แผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2553-2557)


การส่งเสริมให้ธุรกิจประกันภัยให้เติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว จำเป็นที่จะต้องมีการกำหนดทิศทาง ร่วมถึงสร้างความเข้าใจให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้มีความเข้าใจที่ตรงกัน

นับวันการประกันภัยจะได้รับการตระหนักถึงความสำคัญเพิ่มมากขึ้น เพราะการประกันภัยทั้งการประกันชีวิตและประกันวินาศภัยถือเป็นการจัดการความเสี่ยง ที่สามารถช่วยเหลือและบรรเทาความเสียหายให้แก่บุคคลได้ นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ในเรื่องการออมและการลงทุนอีกด้วย ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐก็ได้ส่งเสริมการประกันภัยมาตลอด เมื่อเร็วๆนี้ได้มีการคลอด แผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2553-2557) ออกมา ผมขอนำเอาเนื้อหาของแผนฉบับนี้มาให้ผู้อ่านทุกท่านได้ลองศึกษากันดูครับ

 

 

ธุรกิจประกันถือได้ว่าเป็นแหล่งออมเงินระยะยาวของประชาชนที่มีสัดส่วนขนาดใหญ่ในภาพรวมตลาดทุนไทยทั้งหมด ถือเป็นภาคธุรกิจที่มีส่วนช่วยหนุนเศรษฐกิจไทย จากนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ภาคธุรกิจประกันภัยของประเทศ ทั้งธุรกิจประกันชีวิต และธุรกิจประกันวินาศภัย  เข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างหลักประกันความมั่นคงให้กับบุคคลและครอบครัว รวมไปถึงเป็นแหล่งระดมเงินออมภายในประเทศให้มากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาคนไทยใช้ประโยชน์จากการประกันภัยน้อยมากเมื่อเทียบกับต่างประเทศ

การส่งเสริมให้ธุรกิจประกันภัยให้เติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว จำเป็นที่จะต้องมีการกำหนดทิศทาง ร่วมถึงสร้างความเข้าใจให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้มีความเข้าใจที่ตรงกัน สำนักงางานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) จึงได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำแผนแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2553-2557) ขึ้น เพื่อเป็นมาสเตอร์แพลนกำหนดทิศทางของธุรกิจประกันไทย

      

       ความคืบหน้าล่าสุดแผนดังกล่าวได้นำเสนอให้คณะรัฐมนตรีทราบแล้วเมื่อ 14 ก.ย. ที่ผ่านมา เบื้องหลังของการจัดทำแผน พบว่าระบบประกันภัยไทยยังมีความท้าทายใน 4 มิติ ได้แก่

1.ความเข้าใจและการเข้าถึงระบบประกันภัยของประชาชน

2.บริษัทประกันภัยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่ทันต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป

3.ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนและบริษัทประกันภัย

4.โครงสร้างพื้นฐานด้านการประกันภัย

      

       กรอบของแผนพัฒนาฉบับที่ 2 ได้กำหนดกรอบทิศทางการพัฒนาให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและความเข้มแข็งให้กับระบบประกันภัยไทย และเป็นไปในแนวทางเดียวกับแผนพัฒนาระบบสถาบันทางการเงิน และแผนพัฒนาตลาดทุน ภายใต้วิสัยทัศน์ให้ระบบประกันภัยไทยเป็นกลไกสร้างหลักประกันความมั่นคงของสังคมทุกระดับ มีความเข้มแข็ง มีมาตรฐานสากล พร้อมรับความท้าทายในอนาคต

       

       แม้ระบบประกันภัยไทยจะมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจอย่างมาก แต่จากข้อมูลปัจจุบันพบว่าคนไทยยังมีการพึ่งพาประกันภัยอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับต่างประเทศ โดยมีสัดส่วนเบี้ยประกันภัยรับตรงต่อจีดีพีเพียง 4.07% น้อยกว่าภูมิภาคอาเซียนที่มีสัดส่วนเฉลี่ย 6% ในปี 2551 ด้านสัดส่วนการทำประกันชีวิตของครัวเรือนไทย ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสร้างความมั่นคงให้กับครอบครัวและเป็นแหล่งระดมเงินออมในประเทศ กลับมีสัดส่วนผู้ถือกรมธรรม์ต่อประชากรต่ำเพียง 25.37% เท่านั้น สรุปได้ว่าธุรกิจประกันภัยไทยยังมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับขนาดของเศรษฐกิจไทย โดยมีสาเหตุมาจาก 1.การขาดความรู้ความเข้าใจและความเชื่อมั่นของประชาชนต่อระบบประกันภัยไทย 2.การปรับตัวของธุรกิจประกันสู่การกำกับตามมาตรฐานสากล 3.โครงสร้างอุตสาหกรรม 4.โครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นของธุรกิจ 5.สถานการณ์การแข่งขันภายในที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

      

       ธุรกิจประกันภัยควรมีบทบาทมากขึ้นเพราะอะไร? ณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานคณะอนุกรรมการจัดทำแผนแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2553-2557) กล่าวว่า ในช่วง 5 ปีข้างหน้าคนไทยมีโอกาสพบความไม่แน่นอนสูงกว่าเดิม เช่น การก่อการร้าย เศรษฐกิจโลกที่ผันผวนมากขึ้น ในขณะที่ความเสียหายจากระเบิดปรมาณู สงคราม ภัยธรรมชาติเริ่มลดลง ความเสี่ยงเรื่องสิ่งแวดล้อมสูงขึ้น และประเมินได้ยาก ในขณะที่ความเสี่ยงด้านสาธารณสุขไม่สามารถประเมินความเสี่ยงได้เลย นอกจากนี้ในอนาคตรัฐบาลจะมีข้อจำกัดด้านงบประมาณมากขึ้น ในขณะที่สังคมไทยก้าวสู่ภาวะผู้สูงอายุ ซึ่งจะเป็นภาระของภาครัฐเพิ่มขึ้น และยังพบปัญหาว่าโครงสร้างรายได้และการมีงานทำของประชาชนไม่ทำให้สามารถบริหารความเสี่ยงได้เอง จึงจำเป็นที่รัฐจะต้องเข้ามามีบทบาททำให้ประชาชนมีโอกาสลดความเสี่ยงของตัวเอง ด้วยการเข้าถึงประกันภัยในราคาที่เหมาะสม

      

       จากสถิติพบว่าปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนประชากร 67 ล้านคน เป็นคนวัยทำงาน 53 ล้านคน โดยแบ่งเป็นวัยทำงานแล้วประมาณ 39 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มแรงงานที่มีประกันสังคม 9.3 ล้านคน ข้าราชการ 4.9 ล้านคน ประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งมีรายได้ไม่แน่นอน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มเกษตรกร และรับจ้างทั่วไป 24.7 ล้านคน ที่เหลืออีก 14 ล้านคน อยู่ในวัยการศึกษาและรองาน รวมเป็น 38.7 ล้านคน ซึ่งใกล้เคียง 39 ล้านคน ดังนั้น ทางภาครัฐ จึงต้องการผลักดันให้กลุ่มเกษตรกรที่มีอยู่ 24.7 ล้านคน หันมาทำประกัน เพื่อให้มีสวัสดิการสำหรับตนเองมากขึ้น ซึ่งแผนที่ 2 จะช่วยให้คนกลุ่มนี้เข้าถึงประกันภัยได้

      

       เป้าหมายตามแผนในปี 2557 ได้แก่

1.เพิ่มสัดส่วนเบี้ยประกันภัยต่อจีดีพีเป็น 6% หรือ 7 แสนล้านบาท จากเดิม 4.07%

2.เพิ่มจำนวนเบี้ยประกันภัยต่อจำนวนประชากรเป็น 7,500 บาท แยกเป็นประกันชีวิต 4,200 บาท ประกันวินาศภัย 3,300 บาท

3.เพิ่มจำนวนกรมธรรม์ประกันชีวิตต่อจำนวนประชากรเป็น 40%

4.เพิ่มจำนวนกรมธรรม์ประกันภัยแบบไมโครอินชัวรันส์จากปี 2553อีก 20%

5.บริษัทประกันทุกบริษัทมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อเงินกองทุนที่ต้องดำรงไว้ตามกฎหมายไม่ต่ำกว่า 120%

6.ลดระยะเวลาในการให้ความเห็นชอบกรมธรรม์ประกันภัย 25% จากปัจจุบันอยู่ที่ 21 วัน

7.จำนวนแบบ ข้อความกรมธรรม์ประกันภัย และอัตราเบี้ยประกันภัยที่ได้รับความเห็นชอบแบบอัตโนมัติ (File&Use) เพิ่มขึ้น 30%

8.บริษัทมีระบบงานที่เป็นมาตรฐาน ในการให้บริการประชาชนครบวงจรตามมาตรฐาน Insurance Core Principle : ICP

9.จัดทำโครงสร้างและรูปแบบการบริหารงานขององค์กรพิจารณาตัดสินข้อพิพาทด้านประกันภัย (Insurance Dispute Resolution Organization : IRDO)

10.บริษัทประกันชีวิตต้องมีนักคณิตศาสตร์ประกันภัยที่เป็นสมาชิกระดับเฟลโล 70% บริษัทประกันวินาศภัยต้องมีนักคณิตศาสตร์ประกันภัยที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด ส่วนตัวแทนประกันภัย 20% จะต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนด สามารถพัฒนาเป็นที่ปรึกษาด้านการประกันภัย (Insurance Advisor)

11.มีฐานข้อมูลกลางของธุรกิจประกันภัยครบวงจร

12.จัดทำร่างกฎหมายแม่บทว่าด้วยการประกันภัยฉบับใหม่แล้วเสร็จ

      

       จากเป้าหมายจะเห็นได้ว่าจะต้องมีการผลักดันไมโครอินชัวรันส์ให้มีบทบาทมากขึ้น เป็นประกันภัยที่สอดคล้องกับความเสี่ยงและรายได้ของประชาชนทุกระดับ นอกจากนี้คปภ. ได้แยกงานด้านคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันภัยออกจากงานสายส่งเสริม ให้ไปอยู่ในกลุ่มสายกฎหมาย เพื่อจะได้ให้บริการประชาชนรวดเร็วขึ้น พร้อมกับจัดตั้งสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง เพื่อส่งเสริมความรู้ด้านวิชาการของบุคลากรในธุรกิจประกันภัย ภารกิจทั้งหมดตามแผนฉบับที่ 2 กำหนดขึ้นเพื่อยกระดับมาตรฐานประกันภัยไทยให้มีความแข็งแกร่ง พร้อมรับมือล่วงหน้ากับการเปิดเสรีที่จะเกิดขึ้นในปี 2563 ที่อุตสาหกรรมประกันไทยจะถูกบีบให้ก้าวเข้าสู่เวทีการแข่งขันใหม่ที่ไร้พรมแดน นอกจากนี้ ในแผนพัฒนาฯ ดังกล่าว ยังกำหนดให้ปี 2557 ให้บริษัทประกันทุกแห่งแปรสภาพเป็น บริษัทมหาชน เพื่อให้เป็นบริษัทที่มีความโปร่งใส ให้ผู้ถือหุ้นเข้าไปตรวจสอบได้ด้วย ในอนาคตรัฐบาลอาจจะต้องออกพันธบัตร อายุ 5 ปี 10 ปี และ 15 ปี ประเภท  Infrastructure Fund เพื่อนำเงินมาใช้ในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของรัฐด้วย ซึ่งบริษัทประกันภัยและประกันชีวิต คือกลุ่มเป้าหมายหลักที่เข้ามาซื้อพันธบัตร

 

 

ที่มา

1.http://www.globalbusiness.co.th/index.php?option=com_content&view=article&id=472:-2--5---7-&catid=57:financial-a-insurance-news&Itemid=87

2.http://www.manager.co.th/mgrWeekly/ViewNews.aspx?NewsID=9530000138172

3.http://www.oic.or.th/upload/news/download/3155-3193-0.pdf

หมายเลขบันทึก: 400841เขียนเมื่อ 4 ตุลาคม 2010 15:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 12:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท