เด็กรักการอ่าน


การอ่าน เป็นทักษะทางภาษาที่จะนำผู้อ่านไปสู่โลกกว้าง ช่วยพัฒนาให้ผู้อ่านมีความรู้ความสนุกสนานเพลิดเพลิน
สอนอย่างไรให้เด็กรักการอ่าน
                                                                                           
                    การอ่าน  เป็นทักษะทางภาษาที่จะนำผู้อ่านไปสู่โลกกว้าง ช่วยพัฒนาให้ผู้อ่านมีความรู้ความสนุกสนานเพลิดเพลิน เกิดจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ  ขึ้นได้  การอ่านเป็นการใฝ่รู้ที่ผู้อ่านสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองและเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้คนมีความก้าวหน้าต่อไปในอนาคต       จากประสบการณ์ของผู้เขียนซึ่งเป็นครูสอนภาษาไทยมาสามสิบปี  พบว่าในปัจจุบันนักเรียนส่วนใหญ่ไม่รักการอ่านเท่าที่ควร  ครูจึงจำเป็นต้องจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อปลูกฝังและส่งเสริมให้นักเรียนรักการอ่านมากยิ่งขึ้น  เช่น
                    ๑.  จัดกิจกรรมตอบปัญหาทั่วไป  ซึ่งนักเรียนต้องใช้ความรู้ที่ได้รับจากการอ่านมาตอบปัญหาและใช้ได้ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้
                    ๒.  จัดกิจกรรมการเขียนเรียงความในหัวข้อเรื่องที่ผู้เขียนต้องอ่านและค้นคว้าเพิ่มเติม  เพื่อนำ
ความรู้มาประกอบการเขียนให้สมบูรณ์ขึ้น   เช่น  ถ้าฉันเป็นนักบิน             ฉันจะ......   ถ้าฉันเป็นนัก
วิทยาศาสตร์  ฉันจะ.......      เป็นต้น
                    ๓.  จัดกิจกรรมแบบสำรวจ  เช่นสำรวจพันธุ์ไม้ในวรรณคดีที่มีอยู่ในสวนวรรณคดีหรือในบริเวณโรงเรียน  ในห้องสมุด  เพื่อเป็นแนวทางให้เกิดความสนใจเกี่ยวกับต้นไม้ต่างๆ  ซึ่งจะนำไปสู่การอ่าน การค้นคว้า  เพื่อเป็นแนวทางให้เกิดความรู้
                    ๔.  จัดกิจกรรมโดยให้เล่นเกม  เช่น
                                         -  เกมทายคำ ไข่อะไรที่หลอกลวง   คำตอบ  ไข่ตุ๋น
                                         -  เกมต่อคำคล้องจองโดยให้หาชื่ออาหาร ผลไม้  ต้นไม้ มาต่อเป็นคำคล้องจองเช่น กล้วยไม้  ใบชา, ขาไก่    ใบโหระพา
                                         -  เกมปริศนาสำนวนภาษาและสุภาษิต  ครูจะให้ผู้เรียนดูภาพและช่วยกันคิดหาสำนวนภาษาและสุภาษิตจากภาพให้ได้มากที่สุดเช่น  ภาพปาก  นักเรียนอาจตอบว่า   ปลาหมอตายเพราะปาก  ปากร้ายใจดี   พูดดีเป็นศรีแก่ปาก   ปากเป็นเอกเลขเป็นโท  กินอยู่กับปากอยากอยู่กับท้อง  เป็นต้น
                                         -  เกมตามล่าหาเพื่อนตัวพยัญชนะ  รูปวรรณยุกต์  ตัวสะกดหรือตัวการันต์  เช่น  โ...รา...วั..ถุ     อุโ..งค์  เป็นต้น
                                         -  เกมปริศนาคำทาย  เช่น  อะไรเอ่ย  ต้นเท่าครกใบปรกดิน ( ตะไคร้ )
                    ๕.  ให้หาคำที่กำหนดให้  เช่น  คำที่ขึ้นต้นด้วย  ก   ตัวอย่าง  กรรมการ  กรอก  เก่า  กาง  กว้าง  เป็นต้น
                    ๖.  ให้หาคำที่เป็นของใช้เป็นพยางค์หน้าและมีคำกริยาเป็นพยางค์หลัง  เช่น  เตารีด  กระเป๋าถือ  รถเข็น  มีดพับ  เป็นต้น
                    ๗.  ให้หาคำที่มีชื่ออวัยวะเป็นพยางค์หน้าและมีคำชื่อสัตว์เป็นพยางค์หลัง  เช่น ตาไก่   ขาไก่  
 น่องไก่
                    ๘.  ให้แต่งคำประพันธ์เกี่ยวกับดอกไม้  โดยให้นักเรียนค้นคว้าลักษณะของพันธุ์ไม้และดอกไม้ชนิดต่างๆ   เพื่อนำความรู้มาประกอบการแต่งคำประพันธ์ให้ได้ใจความที่สมบูรณ์ เช่น
                    มะเอ๋ยมะลิ                    ยามผลิดอกมา  หอมชื่นนาสา       พาใจสุขสันต์
                    ๙.   จัดกิจกรรมประกวด  เช่น  ยอดนักอ่าน  ยอดนักเล่านิทาน  ยอดนักพูด  ฯลฯ
                    ๑๐. จัดกิจกรรมแฟนพันธุ์แท้จากวรรณคดีไทยบางตอนเช่นรามเกียรติ์ ขุนช้างขุนแผน พระอภัยมณี  ฯลฯ
                    ๑๑.  กิจกรรมการอ่านวันละ  ๑๕  นาที  ใช้เวลาในช่วงพักกลางวัน  หรือตามความเหมาะสม
                    ๑๒. กิจกรรมอ่านคล่อง-เขียนคล่อง  เขียนและอ่านคำศัพท์วันละ  ๕  คำ
                    ๑๓.  กิจกรรมห้องสมุดเคลื่อนที่  ตะกร้าหนังสือ  รถเข็นหนังสือ  เป็นต้น
                    ๑๔. จัดทัศนศึกษาพาผู้เรียนไปชมสิ่งต่างๆ  หลังจากเสร็จสิ้นการชมแล้วให้นักเรียนค้นคว้าเพิ่มเติมหรือสรุปเรื่องราวที่ได้พบได้เห็น
                    ๑๕.  กิจกรรมโครงงานภาษาไทย  ซึ่งเป็นงานวิจัยเล็กๆของนักเรียน  เป็นการแก้ปัญหาหรือ  ข้อสงสัยของนักเรียน  โดยใช้ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์
                    ๑๖. กิจกรรมการค้นหาข้อมูลเรื่องราวต่างๆจากอินเทอร์เน็ต  โดยใช้คอมพิวเตอร์ เป็นอุปกรณ์การค้นคว้า ก็จะช่วยให้เด็กๆรักการเรียนรู้ใฝ่รู้ด้วยตนเองมากขึ้น
                   กิจกรรมที่แนะนำไว้นี้  ผู้เขียนหวังว่าผู้อ่านจะใช้เป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอน
และกิจกรรมเสริมการเรียนรู้ให้นักเรียนรักการอ่านมากยิ่งขึ้น  เพราะผู้เขียนได้นำมาปฏิบัติแล้ว  ได้ผลดี
เป็นที่น่าพอใจ                                                       
                                                      ......................................................................                                                                                                     
เอกสารอ้างอิง
ราชบัณฑิตยสถาน.  อ่านอย่างไรและเขียนอย่างไร.  กรุงเทพมหานคร : เพื่อนพิมพ์  จำกัด,๒๕๓๐.
อรทัย  วิมลโนธ.  สารภาษาไทย.  สมาคมครูภาษาไทย  สถาบันภาษาไทย  กรุงเทพมหานคร : จิรรัช
                    การพิมพ์, ๒๕๔๗.
หมายเลขบันทึก: 401440เขียนเมื่อ 7 ตุลาคม 2010 19:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 15:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

โอ้โห กลยุทธเพียบเลยครับ อย่างนี้ไม่เก่งก็ไม่ได้การแล้วครับ เด็กต้องเก่งให้ได้ ไม่อย่างนั้นเสียชื่อครูิอิ๊ดหมดเลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท