อรกิตติ์
นางสาว อรกิตติ์ พานิชยานุสนธิ์

คน: สินค้าไทยที่ต้องพัฒนา


คน: สินค้าไทยที่ต้องพัฒนา
คน: สินค้าไทยที่ต้องพัฒนา

               

                การเปิดการค้าเสรี หรือ Free Trade Area นั้นเป็นการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศคู่สัญญา ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายสินค้าระหว่างประเทศคู่สัญญาอย่างเสรี (Goods Free Movement) ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์โดยตรงคือ ผู้บริโภค เพราะเมื่อมีการเข้ามาของสินค้าต่างชาติ ก็จะก่อให้เกิดการแข่งขัน ทำให้สินค้ามีราคาถูกลง และมีการพัฒนาตัวสินค้ามากขึ้น ซึ่งถ้ามองในด้านดีก็เท่ากับทุกคนในประเทศคู่สัญญาเป็นผู้ได้ประโยชน์ เพราะทุกคนคือ ผู้บริโภค แต่แน่นอนว่าการเปิดตลาดเสรีสินค้าย่อมมีผลกระทบต่อบุคคลบางกลุ่ม โดยเฉพาะกับบุคคลที่เป็นผู้ประกอบการ ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากการเข้ามาของสินค้าจากต่างประเทศ ทำให้ต้องมีการปรับตัวเพื่อให้สามารถแข่งขันกับสินค้าที่เข้ามาได้

            นอกจากเหตุผลดังกล่าวที่ไทยต้องปรับตัวพัฒนาสินค้าภายในประเทศแล้ว เหตุผลอื่นเช่น การที่ไทยต้องเผชิญกับการกีดกันทางการค้าทางอ้อม โดยการใช้มาตรฐานสินค้าเข้ามาเกี่ยวข้องของบางประเทศคู่สัญญาย่อมเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยต้องทำการพัฒนาสินค้าในประเทศ

                การพัฒนาตัวสินค้าของประเทศให้ดี หรือดีกว่าประเทศอื่นเป็นสิ่งที่ทุกประเทศต้องการ สิ่งแรกและเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ต้องพิจารณาในการพัฒนา คือ พื้นฐาน นั้นคือความคิดสร้างสรรค์ หรือ ความรู้ของคนในประเทศ ดังนั้นการพัฒนาคนจึงเป็นสิ่งที่ต้องกระทำ โดยต้องให้การศึกษาไม่ใช่จะมุ่งเน้นเพียงทางด้านวิชาการเท่านั้นแต่รวมถึงการให้ความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านด้วย เพราะตัวคนในประเทศนอกจากเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาสินค้าแล้ว ยังเป็นตัวสินค้าของประเทศประเภทหนึ่งอีกด้วย ดังนั้นการพัฒนาคนจึงเป็นการพัฒนาสินค้าประเภทหนึ่ง ในปัจจุบันนี้ประเทศไทยมีการพัฒนาด้านคนน้อย คนไทยส่วนมากยังคงเป็นแรงงานประเภท แรงงานไร้ฝีมืออยู่ ทำให้การพัฒนาตัวสินค้าของไทยยังคงต้องตามต่างชาติตลอด เพราะไม่มีบุคลากรที่จะคิดค้นพัฒนาด้วยตนเอง แทนที่รัฐจะนำงบประมาณส่วนใหญ่มาพัฒนาตัวบุคคล ซึ่งจะให้ผลกำไรในระยะยาว กลับนำงบประมาณไปใช้ในการพัฒนาประเทศในทางวัตถุซึ่งมีผลเพียงระยะแรก หรือเฉพาะหน้าเท่านั้น และการพัฒนาตัวบุคคลนี้ยังจะนำไปสู่การพัฒนาสินค้าอื่นๆอีกด้วย

ประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาคือ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ 2542 ซึ่งกำหนดชั้นการศึกษาที่เด็กไทยจะต้องจบ โดยไม่ได้คำนึงถึงความเป็นจริงในเรื่อง ความเหมาะสมของเนื้อหา ความพร้อมของอาจารย์ที่สอน หรือความพร้อมของตัวเด็กที่จะเรียนเอง ดังนั้นประเทศไทยควรมีการวางรากฐานการพัฒนาตัวบุคคลให้มีความพร้อมมากกว่านี้ โดยพิจารณาเป็นองค์ประกอบได้หลายองค์ประกอบ

องค์ประกอบแรกสำคัญที่ต้องพัฒนา คือ ตัวของเนื้อหา หรือบทเรียน รัฐควรจัดเนื้อหาบทเรียนให้เหมาะสม และสามารถทำให้บรรลุผลสำเร็จในการผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพได้จริง เนื้อหาควรเป็นการสอนให้มีความคิดสร้างสรรค์ภายใต้ฐานความรู้ที่มั่นคง ไม่ใช่สอนเพียงให้ท่องจำตามบทเรียนเพื่อสอบให้ผ่านชั้นเรียนเท่านั้น การกำหนดตัวเนื้อหาบทเรียนก็ควรจะมีการพิจารณาเป็นรายปีไป เพื่อให้ตัวบทเรียนมีความทันสมัยและนำไปใช้ได้จริง

องค์ประกอบต่อมาคือ ตัวครูอาจารย์ ปัญหาองค์ประกอบข้อนี้มีด้วยกัน สองประการ

ประการแรก ปัญหาคุณภาพของตัวบุคคล คือครูอาจารย์ในประเทศไทยปัจจุบันนี้ถึงแม้จะเห็นว่ามีคุณภาพดีขึ้น แต่เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วจะเห็นได้ว่ายังด้อยกว่า ตัวครูอาจารย์นอกจากต้องมีความรู้ในทางวิชาการดีแล้ว ก็ต้องมีความรู้ในเรื่องรอบตัว เพื่อให้สามารถพัฒนาตนเองให้ทันยุคสมัยได้ รวมทั้งต้องมีจิตสำนึกในทางศีลธรรม เพื่อจะได้สามารถสอนและยกระดับจิตใจของผู้เรียนด้วย

ประการที่สอง คือปัญหาการที่บุคคลที่มีความรู้ความสามารถไม่สนใจที่จะประกอบวิชาชีพเป็นครูหรือ อาจารย์ ทำให้เป็นปัญหาต่อเนื่องไปยังปัญหาข้อแรกคือ ทำให้ขาดบุคลากรที่มีคุณภาพในวิชาชีพนี้ ซึ่งปัญหาข้อนี้ก็เกิดได้จากหลายเหตุผล เหตุผลที่สำคัญคือ ค่าตอบแทนที่ผู้ประกอบอาชีพเป็นครูอาจารย์จะได้ค่าตอบแทนน้อยกว่าเมื่อเทียบกับอาชีพอื่น และคนไม่ค่อยมองเห็นความสำคัญของวิชาชีพครูอาจารย์ เนื่องจากเป็นอาชีพที่ไม่ได้สร้างผลประโยชน์ที่เป็นตัวเงินโดยตรงให้กับองค์กร หรือคือตัวสถานศึกษาเอง ทั้งที่ในความเป็นจริงวิชาชีพครูอาจารย์เป็นวิชาชีพที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นผู้ผลิตคนซึ่งเป็นพื้นฐานของสังคม จึงถือว่าเป็นผู้ที่สร้างผลประโยชน์ระยะยาวอย่างมหาศาลจนไม่สามารถตีค่าได้ นอกจากนี้การจัดหาสวัสดิการให้กับเหมาะสมก็เป็นสิ่งสำคัญ

องค์ประกอบต่อมาคือ ความพร้อมของผู้เรียน บางครั้งผู้เรียนอยากจะเรียนแต่ขาดโอกาส เนื่องจากขาดเงินทุน ในปัจจุบันนี้ประเทศไทยถือมีทุนการศึกษาเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะทุนทางด้านวิชาการ เช่น ทุนวิจัย ส่วนทุนทางด้านการศึกษาเฉพาะด้านก็มีมากขึ้น แต่ก็ยังคงมีอยู่จำกัด ยังต้องมีการสอบแข่งขัน เพราะฉะนั้นจึงหมายความว่าคนที่เรียนไม่ได้เก่งมาก จะหมดโอกาสในการศึกษาต่อ เนื่องจากไม่สามารถสอบชิงทุนได้ ซึ่งจริงๆแล้วบุคคลนั้นอาจมีศักยภาพเพียงพอที่จะเรียนได้ แต่ทุนมีจำกัด จึงต้องเลือกให้คนที่เก่งที่สุดเท่านั้น ดังนั้นปัญหาทุนการศึกษายังเป็นปัญหาใหญ่ของการพัฒนาคนของประเทศไทย ด้านทุนทางวิชาชีพก็ยังมีไม่เพียงพอที่จะผลิตแรงงานมีฝีมือออกมาในตลาด

หรือบางครั้งการที่ผู้เรียนขาดอุปกรณ์การเรียน เพราะ โรงเรียนขาดงบประมาณก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหา ต้องเป็นที่ยอมรับกันว่าในปัจจุบันนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปการศึกษาเรียนรู้ก็ต้องตามให้ทัน การที่โรงเรียนยังขาดอุปกรณ์การสอนที่จะทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้จริงโดยตรง ทำให้เกิดปัญหา จริงๆไม่ต้องมองไปถึงอุปกรณ์ที่ทันสมัย เพราะเพียงอุปกรณ์การศึกษาธรรมดาที่จำเป็นต่อการเรียน เช่น หนังสือ สมุด ดินสอ เด็กหรือผู้เรียนในประเทศไทยก็ยังขาดแคลน

ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่เป็นปัญหาหลักที่มีผลต่อการพัฒนาตัวบุคคล ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ คนเปรียบเหมือนวัตถุดิบในการผลิต ถ้าวัตถุดิบไม่มีคุณภาพไม่ว่าจะผลิตสินค้าอะไร สินค้านั้นก็คงไม่มีคุณภาพ แต่หากมีวัตถุดิบที่ดี เพียงใส่กระบวนการผลิตเล็กน้อยย่อมสามารถสร้างสินค้าที่มีคุณภาพ และสร้างมูลค่าให้กับสินค้านั้นได้
คำสำคัญ (Tags): #ความพร้อมก่อนfta
หมายเลขบันทึก: 39924เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2006 22:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 17:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท