การเรียนรู้ของผมส่วนใหญ่ จะเริ่มต้นจากคำถามที่ผมถามตนเองด้วยความสงสัย โดยมีแรงจูงใจคือความท้าทายของคำตอบที่บูรณาการจากองค์ความรู้ และที่สำคัญต้องไม่มีการตัดสินว่า ถูก หรือ ผิด ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆก็ตาม
ผู้ใหญ่เคารพเด็กได้บ้างไหม? คนรวยเคารพคนจนบ้างได้หรือไม่? พระสงฆ์เคารพพุทธศาสนิกชนเหมาะสมหรือเปล่า? หากจะหาความกระจ่างในสิ่งเหล่านี้เราควรเพ่งเล็งไปที่คำว่า "ความเคารพ" ผมนำมาให้คำนิยามเองว่า "ความเคารพคือความพึงใจด้วยความซาบซึ้งและตื้นตันของฝ่ายหนึ่งมีให้อีกฝ่ายหนึ่ง" ซึ่งอยู่เหนืออารมณ์และความรู้สึก ปราศจากกิเลสและตัณหา หลังจากนั้นจึงจะมีการแสดงออกมาเป็นสัญลักษณ์ ท่าทาง ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น การสัมผัสมือ โอบกอด สัมผัสแก้ม หรือยกมือไหว้อย่างไทยๆเรา
ทุกวันนี้เราแสดงความเคารพด้วยเหตุผลใดกัน? ความเชื่อ ค่านิยม ขนบ ธรรมเนียม ประเพณี หรือเพราะมันเป็นวัฒนธรรม ความจริงแล้วการแสดงความเคารพเป็นเพียงวิธีการที่เราจะตรวจสอบในเบื้องต้นเท่านั้นว่า ฝ่ายตรงข้ามเราจะพึงใจด้วยความซาบซึ้งและตื้นตันแค่ไหน โดยเฉพาะการสัมผัสอวัยวะของร่างกายบางส่วนซึ่งกันและกัน เพราะอุณหภูมิในร่างกายจะเป็นตัวบ่งชี้ถึงสภาพจิตใจในขณะนั้น แต่สำหรับคนไทยเราไม่สามารถรับรู้ได้ขนาดนั้น เพราะเราแสดงความเคารพต่อกันด้วยสัญลักษณ์ ซึ่งมีระยะห่างไม่มีความสามารถพอที่จะรับรู้อุณหภูมิภายในกันได้ อาจสังเกตได้บ้างจากพฤติกรรม ท่าทาง สีหน้า (ภาษากาย) แต่คงเป็นข้อจำกัดสำหรับบางคนเท่านั้น ส่วนคนที่เก็บความรู้สึกได้ดี แสดงบทบาทได้เก่งๆ เราอาจจะไม่มีทางจับความรู้สึกที่อยู่ภายในส่วนลึกๆของจิตใจเขาได้เลย การกระทำต่อหน้าและลับหลังอาจแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงก็เป็นได้ ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อสังคมยุคปัจจุบัน
The Universal Declaration of Human Rights, ๑๙๔๘ ข้อที่๑ ที่ได้กล่าวไว้ว่า "มนุษย์ทุกคน เกิดมาอิสระเสรีและเสมอภาคในทุกด้าน จึงควรปฏิบัติต่อกันฉันพี่น้อง" มาพิจารณาตรงคำว่า เสมอภาคในทุกด้าน จึงไม่ควรมีข้อจำกัดในเรื่อง วัยวุฒิ หรือข้อจำกัดในสิ่งที่เป็น สมมติสัจจะ ทั้งหลายทั้งปวง เพราะพวกเราทุกคนคือ มนุษย์ที่เกิดมาอิสระเสรี หากเราเคารพกันที่ความเป็นมนุษย์ แน่นอนครับทุกคนก็สามารถเคารพซึ่งกันและกันได้เสมอไม่แบ่งแยกด้วยข้อจำกัดใดๆ และไม่จำเป็นต้องแสดงอะไรมากมาย แค่มองตากันก็ซาบซึ้งเข้าไปถึงจิตใจแล้ว
จะว่าไปแล้วการให้ความเคารพก็คือ การให้เกียรติซึ่งกันและกันนั่นเอง โดยเริ่มจากการกระทำทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่รอให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมาปฏิบัติให้แต่เพียงฝ่ายเดียวตามจารีต หรือประเพณีปฏิบัติ การที่แต่ละฝ่ายมุ่งปฏิบัติต่อกัน มุ่งที่จะเข้าใจในความเป็นมนุษย์ด้วยกัน ก็จะทำให้การเอารัดเอาเปรียบกันลดน้อยลง หาจุดลงตัวซึ่งกันและกันได้ง่ายขึ้น
สุดท้ายที่อยากจะฝากไว้ "ก่อนจะเคารพคนอื่น เราต้องเคารพตัวเราเองให้ได้เสียก่อน" สำคัญมากนะครับ แล้พบกันใหม่ในโอกาสต่อไป
ไม่มีความเห็น