ปัจจัยที่กำหนดอุปสงค์ (Determinants of demand)


              ดังที่กล่าวมาแล้วว่า กระบวนการของการเปลี่ยนแปลงในอุปสงค์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับราคาของสินค้าและบริการชนิดนั้นเพียงอย่างเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยเหตุอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งถ้าหากว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปในปัจจัยเหตุเหล่านั้นแล้ว ก็จะมีอิทธิพลส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในอุปสงค์ด้วย ซึ่งปัจจัยเหล่านั้นได้แก่

          

       ปัจจัยโดยตรง (direct determinant)

            ๑.ระดับราคาของสินค้าชนิดนั้นๆ  ในตลาด (price : Px) โดยปกติทั่วไป เมื่อราคาของสินค้าและบริการสูงขึ้นปริมาณการซื้อสินค้าและบริการนั้นก็จะลดลง และหากราคาของสินค้าและบริการนั้นลดลงปริมาณการซื้อสินค้าและบริการนั้นก็จะเพิ่มขึ้น

 

       ปัจจัยโดยอ้อม (indirect determinant)

           ๑.ระดับรายได้เฉลี่ยของผู้บริโภค (Income : I) โดยปกติทั่วไปเมื่อรายได้เฉลี่ยของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปจะทำให้ปริมาณการซื้อสินค้าและบริการชนิดใดชนิดหนึ่งเปลี่ยนแปลงไปด้วย โดยพิจารณาได้ ๒ กรณี กล่าวคือ

                ๑.๑ กรณีที่เป็นสินค้าปกติ (normal goods) และสินค้าฟุ่มเฟือย (luxury goods) นั้น ความสัมพันธ์ของรายได้กับปริมาณการซื้อจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ หากรายได้เพิ่มขึ้นจะซื้อสินค้าและบริการนั้นเพิ่มขึ้น และหากรายได้ลดลงก็จะซื้อสินค้าและบริการนั้นลดลง

                ๑.๒ กรณีที่เป็นสินค้าด้อยคุณภาพ (inferior goods) นั้น ความสัมพันธ์ของรายได้กับปริมาณการซื้อจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางตรงกันข้าม กล่าวคือ หากรายได้เพิ่มขึ้นจะซื้อสินค้าและบริการนั้นลดลง และหากรายได้ลดลงก็จะซื้อสินค้าและบริการนั้นเพิ่มขึ้น

 

          ๒. การเปลี่ยนแปลงไปในราคาสินค้าและบริการอื่นที่เกี่ยวข้องกัน (changing in price of the related goods : Py) สามารถพิจารณาความสัมพันธ์ของราคากับปริมาณซื้อสินค้าและบริการนั้นได้ ๒ กรณี กล่าวคือ

                  ๒.๑ สินค้าที่ใช้ทดแทนกัน (substitute) การเปลี่ยนแปลงไปในราคาของสินค้าที่ใช้ทดแทนกันนี้จะทำให้ปริมาณซื้อสินค้าและบริการเดิม (Qx) เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดี่ยวกัน แม้ว่าระดับราคาสินค้าและบริการเดิม (Px) จะไม่เปลี่ยนแปลงไปก็ตามที เช่น เนื้อหมูกับเนื้อไก่ สมมติคนส่วนใหญ่บริโภคเนื้อหมู (Qx) เป็นประจำ หาก ราคาของเนื้อไก่ (Py) เปลี่ยนแปลงไป ก็จะส่งผลกระทบต่อปริมาณการซื้อเนื้อหมู (ซึ่งราคา : Px ไม่เปลี่ยนแปลง)

                      - หากราคาเนื้อไก่ (Py) เพิ่มสูงขึ้น จะทำให้คนที่บริโภคเนื้อไก่ (Qy) ลดการบริโภคลง แล้วหันมาบริโภคเนื้อหมู (Qx) เพิ่มขึ้นทดแทนกัน

                     - หากราคาเนื้อไก่ (Py) ลดลง จะทำให้คนที่บริโภคเนื้อหมู (Qx) ลดการบริโภคลง แล้วหันมาบริโภคเนื้อไก่ (Qy) เพิ่มขึ้นทดแทนกัน

 

สรุป : ความสัมพันธ์ในกรณีที่เป็นสินค้าทดแทนกัน จะได้ว่า

                           Py  เพิ่ม จะทำให้  Qx  เพิ่ม  และหาก  Py  ลด  จะทำให้  Qx  ลด

 

                ๒.๒ สินค้าที่ใช้ประกอบกัน (complement) การเปลี่ยนแปลงไปในราคาของสินค้าที่ใช้ประกอบกันนี้จะทำให้ปริมาณซื้อสินค้าและบริการเดิม (Qx) เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางตรงกันข้าม แม้ว่าระดับราคาสินค้าและบริการเดิม (Px) จะไม่เปลี่ยนแปลงไปก็ตามที เช่น กาแฟกับคอฟฟี่เมต สมมติคนส่วนใหญ่บริโภคกาแฟ (Qx) เป็นประจำ หาก ราคาของคอฟฟี่เมต (Py) เปลี่ยนแปลงไป ก็จะส่งผลกระทบต่อปริมาณการซื้อกาแฟ (ซึ่งราคา : Px ไม่เปลี่ยนแปลง)

                      - หากราคาคอฟฟี่เมต (Py) เพิ่มสูงขึ้น จะทำให้ปริมาณซื้อคอฟฟี่เมต (Qy) ลดลง ส่งผลให้การบริโภคกาแฟ (Qx) ลดลงไปด้วย

                      - หากราคาคอฟฟี่เมต (Py) ลดลง จะทำให้ปริมาณซื้อคอฟฟี่เมต (Qy) เพิ่มขึ้น ส่งผลให้การบริโภคกาแฟ (Qx) เพิ่มขึ้นไปด้วย

 

สรุป : ความสัมพันธ์ในกรณีที่เป็นสินค้าใช้ประกอบกัน จะได้ว่า

                           Py  เพิ่ม จะทำให้  Qx  ลด  และหาก  Py  ลด  จะทำให้  Qx  เพิ่ม

 

          ๓.การกระจายรายได้ระหว่างครัวเรือน (income distribution between house hold : Di) ประเทศที่มีการการกระจายรายได้เหลื่อมล้ำกันมาก กล่าวคือ มีทั้งประชากรกลุ่มที่มีรายได้สูงมากและรายได้ต่ำมาก เช่น ประเทศที่มีบ่อน้ำมันนั้น ปรากฏว่า รายได้โดยส่วนใหญ่ตกอยู่ในมือของคนกลุ่มน้อยส่วนคนกลุ่มใหญ่กลับมีรายได้น้อย ซึ่งพฤติกรรมในการบริโภคสินค้าและบริการของคนทั้งสองกลุ่มดังกล่าว ก็จะแตกต่างกันอย่างมาก

                      - ปริมาณการซื้อสินค้าและบริการบางชนิด (สินค้าและบริการสำหรับผู้ที่มีรายได้สูง) จะเพิ่มขึ้น

                      - ปริมาณการซื้อสินค้าและบริการบางชนิด (สินค้าและบริการสำหรับผู้ที่มีรายได้ต่ำ) จะลดลง

 

            ๔. ขนาดของประชากรทั้งหมด (population size : Pz) โดยปกติทั่วไป เมื่อประชากรมีจำนวนเพิ่มขึ้น ความต้องการในสินค้าและบริการก็จะสูงตามไปด้วย โดยมีเงื่อนไขกำกับในประเด็นดังกล่าวก็คือ ในประชากรเหล่านี้จะต้องมีอำนาจซื้อ (purchasing power) เพิ่มขึ้นด้วย

 

           ๕. รสนิยมหรือความพอใจ (taste : T) โดยปกติทั่วไปรสนิยมกับปริมาณการซื้อสินค้าและบริการจะมีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ หากสินค้าและบริการใดเป็นที่นิยมของผู้บริโภคส่วนใหญ่ ก็จะทำให้ปริมาณซื้อสินค้าและบริการนั้นเพิ่มขึ้น และหากสินค้าและบริการใดไม่เป็นที่นิยมของผู้บริโภคโดยส่วนใหญ่ ก็จะทำให้ปริมาณซื้อสินค้าและบริการนั้นลดลง

 

           ๖. ฤดูกาล (seasonal : S) โดยปกติทั่วไปการเปลี่ยนแปลงในฤดูกาลส่งผลให้ปริมาณการซื้อสินค้าและบริการเปลี่ยนแปลงไปด้วย เช่น ฤดูร้อนปริมาณการซื้อพัดลม เครื่องปรับอากาศ ก็จะเพิ่มมากขึ้นกว่าฤดูกาลอื่น ๆ หรือ หากเข้าฤดูหนาว เครื่องนุ่งห่มกันหนาวก็จะมีปริมาณการซื้อที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น

 

         จากปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดอุปสงค์ดังกล่าว สามารถนำมาเขียนเป็นความสัมพันธ์ทางพีชคณิต เรียกว่า “ฟังก์ชันอุปสงค์” (demand function) ได้ว่า

 

Qdx      =      f (Px, I, Py, Di, Pz, T, S)

 

         ฟังก์ชันอุปสงค์ข้างต้นดังกล่าว : ปริมาณการซื้อสินค้าและบริการ X (Qdx) ขึ้นอยู่กับ ราคาของสินค้า X (Px) ระดับรายได้เฉลี่ยของผู้บริโภค (I)  ระดับราคาของสินค้าและบริการอื่นที่เกี่ยวข้อง (Py)  การกระจายรายได้ของครัวเรือน (Di)  ขนาดของประชากรทั้งหมด (Pz)  รสนิยมหรือความพอใจของผู้บริโภค (T)  และฤดูกาล (S)

 

           ข้อพึงสังเกต : ในการศึกษาอุปสงค์นั้น จะให้ความสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณการซื้อสินค้าและบริการ (Qdx) กับราคา (Px) ซึ่งเป็นปัจจัยโดยตรงเท่านั้น โดยสมมติ กำหนดให้ ปัจจัยโดยอ้อมอื่น ๆ คงที่ไม่เปลี่ยนแปลง  จะได้ว่า

 

Qdx      =      f (Px)

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 397727เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2010 11:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 14:34 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท