สร้างบ้านอย่างไรให้เหมาะกับคนแก่


การสร้างบ้านให้คนแก่
สร้างบ้านอย่างไร ให้เหมาะกับคนแก่

เรามักจะคุ้นเคยกับการมี "วันเด็กแห่งชาติ" เพื่อเป็นการแสดงถึงความสำคัญกับเด็กซึ่งเป็นอนาคตของชาติ แต่กับเรื่องราวของ "คนแก่" หรือ ผู้สูงอายุ มักจะละเลยหรือลืมเลือนกัน ทั้งที่คนชรานั้นได้สร้างคุณประโยชน์มหาศาลแก่ประเทศชาติไม่แพ้วัยอื่นในช่วงระยะเวลาที่ยังเป็นหนุ่มเป็นสาว

เพื่อให้คนทั้งหลายระลึกถึงคุณค่าของผู้สูงอายุ จึงได้กำหนดวันสำคัญขึ้นอีกวันในปฏิทินของสากลโลก คือ "วันผู้สูงอายุสากล" ตรงกับวันที่ 1 ตุลาคม ของทุกปีผู้สูงอายุไม่ว่าจะอยู่ประเทศไหนคนเหล่านั้นล้วนสร้างคุณประโยชน์มากมายจากอดีตจนถึงปัจจุบัน

เรามักจะคุ้นเคยกับการมี "วันเด็กแห่งชาติ" เพื่อเป็นการแสดงถึงความสำคัญกับเด็กซึ่งเป็นอนาคตของชาติ แต่กับเรื่องราวของ "คนแก่" หรือ ผู้สูงอายุ มักจะละเลยหรือลืมเลือนกัน ทั้งที่คนชรานั้นได้สร้างคุณประโยชน์มหาศาลแก่ประเทศชาติไม่แพ้วัยอื่นในช่วงระยะเวลาที่ยังเป็นหนุ่มเป็นสาว

เพื่อให้คนทั้งหลายระลึกถึงคุณค่าของผู้สูงอายุ จึงได้กำหนดวันสำคัญขึ้นอีกวันในปฏิทินของสากลโลก คือ "วันผู้สูงอายุสากล" ตรงกับวันที่ 1 ตุลาคม ของทุกปีผู้สูงอายุไม่ว่าจะอยู่ประเทศไหนคนเหล่านั้นล้วนสร้างคุณประโยชน์มากมายจากอดีตจนถึงปัจจุบัน


สำหรับประเทศไทย รู้หรือไม่ว่าอีก 15 ปี ข้างหน้า ตัวเลขผู้สูงอายุในเมืองไทยจะพุ่งสูงขึ้นอีกเท่าตัวของปัจจุบัน เพราะคนที่เกิดช่วงปี 2506 ถึง 2526 เป็นช่วงที่มีคนเกิดมากกว่าปกติ จนถูกเรียกว่า "ยุคเบบี้บูม" จึงทำให้อีก 15 ปีข้างหน้า คนยุคนี้จะแก่กันหมด!!!

ทุกวันนี้ปัญหาของคนแก่จำนวนมาก คือการถูกทอดทิ้ง บางคนถึงแม้จะอยู่กับลูกหลานแต่ก็เหมือนถูกทิ้ง เพราะไม่ได้รับการดูแลที่ดีพอ ส่วนมากจะเกิดจากความไม่เข้าใจของลูกหลานนั่นเอง

จากการศึกษาวิจัยของหน่วยงานประชากรศาสตร์ พบว่าคนแก่จำนวนมากไม่ต้องการเป็นภาระของลูกหลาน จึงไม่เรียกร้องถึงความต้องการของตัวเอง อย่างไรก็ตามภาครัฐได้มองเห็นความสำคัญ จึงได้กำหนดแผนผู้สูงอายุแห่งชาติฉบับที่ 2 ตั้งแต่ พ.ศ.2545 ถึง 2564 ในหมวดที่ 2 ว่าด้วยยุทธศาสตร์ด้านการส่งเสริมผู้สูงอายุ โดยมีมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมปลอดภัย

แต่ที่ผ่านมาการศึกษาวิจัยเรื่องสภาพที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุแทบไม่ค่อยได้รับความสนใจจากลูกหลาน ญาติพี่น้อง น้อยคนจะปรับเปลี่ยนสภาพบ้านเรือนให้เหมาะกับผู้สูงอายุ

ทั้งที่ผู้สูงอายุหลายคนมีปัญหาทางกายภาพกับที่อยู่อาศัย ปัญหาที่พบบ่อย คือ หกล้ม ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของห้องน้ำ ห้องส้วม ทางเดินตามจุดต่างๆ ภายในบ้าน

นั่นแสดงว่าที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมกับการใช้ชีวิตประจำวัน *ไตรรัตน์ จารุทัศน์* อาจารย์ประจำภาควิชาเคหการ คณะสถาปัตยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะ ได้ศึกษาวิจัยจนมีผลงานเรื่อง "มาตรฐานขั้นต่ำสำหรับที่พักอาศัย และสภาพแวดล้อมของผู้สูงอายุ"

เป็นงานวิจัยที่เนื้อหาครอบคลุมทางกายภาพและจิตใจของผู้สูงอายุ พร้อมทั้งตัวอย่างแบบแปลนห้องต่างๆของที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุด้วย งานนี้ได้รับการสนับสนุนจาก *สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย*(สกว.) *สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ*(สสส.) และ *มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ*(มสช.)

อาจารย์ไตรรัตน์เอ่ยถึงคอนเซปต์ของงานวิจัยนี้ ว่าแนวคิดเรื่องของคนพิการกับผู้สูงอายุเป็นอย่างเดียวกัน คือ อย่าตราหน้าว่าเขาเป็นคนพิการ หรือเป็นคนแก่แล้วต้องเข้าไปช่วยเหลือทุกอย่าง เพราะบางครั้งเขาไม่อยากเป็นภาระใคร ดังนั้นควรสร้างสิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นให้เขาช่วยตัวเองได้มากที่สุด

"ทำอย่างไรก็ได้ให้เขารู้สึกภาคภูมิใจในการใช้ชีวิตตามปกติ" คือคอนเซ็ปต์ที่อาจารย์ไตรรัตน์กล่าวถึง การทำวิจัยของคณะนี้ใช้เวลาทั้งหมด 18 เดือน โดยสุ่มตัวอย่างผู้สูงอายุทั่วประเทศประมาณ 400 คน ตั้งแต่การสอบถามประวัติ เช่น ใช้ชีวิตอยู่อย่างไร อยู่กับใคร บ้านที่อยู่เป็นอย่างไร มีการเจ็บป่วยบ้างหรือไม่ เป็นต้น

จากนั้นจึงเริ่มเข้าสู่เนื้อหา คือทดสอบให้ลองใช้อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน เช่น สวิตช์ ปลั๊กไฟ ก๊อกน้ำ ทางเดิน ราวจับ ลูกบิดประตู เพื่อทดสอบว่าเหมาะสมกับการใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง และมีอุปกรณ์อะไรที่ไม่เหมาะบ้าง

ต่อมาเป็นการวัดร่างกาย เพราะคนเราเมื่อแก่ไปร่างกายจะมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ 71 จุด เช่น ความสูง น้ำหนัก รอบเอว ระยะการเอื้อมต่างๆ เป็นต้น

"ที่เราสนใจทางร่างกาย เพราะปกติแล้วเราพบว่าผู้สูงอายุมักจะหลังค่อมและเตี้ยลง การเดินจะช้าลง เวลาเราพูดถึงการออกแบบในบ้านส่วนใหญ่จะใช้มาตรฐานการออกแบบจากหนังสือของฝรั่ง ตั้งแต่ความสูงประตู หน้าต่าง แม้กระทั่งบันไดที่เราก้าวเดิน เพราะฉะนั้นการวิจัยครั้งนี้จึงให้ความสนใจความเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายด้วยเพราะเกี่ยวข้องอย่างยิ่งกับการออกแบบก่อสร้างบ้านผู้สูงอายุ"

ปัญหาที่พบ คือในเมืองไทยไม่ว่าจะผลิตผลิตภัณฑ์อะไรออกมาก็ตาม จะมีเกณฑ์วัดแค่คนอายุ 17-49 ปี เท่านั้น เพราะกลุ่มนี้คือกลุ่มผู้บริโภคหลัก

ดังนั้น งานสร้างของคณะวิจัยชุดนี้ ข้อมูลในการวัดร่างกาย 71 จุดจึงมีความสำคัญในเชิงการผลิตผลิตภัณฑ์มาก เพราะเหมาะกับคนไทยโดยเฉพาะ

อาจารย์ไตรรัตน์ อธิบายว่าข้อมูลหลักของผลวิจัยชิ้นนี้ แยกเป็นชาย และหญิง การวัดร่างกายจะมีท่ายืน ความสูง การเอื้อม เช่น เราอยากจะรู้ว่าผู้สูงอายุไทยเอื้อมจับเคาน์เตอร์ได้สูงสุดแค่ไหน เพราะว่าที่ผ่านมามีผู้สูงอายุหกล้มในบ้านจำนวนตัวเลขสูงมาก สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะการเอื้อม หากสูงเกินไปไม่สามารถเอื้อมได้ก็จะก้าวพลาด

ส่วนการนั่ง การเดิน ผู้สูงอายุจะมีลักษณะการเดินเป็นพิเศษ คือ เดินแบบก้าวทับก้าว สังเกตดูว่าจะเป็นก้าวซ้าย แล้วเอาเท้าขวามาหาเท้าซ้าย แล้วค่อยเดินอีกทีหนึ่ง เพราะฉะนั้นการเดินแบบนี้จะมีผลเรื่องการออกแบบ เช่น ขั้นบันไดควรจะกว้างขึ้น

"บันไดปกติกฎหมายจะบังคับความกว้างที่ 25 เซนติเมตร แต่ควรออกแบบให้กว้างกว่านั้น ความสูงของบันได กฎหมายให้ถึงได้ 18 เซนติเมตร แต่พอแก่ไปจะก้าวได้ไม่สูงนัก ความสูงของบันไดที่เหมาะควรประมาณ 13 เซนติเมตร"

ที่ลืมไม่ได้ คือ ส้วม คนส่วนใหญ่มักจะซื้อที่นั่งขาลอยให้พ่อแม่ใช้นั่งกับส้วมนั่งยองเดิม แต่จากการวัด ปรากฏว่าที่นั่งขาลอยนั้นสูงเกินไป เพราะฉะนั้นความสูงจากพื้นถึงระยะก้นตรงที่นั่งควรประมาณ 42 เซนติเมตรกำลังดี จะลุกนั่งแบบสบายๆ ถ้าเตี้ยมากอาจจะลุกไม่ขึ้น

"การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายให้สังเกตง่ายๆ คือ อะไรที่เป็นในแกน X (แนวนอน) จะเพิ่มขึ้น ส่วนแกน Y (แนวตั้ง) จะลดลง"

*สรุปให้เข้าใจง่ายๆ คือ คนแก่จะ อ้วนขึ้น และ เตี้ยลง*

ดังนั้นในการออกแบบที่เกี่ยวข้องกับแกนนอน ควรจะกว้างขึ้นด้วย อย่างเช่น ประตู ทางลาดที่ต้องมีอุปกรณ์ช่วยไม่ว่าจะเป็นเท้าแขน มือจับ หรือ รถเข็นก็ควรจะกว้างเกิน 90 เซนติเมตร

ทางลาดของคนแก่ควรใช้สัดส่วน 1:12 ถ้าพื้นสูง 10 เซนติเมตร ต้องมีทางลาดยาวไปถึง 120 เซนติเมตร การเข็นรถเข็นจะได้ง่าย และทางลาดต้องใช้วัสดุต่างสัมผัส มองแล้วรู้ว่าต่างกันระหว่างพื้นเรียบ กับพื้นลาด

ส่วนราวจับควรจะมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 4 เซนติเมตร ความสูง 80 เซนติเมตร แล้วราวจับที่ดีไม่ได้มีแค่ตรงบันได ควรจะเลยจากขั้นสุดท้ายไปประมาณ 30 เซนติเมตรเป็นอย่างน้อย จะได้มีระยะจับได้

ลูกบิดประตูบ้าน ปกติยังคุ้นเคยกับลูกบิดกลมๆ แต่คนแก่พอร่างกายเสื่อมถอยลงไปแล้ว จะไม่มีแรงบิด ดังนั้นควรจะใช้เป็นแบบก้านโยกจะเหมาะกว่า แต่ที่เมืองไทยผลิตภัณฑ์เหล่านี้ยังแพงและต้องนำเข้าจากต่างประเทศ

สำหรับระยะเอื้อมควรจะลดลง ปลั๊กไฟควรจะสูงกว่าปกติ ในขณะที่สวิตช์ต้องต่ำลง จะให้ดีตัวหน้ากากกับตัวสวิตช์ควรเป็นคนละสี เคาน์เตอร์ก็ไม่ควรกว้างเกิน 50 เซนติเมตร เป็นต้น

แม้กระทั่งระยะในการมอง ผู้สูงอายุเวลานั่งอยู่จะชอบมองออกไปข้างนอก เพราะฉะนั้นประตูหน้าต่างให้ความสูงลดลง และข้างล่างควรจะลึกขึ้นเพื่อให้มองเห็นแสงเห็นสิ่งแวดล้อมภายนอกได้

อาจารย์ไตรรัตน์ บอกว่า การเปลี่ยนแปลงควรให้ผู้สูงอายุได้อยู่ที่เดิม ไม่ควรย้ายไปสร้างที่อยู่ให้ใหม่โดยเฉพาะ เพราะถึงแม้จะออกแบบตามหลักการ แต่คนแก่มักจะมีเรื่องสังคมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย บางคนถ้าย้ายจะป่วยทันที เพราะเหมือนขาดอะไรบางอย่างทั้งทางสังคมและจิตใจ

"ถึงแม้จะมีหลักการในการออกแบบสร้างบ้านสำหรับผู้สูงอายุอย่างที่กล่าวมา ขาดไม่ได้คือควรจะจัดเอาเฟอร์นิเจอร์เก่าไว้ให้เหมือนวันวานที่ผ่านมา เพื่อให้ผู้สูงอายุรู้สึกคุ้นเคย เพราะการปรับตัวของผู้สูงอายุปรับตัวได้ยาก ดังนั้นจึงต้องเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุด ทางที่ดีควรปรับปรุงบ้านที่อยู่อาศัยเดิมแล้วให้ย้ายห้องมาอยู่ชั้นล่าง ส่วนที่เหลือก็สร้างตามหลักเกณฑ์"

การศึกษาวิจัยชิ้นนี้ หากจะคาดหวังในแง่ของการปฏิบัติอาจจะเป็นไปได้ยากสำหรับในบ้านเมืองไทย จะด้วยปัจจัยหลายอย่าง ทั้งเรื่องงบประมาณ และทัศนคติ ความรู้สึกที่ยังไม่มีการปลูกฝังให้เห็นถึงความสำคัญของคนแก่เท่าที่ควร

ถึงกระนั้นการวิจัยก็เป็นการเริ่มต้นที่ให้ความหวัง ว่านโยบายหรือแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้สูงอายุในเมืองไทยอาจได้รับความใส่ใจมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

ที่มา:http://www.thaihomemaster.com/showinformation.php?TYPE=11&ID=600

หมายเลขบันทึก: 401877เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2010 14:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 พฤษภาคม 2012 00:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท