ตาเหลิม
นาย วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์

35. เร่ร่อน แต่ไม่ไร้หัวใจ


เร่ร่อน แต่ไม่ไร้หัวใจ

เรื่องนี้ เป็นบทเรียนการทำงาน ความรู้สึก ความคิดเห็นของคนทำงาน

บางส่วน คัดย่อมาจากบทเรียนขององค์กรเครือข่ายที่ทำงานภายในโครงการ เสริมสร้างศักยภาพองค์กร ในการส่งเสริมการป้องกันเอชไอวี/เอดส์ ในกลุ่มเยาวชนกลุ่มเปราะบาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

เป็นเรื่องการทำงานกับเยาวชนเปราะบางเร่ร่อน และด้อยโอกาส

เนื้อหาบางส่วนมาจากการสัมภาษณ์ของผม(เล็กน้อย)

อีกส่วนหนึ่ง(ส่วนใหญ่) พี่นก- รักชนก มูลนิธิพัฒนาเครือข่ายเอดส์ เป็นผู้เรียบเรียง

 

ที่มาของข้อมูล

บ้านพักใจอุดร จังหวัดอุดรธานี เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนองค์กรเดียวที่เลือกทำงานกับกลุ่มเป้าหมาย “เยาวชนเปราะบางเร่ร่อน”

จันใด ผกากอง ผู้จัดการบ้านพักใจอุดร เล่าให้ฟังว่า เหตุที่เลือกทำงานกับเยาวชนเปราะบางเร่ร่อนในจังหวัดอุดรธานี

สถานการณ์นี้เป็นเรื่องท้าทาย และมองเห็นปัญหาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันเพราะว่าอุดรธานีเป็นเมืองที่มีความมั่งคั่งตามกระแสเศรษฐกิจแบบเมืองใหญ่ซึ่งส่งผลกระทบถึงการก่อตัวของปัญหาทางสังคมด้วย เยาวชนเปราะบางเร่ร่อนมีให้เห็นอยู่ทั่วไป สวนสาธารณะทุ่งศรีเมือง สถานีรถไฟ ชุมชนแออัด

เยาวชนเปราะบางเร่ร่อนเหล่านี้จะถูกปัจจัยแวดล้อมผลักเข้าสู่การขายบริการทางเพศ เร่ร่อนขายบริการที่ทุ่งศรีเมือง หากมีคนใหม่ๆมาเข้ากลุ่มเร่ร่อนด้วยก็จะมีการรับน้อง พาน้องไปฝึกงาน(พาไปขายบริการ) มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์อย่างมาก เพราะมีเพศสัมพันธ์กันเองในกลุ่มของเขา โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย มีความคิดความเชื่อที่ไม่ถูกต้องในเรื่องอวัยวะเพศ ชอบตกแต่ง อวัยวะเพศ เช่น ฝังมุก ผ่าเบนซ์

จากการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลเธอพบว่าปมปัญหาของเยาวชนเปราะบางเร่ร่อนซับซ้อนเกินกว่าจะมีคนใดคนหนึ่งจัดการปัญหานี้แต่เพียงลำพัง จันใดจึงเชื่อมโยงการทำงานโดยร่วมกับภาคีเครือข่ายเทศบาลนครอุดรธานี นำโดย นายกเทศมนตรีนครอุดรธานี นายอิทธิพล ตรีวัฒน์สุวรรณ ผู้นำชุมชนในเขตเทศบาลนครอุดรธานี คุณอรุณี วัฒนโกศล ประธาน อสม.เทศบาลนคร และกศน.เมือง อุดรธานี โดยมีครูปืน พีระวิชญ์ คำภิระ และกลุ่มเพื่อนครูพัฒนาทักษะชีวิตเด็กเร่ร่อน กศน.อุดรธานีมาเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงาน

สุริยันต์ ศรพรหมา ผู้ประสานงานโครงการ บ้านพักใจอุดร เล่าว่า

เขามีข้อค้นพบจากการทำงานกับเยาวชนเปราะบางเร่ร่อนและด้อยโอกาส ที่นับว่าเป็นสิ่งที่พิเศษมาก คือศักยภาพข้างในแกนนำเยาวชนเปราะบางเร่ร่อน  ถ้าหากสามารถทำงานเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างจริงจังแล้ว เขาจะให้ความไว้วางใจ ให้ความนับถือคนที่ปฏิบัติดีต่อเขา และหากมีเวทีให้แสดงออกแล้วเยาวชนเร่ร่อนกลุ่มนี้จะรู้สึกดีใจมาก จะกล้าและชื่นชอบแสดงออก ชอบแสดงความคิดเห็น ชอบการมีส่วนร่วม ภาคภูมิใจในตนเองที่ได้เป็นส่วนหนึ่ง และไม่ได้เป็นเด็กก้าวร้าวเหมือนกับภาพลักษณ์ภายนอกที่คนอื่นมองเห็นและมักจะตัดสินว่าเยาวชนเร่ร่อนเป็นเด็กไม่ดี เป็นเด็กเหลือขอ  ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ ต้องเกิดจากการที่คนทำงานภาคสนามต้องทำตัวให้เป็นเหมือนพี่ เหมือนเพื่อนเขา ลักษณะพี่สอนน้อง เพื่อนเตือนเพื่อน และรู้จักการสร้างความสัมพันธ์ เพื่อให้เกิดความผูกพัน ความไว้วางใจ ความเชื่อมั่น พร้อมที่จะให้ความรัก ให้ความเข้าใจ ให้อภัย ไม่ตัดสินเขา จะทำกิจกรรมอะไรต่างๆ หากมีกำหนดการต้องปรึกษาเขาก่อน ต้องยืดหยุ่นได้ ไม่ตายตัว


ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับตัวเขาเป็นศูนย์กลาง เราไปกำหนดกฎเกณฑ์ เวลาใดๆ ไม่ได้  และอย่าคาดหวัง ซึ่งต้องอาศัยจิตใจที่มุ่งมั่นอาสาและความอดทนของคนทำงานอย่างมาก

มีกิจกรรมหนึ่งของโครงการพาน้อง (เยาวชนเร่ร่อน)ทำความดีเพื่อสังคม น้องคนไหนที่มีความสามารถในการทำลูกโป่งประดิษฐ์เราจะพาทำลูกโป่งของเล่นให้กับเด็กน้อยที่ได้รับผลกระทบจากการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ และมารับยาต้านไวรัสที่นภาคลินิก โรงพยาบาลอุดรธานี แม้แต่พี่ๆพยาบาลเองก็มาฝึกทำด้วย ชีวิตเขาไม่เคยได้ยินเสียงปรบมือจากใครๆ แต่เวทีนี้เขาได้รับการชื่นชมยินดีในสิ่งที่เขาทำ ชุมชนให้การต้อนรับเขาทำให้เขามั่นใจในคุณค่าของการทำความดี

 

ครูปืน พีระวิชญ์ คำภิระ

และกลุ่มเพื่อนครูพัฒนาทักษะชีวิตเด็กเร่ร่อน กศน.อุดรธานีมาเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงาน ครูปืนเล่าให้เราฟังถึงประสบการณ์การทำงานว่า ผมเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนสามารถพัฒนาได้ เด็กเร่ร่อนก็สามารถพัฒนาได้ แต่ต้องให้เวลากับเขาและต้องเข้าใจธรรมชาติของเขา ต้องมาสัมผัสกับเด็กโดยตรง ธรรมชาติของเด็กทุกคนต้องการ ความรัก การให้อภัย การให้โอกาส เด็กเร่ร่อนก็เช่นเดียวกัน เมื่อคุณจะมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในแก๊งค์เด็กเร่ร่อน คุณต้องทำให้เขารู้สึกไว้วางใจ เก็บความลับของเด็ก และอย่าคาดหวังอะไรกับเขามากเกินไป

 

อรุณี วัฒนโกศล ประธาน อสม.เทศบาลนครอุดรธานี

สะท้อนอีกด้านหนึ่งของคนทำงานว่า ในช่วงแรก แม้ว่าจะเคยถูกมองว่าเรามีผลประโยชน์ มีส่วนได้ส่วนเสียในการทำโครงการนี้ แต่วันนี้การทำงานในรูปแบบเครือข่ายประชาสังคม เป็นการทำงานที่มีพลังและจุดประเด็นให้ทุกภาคส่วนมองเห็น เข้าใจและพร้อมจะให้ความร่วมมือ การที่เด็กเกิดมาไม่มีบัตรประชาชน เป็นความจริงที่แสนเจ็บปวด เพราะทำให้เขาขาดโอกาสในการเข้าถึง สถานศึกษา สถานพยาบาล ข้อมูลข่าวสาร และทรัพยากรเช่นเดียวกับเยาวชนคนอื่นๆ ณ  วันนี้เราจะพยายามทำให้ทุกภาคส่วนของสังคมอย่างน้อยที่สุดในพื้นที่เทศบาลนครอุดรธานี ไม่ละเลยไม่ผลักไสให้เยาวชนเปราะบางเร่ร่อนไปสู่วงจรชีวิตเร่ร่อนอีกต่อไป

ถึงแม้ว่าเยาวชนเปราะบางเร่ร่อนจะมีวิถีชีวิตที่หลงทิศผิดทางไปบนเส้นทางสีดำ พื้นที่ร้ายล้อมรอบด้วยแหล่งอบายมุขและสิ่งเสื่อมโทรมต่างๆ จนเขาเหล่านั้นถูกตีตราว่าเป็นขยะสังคม เป็นเด็กนอกคอกเพียงเพราะเขารักที่จะมีวิถีชีวิตอิสระ และต้องการมีชีวิตนอกกรอบมาตรฐานความถูกต้องดีงามสังคมขีดเส้นเอาไว้ เขาจึงต้องโดดเดียวแปลกแยกตัวเองออกจากสังคม ไปสร้างสังคมไร้สังกัดของตัวเอง

หวังเพียงว่าในสังคมที่ร่มเย็นเป็นสุขอย่างสังคมไทยนี้ จะยังมีผู้ใหญ่ใจดีที่พร้อมจะเข้าใจเยาวชนเปราะบางเร่ร่อน และพร้อมจะยื่นมือแห่งความรัก ความหวังดีช่วยกันโอบอุ้ม สร้างพื้นที่สร้างสรรค์และ สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้และพัฒนาชีวิต สร้างเสริมศักยภาพเขาเหล่านั้นได้มีกิจกรรมดีๆ ได้ใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ รักอาสา ใฝ่เรียนรู้ เป็นแรงขับให้เยาวชนเปราะบางเร่ร่อนก้าวเดินไปสู่เส้นทางที่ดี

ภาพจากศูนย์กิจกรรมเยาวชนเพื่อชุมชนและสังคม

....

วงจรชีวิตเร่ร่อน ติดโรค ติดคุก ติดยา ตาย

วิถีที่เปราะบางของเยาวชนเปราะบางเร่ร่อน 

ชีวิตไร้ระบบในสังคมไร้ระเบียบ

เยาวชนเร่ร่อน มีความสุขกับการใช้ชีวิตไร้กรอบ อิสระ ค่ำไหนนอนนั่น ตามตรอกซอกซอย ในชุมชนแออัด ตามสวนสาธารณะ ริมทางรถไฟ สะพานลอย ตามป้ายรถเมล์ หากินด้วยตัวเองปากกัดตีนถีบ เข้าสู่วงจรการขายบริการทางเพศหรือมีเพศสัมพันธ์ในกลุ่มเพื่อนเร่ร่อนด้วยกัน มีพฤติกรรมทางเพศที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี เสพยา ดมกาว ลักเล็กขโมยน้อย ตีรันฟันแทง ติดคุกและอาจจะจบชีวิตตายอย่างไร้คนเหลียวแล หรือหากมีชีวิตรอดเติบโตเป็นผู้ใหญ่ โดยมากมักจะสร้างครอบครัวของตัวเองและมีวิถีชีวิตเร่ร่อนเช่นเดิม

อะไรคือปัญหาของเยาวชนเปราะบางเร่ร่อน

ไม่ได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียม บางคนไม่มีบัตรประชาชน ไม่มีสถานะบุคคล บ้างก็เกิดในซ่องโสเภณี บ้างก็วิ่งเล่นข้างกองขยะเติบโตในชุมชนแออัด เพราะพ่อแม่ฐานะยากจน หรือเยาวชนเร่ร่อนบางคนอาจเกิดมาในครอบครัวฐานะดีแต่มีปัญหา พ่อแม่ทิ้งขว้างหย่าร้าง บ้างก็ตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากินไม่มีเวลาให้ลูก

ระหว่างช่องว่าง...ความคาดหวังของชุมชนต่อเยาวชนเปราะบาง เราค้นพบอะไร

ชุมชนมองเยาวชนเร่ร่อนว่ามองเป็นภาระเป็นขยะสังคม เป็นกลุ่มที่แพร่เชื้อ ไม่มีประโยชน์ ไม่ทำงานทำการ หัวรุนแรง ก่ออาชญากรรม มั่วสุมเรื่องเพศ เรื่องยา ชุมชนมุ่งหวังอย่างยิ่งว่าอยากให้เยาวชนเร่ร่อนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เชื่อฟังเป็นเด็กดี ใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ สร้างสรรค์ พัฒนาตัวเอง ผู้หญิงอยากให้แต่งงานสร้างครอบครัวใหม่ ไม่อยากให้ขายบริการทางเพศ ส่วนผู้ชายอยากให้บวชเรียน ไปเป็นทหาร มีนิคมให้อยู่เฉพาะ และในท้ายที่สุดหากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไม่ได้ ชุมชนอยากให้เยาวชนเร่ร่อนออกไปจากชุมชน

ระหว่างช่องว่าง..เยาวชนเปราะบางคาดหวังต่อชุมชนของเขาอย่างไร

อย่าตัดสินถูกผิด  อย่าซ้ำเติม  ตอกย้ำตีตรา โปรดให้อภัย  ให้โอกาส  ให้คุณค่า ให้กำลังใจ เข้าใจเขาบ้าง  อยากได้คำปรึกษา ให้เวทีในการแสดงออก ให้โอกาสในการปลดปล่อย แต่ไม่อยากได้ความคาดหวัง อย่าเปรียบเทียบ อย่าดูถูกเหยียดหยาม  ไม่อยากให้แบ่งแยก  ได้โปรดอย่ามองว่าเยาวชนเร่ร่อนเป็นคนก่อปัญหา

ความหวังเล็กๆ ลึกๆในหัวใจดวงน้อย ก็ไม่ได้แตกต่างจากเด็กทุกบนดาวสีน้ำเงินดวงนี้ที่เพียงแต่ต้องการพื้นที่ยืน อยากได้เวทีในการแสดงออก ได้มีโอกาสปลดปล่อยพลังงาน ต้องการแสดงซึ่งตัวตนอัตลักษณ์ที่ถึงแม้ว่ามันจะเป็นพฤติกรรมที่สังคมไม่พึงประสงค์ก็ตาม

หมายเลขบันทึก: 399110เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2010 12:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:34 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะ

.....สังคมต้องมีพื้นที่สร้างโอกาส พื้นที่ให้ยืน

และที่สำคัญต้องฝึกให้เขาเชื่อมั่นในตัวเอง ว่าทำสิ่งดีๆให้เกิดขึ้นได้..

ยินดีที่รู้จักค่ะ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท