ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการนำวิธีการของ สคส. ไปใช้


ท่านคงลืมไปว่าความรู้แบบ Tacit นั้นมันติดอยู่กับบริบทเสมอ ตอนที่ สคส. ใช้มันเป็นบริบทแบบหนึ่ง แต่พอท่านเอากลับไปใช้ มันกลายเป็นอีกบริบทหนึ่ง
             การจัด KM Workshop 2 – 3 วันอย่างที่ สคส. ทำนั้น เป็นการทำความเข้าใจเรื่อง KM โดยที่ไม่ใช้การสอนแบบบรรยายเหมือนที่ใช้กันทั่วไป เป็นการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อฝึกฝนและสร้างความเข้าใจในประเด็นที่เห็นว่าจำเป็น อาทิเช่น เรื่องการฟัง เรื่องการแชร์ Tacit Knowledge ผ่านการเล่าเรื่อง สรุปว่าเป็นกระบวนการ Learning by Doing เป็นการเรียนแบบลงมือทำ ทำเพื่อให้เห็นจริง ทำเพื่อให้เห็นว่าสภาพแวดล้อมที่ต่างกันมีผลต่อการเรียนรู้อย่างไรบ้าง ทำไมจึงต้องสร้างบรรยากาศที่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน ทำไมจึงต้องพูดอย่างสร้างสรรค์ ทำไมต้องสร้างความสัมพันธ์ ทำไมต้องทำให้บรรยากศผ่อนคลาย ทำให้ผู้เข้าร่วมรู้สึกสบาย หรือทำไมจึงต้องมีผู้ที่มาทำหน้าที่ “คุณอำนวย” เป็นต้น


             ผลที่ได้จากการใช้วิธีการนี้ถือว่าได้ผลดีมากทีเดียว มีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก “อิน” กับวิธีการที่ สคส. ใช้ พอกลับไปถึงหน่วยงาน บางท่านก็ไปขออนุมัติผู้บริหารทำห้องเพื่อการเรียนรู้อย่างที่ สคส. ทำ เช่น จัดให้มีห้องที่สามารถนั่งกับพื้นได้เพื่อให้เกิดบรรยากาศการพูดจาแบบที่ได้สัมผัสใน Workshop ที่ สคส. ทำ แต่ครั้นเมื่อนำไปทำจริงๆ ปรากฎว่าทำไปได้แค่ไม่กี่ครั้ง ก็เริ่มได้ยินเสียงต่างๆ นานา บ้างก็บ่นว่าเมื่อยขาไม่น่าจะให้ต้องมานั่งกับพื้นเลย บางคนก็บ่นว่า “ไม่มีงบซื้อเก้าอี้หรืออย่างไร” ไปๆ มาๆ กลายเป็นว่า “พ่นไฟ” ใส่กัน แล้วมันจะได้ Learning ตรงไหน? แล้ว Tacit จะแชร์ออกมาได้อย่างไร? เขาคงลืมไปว่าวิธีการที่ สคส. ใช้นั้น Design มาเพื่อการทำ Workshop ไม่ได้หมายความว่าถ้าท่านเอาไปใช้ตามนั้นแล้วมันจะได้ผลเหมือนกัน เพราะวิธีการที่ใช้นี้นี่ก็เป็น Tacit Knowledge เหมือนกัน

             ท่านคงลืมไปว่าความรู้แบบ Tacit นั้นมันติดอยู่กับบริบทเสมอ ตอนที่ สคส. ใช้มันเป็นบริบทแบบหนึ่ง แต่พอท่านเอากลับไปใช้ มันกลายเป็นอีกบริบทหนึ่ง ซึ่งไม่สามารถ copy วิธีการไปใช้ “ทั้งดุ้น” ได้ หากแต่ว่าต้องมี Learning Design คือต้องออกแบบกระบวนการเรียนรู้ให้เหมาะกับสถานการณ์และบริบทของท่าน เป็นการทำ C&D คือ Copy แล้วนำไปพัฒนาต่อ (Develop) ครับ หากท่านทำได้ (ได้ทำ) แสดงว่าท่านเข้าใจเรื่องการสร้างความรู้ใหม่ หรือ Knowledge Creation ตามที่ปรมาจารย์ KM ระดับโลก (Professor Nonaka) เคยเน้นย้ำไว้ จริงๆ แล้ว Prof. Nonaka ท่านไม่ใช้คำว่า Knowledge "Management" ด้วยซ้ำไป ท่านมักจะใช้แต่คำว่า Knowledge "Creation" ซึ่งเป็นการ "ยกระดับ" ความรู้ไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีวันจบสิ้น


             ท่านใดที่สนใจต้องการจะพบ Professor Nonaka “ตัวเป็นๆ” อย่าลืมไปงานมหกรรม KM แห่งชาติ ครั้งที่ 5 ที่กำลังจะมาถึงในวันที่ 22 – 23 พฤศจิกายน นี้นะครับ รับได้จำนวนที่จำกัด ปีนี้บัตรเข้างานราคาถูกกว่าทุกๆ ปี เพราะได้รับการสนับสนุนจาก "องค์กรใจดี" หลายองค์กรที่ช่วยเป็น Sponsor ใหญ่ สนใจเข้าไปคลิกได้ที่ตรงนี้ www.kmi.or.th ครับ


หมายเลขบันทึก: 401840เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2010 09:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2012 13:49 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ตรงนี้ชัดมากเลยครับ เพราะสคส. ไม่เพียงสอนวิธีหาปลาให้เรา แต่สอนให้เรารู้จักทำมาหากินได้ด้วยตนเอง ซึ่งไม่จำเป็นต้องกินปลาอย่างเดียว เพราะเราสามารถเลี้ยงชีพได้ด้วยการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์อื่นๆ เพื่อดำรงชีพได้ ดังนั้น เปรียบกับการฝึกกังฟูที่สร้างลมปราณให้แข็งแกร่ง แล้วคิดกระบวนท่าต่อยอดตามความถนัดของแต่ละคน เมื่อทำไปจนเชี่ยวชาญเกิดความช่ำชองแล้ว กระบวนท่าก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป

ใช่เลยครับหนึ่ง . . แต่ถึงกระนั้นก็มียังมีบางท่านที่แค่มาเพื่ออยากได้ปลาเท่านั้น และบางท่านก็ตกปลาเฉพาะท่าที่ สคส. สอนไว้ ก็เลยไม่ได้ปลาเพราะว่าทะเล (บริบท) มันเปลี่ยนไป . . ดีใจที่ได้พบหนึ่ง "ตัวเป็นๆ" ในวันเสาร์ที่ผ่านมา

เรื่องสำคัญอยู่ที่การสร้างบรรยากาศ ถ้าเราสร้างบรรยากาศที่เป็นกันเองได้ดี ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเขาก็นั่งพื้นล้อมวงกันเอง โดยเราไม่ต้องบอกอะไรเลย

เป็นการทำ C&D คือ Copy แล้วนำไปพัฒนาต่อ (Develop) ครับ หากท่านทำได้ (ได้ทำ) แสดงว่าท่านเข้าใจเรื่องการสร้างความรู้ใหม่ หรือ Knowledge Creation
 Prof. Nonaka ท่านไม่ใช้คำว่า Knowledge "Management"ด้วยซ้ำไป ท่านมักจะใช้แต่คำว่า Knowledge "Creation" ซึ่งเป็นการ "ยกระดับ" ความรู้ไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีวันจบสิ้น

ได้รับความกระจ่างมากขึ้นอย่างมาก ขอบคุณคะ



 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท