ไต


การปลูกถ่ายไต
การปลูกถ่ายไต
ไตคืออะไร
      ไตเป็นอวัยวะหนึ่งที่มีความสำคัญต่อร่างกายของคน ไตมีรูปร่างคล้ายเมล็ดถั่วและมีขนาดเท่ากำปั้น  ปกติคนเรามีไตอยู่สองข้าง  อยู่บริเวณใต้ชายโครงด้านหลังและอยู่นอกช่องท้อง ซี่โครงจะช่วยป้องกันไตจากการบาดเจ็บ  ไตที่สมบูรณ์จะมีสีน้ำตาลอมแดง  ในไตแต่ละข้างจะมีหน่วยของไตข้างละประมาณ1 ล้านหน่วย  แต่ละหน่วยทำหน้าที่เหมือนรูกรองตัวกรองน้ำ
Digg!
ไตคืออะไร
      ไตเป็นอวัยวะหนึ่งที่มีความสำคัญต่อร่างกายของคน ไตมีรูปร่างคล้ายเมล็ดถั่วและมีขนาดเท่ากำปั้น  ปกติคนเรามีไตอยู่สองข้าง  อยู่บริเวณใต้ชายโครงด้านหลังและอยู่นอกช่องท้อง ซี่โครงจะช่วยป้องกันไตจากการบาดเจ็บ  ไตที่สมบูรณ์จะมีสีน้ำตาลอมแดง  ในไตแต่ละข้างจะมีหน่วยของไตข้างละประมาณ1 ล้านหน่วย  แต่ละหน่วยทำหน้าที่เหมือนรูกรองตัวกรองน้ำ

ไตมีหน้าที่อย่างไร
ไตมีหน้าที่ที่สำคัญหลายประการ  ได้แก่

  1. กำจัดของเสียต่างๆ  ออกจากร่างกาย: ของเสียที่สำคัญที่ได้จากการเผาผลาญโปรตีนจากกอาหารเรียกว่า  ยูเรีย (urea)  เมื่อไตทำงานผิดปกติ  จะมีการคั่งของยูเรียในกระแสเลือดเกิดภาวะยูเรียเมีย  ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้  อาเจียน  เบื่ออาหาร  อ่อนเพลีย  เหนื่อย  นอนไม่หลับ  จนถึงอาจจะมีอาการชักเกร็งและไม่รู้สึกตัว
  2. เก็บและดูดซึมสารต่างๆ  ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น  น้ำตาลโปรตีน ฯลฯ
  3. รักษาสมดุลของน้ำและเกลือแร่ชนิดต่างๆ  ในร่างกาย  เช่น  เกลือโซเดียม  โปรแตสเซียม  ฟอสฟอรัส  แมกนีเซียม ฯลฯ  เมื่อไตทำงานผิดปกติไม่สามารถขับเกลือโซเดียมส่วนเกินออกไป  จะทำให้เกิดอาการบวมและความดันโลหิตสูง  ถ้าไม่สามารถขับโปรแตสเซียมส่วนเกินออกไป  อาจทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ  จนถึงหัวใจหยุดเต้น
  4. รักษาสมดุลของสภาวะความเป็นกรดและด่างในร่างกาย:  ในภาวะปกติร่างกายของคนเราจะมีการสร้างกรดจากขบวนการเมตาโบลิสซึ่ม  ไตทำหน้าที่ในหารขับกรดและป้องกันการสูญเสียด่างออกจากร่างกายเมื่อไตทำงานผิดปกติไม่สามารถขับกรดส่วนเกินออกไป  ทำให้เกิดสภาวะความเป็นกรดในร่างกายจนเป็นอันตรายต่ออวัยวะและระบบต่างๆ ของร่างกาย
  5. รักษาสมดุลของสารแคลเซียมและฟอสฟอรัสในร่างกาย
  • ควบคุมความดันโลหิตภายในร่างกายให้อยู่ในสภาพปกติ  โดยควบคุมสมดุลของเกลือโซเดียมในร่างกาย
  • สร้างฮอร์โมนหลายชนิดที่สำคัญได้แก่ ฮอร์โมนเรนิน (Renin)  ช่วยในการควบคุมความดันโลหิตของร่างกาย
  • ฮอร์โมนอีริโทรพอยอีติน (Erythropoietin)  ช่วยกระตุ้นให้ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดแดง
  • วิตามิน ดี  (Vitamin D)  ช่วยในการดูดซึมสารแคลเซียมเพื่อใช้ในการเสริมสร้างโครงสร้างของกระดูก

ทำไมไตถึงไม่ทำงาน
        มีเหตุผลหลายประการที่ทำให้ไตไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ  โรคไตหรือโรคอื่นๆ ที่มีผลกระทบต่อไตสามารถทำให้ไตล้มเหลวได้  ไตวายแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ไตวายเฉียบพลันและไตวายเรื้อรัง
        ภาวะไตวายเฉียบพลัน  คือ   ภาวะที่มีการสูญเสียการทำงานของไตอย่างรวดเร็วภายในเงลาเป้นชั่วโมงหรือเป็นวัน  เกิดได้จากสาเหตุหลายประการ  ได้แก่  ภาวะช็อคที่รุนแรงจากสาเหตฺต่างๆ เช่น  การสูญเสียน้ำหรือเลือดในปริมาณมาก  ภาวะหัวใจล้มเหลวการติดเชื้ออย่างรุนแรง  การได้รับสารที่เป็นพิษต่อไต  ภาวะไตอักเสบเฉียบพลัน  การอุดตันของทางเดินปัสสาวะ  เป็นต้น  การแก้ไขสาเหตุและให้การรักษาที่ถูกต้องจะทำให้ไตค่อยๆฟื้นตัวกลับมาทำงานได้เป็นปกติในเวลา 2-4 สัปดาห์
        ภาวะไตวายเรื้อรัง  คือ  ภาวะที่มีการทำลายเนื้อไตอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน  ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ  จนกระทั่งการทำงานของไตเสียไปมากกว่าครึ่ง  ผู้ป่วยก็จะเริ่มแสดงอาการของโรคไตวายเรื้อรังออกมาอย่างชัดเจน  ในกรณีเช่นนี้ไตเสียหน้าที่อย่างถาวรและไม่สามารถกลับคืนมาทำงานได้อีก  ทำให้มีการคั่งของของเสียจำนวนมากผู้ป่วยเหล่านี้จึงจำเป็นที่จะต้องได้รับ การรักษาทดแทนไต  เพื่อลดอาการแทรกซ้อนและรักษาชีวิตไว้

อาการแสดงของโรคไต
อาการแสดงที่สำคัญที่ทำให้นึกถึงโรคไต  ได้แก่

  1. อาการบวมของเท้า ขา ใบหน้าและท้อง
  2. การตรวจพบภาวะความดันโลหิตสูง
  3. การเปลี่ยนแปลงของการขับถ่ายปัสสาวะ  เช่น  ปัสสาวะเป็นสีน้ำล้างเนื้อหรือปัสสาวะเป็นฟอง  ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน  ปัสสาวะออกน้อยลง
  4. อาการแสบร้อนเวลาถ่ายปัสสาวะ  ปัสสาวะขัด  สะดุดหรือมีกรวดทรายปนออกมา
  5. อาการปวดเอวหรือปวดหลังด้านข้าง
  6. ภาวะโลหิตจางโดยไม่ทราบสาเหตุ

สาเหตุของการการเกิดภาวะไตวายเรื้อรัง  ที่สำคัญ ได้แก่

  1.  
    1. โรคเบาหวาน
    2. โรคความดันโลหิตสูง
    3. กรวยไตอักเสบ
    4. โรคไตที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม
    5. ระบบทางเดินปัสสาวะอุดตัน
    6. การใช้ยาในปริมาณมาก เช่น  ยาแก้อักเสบ
    7. การไหลย้อนกลับของปัสสาวะจากกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

การรักษาภาวะไตวายเรื้อรัง

  1.  
    1. ค้นหาและรักษาสาเหตุของภาวะไตวายเรื้อรัง
    2. การรักษาเพื่อชะลอการเสื่อมของไต
      1. ควบคุมความดันโลหิต
      2. ลดปริมาณโปรตีนในปัสสาวะ
      3. จำกัดการรับประทานเกลือและโปรตีนในปริมาณที่เหมาะสม
      4. หยุดสูบบุหรี่
    3. ป้องกันและรักษาภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้น
    4. เตรียมตัวเพื่อเข้าสู่การรักษาทดแทนไต

การรักษาทดแทนไต

การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม
        การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม  คือ  การกำจัดของเสียและน้ำส่วนเกินที่คั่งค้าง  ในร่างกายโดยใช้เครื่องไตเทียม  เพื่อดึงของเสียและน้ำออกจากเลือดของผู้ป่วย  โดยวิธีการนี้เลือดของผู้ป่วยถูกดูดออกทางหลอดเลือดแดงที่แขนหรือขา  นำเลือดมาผ่านตัวกรองเพื่อฟอกเอาของเสียและน้ำส่วนเกินออก   แล้วส่งเลือดกลับคืนสู่ผู้ป่วยทางหลอดเลือดดำ  ซึ่งในการทำแต่ละครั้งจะใช่เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง  หลังการฟอกเลือดปริมาณของเสียในเลือดจะลดลง  และน้ำหนักตัวของผู้ป่วยก็ลดลงตามที่กำหนดไว้

 การล้างไตทางช่องท้อง 

        การล้างไตทางช่องท้อง  คือ  การกำจัดของเสียและน้ำส่วนเกินที่คั่งค้างในร่างกายโดยการใส่น้ำยาล้างไต เข้าไปในช่องท้องของผู้ป่วย  ของเสียและน้ำส่วนเกินในเลือดผู้ป่วยจะแพร่กระจายเข้าสู่น้ำยาล้างไต  หลังจากนั้นจึงทำการเปลี่ยนถ่ายน้ำยาล้างไตออกแล้วใส่น้ำยาล้างไตใหม่เข้า ไป   ซึ่งในการทำแต่ละรอบจะใช้เวลาแระมาณ 1-4 ชั่วโมง  3-4 รอบต่อวัน  ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ว่าต้องการขจัดของเสียหรือน้ำส่วนเกินมากน้อยแค่ไหน  การรักษาเช่นนี้จะทำให้ปริมาณของเสียในเลือดลดลงและสามารถควบคุมน้ำหนักตัว ของผู้ป่วยได้

 การผ่าตัดปลูกถ่ายไต
        การผ่าตัดปลูกถ่ายไต  คือ  การผ่าตัดนำไตของญาติที่มีชีวิตหรือผู้บริจาคอวัยวะที่เพิ่งเสียชีวิตหรือสมองตายแต่ไตยังทำงานปกติ  มาใส่ให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย  เพื่อทำหน้าที่ทดแทนไตเดิมซึ่งเสียหน้าที่ไปแล้ว  หลังการผ่าตัดปลูกถ่ายไตผู้ป่วยจะมีไตเพิ่มขึ้นจากเดือนอีก 1 อัน  ดังนั้น  การผ่าตัดปลูกถ่ายไตจึงเป็นการรักษาทดแทนไตที่เหมือนธรรมชาติมากที่สุด

การผ่าตัดปลูกถ่ายไต

การผ่าตัดปลูกถ่ายไตคืออะไร
        การผ่าตัดปลูกถ่ายไต  หมาย ถึง  การผ่าตัดนำไตของญาติที่มีชีวิตหรือผู้บริจาคอวัยวะที่เพิ่งเสียชีวิตหรือ สมองตายแต่ไตยังทำงานปกติ  มาใส่ให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย  เพื่อทำหน้าที่ทดแทนไตเดิมซึ่งเสียหน้าที่ไปแล้ว  หลังการผ่าตัดปลูกถ่ายไตผู้ป่วยจะมีไตเพิ่มขึ้นจากเดือนอีก 1 อัน  ดังนั้น  การผ่าตัดปลูกถ่ายไตจึงเป็นการรักษาทดแทนไตที่เหมือนธรรมชาติมากที่สุด

คุณสามารถรับบริจาคไตจากใครได้บ้าง

1. ผู้บริจาคที่มีชีวิต (Living related donor)

  1.  
    1. ผู้บริจาคต้องมีความสัมพันธ์ทางสายเลือด  ดังนี้
      1. บิดาหรือมารดา  บุตรหรือธิดา  พี่-น้องร่วมบิดา-มารดาเดียวกันที่สามารถพิสูจน์ได้ทาง HLA จากบิดา มารดา  หรือทางกฏหมาย
      2. ลุง ป้า น้า อา หลาน  ลู้พี่ลูกน้องในลำดับแรก  หรือญาติที่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดครึ่งหนึ่ง  เช่น  พี่น้องต่างบิดาหรือมารดา
    2. ผู้บริจาคที่เป็นคู่สมรส  โดยมีหลักฐานการจดทะเบียนสมรสมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี  จนถึงวันผ่าตัดปลูกถ่ายไต

   คุณสมบัติของผู้บริจาคไตที่มีชีวิต  (Living related donor)

  1. มีอายุเท่ากับหรือมากกว่า  18 ปี  และไม่ควรมีอายุเกิน 60 ปี
  2. ไม่มีภาวะความดันโลหิตสูง (ค่าความดันโลหิต Systolic  ไม่มากกว่า 140 มิลลิเมตรปรอท  และค่า Diastolic  ไม่มากกว่า 90 มิลลิเมตรปรอท)
  3. ไม่เป็นโรคเบาหวาน
  4. ไม่มีประวัติเป็นโรคไตเรื้อรัง
  5. มีค่าโปรตีนในปัสสาวะไม่เกิน 300 มิลลิกรัมต่อ 24 ชั่วโมง
  6. มีค่า Creatinine clearance มากกว่า 80 ml / min / 1.73 m?
  7. ไม่มีภาวะโรคอ้วน (ค่า BMI  ไม่มากกว่า 35 )
  8. ไม่เจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงทางอายุรกรรม  เช่น  COPD, Ischemic heart disease, Malignancy, Active infectious disease, Drug addiction เป็นต้น
  9. Negative test for anti HIV, HBsAg, Anti HCV
  10. ต้องมี  Inform consent
  11. ผ่านการประเมินทางจิตเวช (Psychiatric evaluation)  ก่อน
  12. ต้องเป็นญาติโดยสายเลือดหรือคู่สมรสตามกฏหกมายข้อบังคับแพทยสภา
  13. ต้องไม่เป็นการซื้อขายไต

2. ผู้บริจาคที่เสียชีวิต (Cadaveric donor)
    ผู้บริจาคในกรณีนี้จะต้องเป็นผู้ที่เสียชีวิตจากภาวะสมองตาย  ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์การวินิจฉัยสมองตายของแพทยสภา

        คุณสมบัติของผู้บริจาคไตที่เสียชีวิต (Cadaveric donor)
        ให้เป็นไปตามกฏข้อบังคับแพทยสภาด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2538 หมวด 8  การประกอบวิชาชีพเวชกรรมเกี่ยวกับการปลูกถ่ายอวัยวะตามประกาศแพทยสภา  เรื่องเกณฑ์การวินิจฉัยสมองตาย พ.ศ. 2532 และ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2539 และตามหลักเกณฑ์ของศูนย์บริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย

คุณสมบัติของผู้รับไต (Recipient)

  1. ต้องเป็นผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย (ESRD)  และกำลังได้รับการรักษาด้วยการล้างช่องท้องด้วยน้ำยา (Peritoneal dialysis)  หรือการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis)
  2. อายุไม่ควรเกิน 60 ปี
  3. ไม่มี Active infection
  4. ไม่เป็นผู้ที่ติดเชื้อ HIV
  5. ไม่เป็นโรคตับเรื้อรัง (Chronic liver disease)  ตามหลักเกณฑ์ข้อบังคับของสมาคมปลูกถ่ายอวัยวะแห่งประเทศไทย
  6. ไม่เป็นโรคมะเร็ง  หรือเป็นโรคมะเร็งที่ได้รับการรักษาให้หายขาดมาแล้วสอย่างน้อย 3 ถึง 5 ปี
  7. ไม่มีภาวะเสี่ยงสูงต่อการผ่าตัด  เช่น Ischemic heart disease, Congestive heart failure, Chronic obstructive pulmonary disease  เป็นต้น
  8. ไม่มี  Persistent coagulation abnormality
  9. ไม่มี  Psuchiatric disorder
  10. ไม่เป็นผู้ติดยาเสพติด

ข้อมูลจาก หน่วยไตเทียม คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์

หมายเลขบันทึก: 401878เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2010 14:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 16:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มีเพื่อนต้องล้างไตบ่อย น่าสงสารมาก ดูแลไตให้ดีจะดีที่สุดครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท