วิจัยชั้นเรียน


ความสำคัญวิจัยชั้นเรียน เพื่อเปลี่ยนแปลงปรับปรุงผู้เรียน

ความรู้ทั่วไปและพื้นฐานการวิจัยชั้นเรียน

การวิจัยในชั้นเรียน

                ในการออกแบบแผนการวิจัยนั้นมีองค์ประกอบที่สำคัญๆ บางส่วนที่ควรจะมี  ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้มักจะเป็นปัญหาค่อนข้างมากสำหรับผู้ที่เริ่มทำวิจัย  องค์ประกอบดังกล่าว ได้แก่

                1.  โจทย์วิจัยและคำถามการวิจัย (Research problem and question)  ถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุด  เพราะการทำวิจัยจะทำไม่ได้เลยหรือถ้าหากทำได้ก็เป็นการทำที่ผิดทิศทาง  ถ้านักวิจัยไม่มีโจทย์หรือคำถามการวิจัยที่ชัดเจน  ทั้งนี้เนื่องจากการทำวิจัยนั้นจะเริ่มจากความสงสัย การมีปัญหาใคร่รู้คำตอบเกี่ยวกับตัวแปรหรือความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร  ดังนั้นหากไม่สงสัยหรือไม่มีโจทย์เสียแล้วก็ไม่รู้ว่าจะทำการวิจัยไปเพื่ออะไร

                โจทย์วิจัยหรือปัญหาการวิจัย (Research problem)  และคำถามการวิจัย (Research question) นี้บางครั้งก็ใช้ทดแทนกันได้ในความหมายที่เหมือนกัน  แต่ถ้าจะแยกความแตกต่างแล้ว  โจทย์วิจัยหรือปัญหาการวิจัยก็จะมีการนำไปใช้ที่กว้างกว่าคำถามการวิจัย  นั่นคือ  เมื่อกำหนดโจทย์วิจัยหรือปัญหาการวิจัยได้แล้วก็นำปัญหานั้นๆ มาแยกแยะตั้งเป็นคำถามย่อยๆ ซึ่งประเด็นคำถามย่อยๆ นี้ ก็คือ คำถามการวิจัย (Research question) นั่นเอง

                2.  กรอบเชิงทฤษฎีและกรอบแนวคิด (Theoretical and conceptual framework)  ในการดำเนินงานวิจัยเรื่องใดๆ ก็ตาม  ปัญหาการวิจัยและแนวทางที่จะหาคำตอบให้กับปัญหามิได้เกิดมาบนความว่างเปล่า  หากล้วนแต่ต้องมีพื้นฐานที่มาที่จะช่วยอธิบายเชื่อมโยงระหว่างปรากฏการณ์หรือตัวแปรต่างๆ  ที่ผู้วิจัยสนใจศึกษาหาคำตอบ  ซึ่งพื้นฐานดังกล่าว ได้แก่  ทฤษฎีและข้อค้นพบบางอย่างจากงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์หรือตัวแปรที่ผู้วิจัยจะศึกษา  ถ้าทฤษฎีและข้อค้นพบจากงานวิจัย (เดิม) นี้ มีการเขียนในลักษณะเป็นรูปแบบหรือแบบจำลอง  รูปแบบหรือแบบจำลองนี้ก็คือ กรอบเชิงทฤษฎี (Theoretical framework) นั่นเอง 

                สำหรับกรอบแนวคิดการวิจัย (conceptual framework)  นั้นก็คือ  กรอบเชิงทฤษฎีที่ลดรูปลงมาเพื่อใช้สำหรับการวิจัยในเรื่องนั้นๆ  กล่าวคือ  ในขณะที่กรองเชิงทฤษฎีได้แสดงให้เห็นถึงปัจจัยหรือความสัมพันธ์ของตัวแปรทั้งหมดที่นักวิจัยต้องศึกษาที่มาจากทฤษฎีแนวคิดและผลงานวิจัยต่างๆ   ที่เกี่ยวข้อง  แต่เมื่อดำเนินการวิจัยในเรื่องดังกล่าว  นักวิจัยได้พิจารณาลดตัวแปรบางตัวลง หรือทำให้ตัวแปรบางตัวเป็นตัวแปรคงที่  จึงทำการปรับกรอบเชิงทฤษฎีใหม่ก็จะได้เป็นกรอบแนวคิดการวิจัย (conceptual framework)  สำหรับการวิจัยในเรื่องนั้นๆ

                3.ขอบเขต (Scope)  ข้อจำกัด (Limitation) และข้อตกลงเบื้องต้น (Basic assumption) จากกรณีที่นักวิจัยทำการลดรูปกรอบเชิงทฤษฎีเป็นกรอบแนวคิดการวิจัยดังในหัวข้อที่ผ่านมาก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงขอบเขต (Scope)  ของการวิจัย  นั่นคือ  ถ้าผลการวิจัยเป็นเช่นไรแล้วจะมีขอบเขตในการสรุปอ้างอิงไปสู่เฉพาะนักเรียนในกลุ่มนี้เท่านั้น  หากมีปัจจัยหรือตัวแปรที่ไม่ได้ศึกษา (ทั้งๆ ที่มีความสัมพันธ์กับปัจจัยหรือตัวแปรที่ศึกษา)  ต้องระบุเป็น ข้อจำกัด (Limitation) ของการวิจัยครั้งนี้ด้วย  นอกจากนั้นแล้วถ้านักวิจัยระบุว่าปัจจัยหรือตัวแปรที่ไม่ได้นำเข้ามาศึกษาในครั้งนี้มีผลอย่างสุ่มหรือผลคงที่กับกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้  การระบุเช่นนี้ก็เรียกว่า ข้อตกลงเบื้องต้น (Basic assumption)

                4.  กรอบการวิจัย (Research flow chart)  กรอบการวิจัยหรืออาจจะเรียกว่า กรอบวิธีดำเนินการวิจัย  หมายถึง  แผนภูมิที่เขียนขึ้นในลักษณะเป็นผังไหล (flow chart)  แสดงให้เห็นถึงขั้นตอนกิจกรรมและผลที่จะได้รับจากการดำเนินการวิจัยในแต่ละขั้นตอน  เพื่อสื่อให้ผู้อ่านงานวิจัยเกิดความคิดรวบยอด (Concept)  เข้าใจภาพรวมทั้งหมดของการดำเนินงานวิจัยในเรื่องนั้นๆ

 

เอกสารอ้างอิง
รัตนะ บัวสนธ์. (2551).  ปรัชญาวิจัย (Philosophy of Research). กรุงเทพฯ. สำนักพิมพ์แห่ง

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
อรุณี  อ่อนสวัสดิ์. (2553).  เอกสารประกอบการบรรยาย วิชา ระเบียบวิธีวิจัยขั้นสูง (390611).

พิษณุโลก. มหาวิทยาลัยนเรศวร.

 

หมายเลขบันทึก: 400140เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2010 09:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 16:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท