10 อันดับเทคโนโลยี ในรอบ 100 ปี


เทคโนโลยีแห่งศตวรรษ

ช่วง 100 ปีที่ผ่านมานี้ ได้มีการประดิษฐ์คิดค้นเทคโนโลยีใหม่ ๆ ขึ้นมากมายซึ่งมีผลต่อการ
เปลี่ยนแปลงการดำรงชีวิตของ มนุษย์ ในบรรดาเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 20 นี้
โทรทัศน์ UBC ช่อง X-ZYTE ได้จัดอันดับ 10 เทคโนโลยีสุดยอดไว้ แต่ละอย่างล้วนน่าสนใจ
ในความเป็นมา



อันดับ 10 เครื่องบิน (Airplane)

ประวัติศาสตร์การบินของโลกเริ่มขึ้น ในวันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ. 1903 เมื่อออร์วิลล์ กับวิลเบอร์ ไรท์ ได้สร้างปรากฏการณ์ด้วยการเหินเครื่องบินที่
เขาประดิษฐ์ขึ้นสูงจากพื้นดิน 40 เมตร เหนือทะเลทรายแห่งเมืองคิตตี้ฮอว์คและทรงตัวอยู่ได้นานถึง 12 วินาทีในนภากาศ นับเป็นครั้งแรกที่มนุษย์
บินสู่ท้องฟ้าด้วยอุปกรณ์ติดเครื่องยนต์ แม้ว่าพี่น้องไรท์จะใช้เครื่องยนต์พลัง 12 แรงม้า แต่เขาก็พบว่า ปีกนั้นมีความสำคัญยิ่ง ความดันที่แตกต่าง
กันระหว่างพื้นบนและพื้นล่างของปีก จะทำให้เกิดแรงยกจนเครื่องบินลอยตัวได้

นับแต่นั้นมาการเดินทางของมนุษย์ก็รวดเร็วกว่าเดิมหลายสิบเท่า วิถีชีวิตและสังคมก็เปลี่ยนไปจากเดิม มนุษย์ใช้เวลาที่เคยสูญเสียไปกับการเดิน
ทางมาสร้างสรรค์สิ่งอื่นๆ ได้มากมายขึ้น โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาเครื่องบินจากที่เคยเดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกนานกว่าหนึ่งวัน ลดลง
เหลือเพียง 4 ชั่วโมง ด้วยเครื่องบินคองคอร์ด ซูเปอร์โซนิก



อันดับ 9 รถถัง (Tank)

ในอดีตกาลนั้น สนามเพลาะเป็นเครื่องมือยุทธการที่นับว่าได้ผล การจะยกทัพบุกโจมตีฝ่าสนามเพลาะจะต้องเสียกำลังพลมากมาย และไม่มีใครหา
วิธีโจมตีสนามเพลาะได้ จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1915 นายพันเออร์เนสต์ สวินตันแห่งกองทัพบกอังกฤษ ได้สังเกตเห็นว่ารถตีนตะขาบหรือแทรคเตอร์ นั้น
สามารถแล่นข้ามบ่อหลุม และคูได้อย่างสบายๆ ตีนตะขาบของมันได้ผลดีกว่าล้อหลายเท่า ท่านนายพันจึงสั่งบริษัทผลิตรถแทรคเตอร์ให้สร้างยาน
พาหนะชนิดนี้ โดยทำด้วยเหล็กแข็งแรงและติดตั้งปืนกลไว้ด้วย

อีกสองปีถัดมาคือใน ค.ศ.1917 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 วันที่ 17 พฤศจิกายน กองทัพอังกฤษได้เคลื่อนขบวนรถถังดังกล่าว 474 คัน บุกโจมตี
ครั้งใหญ่ใกล้เมืองแคมบรายในฝรั่งเศส ภายในไม่กี่ชั่วโมงทัพรถถังสามารถบุกฝ่าแนวรบไปได้ไกลถึง 12 ไมล์ และจับกุมเชลยศึกได้ถึงหมื่นคน

จากนั้นเป็นต้นมา ยานเกราะก็เป็นอุปกรณ์สงครามที่สำคัญยิ่งสำหรับกองทัพทุกประเทศ ศักยภาพแห่งการระดมยิงด้วยปืนใหญ่รถถังนั้นทรงพลัง
ในการบุกตะลุยยิ่งนัก รถถังที่พัฒนาขึ้นในปัจจุบันสามารถยิงเป้าหมายห่างไกลถึง 2 ไมล์ได้อย่างแม่นยำ ด้วยการควบคุมจากคอมพิวเตอร์



อันดับ 8 จรวดเชื้อเพลิงเหลว (Liquid-fueled Rocket)

มนุษย์ไม่มีโอกาสไปถึงดวงดาวได้ ถ้าหากโลกปราศจากเด็กหนุ่มนาม โรเบิร์ต ก๊อดดาร์ด นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยแมสสาชูเสตต์

ในช่วงปี ค.ศ. 1920 หนุ่มก๊อดดาร์ดใฝ่ฝันที่จะสร้างยานพาหนะสำหรับเดินทางไปในอวกาศ ในหกปีแรกแห่งการค้นคว้า เขาทดลองใช้จรวดเชื้อเพลิง
แข็ง แต่พบว่ามันไม่มีพลังพอที่พุ่งหนีแรงดึงดูดของโลกไปได้ เขาจึงเปลี่ยนมาทดลองใช้เชื้อเพลิงผสมระหว่างอ๊อกซิเจนกับแกสโซลีน ซึ่งให้พลัง
งานมหาศาล หากทว่าเกิดความร้อนที่สูงเกิน 5 พันฟาห์เรนไฮท์ ซึ่งแม้แต่เหล็กก็ยังละลาย เขาจึงพัฒนาต่อโดยใช้อ๊อกซิเจนเหลวเป็นตัวระบาย
ความร้อนห่อหุ้มห้องเผาไหม้ จรวดของก๊อดดาร์ดพุ่งสู่ท้องฟ้าสูงลิ่วภายในพริบตาแม้เชื้อเพลิงจะหมดลงในเวลาอันสั้น แต่ก็ได้จุดประกายความคิด
ในด้านนี้แก่นักวิทยาศาสตร์ คนอื่น

ปัจจุบัน กระสวยอวกาศ (space shuttle) คือจรวดเชื้อเพลิงเหลวที่แอดวานซ์ที่สุด ภายใน 9 นาที มันเผาผลาญเชื้อเพลิงถึง 5 แสนแกลลอน
และให้ความเร็วที่เหนือกว่าเครื่องบิน 747 ถึง 30 เท่า!



อันดับ 7 หุ่นยนต์ (Robot)

ในช่วงปี ค.ศ.1939 โลกเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ มนุษย์จึงหาทางออกเพื่อหลีกเลี่ยงความเศร้าซึมด้วยการจัดมหรสพต่างๆ ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดก็คือ
มหกรรม "เวิร์ลด์แฟร์" ซึ่งมีผู้คนกว่า 25 ล้านคนไปชม และพวกเขาก็ได้เห็นสิ่งอัศจรรย์ที่นำมาโชว์ นั่นคือหุ่นยนต์ที่มีนามว่า อีเล็กโตร (Electro)
มันสามารถทำอะไรหลายๆ อย่างได้คล้ายมนุษย์ เดินได้ พูดได้ จำแนกสีต่างๆ ได้ นับเลขด้วยนิ้วมือก็ได้ แถมยังมีศัพท์ถึง 77 คำในหน่วยความจำ
ทำให้เจ้าอีเล็กโตรสามารถตอบคำถามได้ บริษัทผู้สร้างมันขึ้นมาคือเวสติงเฮาส์

20 ปีต่อมา วงการอุตสาหกรรมมีการผลิตโรบ็อทขึ้นจำหน่ายด้วยความมุ่งหมายว่าในอนาคต เราไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานมนุษย์อีกต่อไป!

อ๊ะ ...ถ้างั้นเราก็ตกงานน่ะสิ ก็อาจเป็นจริง ด้วยอุปกรณ์อันทันสมัยประกอบด้วย เซนเซอร์ไฟฟ้า กล้องดิจิตอล อุปกรณ์นำทาง ฯลฯ เจ้าโรบ็อทก็
สามารถทำบางสิ่งที่เสี่ยงอันตรายเกินไปสำหรับมนุษย์ เช่น การบุกเข้าไปในอาคารที่เกิดวินาศภัย เพื่อค้นหาผู้รอดชีวิต หรือ การจับต้องอุปกรณ์
กัมมันตรังสี หรือ สัมผัสกับเชื้อโรคแถมยังมีลีลาน่ารักอีกต่างหากอย่างเช่น เจ้าอาซิโม (ASIMO) ที่บริษัทฮอนด้าผลิตขึ้น เป็นต้น



อันดับ 6 ระเบิดปรมาณู (Atomic Bomb)

ในช่วงทศวรรษที่ 1940 อเมริกันต้องการสงบสงครามโลกครั้งที่ 2 ให้เร็วที่สุด ปธน.รูสเวลท์ จึงมีคำสั่งให้ตั้งโครงการลับสุดยอดในชื่อแมนฮัตตัน
โปรเจ็คท์ โดยมี เจ. โรเบิร์ต อ็อพเพนไฮเมอร์ เป็นหัวหน้าทีม ทำการค้นคว้าและสร้างอาวุธมหาประลัยที่เรียกว่า อะตอมิก บอมบ์ และได้ทำการ
ทดลองครั้งแรกกลางทะเลทราย ในรัฐนิวเม็กซิโก ในเดือนกรกฎาคม 1945 และแล้วอีกหนึ่งเดือนถัดมาคือ วันที่ 6 สิงหาคม 1945 ระเบิดปรมาณู
ก็ปล่อยลงเหนือพื้นดินเมืองฮิโรชิมา, ญี่ปุ่น สังหารผู้คนนับแสนในทันทีทันใดและที่ถูกกัมมันตรังสี เจ็บป่วยล้มตายในเวลาต่อมาก็อีกมาก

จัดเป็นเทคโนโลยีที่ไม่น่าพิสมัยนัก หากทว่าในปัจจุบันการใช้นิวเคลียร์เพื่อสันติ เช่น การฉายรังสีเพื่อรักษาโรคมะเร็ง ก็นับเป็นสิ่งที่น่าพัฒนาให้
ก้าวหน้าต่อไป



อันดับ 5 เซลล์สุริยะ (Solar Cell)

โลกเราได้รับพลังงานจากแสงอาทิตย์มาตั้งแต่แรกอุบัติ หากทว่าเพิ่งจะในช่วงทศวรรษ 1950 ที่มนุษย์เริ่มรู้จักนำแสงแดดมาเปลี่ยนเป็นพลังงาน
และนำไปใช้ประโยชน์ได้

เริ่มจากในปี 1954 วิศวกรแห่งบริษัทเบลล์ ต้องการหาพลังงานที่จะใช้กับระบบเครือข่ายโทรศัพท์ใน ชนบทและเกิดปิ๊งไอเดียว่าน่าจะใช้ประโยชน์
จากแสงแดดได้ พวกเขามองหาวัสดุตัวนำไฟฟ้าที่สามารถแปลงแสงแดดให้เป็นพลังงานไฟฟ้า แล้วก็พบว่าซิลิคอนที่มีอยู่เหลือเฟือบนพื้นโลกน่าจะ
ดีที่สุด โดยเมื่อเอาซิลิคอนมาทำเป็นโซลาร์เซลล์ พอแสงแดดตกกระทบ อิเล็คตรอนก็จะหลุดจากอะตอมของซิลิคอน และเกิดมีกระแสไฟฟ้าไหล

การพัฒนาใช้โซลาร์เซลล์เป็นไปอย่างรวดเร็วหลากหลาย ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2000 สถานีอวกาศนานาชาติ ได้ติดตั้งแผงเซลล์สุริยะขนาด
มหึมาไว้เป็นแหล่งพลังงาน เนื่องจากเป็นพลังงานชนิดเดียวที่สามารถหาได้ในอวกาศ มันไม่หมดสิ้น ถ้าหากปราศจากเซลล์สุริยะแล้ว สถานีอวกาศก็
ไม่อาจปฏิบัติการได้อย่างแน่นอนที่สุด ที่สำคัญคือ ในยามที่เชื้อเพลิงบนโลกกำลังขาดแคลน และมีราคาสูงขึ้นทุกวัน พลังงานที่อาจมาทดแทนได้
โดยไม่ต้องซื้อหา (ยกเว้นอุปกรณ์) ก็คือ แสงแดดนั่นเอง



อันดับ 4 เลเซอร์ (Laser)

เริ่มค้นคว้าเกี่ยวกับเลเซอร์ก็คือวิศวกรของบริษัทเบลล์เช่นกัน จากการค้นคว้าในช่วงทศวรรษ 1960 พวกเขาพบว่า แสงสว่างโดยทั่วไปนั้นคลื่นต่างๆ
กัน ซึ่งถ้าสามารถรวมแสงที่กระจัดกระจายเหล่านั้นให้รวมตัวพุ่งเป็นลำเดียวภายใต้ความเข้มสูง แสงนี้ก็จะมีพลังงานมหาศาล สามารถตัดแม้
กระทั่งเหล็กได้

วิธีการสร้างแสงเลเซอร์ ได้แก่การนำเอาวัสดุ ซึ่งอาจเป็นของเหลว ผลึก หรือก๊าซ ใส่ลงในกระบอกที่มีกระจกเงาปิดปลายทั้งสองด้าน เมื่อป้อนพลังงาน
เข้าไปให้อะตอมของธาตุเหล่านี้ปล่อย แสงออกมา และสะท้อนกลับไปกลับมาอยู่ในกระบอก กระทั่งเกิดอะตอมมากมายที่ปล่อยแสง ซึ่งมีความ
ยาวคลื่นและถี่เท่ากัน จากนั้นก็จะเกิดลำแสงเดี่ยวที่มีพลังสูงยิ่ง และนำไปใช้ประโยชน์ได้นานัปการเราคงมิทันตระหนักหรอกว่า แผ่น CD หรือ
DVD ที่เราเล่นอยู่นั้น ทำงานโดยเลเซอร์ การคิดราคาสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ต โดยการสแกนอย่างรวดเร็ว ก็อาศัยเลเซอร์ การสื่อสารทางไกลต่างๆ
ล้วนพึ่งพาคุณสมบัติของเลเซอร์และที่เป็นประโยชน์ใหญ่หลวงก็คือ การผ่าตัดดวงตาด้วยแสงเลเซอร์ซึ่งปฏิบัติการได้อย่าง ละเอียดและเนียนยิ่ง



อันดับ 3 คอมพิวเตอร์ส่วนตัว (Personal Computer)

ย้อนกลับไปในช่วงปี 1970 อันเป็นยุคที่ชนอเมริกันกำลังท้อแท้กับสงครามเวียดนาม คอมพิวเตอร์ในยุคนั้นใหญ่โตเทอะทะคับห้องแอร์ ก็ได้มีสองหนุ่ม
หัวใสนามสตีฟ จ๊อบส์ กับ สตีฟ วอชนิแอค ได้ร่วมกันค้นคว้าประดิษฐ์คอมพิวเตอร์ขนาดเล็กที่คนทั่วไปสามารถใช้ได้ อุปกรณ์ชิ้นส่วนสำคัญที่เขาคิด
ได้นี้เรียกว่าไมโครโพรเซสเซอร์ ซึ่งประกอบด้วยทรานซิสเตอร์จิ๋ว ๆ ผนึกติดกับแผ่นซิลิคอนชิพ คอมพ์ฯขนาดเล็กที่มีชื่อว่า แอปเปิล1 ได้ออกวาง
จำหน่ายในปี ค.ศ. 1976 แล้วพัฒนาเป็น แอปเปิล2 ซึ่งมีคำสั่งซื้อไหลหลั่งเข้ามาถึงกว่า 2 ล้านออร์เดอร์

ในปัจจุบันมากกว่า 50% ของบ้านเรือนในสหรัฐจะมีคอมพิวเตอร์ติดตั้งอยู่อย่าง น้อย 1 เครื่อง



อันดับ 2 หัวใจเทียม (Artificial Heart Muscles)

ในแต่ละปีโลกเรามีผู้เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจถึง 17 ล้านคน และหลายประเทศมีการตายด้วยโรคหัวใจเป็นอันดับ 1 นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยที่รอรับการ
ผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ อีกนับพันนับหมื่นราย แต่ทว่าในปัจจุบัน ได้มีการประดิษฐ์หัวใจเทียมได้อย่างมีประสิทธิภาพและ รวดเร็วพอเพียงกับจำนวน
ผู้ป่วยแล้ว

ย้อนไปใน ค.ศ. 1982 ดร.โรเบิร์ต จาร์วิค ได้ประดิษฐ์หัวใจเทียมชนิดฝังไว้ในอกเครื่องแรกขึ้นในชื่อ จาร์วิค1 (Jarvik 1) มันมีอุปกรณ์ระโยงรยางค์
พ่วงมากมาย ประกอบด้วยตู้ควบคุมที่มีขนาดพอ ๆ กับตู้เย็น สายไฟฟ้านั้นโผล่ออกมาจากผิวหนัง ซึ่งทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ

แต่เดี๋ยวนี้ อุปกรณ์ต่างๆ พัฒนาจนกะทัดรัดขึ้น พลังงานที่ใช้มาจากแผงแบตเตอรี่ที่คาดไว้กับตัว ทำให้พกพาไปไหนได้สะดวก มีปั๊มไฮโดรลิกที่
สูบฉีดโลหิตพอดีกับจังหวะการเต้นของหัวใจนับเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยชีวิตอันน่าอัศจรรย์ยิ่ง



อันดับ 1 โคลนนิ่ง (Cloning)

และเราก็มาถึงสุดยอดเทคโนโลยี แห่งศตวรรษที่ 20
โลกเราจะน่าพิศวงสักเพียงไร ถ้าหากเราตื่นขึ้นมาแล้วพบคนคนหนึ่ง ซึ่งเหมือนเราดั่งคนเดียวกัน

ในปี ค.ศ. 1990 นักวิทยาศาสตร์ผู้หนึ่งแห่งสถาบันรอสลิน ในสก็อตแลนด์ ได้ทุ่มเทค้นคว้าหาทางผลิตสิ่งมีชีวิตขึ้น โดยมีคุณสมบัติเหมือนบุพการี
ของมันทุกประการ เขาผู้นั้น- ดร.เอียน วิลมุท นำเอาลูกอัณฑะของแกะตัวหนึ่งมาสกัดเอานิวเคลียสที่มี เซลล์สืบพันธุ์ออก จากนั้นก็เอา DNA จาก
แกะตัวที่เขาต้องการสร้างทายาทมาใส่แทนที่นิวเคลียสนั้น แล้วจึงนำไปฝังในแกะแม่พันธุ์ ถัดจากนั้นมาอีก 148 วัน ดอลลี่ (Dolly) แกะโคลนนิ่ง
ตัวแรกของโลกก็ถือกำเนิดขึ้นมา
การพัฒนาโคลนนิ่งนำไปสู่ประโยชน์หลายประการ เช่นการเพาะอวัยวะสำหรับทดแทนอวัยวะของคนไข้ ซึ่งจะไม่ก่อปฏิกิริยาไม่ยอมรับดังเช่นทั่วไป
การเพาะพันธุ์วัวที่สามารถให้น้ำนมที่อุดมด้วยโปรตีน หรือมีเนื้อที่มีคุณถาพสำหรับการบริโภค การผลิตวัคซีนสำหรับต่อต้านโรคต่างๆ ฯลฯ

แต่การโคลนนิ่งมนุษย์เพื่อให้มาเป็นเพื่อนที่มีหน้าตาเหมือนคุณนั้นยังคงเป็นปัญหาต่อไปอีกนานครับ






ที่มา เทคโนโลยี,จัดอันดับ,วิทยาการ,ศตวรรษที่20

หมายเลขบันทึก: 399090เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2010 11:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 17:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณสำหรับความรู้ครับ ;)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท