การเรียนรู้แบบร่วมมือ คืออะไร


       Co - Opertive Learning  คืออะไรใครรู้บ้าง

        ในการจัดการเรียนการสอนนั้นสิ่งหนึ่งที่เราจะต้องถึงเป็นอันดับแรกก็คือ เทคนิดและวิธีการสอนซึ่งเทคนิคและวิธีการสอนนั้นก็มีหลากหลายวิธี ขึ้นอยู่กับว่าครูผู้สอนนั้นต้องการพัฒนาผู้เรียนด้วยเทคนิคอะไร อย่างไร และพัฒนาวิชาอะไร เพื่อให้สอดคล้องกับเทคนิคการสอนนั้นๆ ซึ่งในบล็อกนี้ก็จะขอยกตัวอย่างหนึ่งเทคนิคการสอนจากหลายๆเทคนิคการสอน ซึ่่งก็คือ เทคนิคการสอนแบบร่วมมือ หรือ(Co-operative learning) โดยหลายๆท่านอาจรู้จักวิธีนี้กันแล้ว แต่สำหรับท่านที่ไม่รู้หรืออาจรู้เพียงบางส่วน ก็อาจจะเข้าใจเทคนิคการสอนดังกล่าวมากขึ้น จากความรู้ในบล็อกนี้ก็ได้นะค่ะ

 ****************************

ใครรู้บ้างไหมว่าการเรียนรู้แบบร่วมมือนั้นคืออะไร???

            การเรียนรู้แบบร่วมมือกันหรือการร่วมมือกันเรียนรู้ เป็นแนวคิดในการจัดการเรียนการสอนเพื่อให้นักเรียนได้ร่วมมือกันเรียนรู้และปฏิบัติกิจกรรมให้ประสบผลสำเร็จตามจุดมุ่งหมาย  จึงถือได้ว่าการเรียนการสอนแบบร่วมมือกันเรียนรู้ เป็นการจัดการเรียนการสอนที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญรูปแบบหนึ่ง ซึ่งนักการศึกษาที่สำคัญในวงการศึกษาได้ให้ความหมายของการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือไว้ดังนี้ค่ะ

       จอห์นสัน และจอห์นสัน ได้ให้ความรู้ของการเรียนรู้แบบร่วมมือไว้ว่า

       การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ เป็นการสร้างความสัมพันธ์ภายในกลุ่มผู้เรียนซึ่งต้องการการพึ่งพาและเกื้อกูลกัน(ล้มเหลวหรือประสบความสำเร็จร่วมกัน),ความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้ของสมาชิกแต่ละคน,การใช้ทักษะปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล(การติดต่อสื่อสาร,ความเชื่อมั่น,ความเป็นผู้นำ,การตัดสินใจ,การลดความขัดแย้ง),การปรึกษาหารือกันอย่างใกล้ชิด,และกระบวนการ(สิ่งที่สะท้อนกลับคือประสิทธิภาพในการทำงานดีขึ้นอย่างไรและดีขึ้นมากแค่ไหน(Johnson และ Johnson. Online.  2009)

         นอกจากของจอห์นสันแล้วคุณรู้มั้ยว่า ยังมีนักการศึกษาของไทยเราได้ให้ความหมายของการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือไว้อีกนะค่ะ เช่น ของอาจารย์สุวิทย์ และอาจารย์อรทัย มูลคำได้ให้ความหมายไว้ว่า

        การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ หมายถึง กระบวนการการเรียนรู้ที่จัดให้ผู้เรียนได้ร่วมมือและช่วยเหลือกันในการเรียนรู้โดยแบ่งกลุ่มผู้เรียนที่มีความสามารถต่างกันออกเป็นกลุ่มเล็กๆ ซึ่งเป็นลักษณะการรวมกลุ่มอย่างมีโครงสร้างที่ชัดเจน มีการทำงานร่วมกัน มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มีการช่วยเหลือพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน มีความรับผิดชอบร่วมกันทั้งในส่วนตนและส่วนรวม เพื่อให้ตนเองและสมาชิกทุกคนในกลุ่มประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนด

        จากความหมายข้างต้นของการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือสามารถจะสรุปได้ว่า

        การเรียนรู้แบบร่วมมือ หมายถึง การจัดกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับผู้เรียนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป หรือแบ่งผู้เรียนออกเป็นกลุ่มเล็กๆ ตามความสามารถของผู้เรียน โดยให้ผู้เรียนได้ฝึกการทำงานเป็นกลุ่ม ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ฝึกความรับผิดชอบร่วมกัน และการใช้ทักษะปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เพื่อทำให้กลุ่มประสบความสำเร็จร่วมกันตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

     2. ก่อนที่คุณจะดำเนินการจัดการเรียนรู้ คุณต้องรู้อะไรบ้างเอ่ย???

       ในการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ นอกจากความหมายที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้วนั้น ยังมีอีกหัวข้อที่น่าสนใจอีกหัวข้อหนึ่ง ที่ว่าด้วยแนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือกันว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งก็มีนักจิตวิทยา และนักการศึกษาหลายท่านได้กล่าวไว้ดังนี้

             แนวคิดในการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ

             Slavin   กล่าวว่า เป็นวิธีการจัดการเรียนการสอนที่ช่วยให้ผู้เรียนใช้ความสามารถเฉพาะตัวและศักยภาพในตนเองร่วมกันแก้ปัญหาต่างๆ ให้บรรลุผลสำเร็จได้โดยที่สมาชิกในกลุ่มตระหนักว่าแต่ละคนเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม  ดังนั้น  ความสำเร็จหรือความล้มเหลวของกลุ่ม   สมาชิกในกลุ่มต้องรับผิดชอบร่วมกันสมาชิกจะได้พูดคุยกัน  ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  ผู้เรียนจะได้ความรู้จากเพื่อน  และสิ่งที่เป็นผลพลอยได้จากการใช้วิธีสอนแบบร่วมมือกันเรียนอีกประการหนึ่ง  คือ การที่นักเรียนรู้สึกถึงคุณค่าของตนเองเพิ่มขึ้น  ทั้งนี้เพราะนักเรียนได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมกลุ่มซึ่งแต่ละคนจะมีบทบาทสำคัญต่อความสำเร็จของกลุ่ม

             Bruce และ Masah  ได้กล่าวว่า เทคนิคการร่วมมือกันเรียนรู้เป็นเทคนิคที่จะช่วยพัฒนาผู้เรียนทั้งในด้านสติปัญญา  และด้านสังคม  ทั้งนี้เพราะว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคม  การอยู่ร่วมกันในสังคมควรมีความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคคล  ซึ่งสามารถใช้เทคนิคการร่วมมือกันเรียนรู้ในการพัฒนาผู้เรียนในด้านสติปัญญาให้เกิดการเรียนรู้จนบรรลุถึงขีดความสามารถสูงสุดได้  โดยมีเพื่อนในวัยเดียวกัน  กลุ่มเดียวเป็นผู้คอยแนะนำหรือช่วยเหลือ  ทั้งนี้เนื่องจากผู้เรียนที่อยู่ในวัยเดียวกันย่อมจะมีภาษาที่ใช้ในการสื่อสารที่เข้าใจง่ายกว่าครูผู้สอนการร่วมมือกันเรียนรู้มีหลักที่ผู้สอนต้องคำนึงอยู่ 3 ประการ

                1) รางวัลหรือเป้าหมายของกลุ่ม 

                2) ความหมายของแต่ละบุคคลในกลุ่ม

                3) สมาชิกในกลุ่มมีโอกาสในการช่วยให้กลุ่มประสบความสำเร็จเท่าเทียมกัน

 

       Spenser Kagan  นักการศึกษาชาวสหรัฐ  ได้กล่าวถึงเกี่ยวกับ  แนวคิดหลักที่จะนำไปสู่การเรียนรู้แบบร่วมมือร่วมใจอย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย 6 ประการ

                     1)  Teams หมายถึง การจัดกลุ่มของผู้เรียนที่จะทำงานร่วมกัน เพื่อให้กลุ่มมีการเรียนรู้ด้วยกันอย่างมีประสิทธิภาพ

                     2)  Will หมายถึง ความมุ่งมั่นและอุดมการณ์ของเด็กที่จะร่วมงานกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องสร้างให้เกิดขึ้นและให้คงไว้โดยให้ทำกิจกรรมหลากหลาย เพื่อสร้างความมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกันเป็นทีม

                     3)  Management หมายถึง การจัดการเพื่อให้กลุ่มทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการจัดการของผู้สอนและการจัดการของผู้เรียนภายในกลุ่ม ผู้สอนจะต้องมีการจัดการที่ดี เพื่อให้การทำงานกลุ่มประสบผลสำเร็จ

                    4)  Social Skills เป็นทักษะในการทำงานร่วมกัน มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ให้ความช่วยเหลือกัน ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน รับฟังความคิดเห็นของกันและกัน

                    5)  Four Basic Principles (PIES) เป็นหลักการพื้นฐานของ Cooperative Learning ซึ่งจะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ ได้แก่

                             P = Positive Interdependence การช่วยเหลือซึ่งกันและกันของผู้เรียน เพื่อนำไปสู่ความาในการทำงานของกลุ่ม

                             I = Individual Accountability การยอมรับความสามารถของสมาชิกในแต่ละคนในกลุ่ม

                             E = Equal Participation ทุกคนในกลุ่มต้องให้ความร่วมมือและมีส่วนร่วมในงานของกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน

                             S = Simultaneous Interaction ทุกคนในกลุ่มต้องมีปฏิสัมพันธ์กันตลอดเวลาที่ทำงานในกลุ่ม

                  6)  Structures หมายถึง รูปแบบของกิจกรรมในการทำงานกลุ่ม ซึ่งมีหลากหลายทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัญหาหรือสถานการณ์ที่จะศึกษา

                ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การจัดการเรียนการสอนแบบร่วมมือเป็นการพัฒนาศักยภาพ และความสามารถเฉพาะตัวของผู้เรียน ทั้งในด้านสติปัญญาและสังคม รวมถึงการปฏิสัมพันธ์ และการสื่อสารระหว่างผู้เรียนภายในกลุ่ม เพื่อนำไปสู่เป้าหมายของทีมที่ได้ต้้งไว้

 

          ทฤษฎีเกี่ยวกับการเรียนแบบร่วมมือ

          จากเนื้อหาข้างต้นเราพอที่จะทราบความหมาย และแนวคิดของการเรียนแบบร่วมมือไปกันบ้างแล้วพอสังเขป มาถึงในหัวข้อนี้จะเป็นการกล่าวถึง ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการเรียนแบบร่วมมือกันบ้าง ซึ่งทฤษฎีที่เกี่ยวข้องนั้นสามารถสรุปได้ 3 ทฤษฎีหลักๆดังนี้

         1. ทฤษฎีกระบวนการกลุ่ม

             กระบวนการกลุ่มเป็นเรื่องของการทำงานของกลุ่มคน  ทฤษฎีด้านนี้มุ่งศึกษาเพื่อหาความรู้ที่จะนำไปใช้ในการปรับปรุง  หรือเปลี่ยนแปลงทัศนคติ และพฤติกรรมของคน  อันจะเป็นประโยชน์ในด้านการสร้างเสริมความสัมพันธ์  และปรับปรุงการทำงานของกลุ่มให้มีประสิทธิภาพ  เนื้อหาของทฤษฎีนี้จึงมุ่งศึกษาถึงเรื่องธรรมชาติของคน  พฤติกรรมของคน  ธรรมชาติของกลุ่ม

        2. ทฤษฎีด้านสติปัญญา

            Sutton กล่าวว่า ทฤษฎีด้านสติปัญญา สนับสนุนว่าการเรียนแบบร่วมมือเป็นวิธีการเรียนที่แบ่งปันประสบการณ์ของแต่ละบุคคลไปสู่กลุ่ม ซึ่งจะช่วยพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนทั้งนักเรียนที่เรียนเก่ง และนักเรียนที่เรียนช้า  เพราะนักเรียนที่เรียนเก่งจะได้รับประโยชน์ในการเรียนรู้ยิ่งขึ้นในการที่ตนเองได้อธิบาย  ชี้แจง  บทเรียนให้กับเพื่อน  ในขณะที่นักเรียนที่มีสติปัญญาต่ำ เรียนรู้ได้ช้า  ได้ประโยชน์จากการที่ได้แหล่งความรู้ที่มีค่าจากเพื่อนอีกแห่งนอกเหนือจากการสอน  นอกจากนี้การที่นักเรียนได้ทำงานร่วมกันทำให้เกิดความสนุกสนาน  ความอบอุ่น  ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่  การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  การพัฒนาทักษะทางสังคม  พัฒนาความสัมพันธ์อันดีระหว่างนักเรียนกับกลุ่มเพื่อน

             Piaget  กล่าวว่า การปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมจะทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนในวัยเดียวกันเป็นสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม  ทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ความคิดรวบยอดที่ต้องการเรียนได้อย่างดี

         3.  ทฤษฎีเสริมแรงของสกินเนอร์

              สกินเนอร์  กล่าวว่า  พฤติกรรมส่วนมากของมนุษย์เป็นพฤติกรรม Operant Behavior ซึ่งสิ่งมีชีวิต (Organism) ทั้งคนและสัตว์เป็นผู้เริ่มที่จะกระทำต่อ (Operant) สิ่งแวดล้อมของตนเองดังนั้นการเรียนรู้แบบนี้บางครั้งเรียกว่า Instrumental Conditioning สกินเนอร์พบว่าถ้าต้องการให้ Operant Behavior คงอยู่ต่อไป จำเป็นต้องให้แรงเสริม สกินเนอร์ได้แบ่งแรงเสริมออกเป็น 2 ประเภทคือ

               1. แรงเสริมบวก (Positive Reinforcement) หมายถึง  สิ่งของ คำพูด หรือสภาพการณ์ที่จะช่วยให้แสดงพฤติกรรมโอเปอแรนต์เกิดขึ้นอีก หรือสิ่งทำให้เพิ่มความน่าจะเป็นไปได้(Probability) ของการเกิดพฤติกรรมโอเปอแรนต์

               2. แรงเสริมลบ (Negative Reinforcement)  หมายถึง การเปลี่ยนสภาพการณ์หรือเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมบางอย่างอาจจะทำให้อินทรีย์แสดงพฤติกรรมโอเปอแรนต์ได้ บางครั้งนักจิตวิทยาเรียกการเสริมแรงทางลบว่า Escape Conditioning

              สกินเนอร์มีความเชื่อมั่นว่า แรงเสริมเป็นตัวแปรสำคัญในการเปลี่ยนพฤติกรรม หรือการเรียนรู้ของนักเรียน

3. เราจะดำเนินการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ ได้อย่างไร

             ในการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ มีแนวทางในการจัดการเรียนรู้ ดังนี้

               1.  ในการเรียนรู้จะต้องเกิดขึ้นโดยผู้เรียนเข้าไปเรียนรู้ได้รับกระบวนการทางสังคมเพื่อสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

               2.  ผู้เรียนต้องตัดสินใจในการเรียนรู้ว่าเขาอยากเรียนอะไรให้เขาวางแผนและตั้งเป้าหมายการเรียนรู้ด้วยตนเอง

              3.  ผู้เรียนจะต้องสร้างความเข้าใจด้วยตนเองจากความรู้ที่มีอยู่เดิมกับความรู้ที่เรียนใหม่

              4.  ผู้เรียนควรจะใช้วิธีการที่หลากหลายในการเรียนรู้ 

              5.  สร้างบรรยากาศในการเรียนการสอนทั้งในและนอกชั้นเรียน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

   4. เราจะมีวิธีการสอนอย่างไร

             เมื่อเราได้รู้หลักการต่างๆ ของการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือกันไปพอสังเขปแล้วนั้น คราวนี้มาถึงหลักการปฏิบัติกันบ้าง  โดยเราสามารถนำมาการเรียนรู้แบบร่วมมือมาใช้ในการเรียนการสอนได้ ซึ่งการเรียนการสอนแบบร่วมมือนี้มีเทคนิคการสอนต่างๆ อยู่ 8 เทคนิคด้วยกันดังนี้

             1. กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบ TGT (Team GamesTournaments)

                TGT เป็นกระบวนการเรียนที่เป็นการนำเสนอเนื้อหาหรือบทเรียนใหม่  รูปแบบการนำเสนออาจจะเป็นการบรรยาย  อภิปราย  กรณีศึกษาหรืออาจจะมีสื่อการเรียนรู้อื่นๆ  ประกอบด้วยก็ได้  เทคนิค TGT  จะแตกต่างจากเทคนิคอื่นๆ  ตรงที่ผู้สอนต้องเน้นให้ผู้เรียนทราบว่าผู้เรียนต้องให้ความสนใจมากในเนื้อหาสาระ  เพราะจะช่วยให้ทีมประสบความสำเร็จในการแข่งขัน  วิธีนี้เหมาะสมกับการเรียนรู้ในวิชาพื้นฐานที่สามารถถามตอบที่มีคำตอบที่แน่นนอนตายตัว  แต่ไม่เหมาะกับบางวิชา

            2. กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบ STAD (Student Teams Achievement)

                เทคนิค STAD เป็นรูปแบบการเรียนรู้แบบร่วมมืออีกรูปซึ่งเป็นเทคนิคที่สามารถใช้ได้ทั้งเด็กเล็ก และเด็กโต โดยจะแบ่งผู้เรียนที่มีความสามารถแตกต่างกันออกเป็นกลุ่มเพื่อทำงานร่วมกัน กลุ่มละประมาณ 4 – 5 คน โดยกำหนดให้สมาชิกของกลุ่มได้เรียนรู้ในเนื้อหาสาระที่ผู้สอนจัดเตรียมไว้แล้วทำการทดลองความรู้  คะแนนที่ได้จากการทดสอบของสมาชิกแต่ละคนนำเอามาบวกเป็นคะแนนรวมของทีม  โดยผู้สอนจะต้องใช้เทคนิคการเสริมแรง เช่น การให้รางวัล  คำชมเชย 

          3. กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบจิ๊กซอร์(JIG-SAW)

             เทคนิค Jig Saw เป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่เหมาะกับเนื้อหาวิชาที่ไม่ยากเกินไป  หลักในการจัดการเรียนรู้แบบนี้คือ ผู้เรียนซึ่งประกอบด้วยสมาชิกในกลุ่ม ซึ่งจะได้รับมอบหมายให้ศึกษาเนื้อหาสาระคนละ 1 ส่วน และหาคำตอบในประเด็นปัญหาที่ผู้สอนมอบหมายให้

          4. กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบ ที.เอ.ไอ.(TAI)

             เทคนิคการสอนแบบ TAI นั้น มีรูปแบบในการสอนโดยให้ผู้เรียนภายในกลุ่มจับคู่ช่วยกันทำแบบฝึกหัด โดยมีเกณฑ์การผ่านอยู่ที่ 75% ขึ้นไปถึงจะได้รับการทดสอบจากผู้สอน แต่ถ้าไม่ผ่านเกณฑ์ทีกำหนดผู้เรียนต้องกลับไปทำแบบฝึกหัดจนผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ถึงจะมีสิทธิ์รับการทดสอบ

          5. กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบ  แอล.ที (L.T)

              เทคนิคการสอนแบบ LT เป็นเทคนิคที่มีกระบวนการในการสอนที่ไม่ยุ่งยากและซับซ้อน โดยกระบวนการคือให้สมาชิกในกลุ่มช่วยกันศึกษาเนื้อหาร่วมกัน โดยกำหนดให้แต่ละคนมีบทบาทหน้าที่ช่วยกลุ่มในการเรียนรู้ และสรุปคำตอบร่วมกัน

          6. กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบ จี.ไอ.(G.I.)

             เทคนิคการสอนแบบ GI หรือ “Group Investigation” รูปแบบนี้เป็นรูปแบบที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนช่วยกันไปสืบค้นข้อมูลมาใช้ในการเรียนรู้ร่วมกัน

          7. กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบ ซี.ไอ.อาร์.ซี.(CIRC)

             รูปแบบ CIRC หรือ “Cooperative Integrated Reading And Composition” เป็นรูปแบบการเรียนการสอนแบบร่วมมือที่ใช้ในการสอนอ่านและเขียนโดยเฉพาะ รูปแบบนี้ประกอบด้วยกิจกรรมหลัก 3 กิจกรรม คือ กิจกรรมการอ่านแบบเรียน การสอนการอ่านเพื่อความเข้าใจ และการบูรณาการภาษากับการเรียน

          8. กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบคอนเพล็กซ์ (Complex Instruction )

              รูปแบบนี้เป็นรูปแบบที่คล้ายคลึงกับรูปแบบ จี.ไอ. เพียงแต่จะเน้นการสืบเสาะหาความรู้เป็นกลุ่มมากกว่าการทำงานเป็นรายบุคคล  นอกจากนั้นงานที่ให้ยังมีลักษณะของการประสานสัมพันธ์ระหว่างความรู้และทักษะหลายประเภท และเน้นการให้ความสำคัญแก่ผู้เรียนเป็นรายบุคคล โดยการจัดงานให้เหมาะสมกับความสามารถและความถนัดของผู้เรียนแต่ละคน 

          จากเทคนิคในการสอนแบบร่วมมือนั้น ซึ่งมีเทคนิคการสอนที่หลากหลายขึ้นอยู่กับว่าผู้สอนแต่ละท่านจะนำวิธีไหนไปใช้ให้เหมาะสมในการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาให้ผู้เรียนได้มีการพัฒนาทักษะทางสังคมให้ดีขึ้น คราวนี้มาดูหัวข้อต่อไปเลยนะค่ะซึ่งเป็นหัวข้อสุดท้ายแล้ว จากความรู้ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นเมื่อเราเลือกเทคนิคการสอนได้แล้วนั้น ขั้นต่อไปเราจะมาดูแผนการจัดการเรียนรู้ ซึ่งจะขอยกตัวอย่างให้ทุกคนดู บางตัวอย่างเท่านั้นนะค่ะ

    5. จากทฤษฎีสู่การปฏิบ้ติ

          จากทฤษฎีต่างๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วนั้นมาถึงหัวข้อนี้ก็ขอยกต้วอย่างแผนการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือสักตัวอย่างนะค่ะ

             ตัวอย่างแผนการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือโดยใช้เทคนิคSTAD

         แผนการจัดการเรียนรู้ที่ 2 เรื่องพืชดอกและพืชไม่มีดอก

                          กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์                                    ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5
                          หน่วยการเรียนรู้ที่ 1                                                        เวลา  2 ชั่วโมง

                         สอนวันที่............... เดือน................. พ.ศ. ...........          ภาคเรียนที่ 1

 

           จุดประสงค์การเรียนรู้

             1. จำแนกพืชในท้องถิ่นที่มีดอกและไม่มีดอกได้

             2. บอกเกณฑ์ในการจำแนกประเภทของพืชได้

             3. สำรวจ เปรียบเทียบลักษณะของพืชใกล้ตัว

          แนวความคิดหลัก 

                   พืชมีดอก  คือ  พืชที่เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว  จะออกดอกเพื่อใช้ในการสืบพันธุ์จัดเป็นพืชชั้นสูง  ได้แก่  มะม่วง  ลำไย  มะลิ  กุหลาบ  ถั่ว  พริก  อ้อย  กล้วย

                   พืชไม่มีดอก     คือ  พืชที่ตลอดการดำรงชีวิตไม่สามารถออกดอกได้  จึงไม่อาศัยดอกในการสืบพันธุ์  จัดเป็นพืชที่มีวิวัฒนาการต่ำกว่าพืชมีดอก พบได้น้อยกว่าพืชมีดอก  ได้แก่ มอส สน ปรง

          กระบวนการจัดการเรียนรู้

              1.  ขั้นสร้างความสนใจ 

              นักเรียนร้องเพลง “ดอกไม้ไทย” พร้อมกับทำท่าทางประกอบตามจินตนาการ

เพลง “ดอกไม้ไทย”

คำร้อง  สุกรี ไกรเลิศ

                           เที่ยวเดินชมอยู่ในสวน                      ดอกลำดวน  กระดังงา

                        ซุ้มราตรี  มะลิป่า                                     ดอกจำปา  หอมรวยริน

                           ดาวเรือง  กุหลาบ                           เอนทาบซ่อนกลิ่น

                        ดอกจำปี  และดอกกระถิน                           รื่นรวยรินส่งกลิ่นหอม

               2.  ขั้นนำเสนอบทเรียนทั้งชั้น

                 - ให้นักเรียนเล่าประสบการณ์การพบดอกไม้ชนิดต่างๆ โดยครูสุ่มนักเรียนบรรยายลักษณะของดอกไม้ให้เพื่อนในห้องฟัง

                 - นำภาพต้นไม้มาให้นักเรียนดูเพื่อทบทวนการเจริญเติบโตของพืชแต่ละชนิด

               3.  การเรียนกลุ่มย่อย

                   นักเรียนแบ่งกลุ่ม  กลุ่มละ 6 คน  สำรวจพืชในบริเวณโรงเรียน และจำแนกประเภทของพืชออกเป็น 2 ประเภท โดยใช้เกณฑ์จำแนกตามความคิดของนักเรียน

               4.  การทดสอบย่อย

                   ตัวแทนกลุ่มรายงานผลการสำรวจที่หน้าชั้น  ซักถามข้อสงสัย และร่วมสรุปเกณฑ์การจำแนกพืชของแต่ละกลุ่มว่าใช้เกณฑ์อะไรบ้าง

                             -  ให้นักเรียนศึกษาใบความรู้เพิ่มเติม

                             -  ครูสรุปเกณฑ์การจำแนกพืช  โดยการสืบพันธุ์  ที่นักวิทยาศาสตร์ได้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ พืชมีดอก  และพืชไม่มีดอก  หรือพืชไร้ดอก

              5.  คะแนนความก้าวหน้าของแต่ละกลุ่ม

                   ให้นักเรียนช่วยกันยกตัวอย่างพืชมีดอก  และพืชไร้ดอกที่นักเรียนเคยพบเห็นในชุมชน  แล้วนำตัวอย่างพืชดังกล่าวมาจัดป้ายนิเทศ

              6.  ขั้นประเมิน

                    -  ตรวจใบงานการสำรวจที่นักเรียนส่ง  และร่วมกันเฉลย

              7.  ทักษะกระบวนการวิทยาศาสตร์

                             -  การสังเกต

                             -  การจำแนกประเภท

                             -  การลงความเห็นจากข้อมูล

           วัดและประเมินผล

                                - ประเมินผลในระหว่างการทำกิจกรรม  โดยประเมินกระบวนการวิทยาศาสตร์การอภิปรายและการสรุปผลข้อมูล  และการมีส่วนร่วมสังเกตพฤติกรรมความสนใจ  และความกระตือรือร้น

                                - ประเมินผลหลังทำกิจกรรม  โดยประเมินจากการนำเสนอผลงาน และกรมีส่วนร่วมในการนำเสนอในรูปการจัดนิทรรศการหรือจัดป้ายนิเทศ

                                - การตรวจใบงาน

 

           สุดท้ายนี้หวังเป็นอย่างยิ่งว่าความรู้ที่ได้นำเสนอไปคงเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ชอบแสวงหาความรู้อยู่ไม่มากก็น้อยนะค่ะ แต่ถ้าใครมีข้อชี้แนะ หรือมีความรู้ที่จะนำมาแลกเปลี่ยนกัน เพื่อพูนความรู้ ให้แก่กันและกัน ก็แวะเข้ามาพูดคุยกันบ้างก็ได้นะค่ะ แล้วไว้เจอกันในครั้งต่อไป กับเนื้อหาสาระใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมแห่งการเรียนรู้ของพวกเรากันนะจ๊ะ

 

หมายเลขบันทึก: 401180เขียนเมื่อ 6 ตุลาคม 2010 11:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 12:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท