่ไม่ใช่แนวทางของ Dialogue เลย เพราะระหว่างที่คิดจะพูดนั้นเราจะไม่ได้ฟัง ความคิดเราจะกลบเสียงของผู้พูดที่อยู่ในวง ทำให้เกิดการตีความผิดๆ ตั้งกำแพง  เพื่อที่จะ Discussion กัน

 

 

ช่วงบ่ายก็จะกิจกรรมสำหรับการเตรียมพร้อมของร่างกายและจิตใจเหมือนกับ 2 วันที่ผ่านมา แต่รูปแบบของกิจกรรมจะเปลี่ยนไป  จากนั้นเราก็ได้นำงานที่ได้รับมอบหมายจากเมื่อวานนี้มานำเสนอแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน  ระหว่างนั้นวิทยากรก็ได้ให้ทฤษฎี บรรยายสอดแทรกไปด้วย  กลุ่มของผมเองได้นำเสนอสิ่งที่เราทำกับอยู่แล้วไป Share  กิจกรรมนี้ทำให้ผมเริ่มเข้าใจแล้วว่า ความจริง KM ไม่ได้อยู่ห่างไกลเราเลย เพียงแต่สิ่งที่เราทำ เราไม่ได้เรียก KM เท่านั้นเอง ดังนั้นถ้าจะสรุปว่า KM คืออะไร ผมคิดว่า KM คือชีวิต ชีวิตคือ KM ทุกลมหายใจ ทุกสิ่งทุกอย่างคือ KM

 

 

กิจกรรมสุดท้ายเป็นกิจกรรม AAR (After Action Review) ในการทบทวนและตกผลึกการเรียนรู้ร่วมกัน ความจริงเครื่องมือนี้เราได้ทำอยู่แล้ว ทุกๆ กิจกรรมที่ผ่านมา แต่กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่เป็นการทบทวนและตกผลึกสุดท้ายจริงๆ โดยแต่ละคนจะได้พูด Share ในสิ่งเหล่านี้ ออกมาจากใจจริงๆ ดังนี้

- ทบทวนความคาดหวังที่เข้าร่วม Workshop นี้คืออะไร

- อะไรบ้างที่ได้เกินความคาดหวังที่ตั้งไว้ เพราะอะไร

- อะไรบ้างที่ได้ น้อย กว่าความคาดหวังที่ตั้งไว้ เพราะอะไร

- ตัวเองจะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้กลับไปทำอะไร

 

 

สิ่งที่ได้จาก Workshop ครั้งนี้ ผมคิดว่าส่วนตัวผมเอง ได้ครบตามที่ตั้งไว้ สิ่งที่เหนือความคาดหวังคือ เราได้กัลยาณมิตรที่เป็นเครือข่าย Collaboration ที่แข็งแรง และคิดว่าน่าจะมีความต่อเนื่องได้อย่างยั่งยืน  นอกจากนี้ผมยังได้รู้จักตัวเองมากขึ้นมองโลกด้วยระบบนิเวศน์ เชื่อมโยงกับการปฏิบัติธรรมได้อย่างถูกจริตมากขึ้น  ทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้จาก Workshop ครั้งนี้ ผมสามารถนำไปใช้กับการทำงานได้อย่างเป็นรูปธรรมแน่นนอนคือการนำไปถ่ายถอดให้กับลูกศิษย์ต่อไป การนำเทคนิค วิธีการสร้างและเปิดพื้นที่การเรียนรู้ให้กับพนักงานในองค์กรจากรูปแบบการอบรมสัมนาแบบนี้ ในบทบาทของวิทยากรกระบวนการ (กระบวนกร)

 

 

สุดท้ายนี้ขอขอบคุณท่านทั้งหลายเหล่านี้ที่เปิดโลกทัศน์ใหม่และเปลี่ยนกระบวนทัศน์ให้ ดังนี้

วิทยากรกระบวนการ

- คุณนภิทร  ศิริไทย (คุณหญิง)

- คุณ มุจลินทร์ ศรีหิรัญ (น้องกิ๊ก)

วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ

- ดร. ประพนธ์  ผาสุขยืด

และผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกท่าน

- คุณสุภาพร  กรัณยโสภณ (พี่สุภา)

- คุณวัลยา  อวิรุทธการ (พี่หวาน)

- คุณจีระศักดิ์  แสงชาติ (คุณเก่ง)

- คุณฉัตรฤดี  พูนศุข (คุณจุ๋ม)

- คุณสุทธิวัฒน์  โตสมบุญ (คุณบอม)

- คุณปิติชัย  พงษ์วานิชอนันต์ (คุณปุ๋ย)

- คุณสายชล  สุขสมภาพ (คุณชล)

- คุณสุทธิดา  วรโชติธนัน (คุณปุ๊ก)

- คุณณิษากร  พิหุสูตร (พี่ดล)

- คุณจันทิมา  จารณศรี (คุณจูน)

- คุณชญาภา  ไตรวิชญ์กุล (พี่มดแดง)

- คุณธวัฒน์ชัย   เกษสุรินทร์ชัย (พี่ต๋อง)

- คุณพรเทพ  มโนดำรงสัตย์ (พี่เทพ)

- คุณเกศฎา  ตุลารักษ์ (คุณเกด)

- คุณนภัสวรรณ  ไทยานันท์ (คุณแพรว)

- คุณทินกร  ตันติสุวิชวงษ์ (พี่ก้อน)

 

 

สิ่งใดที่ทำให้ท่านอาจเกิดความไม่เข้าใจ ขัดข้อง ไม่พอใจขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ

 

หมายเลขบันทึก: 401907เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2010 16:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 02:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

เป็นกิจกรรมที่ดีมากๆ เลยนะคะ

ไม่รู้จะบรรยายความซาบซึ้งและขอบพระคุณท่าน "ไทเลย-บ้านแฮ่" อย่างไรดี ช้อบบบบ.. เขียนได้ดีจริง ๆ เพราะเช้านี้ เราเพิ่งเขียน BOT-BLOG บล๊อกภายในของงานจัดการความรู้ (Tool ตัวหนึ่งของ KM ใน ธปท.เป็น intranet) เพื่อโยงบริบทสิ่งที่ได้จากหลักสูตรนี้ ให้พนักงานได้ร่วมเรียนรู้ และมีแนวคิด กะว่าจะลงรายละเอียดอีก ซึ่งคงใช้เวลาพอควร พอมาเห็นบทความนี้ 55555555 หัวเราะให้สมดังคำที่ว่า KM ทำแล้วมีความสุข เป็นการสื่อสะท้อนคำว่าทำ KM แล้วได้อะไร นี่ไง..Networking, Collaboration, การต่อยอด, การแบ่งปัน และขยายการพัฒนาเรียนรู้วงกว้าง พัฒนาคน พัฒนางาน พัฒนาองค์กร สู่ประเทศชาติในที่สุด ขอบคุณมาก (ยังยืนยัน แวะมาแถว"วังบางขุนพรหม" โทรมาได้เสมอ

ขอบคุณ คุณ Ico32 Devil ที่มาเยี่ยมครับ ถ้ามีโอกาสอยากให้ลองเข้าไปสัมผัสดูครับ รับรองความคุ้มค่าครับ

สวัสดีครับ พี่สุภา

ขอบคุณครับ ที่มาเยี่ยมกัน ตอนนี้เราเริ่มมีเครือข่ายที่เป็นรูปธรรมแล้ว เนื้อหาบางส่วนอาจตกหล่นไปบ้าง ยังไงฝากทุกท่านช่วยเสริมด้วยนะครับ ว่างๆ ผมกับคุณจุ๋มจะไปขอข้าวกินแถวๆ นั้นครับ

ขอบคุณคุณหนึ่งมากครับ ครบถ้วนกระบวนความจริงๆ ผมว่าพวกเราน่าจะได้มีโอกาสไปเรียนรู้นอกกะลากันบ้างดีไหมครับ ผมเสนอว่าไปวังบางขุนพรหมก่อนเลยดีไหมครับ พี่สุภาว่าอย่างไรครับ

เห็นด้วยกับพี่ก้อนครับ เราไปเยี่ยมดู KM ของพี่สุภากันก่อนก็ดีครับ หรือจะพาเพื่อนมาดูงานเยี่ยมเยือนกันก็ได้ครับ BTS/TNV (ส่วนฝึกอบรม) ยินดีต้อนรับครับ

งานจัดการความรู้ ธปท. ยินดีต้อนรับ ถือว่ามาดูงาน (อุ้ย..เขิน) มาร่วม ลปรร.+ แนว CoP หัวข้อ "คนทำงานKM ล้อมวงคุยกัน" ยิงนัดเดียวนกสามตัวไปเล้ย...โทรมาได้ทุกเมื่อยินดีต้อนรับทุกท่านค่ะ

ตั้งใจเข้าระบบมาเยี่ยมพี่โดยเฉพาะ...สบายดีนะครับ

คิดถึงทุกท่าน น้ะครับ

สายชล ระยองฮิ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท