การเขียนเรียงความ


                         การเขียนเรียงความ

          เรียงความคือ การนำเอาคำมาประกอบแต่งเป็นเรื่องราวอาจใช้วิธีการเขียนหรือการพูด ก็ได้ การเขียน จดหมาย รายงาน ตอบคำถาม ข่าว บทความ ฯลฯ อาศัยเรียงความเป็นพื้นฐาน ทั้งนั้น ดังนั้น การเขียนเรียงความจึงมีความสำคัญ ช่วยให้พูดหรือเขียนในรูปแบบต่าง ๆ ได้ดี นอกจากนี้ก่อนเรียงเขียนความเราต้องค้นคว้า รวบรวมความรู้ ความคิด และนำมาจัดเป็นระเบียบ จึงเท่ากับเป็นการฝึกสิ่งเหล่านี้ให้กับตนเองได้อย่างดีอีกด้วย


        เรียงความเรื่องหนึ่งประกอบด้วยส่วนสำคัญ ๓ ส่วน คือ ส่วนนำ ส่วนเนื้อเรื่องและส่วนท้ายหรือสรุป ส่วนนำเรื่องจะเป็นส่วนที่แสดงประเด็นหลักหรือจุดประสงค์ของเรื่อง ส่วนเนื้อเรื่อง เป็นส่วนขยายโครงเรื่องที่วางเอาไว้ส่วนนี้จะประกอบด้วยย่อหน้าหลายย่อหน้า ส่วนท้ายของเรื่องจะเป็นการเน้นย้ำประเด็นหลักหรือจุดประสงค์

          ๑. การเขียนส่วนนำ  ดังได้กล่าวแล้วว่าส่วนนำเป็นส่วนที่แสดงประเด็นหลักหรือจุดประสงค์ของเรื่อง ดังนั้น ส่วนนำจึงเป็นการบอกผู้อ่านถึงเนื้อหาที่นำเสนอและยังเป็นการเร้าความสนใจให้อยากอ่าน เรื่องจนจบ การเขียนส่วนนำเพื่อเร้าความสนใจนั้นมีหลายวิธี แล้วแต่ผู้เขียนจะเลือกตามความเหมาะสม อาจนำด้วยปัญหาเร่งด่วน หรือหัวข้อที่กำลังเป็นเรื่องที่น่าสนใจ คำถาม การเล่าเรื่องที่จะเขียน การยกคำพูด ข้อความ หรือสุภาษิตที่น่าสนใจ บทร้อยกรอง การอธิบายความเป็นมาของเรื่อง การบอกจุดประสงค์ของการเขียน การให้คำจำกัดความ ของคำสำคัญของเรื่องที่จะเขียน  แรงบันดาลใจ ฯลฯ ดังตัวอย่าง เช่น

          ๑.๑ นำด้วยปัญหาเร่งด่วน หรือหัวข้อที่กำลังเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เช่น เดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะเดินไปทางไหน จะพบกลุ่มสนทนากลุ่มย่อย ๆ วิสัชนากันด้วยเรื่อง “วิสามัญฆาตกรรม” ในคดียาเสพติด บ้างก็ว่าเป็นความชอบธรรม บ้างก็ว่ารุนแรงเกินเหตุ หลายคนจึงตั้งคำถามว่า ถ้าไม่ทำวิสามัญฆาตกรรมกรณียาเสพติด แล้วจะใช้วิธีการชอบธรรมอันใด ที่จะล้างบางผู้ค้าหรือผู้บ่อนทำลายเหล่านี้ลงได้ในเวลาอันรวดเร็ว

          ๑.๒ นำด้วยคำถาม เช่น ถ้าถามหนุ่มสาวทั้งหลายว่า “อยากสวย” “อยากหล่อหรือไง” คำตอบที่ได้คงจะเป็น
คำตอบเดียวกันว่า “อยาก” จากนั้นก็คงมีคำถามต่อไปว่า “แล้วทำอย่างไรจึงจะสวยจะหล่อ ได้สมใจในเมื่อธรรมชาติของหลาย ๆ คนก็มิได้สวยได้หล่อมาแต่ดั้งเดิม จะต้องพึ่งพา เครื่องสำอาง หรือการศัลยกรรมหรือไร แล้วจะสวยหล่อแบบธรรมชาติได้หรือไม่ ถ้าได้ จะทำอย่างไร”

          ๑.๓ นำด้วยการเล่าเรื่องที่จะเขียน เช่น งานมหกรรมหนังสือนานาชาติจัดขึ้นเป็นประจำในวันพุธแรกของเดือนตุลาคมของทุกปีที่เมืองแฟรงเฟิร์ต ประเทศเยอรมนี สำหรับปี พ.ศ. ๒๕๔๕ นี้ นับเป็นครั้งที่ ๕๓

          ๑.๔ นำด้วยการยกคำพูด ข้อความ สุภาษิตที่น่าสนใจ  เช่น ในอดีตเมื่อกล่าวถึงครู หรือค้นหาคุณค่าของครู หลายคนคงนึกถึงความเปรียบทั้งหลายที่มักได้ยินจนชินหู ไม่ว่าจะเป็นความเปรียบที่ว่า “ครูคือเรือจ้าง” “ครูคือปูชนียบุคคล” หรือ
“ครูคือผู้ให้แสงสว่างทางปัญญา” ฯลฯ ความเปรียบเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นถึงคุณค่า ความเสียสละ และการเป็นนักพัฒนาของครู ในขณะที่ปัจจุบันทัศนคติในการมองครูเปลี่ยนไป หลายคนมองว่าครูเป็นแค่ผู้ที่มีอาชีพรับจ้างสอนหนังสือเท่านั้น เพราะครูสมัยนี้ไม่ได้อบรม ความประพฤติให้แก่ผู้เรียนควบคู่ไปกับการให้ความรู้ ไม่ได้เป็นตัวอย่างที่ดีที่จะเรียกว่า “แม่พิมพ์ของชาติ” อาชีพครูเป็นอาชีพที่ตกต่ำและดูต้อยต่ำในสายตาของคนทั่วไป ทั้ง ๆ ที่อาชีพนี้เป็นอาชีพที่ต้องทำหน้าที่ในการพัฒนาคนที่จะไปเป็นกำลังสำคัญของการพัฒนาประเทศชาติต่อไป จึงถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการทบทวนบทบาทหน้าที่คุณธรรมและอุดมการณ์ของความเป็นครูกันเสียที

          ๑.๕ นำด้วยบทร้อยกรอง เช่น

          “ความรักเหมือนโรคา
 บันดาลตาให้มืดมน
 
     ไม่ยินและไม่ยล
 อุปสรรคคะใดใด
 
     ความรักเหมือนโคถึก
 กำลังคึกผิขังไว้
 
     ก็จะโลดจากคอกไป
 บ่ยอมอยู่ ณ ที่ขัง
 
     ถ้าหากปล่อยไว้
 ก็ดึงไปด้วยกำลัง
 
     ยิ่งห้ามก็ยิ่งคลั่ง
 บ่หวนคิดถึงเจ็บกาย”
 

          (จากบทละครเรื่อง “มัทนพาธา” ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว)

          ความรักเป็นอารมณ์ธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์ มีทั้งประโยชน์และเป็นโทษในเวลาเดียวกัน ความรักที่อยู่บนพื้นฐานของความบริสุทธิ์ จริงใจและความมีเหตุผล ย่อมนำพาผู้เป็นเจ้าของความรักไปในทางที่ถูกที่ควร แต่ถ้าความรักนั้นเป็นเพียงอารมณ์อันเกิดจากความหลงใหลในรูปกายภายนอก ความชื่นชมตามกระแสและความหลงผิด ความรักก็จะก่อให้เกิดโทษ จึงมีผู้เปรียบเปรยว่า “ความรักทำให้คนตาบอด” ด้วยบทพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในเรื่องมัทนพาธา ซึ่งได้แสดงให้เห็นภาพของความลุ่มหลง อันเกิดจากความรักและทุกข์สาหัสอันเกิดจากความรักได้เป็นอย่างดี สมกับชื่อเรื่องว่า มัทนพาธาที่แปลว่า ความบาดเจ็บแห่งความรัก

          ๑.๖ นำด้วยการอธิบายความเป็นมาของเรื่อง เช่น เมื่อสัปดาห์ที่แล้วข้าพเจ้าได้ไปร่วมงานพระราชทานเพลิงศพของผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ท่านเป็นอดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัด จังหวัดหนึ่งทางภาคเหนือ ศพของท่านได้รับการบรรจุไว้ในโกศศพพระราชทาน เห็นดังนั้นแล้วทำให้ข้าพเจ้านึกถึงเมื่อครั้งยังเป็นเด็ก ข้าพเจ้าจำได้ว่าตอนข้าพเจ้าไปเผาศพคุณตา คุณยายที่บ้านสวน จังหวัดสมุทรสงคราม ศพของท่านทั้งสองก็ได้รับการบรรจุไว้ในโกศเช่นกัน ซึ่งท่านทั้งสองก็เป็นพลเรือนธรรมดา ๆ ไม่ได้เป็นข้าราชการผู้ใหญ่ เรื่องนี้คงมีหลายคนสงสัยว่าทำไมพลเรือนธรรมดา ๆ ถึงมีโกศใส่ศพกับเขาด้วย ดังนั้นเพื่อทำความกระจ่างแก่เยาวชนและผู้สนใจ ในปัจจุบันนี้อาจจะไม่เคยเห็นศพชาวบ้านที่บรรจุในโกศ ข้าพเจ้าจึงได้ค้นคว้าเรื่องนี้มาเพื่อเป็นความรู้แก่ผู้สนใจทั่วไป

          ๑.๗ นำด้วยการบอกจุดประสงค์ของการเขียน เช่น สามก๊ก ที่ผู้อ่านทั้งในประเทศจีนและในประเทศไทยรู้จักกันดีนั้นเป็นนวนิยาย ส่วนสามก๊กที่เป็นประวัติศาสตร์ มีคนรู้น้อยมาก แม้คนจีนแผ่นดินใหญ่ที่ได้เรียนจบ ขั้นอุดมศึกษามาแล้ว ก็มีน้อยคน (น้อยมาก) ที่รู้พอสมควร บทความเรื่องนี้จึงขอเริ่มต้นจาก สามก๊ก ที่เป็นประวัติศาสตร์

          ๒. การเขียนส่วนเนื้อเรื่อง  เนื้อเรื่องเป็นส่วนสำคัญที่สุดของเรียงความ เพราะเป็นส่วนที่ต้องแสดงความรู้ ความคิดเห็น ให้ผู้อ่านทราบตามโครงเรื่องที่วางไว้ เนื้อเรื่องที่ต้องแสดงออกถึงความรู้ ความคิดเห็นอย่างชัดแจ้ง มีรายละเอียดที่เป็นข้อเท็จจริงและมีการอธิบายอย่างเป็นลำดับขั้น มีการหยิบยกอุทาหรณ์ ตัวอย่าง ทฤษฎี สถิติ คำกล่าว หลักปรัชญา หรือสุภาษิต คำพังเพย ฯลฯ สนับสนุนความรู้ความคิดเห็นนั้น เนื้อเรื่องประกอบด้วยย่อหน้าต่าง ๆ หลายย่อหน้าตาม สาระสำคัญที่ต้องการกล่าวถึงเปรียบกันว่า เนื้อเรื่องเหมือนส่วนลำตัวของคนที่ประกอบด้วย อวัยวะต่าง ๆ แต่รวมกันแล้วเป็นตัวบุคคล ดังนั้นการเขียนเนื้อเรื่องถึงจะแตกแยกย่อย ออกไปอย่างไร จะต้องรักษาสาระสำคัญใหญ่ของเรื่องไว้  การแตกแยกย่อยเป็นไปเพื่อประกอบให้สาระสำคัญใหญ่ของเรื่องซึ่งเปรียบเหมือนตัวคน สมบูรณ์ในแต่ละย่อหน้า ประกอบด้วยส่วนที่เป็นเนื้อหา คือ ความรู้หรือความคิดเห็นที่ต้องการแสดงออก การอธิบาย และอุทาหรณ์คือ การอ้างอิง ตัวอย่าง ฯลฯ ที่สนับสนุนให้เห็นจริงเห็นจัง ส่วนสำนวนโวหาร จะใช้แบบใดบ้าง โปรดศึกษาเรื่องสำนวนโวหารในหัวข้อต่อไป

          ตัวอย่างการเขียนเนื้อเรื่องแต่ละย่อหน้า 

          “อ๋า” เป็นเด็กชายตัวเล็ก ๆ อายุแค่ ๑๒ ปี ครั้งที่ลืมตาดูโลกได้แค่ ๓ เดือน แม่ก็ทอดทิ้ง ไป... ส่วนพ่อนั้นไม่เคยรักและห่วงใยอ๋าเลย สิ่งเดียวที่มีค่าที่สุดในชีวิตของพ่อคือ เฮโรอีน... ย่า...ลุง ... ป้า และอา ตอกย้ำให้อ๋าฟังเสมอว่า “อย่าทำตัวเลว ๆ เหมือนพ่อแกที่ติดเฮโรอีน จนตาย” หรือ “กลัวแกจะเจริญรอยตามพ่อเพราะเชื้อมันไม่ทิ้งแถว ติดคุกหัวโตเหมือนพ่อแก” คำพูดสารพัดที่อ๋ารับฟังมาตั้งแต่ยังพอจำความได้ ซึ่งอ๋าพยายามคิดตามประสาเด็กว่า “เป็นคำสั่งสอน” …หรือ “ประชดประชัน” กันแน่...

          ชื่อเสียงวงศ์ตระกูลของอ๋าถ้าเอ๋ยไปหลายคนคงรู้จัก เพราะเป็นพวกเศรษฐีที่ค้าขาย เป็นหลักอยู่ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี มาหลายชั่วอายุคนแล้ว ปู่กับย่ามีลูกทั้งหมด ๙ คน ทุกคนร่ำเรียนกันสูง ๆ และออกมาประกอบธุรกิจร่ำรวยเป็นล่ำเป็นสัน ยกเว้นพ่อของอ๋า ซึ่งไม่ยอมเรียน .. ประพฤติตนเสียหาย ... คบเพื่อนชั่ว ...จนติดเฮโรอีน และฉีดเข้าเส้น จนตายคาเข็ม ผลาญเงินปู่กับย่าไปมากมาย ยังทำให้ชื่อเสียงวงศ์ตระกูลป่นปี้ ปู่ช้ำใจจนตาย ส่วนย่าอกตรมจมทุกข์อยู่จนทุกวันนี้ พวกลุง...ป้า และอาต่างพากันเกลียดพ่อมากและก็ลาม มาถึง “อ๋า” ซึ่งเปรียบเสมือน “ลูกตุ้ม” ถ่วงวงศ์ตระกูล (คัดจากจันทิมา “ไอ้เลือดชั่ว” คอลัมน์ อนาคตไทย ฐานสัปดาห์วิจารณ์ ฉบับที่ ๖๑ (๗๑) วันที่ ๙ - ๑๕ มิ.ย. ๓๗ หน้า ๘๘ ระดับ มัธยมศึกษาตอนต้น หลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียน พ.ศ. ๒๕๓๐) จากเนื้อหา ในย่อหน้าต่าง ๆ ข้างต้นจะแบ่งเป็นส่วนต่าง ๆ ได้ดังนี้
          ๑. คือส่วนที่เป็นเนื้อหา
          ๒. คือส่วนที่เป็นการอธิบาย
          ๓. คือส่วนที่เป็นอุทาหรณ์หรือการอ้างอิง
          ๔. คือส่วนที่เป็นตัวอย่าง

          ๓. การเขียนส่วนท้ายหรือส่วนสรุป  ส่วนท้ายหรือส่วนสรุป ส่วนปิดเรื่องเป็นส่วนที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับเนื้อหา
ส่วนอื่น ๆ โดยตลอด และเป็นส่วนที่บอกผู้อ่านว่าเรื่องราวที่เสนอมานั้นได้สิ้นสุดลงแล้ว วิธีการเขียนส่วนท้ายมีด้วยกันหลายวิธี เช่น เน้นย้ำประเด็นหลัก เสนอคำถามหรือข้อคิด สรุปเรื่อง เสนอความคิดของผู้เขียน ขยายจุดประสงค์ของผู้เขียน หรือสรุปด้วยสุภาษิต คำคม สำนวนโวหาร คำพังเพยอ้างคำพูดของบุคคล อ้างทฤษฎี หลักศาสนา หรือคำสอนและ บทร้อยกรอง ฯลฯ

          ๓.๑ เน้นย้ำประเด็นหลัก เช่น หน่วยงานของเราจะทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการที่รวดเร็ว ที่ซื่อตรง โปร่งใส ตรวจสอบได้
เช่นนี้ต่อไป แม้การปฏิรูประบบราชการจะส่งผลให้หน่วยงานของเรา ต้องเปลี่ยนสังกัดไปอย่างไรก็ตาม นั่นเพราะเราตระหนักในบทบาทของเราในฐานะ “ข้าราชการ” แม้ว่าปัจจุบันเราจะถูกเรียกว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ก็ตาม

          ๓.๒ เสนอคำถามหรือข้อคิดให้ผู้อ่านใช้วิจารณญาณ เช่น  เคราะห์กรรมทั้งหลายอันเกิดกับญาติพี่น้องและลูกหลานของผู้คนในบ้านเมืองของเรา อันเกิดจากความอำมหิตมักได้ของผู้ผลิตและผู้ค้ายาเสพติดเหล่านี้ เป็นสิ่งสมควรหรือไม่ กับคำว่า “วิสามัญฆาตกรรม” ท่านที่อ่านบทความนี้จบลง คงมีคำตอบให้กับตัวเองแล้ว

          ๓.๓ สรุปเรื่อง เช่น   การกินอาหารจืด ร่างกายได้รับเกลือเล็กน้อย จะทำให้ชีวิตจิตใจร่าเริงแจ่มใส น้ำหนักตัวมาก ๆ จะลดลง หัวใจไม่ต้องทำหน้าที่หนัก ไตทำหน้าที่ได้ดี ไม่มีบวมตามอวัยวะต่าง ๆ และเป็นการป้องกันโรคหัวใจ โรคไต หลอดเลือดแข็ง ความดันโลหิตสูง ข้ออักเสบ แผลกระเพาะอาหารและจะมีอายุยืนด้วย

          ๓.๔ เสนอความคิดเห็นของผู้เรียน เช่น   การปฏิรูปกระบวนการเรียนการสอนจะประสบผลสำเร็จหรือไม่ คงมิใช่แค่การเข้ารับการอบรมเทคนิค วิธีการสอนเพียงอย่างเดียว ยังขึ้นอยู่กับองค์ประกอบอันสำคัญยิ่งกว่าสิ่งใดคือ ตัวผู้สอน ถ้าผู้สอนมีใจและพร้อมจะรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับความ กระตือรือร้น ที่จะพัฒนาตนเองเพื่อกลุ่มเป้าหมายคือผู้เรียน การปฏิรูปกระบวนการเรียน การสอนก็จะประสบความสำเร็จได้

          ๓.๕ ขยายจุดประสงค์ของผู้เขียน ควบคู่กับบทร้อยกรอง เช่น     แม้อาหารการกินและการออกกำลังกายจะทำให้คนเราสวยงามตามธรรมชาติอยู่ได้นาน แต่วันหนึ่งเราก็คงหนีไม่พ้นวัฏจักรของธรรมชาติ คือ การเกิด แก่ เจ็บและตาย ร่างกายและ
ความงามก็คงต้องเสื่อมสิ้นไปตามกาลเวลา ฉะนั้นก็อย่าไปยึดติดกับความสวยงามมากนักแต่ควรยึดถือความงามของจิตใจเป็นเรื่องสำคัญ เพราะสิ่งที่จะเหลืออยู่ในโลกนี้เมื่อความตายมาถึงคือ ความดี ความชั่วของเราเท่านั้น ดังพระราชนิพนธ์ของพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส ในเรื่องกฤษณาสอนน้องคำฉันท์ว่า

          พฤษภกาสร
 อีกกุญชรอันปลดปลง
 
     โททนต์เสน่งคง
 สำคัญหมายในกายมี
 
     นรชาติวางวาย
 มลายสิ้นทั้งอินทรีย์
 
     สถิตย์ทั่วแต่ชั่วดี
 ประดับไว้ในโลกา


หมายเลขบันทึก: 399979เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2010 18:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 เมษายน 2012 15:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ฉันชอบนิยายแบบสรุปเนื้อหามาให้หมดเลย

ดีมากๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท