shukur2003


ข้ามพ้นชาตินิยม ‘ไทย-มลายู
ข้ามพ้นชาตินิยม ‘ไทย-มลายู’ พิมพ์ ส่งเมล์
วันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน 2005 16:58น.

ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

thumb_dscn0778.jpg

อับดุชชะกูร์ บินชาฟิอีย์  ดินอะ
[email protected]
ผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ
ต.สะกอม  อ.จะนะ จ.สงขลา

          ด้วยพระนามของอัลลอฮ์  ผู้ทรงเมตตากรุณาปราณีเสมอ     มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิพระองค์ผู้ทรงอภิบางแห่งสากลโลก  ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสดามูฮัมมัด  และผู้เจริญรอยตามท่านสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกคน

เหตุการณ์ความรุนแรงภาคใต้

           นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ทั้งการปล้นปืนค่ายทหาร การสังหารพระภิกษุและสามเณร กรณีกรือเซ๊ะ การหายตัวของทนายสมชาย นีละไพจิตร การสลายการชุมนุมที่อำเภอตากใบ การสังหารนาวิกโยธิน 2 คนที่ตันหยงลิมอร์  ความตายรายวันของผู้นำชุมชนมุสลิม อุสต๊าซและโต๊ะครู การลอบสังหารเจ้าหน้าที่รัฐระดับล่าง จนถึงการฆ่าพระและเผาวัดพรหมประสิทธิ์เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2548 
กล่าวได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในพื้นที่กับเจ้าหน้าที่ของรัฐถูกกระทบกระเทือนอย่างถึงที่สุด  ขณะที่ความรู้สึกซึ่งผู้คนนอกพื้นที่มีต่อคนต่างศาสนา ต่างเชื้อชาติ ต่างวัฒนธรรม ก็อยู่ในจุดที่อันตราย

         พูดให้สั้นที่สุด  เรากำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ต่างฝ่ายต่างสูญเสียความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน  ทุกฝ่ายคิดว่าอีกฝ่ายคือ “ฝ่ายตรงข้าม” ที่เป็นฆาตกรโหดร้าย 

          เจ้าหน้าที่ไม่เชื่อใจมลายูมุสลิม  มุสลิมหวั่นระแวงว่าไทยพุทธจะมองในแง่ร้าย ไทยพุทธสงสัยความบริสุทธิ์ใจของมลายูมุสลิม  มุสลิมสูญเสียความเชื่อมั่นในความเที่ยงธรรมของฝ่ายบ้านเมือง ฯลฯ ซึ่งหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป  สายสัมพันธ์ระหว่างคนทุกฝ่ายในสังคมก็คงพังลงไปอย่างไม่มีชิ้นดี

         ในระดับปัจเจกชนนั้น เมื่อพูดว่าเราไม่ไว้เนื้อเชื่อใจใคร นั่นก็แสดงถึงภาวะของความไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร มีพื้นฐานจิตใจ, วิถีชีวิต  และความคิดความเชื่อ  แตกต่างจากเราขนาดไหน  ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจจึงเริ่มต้นจากความ “ไม่รู้” ที่บานปลายจนเห็นคนอื่นเป็น “คนแปลกหน้า” ถึงขั้นที่หวาดระแวงอย่างลึกซึ้ง   ขณะที่ในระดับสังคมนั้น  ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจก็แสดงถึงความหมางเมินเหินห่าง เป็นร่องรอยของความไม่ผสมกลมเกลียวระหว่างคนแต่ละฝ่ายในสังคม

          หลังจากนั้นคณะสงฆ์จังหวัดปัตตานีได้ออกแถลงการณ์จำนวน 20 ข้อเรียกร้องให้รัฐบาล แก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยหนึ่งในข้อเรียกร้องดังกล่าวมีการเสนอให้ยุติบทบาทการทำงานของ“คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ”หรือ(กอส.)รวมอยู่ด้วย เนื่องจากเห็นว่าไม่มีความเป็นกลางโดยมักเข้าข้างและเห็นใจกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบและมุสลิม

         หลังแถลงการณ์อันเป็นที่มาของกระแสความสนใจต่อปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะผลกระทบต่อพระสงฆ์ และชาวไทยพุทธ  ที่สำคัญเป็นแรงขับขับเคลื่อนให้คณะสงฆ์จังหวัดนราธิวาสมีมติยอมรับพร้อมทั้งได้ประสานไปยังคณะสงฆ์จังหวัดยะลา เพื่อร่วมกันรับรองว่าแถลงการณ์ของคณะสงฆ์จังหวัดปัตตานีถือเป็นแถลงการณ์ร่วมกันของคณะสงฆ์3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

       ปรากฏการณ์ดังกล่าวนับเป็นบทสะท้อนความรู้สึกพระสงฆ์3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อบทบาทการแก้ปัญหาความไม่สงบของรัฐบาล 

          จากความคิดของคณะสงฆ์ดังกล่าวย่อมสะท้อนความตึงเครียด ความหวาดระแวง ความไม่ไว้วางใจกันจนนำไปสู่ความแค้นระหว่างประชาชนมุสลิม-พุทธ(หรือผู้นำศาสนาบางคนทั้งพุทธ-มุสลิม) จนในที่สุดต้องระเบิดอารมณ์การแก้ปัญหาด้วยความรุนแรงซึ่งในสังคมพุทธก็จะมองว่าประชาชนและผู้นำชาวพุทธ(บางคน) โดนผู้ก่อการมุสลิมรังแกก่อนในขณะประชาชนและผู้นำมุสลิม(บางคน)ก็โดนเจ้าหน้าที่พุทธร่วมมือกับชาวพุทธบางคนรังแกและทำร้ายมุสลิมก่อน

ความสัมพันธ์ เหตุการณ์ความรุนแรงในโลกและในประเทศ   

          เป็นที่ประจักษ์มาตลอดหนึ่งปีครึ่งที่ผ่านมาเป็นสิ่งยืนยันบ่งบอกให้เป็นที่เข้าใจได้ไม่ยากว่าวิกฤตการณ์ใน 3-4 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะยืดเยื้อและทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ในต่างประเทศก็เช่นกัน เช่น กรณีระเบิดรถไฟใต้ดินสามแห่ง และรถประจำทางสองชั้นคันหนึ่งในกรุงลอนดอนเมื่อช่วงเวลารีบด่วนสายวันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม 2548 ทำให้มีผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตจำนวนมากและบาดเจ็บอีกเกือบพันคน และเหตุการณ์ระเบิดรถไฟใต้ดินและรถประจำทาง 4 จุด เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2548 กำลังสร้างความไม่พอใจของคนอังกฤษต่อมุสลิมในประเทศอังกฤษจำนวนมาก จนทำให้เกิดการทำลายศาสนสถาน มัสยิดหรือแม้กระทั่งคนมุสลิมเองรู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินหรือแม้กระทั่งเหตุการณ์ก่อร้ายทำลายผู้บริสุทธิในประเทศมุสลิมเอง(อย่างเหตุการณ์ก่อการร้ายที่ชัรมุลชัค์ประเทศอียิปต์)

        ใครที่เป็นมุสลิมจะถูกจับตามองเป็นพิเศษจากตำรวจและหน่วยสืบราชการลับ

        เหตุการณ์เหล่านี้เคยเกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา หลังเหตุการณ์ 11 กันยายน หรือแม้กระทั่งคนมุสลิมเองรู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินและกำลังเกิดความรู้สึกเช่นนี้เช่นเดียวกันกำลังประสบในความคิดของคนไทยส่วนหนึ่งหลังวิกฤตการณ์ใน 3-4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยืดเยื้อและทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น 

       คำว่ามุสลิมหัวรุนแรง กลุ่มก่อร้ายมุสลิม เครือข่ายก่อการร้ายมุสลิมสากลถึงแม้มุสลิมส่วนใหญ่ยอมรับไม่ได้เมื่อสื่อไทยหรือเทศรายงานข่าวหลังเหตุการณ์ก่อการร้าย แต่สิ่งหนึ่งที่มุสลิมเองจะต้องยอมรับคือ มีมุสลิมส่วนหนึ่งจริงๆ (ส่วนน้อยของประเทศไทยหรือทั่วโลก) เป็นผู้ปฏิบัติการ
สุดท้ายผู้ที่ได้รับอานิสงส์และผลกระทบอย่างรุนแรงคือมุสลิมส่วนใหญ่ผู้รักสันติ (แนวคิดสายกลาง) ไม่ว่าจะเป็นผู้รู้ด้านศาสนา อุสตาซ ครู วัยรุ่น เด็กและสตรี สรุปง่ายๆ คือทุกคนที่เป็นมุสลิม

     สิ่งที่เห็นได้ชัดจากการประกาศสงครามปราบปรามการก่อการร้ายของสหรัฐคือชีวิต และทรัพย์สินของชาวอัฟกานิสถานและอิรักซึ่งไม่ทราบว่ามุสลิมประเทศใดจะเป็นรายต่อไป ไม่ว่าความรุนแรงจะมีสาเหตุมาจากที่ใดแต่มุสลิมส่วนใหญ่ผู้รักสันติ (แนวคิดสายกลาง โดยเฉพาะบรรดาผู้รู้ด้านศาสนา) จะต้องรีบออกมาแก้ปัญหาของตนอย่างเร่งด่วนก่อนที่ชีวิตและทรัพย์สินจะคืบคลานเข้ามาสู่ตัวเอง

         ชัยคฺ ดร.ยุซุฟ อัลก็อรฏอวีย์ (ชาวอียิปต์) ประธานของสหภาพนักปราชญ์มุสลิมนานาชาติ (IAMS) กล่าวว่า ปัจจัยต่างๆ ของปรากฏการณ์ความรุนแรง

1.การขาดแนวคิดสายกลาง เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องให้แนวคิดอิสลามสายกลางเป็นที่แพร่หลายในหมู่คนหนุ่มสาว เพื่อที่พวกเขาจะพบวิถีทางที่ถูกต้องแทนที่พวกเขาจะทำตัวไม่เปิดเผย ซึ่งการขาดแนวคิดเช่นนี้ได้เปิดโอกาสให้แนวคิดสุดโต่งแทรกเข้ามา

2.การขาดอุละมาอฺ(นักปราชญ์อิสลามศึกษา) ที่แท้จริง ซึ่งสามารถให้ความเชื่อมั่น (ต่อแนวทางสายกลาง) ด้วยหลักฐานที่มาจากอัลกุรอานและซุนนะฮฺ (วจนศาสดา) พวกเขาได้หายไปจากสนามแห่งนี้ จึงเปิดโอกาสให้กับผู้ที่ขาดคุณสมบัติ ที่ถูกเรียกว่าอุละมาอฺซึ่งทำงานเพื่อผู้ที่มีอำนาจ    ดังนั้น คนหนุ่มสาวจึงสูญเสียความเชื่อมั่นไป และได้ตั้งตัวพวกเขากันเองให้เป็นชัคย์ (คือเป็นโต๊ะครูหรือนักปราชญ์อิสลามศึกษา) ในการฟัตวา (วินิจฉัยหลักศาสนา) ประเด็นปัญหาที่ซับซ้อน

3.การแพร่กระจายของความชั่วร้ายและเพิ่มขึ้นของการกดขี่ในสังคมเป็นเหตุผลที่สร้างความไม่พอใจอย่างรุนแรง

แนวคิดของมุสลิมสายกลาง

          แนวคิดสายกลางในที่นี้หมายถึงแนวคิดที่เข้าใจหลักการและเป้าหมายของศาสนาอิสลามอย่างถูกต้องและใช้แนวคิดสันติวิธีในการแก้ปัญหา

           อัลลอฮได้ตรัสความว่า                และในทำนองเดียวกัน เราได้ให้พวกเจ้าเป็นประชาชาติสายกลาง เพื่อพวกเจ้าจะได้เป็นสักขีพยานแก่มนุษย์ทั้งหลาย และศาสดาก็จะเป็นสักขีพยานแก่พวกเจ้า (ซูเราะฮอัล บะกอเราะฮฺ 2:143)
 
           จงกล่าวเถิด(มุฮัมมัด) ว่าบรรดาผู้ได้รับคัมภีร์ทั้งหลาย! จงอย่าปฏิบัติให้เกินขอบเขตในศาสนาของพวกท่าน  โดยปราศจากความเป็นจริง และจงอย่าปฏิบัติตามความใคร่ใฝ่ต่ำของพวกหนึ่งพวกใดที่พวกเขาได้หลงผิดมาก่อนแล้ว  และได้ทำให้ผู้คนมากมายหลงผิดด้วย และพวกเขาก็ได้หลงผิดไปจากทางอันเที่ยงตรง (ซูเราะฮอัล มาอิดะฮฺ 5:77)
 
           มุสลิมถูกเรียกว่า อุมมะตัน วะสะฏ็อน(ประชาชาติสายกลาง) นักอรรถาธิบายอัลกุรอานได้อธิบายคำว่า “วะสัฏ” (ในภาษาอาหรับแปลว่ากลาง) คือ “ความสมดุลที่เที่ยงตรง”   “สิ่งที่ดีที่สุด” (คิยารฺ หรือ คอยรฺ) ท่านยูซุฟ อลี ได้กล่าวว่า “สารัตถะแห่งอิสลามคือการหลีกเลี่ยงจากความเลยเถิดไม่ว่าด้านใดก็ตาม อิสลามเป็นศาสนาที่เรียบง่ายและสามารถปฏิบัติได้จริง”(เชิงอรรถที่ 143 ของอายะฮฺ : ซูเราะฮอัล บะกอเราะฮฺ 2:143 )

         อัลลอฮฺ ได้ทำให้อุมมะฮฺ(ประชาชาติ)นี้เป็นอุมมะฮฺสายกลาง ดังนั้น มุสลิมต้องดำเนินตามทางสายกลาง ทางซึ่งไม่มีการสุดโต่งหรือความเลยเถิดใดๆ เป็นวิถีทางที่จะต้องมีการเข้ามาร่วมกันเป็นความสมดุลที่ประสานกลมกลืน

      จากความรุนแรงของโลกและจังหวัดชายแดนภาคใต้มุสลิมสายกลางโดยเฉพาะอุละมาอ์ของไทยและโลกจะต้องเป็นผู้นำในการแก้ปัญหาและควรมีจุดยืนดังนี้

(1) สร้างมหาประชามติปฏิเสธการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา

(2) แสดงอุดมการณ์อิสลามเพื่อสันติภาพอย่างเข้มข้น

(3) ศึกษาและเผยแผ่ทรรศนะอิสลามที่ถูกต้องเกี่ยวกับการอยู่ร่วมกับต่างศาสนิกอย่างสันติและความสมานฉันท์ในสังคมที่มีความหลากหลาย 
 
 สิ่งหนึ่งทีทุกคนควรยอมรับในขณะนี้มีดังนี้

 1.ความไม่สงบมีผลกับทุกคนไม่ว่าจะเป็นผู้ก่อการ   รัฐ  ผู้นำศาสนาและ ประชาชนผู้บริสุทธิ 

 2.เป็นที่ทราบกันดีว่าเยาวชนในวันนี้ไม่มีส่วนร่วมกับอดีตประวัติศาสตร์ชาติไทย  ถึงแม้ว่าในอดีตจะสร้างให้คนหลายๆ คนเป็นวีรบุรุษ    หลายๆ คนเป็นอาชญากร  ในอดีตของการเกิดประเทศไทยยุคปัจจุบันมีหลายรัฐ  หลายเชื้อชาติ  ต่อสู้กันผลัดกันแพ้ ผลัดกันชนะ     ปัจจุบันทุกคนต้องยอมรับความจริง ประเทศไทยยุคปัจจุบันมีคนหลากเชื้อชาติ เพราะฉะนั้นบรรพบุรุษแต่ละคนอาจต่างกัน    อาจมาจากแผ่นดินอื่น อาจมีการผสมผสานทางเชื้อชาติกัน  ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ความผิดของคนปัจจุบัน

 3. คนทุกคนไม่ว่าจะแตกต่างด้านศาสนาและเชื้อชาติแต่ทุกคนมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือความเป็นมนุษย์   มนุษย์ทุกคนมีเกิด  แก่  เจ็บ  ตาย มีร้อน  มีหนาว  มีสุขและทุกข์เหมือนกัน ในภาวะปัจจุบันเราจะต้องมองข้ามในอัตลักษณ์ของตนเอง เราจะต้องมองว่ามนุษย์ทั้งโลกเป็นพี่น้องกัน

       ศาสนาอิสลามและคริสต์มองว่ามนุษย์ทั้งโลกมาจากพ่อและแม่คนเดียวกันคืออดัมและอีฟ

         ที่สำคัญมุสลิมโดยเฉพาะเยาวชนหรือเปอมูดอลองถามตัวเองซิว่าพระเจ้าทรงส่งศาสดามาเพื่อประทานความเมตตาแก่ใคร?

      มิใช่พระเจ้าทรงส่งศาสดามาเพื่อประทานความเมตตาแก่ประชาชาติและสรรพสิ่งทั้งโลกหรือ?     ความเมตตามิใช่เฉพาะมุสลิมอย่างเดียวหรือแม้กระทั่งมนุษย์อย่างเดียวเพราะคำว่าสรรพสิ่งนั้นคือทุก สิ่งทั้งมีชีวิตและไม่มีชีวิต(โปรดดูอัลกุรอาน ซูเราะฮอัลอัมบิยาอฺ  21 : 107)
 
         เพราะฉะนั้นวิธีการสร้างความสมานฉันท์ของคนในพื้นที่และสำหรับชนรุ่นใหม่อย่างถาวรคือศาสนเสวนามุสลิม-พุทธ  หรือสานมลายู-กับมิใช่มลายูในพื้นที่ชายแดนใต้และที่สำคัญคือการสานเสวนาที่มองข้ามของความเป็นเชื้อชาติและศาสนาของตนเองโดยมองทุกคนคือเพื่อนร่วมโลกหรือมนุษย์ทั้งโลกเป็นพี่น้องกันและที่สำคัญเราควรรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง หรือมองเพื่อนมนุษย์ทุกเชื้อชาติภาษาศาสนาและวัฒนธรรมว่าเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตายที่พึงมีเมตตาธรรมต่อกัน

        เพราะหากไม่รีบทำอาจจะนำไปสู่สงครามระหว่างศาสนา-เชื้อชาติได้ในที่สุด

         หวังว่าศาสนธรรมและสันติธรรมไม่ใช่เป็นเพียงเป้าหมายเท่านั้น แต่เป็นวิถีทางที่สำคัญในการอยู่ร่วมอย่างสันติ และขอดุอาอ์(พร)จากอัลลอฮ ซุบฮานะฮุ วะ ตะอาลาโปรดทรงรวมพลังของพวกเราให้อยู่บนทางนำ และรวมหัวใจของพวกเราอยู่บนความรักฉันท์พี่น้อง และความมุ่งมั่นของพวกเราอยู่บนการงานที่ดี และขอทรงทำให้วันนี้ของพวกเราดีกว่าเมื่อวาน และให้พรุ่งนี้ของพวกเราดีกว่าวันนี้

         แท้จริงพระองค์นั้นเป็นผู้ทรงได้ยินและทรงอยู่ใกล้และนำความสงบสุขสู่จังหวัดชายแดนใต้และประเทศชาติทั้งมวลด้วยเทอญ

คำสำคัญ (Tags): #วัฒนธรรมศึกษา
หมายเลขบันทึก: 39925เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2006 22:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท