AAR เทคนิคการพูดจาอย่างสร้างสรรค์


(เป้าหมายของท่านคืออะไร แล้วท่านได้บรรลุผลตามนั้นไหม เพราะอะไร ถ้าจะต้องทำใหม่จะปรับเปลี่ยนอะไร หรือจะต้องทำอะไร?
           ขอต่อจากบันทึกที่แล้วอีกสักนิด คือหลังจากที่พวกเราได้ฟังพี่เดชา เราก็ทำ AAR (After Action Review) กันบนรถ (ระหว่างเดินทางกลับ) ปรากฎว่ามีผู้บริหารบางท่านยังไม่เข้าใจเรื่อง AAR ไม่รู้ว่าทำไม สคส. จึงชอบใช้เทคนิคนี้ เพื่อที่จะให้บรรดา “มือใหม่” เข้าใจ ผมขอทวนเรื่อง AAR สั้นๆ ว่า เป็นเทคนิคที่ สคส. ใช้เปิดประเด็นเพื่อทำให้เกิดการสนทนาที่มีคุณค่า โดยแต่ละคนที่ผ่านการทำกิจกรรมร่วมกันมา จะต้องบอกให้เพื่อนฟังว่าก่อนเริ่มงาน (หรือภารกิจ) ตนเองมีเป้าหมายอะไร และหลังจากเสร็จงานแล้วบรรลุเป้าหมายหรือไม่ อะไรที่บรรลุ (หรือเกินเป้าหมาย) อะไรที่ยังไม่ได้ หรือไปไม่ถึง เพราะอะไร ได้เรียนรู้อะไร และจะกลับไปทำอะไรต่อ แค่ไม่กี่หัวข้อนี้ ก็ทำให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกันและกันได้ค่อนข้างดี


             แต่ที่วงสนทนาทำนองนี้ยังไม่ดีเท่าที่ควร เป็นเพราะผู้บริหารบางท่านนั้นไม่ได้พูดตามโจทย์ที่กำหนดไว้ ท่านยังคงใช้การคิด แบบ Critical Thinking ในการพูดคุย ยังอดไม่ได้ที่จะวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่ผ่านมา อดไม่ได้ที่จะบอกว่า "ตรงนี้ถูกตรงนั้นผิด" ยังคงติดการพูดคุยแบบ Discussion เป็นส่วนใหญ่ ยังต้องการจะหา “คำตอบสุดท้าย” และที่ค่อนข้างอันตรายก็คือการพูดคำตอบที่ (ตัวเอง) คิดว่า “ถูกต้องสุดๆ”  เช่น คำพูดในทำนองที่ว่า . . . ผมว่าพี่เดชาแก “สุดโต่ง” จนเกินไป . . . ผมว่าการเลิกใช้ปุ๋ยเคมี เป็นสิ่งที่ต้องค่อยๆ ทำไป ไม่ใช่ “หักดิบ” อย่างที่พี่เดชาทำ . . . .


             จริงๆ แล้วสิ่งที่ผ่านมา ก็คือพี่เดชาท่าน "ได้ทำ" อะไรบางอย่าง แล้วท่านก็เล่าประสบการณ์เหล่านั้นให้พวกเราฟัง มีทั้งที่สำเร็จ (Success Case) และล้มเหลว (Lesson Learned) บางคนก็ฟังจนเพลิน คือ “IN” กับทุกอย่างที่ได้ฟัง จน “ลืมตัวลืมใจ” อีกพวกหนึ่งก็ฟังไปคิด (วิเคราะห์) ไป ซึ่งก็ “ลืมตัวลืมใจ” อีกเช่นกัน จริงๆ แล้วทุกท่านที่ฟังมีสิทธิที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ได้ เราจะใช้เทคนิคที่พี่เดชาบอกหรือไม่ก็ได้ ทุกอย่างล้วนขึ้นอยู่กับเรา สคส. แค่ใช้เรื่องงานของมูลนิธิข้าวขวัญเป็น “ตัวเดินเรื่อง” เท่านั้น ประเด็นสำคัญคือผมอยากให้ท่านได้มีโอกาส “ดูตัวเอง” ฟังเสียง(ความคิด) ตัวเอง เพราะหากท่านทำเช่นนั้นได้ การฟังของท่านจะเป็น “ปัจจุบัน” มากยิ่งขึ้น ท่านจะฟังกันได้ “ลึกซึ้ง” มากยิ่งขึ้น การฟังอย่างที่เราเคยชินนั้นมักจะเป็นการฟังอย่าง "มีกรอบ" ครอบอยู่ หรือฟังอย่างพร้อมสู้ป้องกันตัวเอง คือ “ตั้งการ์ด” ไว้ตลอดเวลา


             AAR ถือว่าเป็นเทคนิคหนึ่งที่ทำให้ได้เราได้พูดจากันอย่างสร้างสรรค์ โดยให้ยึดมั่นอยู่กับโจทย์เหล่านั้น (เป้าหมายของท่านคืออะไร แล้วท่านได้บรรลุผลตามนั้นไหม เพราะอะไร ถ้าจะต้องทำใหม่จะปรับเปลี่ยนอะไร หรือจะต้องทำอะไร?) จะได้ไม่เฉไฉออกไปนอกทางอย่างที่เราชอบพูดคุยกัน !
หมายเลขบันทึก: 399738เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2010 09:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 00:40 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

อาจารย์ครับ  อ่านแล้วทำให้นึกถึงข้อธรรมะ จากผู้ปฏิบัติธรรมท่านหนึ่ง บอกว่า

      เสียงที่ดังที่สุด...คือ...เสียงที่เงียบจากการเอาเรื่อง

ท่านอาจารย์สรุปแล้วอ่านได้เนื้อความที่ชัดเจนคะ ปกติคนเรามักเอาตนเองเป็นตัวตั้ง

มีนิสสัยอยู่อย่างคือฟังเพื่อวิจารณ์ บางคนก็ฟังเพื่อหาข้อขัดแย้งความคิดคนอื่น

การทำ AAR เป็นการสรุปผลอย่างเป็นกระบวนการภายใต้กรอบวิสัยอย่างสร้างสรรค์

นับเป็นความรู้ความเข้าใจที่มีประโยชน์มากที่ได้จากการสนทนาคะ

ขอบคุณมากคะ

ผมว่าถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ก็ไม่ควรทำ AAR บนรถ (บัส) เพราะนอกจากจะฟังกันไม่ค่อยชัดแล้ว ยังไม่ได้เห็นสีหน้าท่าทางผู้พูดผู้ฟังอีกด้วย กลายเป็นวงพูดคุยที่ไม่ได้ให้ความสนใจกันเท่าไหร่ ทำให้ไม่มีพลังเท่าที่ควร

ได้ความรู้เยอะเลยค่ะ ขอบคุณค่ะ

g8injv'8bfg]-

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท