เรียนรู้มุกและกลยุทธ์เพื่อการทำงานในองค์กรจากหนังเรื่อง “Cop Out”


เรียนรู้จุดประกายเชื่อมโยงความรู้จากหนังเรื่องนี้ไปยังเรื่องการจัดการบริหาร และการขับเคลื่อนองค์กรไปยังเป้าหมาย

หนังเรื่องนี้ผมคิดว่าน่าเป็นหนังประเภท Action Comedy เกรด B ทั่วไป เนื้อเรื่องไม่มีอะไรมาก แค่เป็นเรื่องราวการทำงานของตำรวจคู่หูผิวขาวและตำตรวจผิวดำ กับการจับผู้ร้าย และมีการผูกเรื่องให้ไปเกี่ยวพันกับชีวิตส่วนตัวจนแยกกันไม่ออก ส่งผลกระทบทั้งต่อหน้าที่และชีวิตครอบครัว ทั้งสองต้องพยายามแก้ปัญหาที่ประสบมาให้ลุล่วง เพื่อให้ชีวิตกลับมามีความสุขตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ สาระที่ผมจะเขียนในบันทึกนี้ไม่ได้เป็นการวิจารณ์หนัง แต่นำเอาเรื่องราวการเล่าเรื่องของหนังมาจุดประกายเชื่อมโยงไปยังแนวคิดเพื่อการทำงานในองค์กรที่ต้องพบปะกับผู้คน การแก้ปัญหา รวมทั้งมุกหรือกลยุทธ์ต่างๆ ในการทำงานให้ประสบความสำเร็จอย่างมีความสุข

 

ภาพจาก http://movie.kapook.com/view10843.html

 

หนังเริ่มต้นด้วยบทการสอบสวนผู้ร้าย บทของหนังแสดงให้เห็นถึงวิธีการสอบสวนที่เต็มไปด้วยมุกและกลยุทธ์ที่สนุกสนาน จุดนี้ทำให้ผมนึกถึงเรื่องการทำงานและศิลปะความบันเทิง ซึ่งเราไม่ควรจะแยกออกจากกัน ทำงานให้เป็นเรื่องบันเทิง ทำเรื่องบันเทิงให้เป็นเรื่องงาน เราก็จะมีความสุขอยู่กับงาน การทำงานสไตล์นี้ดูเผินๆ จะเห็นว่าไม่จริงจังต่องาน แต่ความคิดของผมคิดว่าถ้าเราจริงจังหวังผลเลิศเลอกับการทำงานมาก จะทำให้เกิดความกดดันได้ และไม่ควรยึดมั่นถือมั่นผูกขาดความถูกต้องด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง สิ่งที่ทำได้ในวันนี้ วันพรุ่งนี้อาจจะแก้ไม่ได้ ก็ได้ นั่นคือ การดำเนินการใดๆ ขอให้พิจารณาเรื่อง Best Practice ตามบริบทที่เกี่ยวข้อง ไม่มีรูปแบบสำเร็จตายตัว

 

ภาพจาก http://movie.mthai.com/movie-gallery/58136.html

 

หลังจากที่ตำรวจทั้งสองหาข้อมูลได้จากผู้ต้องหาที่กันไว้เป็นพยานแล้ว ก็ไปดำเนินการต่อไปขยายผลการจับกุม แต่ผลปรากฏว่า ล้มเหลว เพราะผู้ร้ายหนีไปได้ พยานถูกฆ่า ประชาชนแตกตื่น คดีที่อุตสาห์ติดตามมาเป็นปีถูกทำให้ยุ่งยากเข้าไปอีก นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่น่าอับอายถูกถ่ายขึ้น Youtube ด้วย ก็เป็นธรรมดาที่ผู้บังคับบัญชาต้องเกิดอาการจี๊ดแน่นอน ผลก็คือตำรวจทั้งสองถูกสั่งพักงานโดยไม่ได้รับเงินเดือนเป็นเวลา 1 เดือน จากเหตุการณ์เหล่านี้ผมวิเคราะห์จากข้อมูลเท่าที่หนังให้มาผมคิดว่าทั้งเจ้านายและลูกน้องก็พอๆ กัน เจ้านายก็ใช้อารมณ์ตัดสินใจ ไม่มีปิยวาจา ไม่มองภาพรวมที่มาที่ไป ไม่รับฟังเหตุผล ยังเป็นผู้นำประเภทยุคอุตสาหกรรม ที่คอยสั่งการ ควบคุม ดูแล ถ้าเป็นเจ้านายคนนี้ใช้แนวคิดการเป็นผู้นำประเภท Servant Leader หรือผู้นำแบบ Chaos Leader (รายละเอียดดูที่ http://www.managerroom.com/forums/forum_posts.asp?TID=9633&PN=1 และ http://gotoknow.org/blog/beyondkm/382196#2121969 ) บรรยากาศการทำงานร่วมกันน่าจะดีขึ้นกว่านี้ ทางด้านลูกน้องก็เหมือนกัน ผมไม่ทราบว่าก่อนออกไปทำงาน ได้มีการวางแผนบริหารจัดการร่วมกันกับผู้เกี่ยวข้องกับคดีนี้อย่างเป็นองค์รวมหรือไม่ มีการรายงานกับผู้บังคับบัญชาหรือไม่ ผู้ที่รับผิดชอบคดีนี้โดยตรงอาจใช้หลักการบริหารแบบ POSCOB (Planning / Organizing / Staffing / Corporation / Budget) หรือ POLDSCM (Planning / Organizing / Leading/ Directing / Staffing / Control & Monitoring) ได้

 

ภาพจาก http://movie.mthai.com/movie-gallery/58136.html

 

ฉากต่อมาเป็นฉากที่สามารถเชื่อมโยงไปยังเรื่อง การนำความรู้ประสบการณ์ของงานที่ทำมาใช้ในชีวิตประจำวัน จากฉากเพื่อนตำรวจผิวขาวเสียท่าให้กับโจรกระจอกที่มาปล้นร้านค้าด้วยเครื่องช๊อตไฟฟ้าเท่านั้น ตามธรรมดาสัญชาตญานของตำรวจแล้ว ต้องระแวดระวังภัยตลอดเวลา แต่ทั้งสองคนก็ไม่ได้สนใจกับเรื่องนี้ เรื่องนี้ผมเปรียบได้กับพนักงานในองค์กรของผมที่ยึดหลัก Safety Mind เป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรก ไม่ว่าจะอยู่ระหว่างเวลาการทำงานหรือนอกเวลาการทำงาน เพราะเรื่องความปลอดภัย ไม่เข้าใครออกใคร ด้วยการระวัง แต่ไม่ใช่ระแวง ตื่นตัวแต่ไม่ใช่ตื่นตูม  ฉากนี้ก็ไม่ถึงกับเลวร้ายมากเท่าไหร่ ตำรวจยังสามารถแก้หน้าได้ด้วยสัญชาตญานที่ควรจะเป็นด้วยการสังเกตและจดจำรอยสักของคนร้ายได้ จนเข้าถึงตัวคนร้ายได้ในที่สุด พูดถึงเรื่องการสังเกตคนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นการใช้สายตาเท่านั้น แต่ความจริงการสังเกตคือการเก็บข้อมูลที่เราสัมผัสได้จากประสาทสัมผัสทั้งห้าคือ ตา (รูป) หู (เสียง) จมูก (กลิ่น) ลิ้น (รส) กาย (เย็น/ร้อน/อ่อน/แข็ง) ให้ได้มากที่สุดโดยยังไม่ต้องปรุงแต่ง แล้วค่อยนำข้อมูลเหล่านี้มาพิจารณาต่อไป

 

ภาพจาก http://movie.kapook.com/view10843.html

 

ฉากต่อมาอีก 2-3 ฉากที่น่าสนใจคือ การนำข้อมูลมาพิจารณา จากตอนที่ตำรวจผิวดำพยายามจะจับผิดภรรยาว่ามีชู้หรือไม่ โดยการแอบซ่อนกล้อง VDO ถ่ายไว้ หนังพยายามจะสื่อว่า การรับข้อมูลควรรับให้ครบให้จบตามความเป็นจริง ไม่ควรปรุงแต่ง แล้วค่อยนำมาพิจารณาตามเหตุและผลที่ควรจะเป็นต่อไป หลักคิดนี้ผมคิดว่าใช้หลักกาลมสูตรและโยนิโสมนสิการ (รายละเอียดดูที่ http://gotoknow.org/blog/attawutc/217939) มาประยุกต์ใช้ได้เป็นอย่างดี

 

ภาพจาก http://www.rottentomatoes.com/m/cop_out/pictures/29.php#highlighted_picture

 

ฉากต่อมามีฉากที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการจัดการและการแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องในเรื่องของ การใช้คนและการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า งานบางอย่างผู้บริหารไม่จำเป็นต้องเข้าไปทำเอง แต่ใช้หลัก Put the Right Man On the Right Job จากฉากที่ให้โจรปล้นร้านที่เคยเสียท่าให้ก่อนหน้านี้ ให้กลับมาเป็นพวกแล้วช่วยไปขโมยของจากบ้านคนร้ายให้ แต่ก็ไว้ใจได้ไม่นาน เมื่อเรื่องไม่เป็นไปตามที่คาด ผู้บริหารก็ต้องหาทางแก้ไขเฉพาะหน้าให้เหมาะสมต่อไป

 

 

ภาพจาก http://www.rottentomatoes.com/m/cop_out/pictures/25.php#highlighted_picture

 

สุดท้ายหนังก็จบลงด้วยดีตามความคาดหวังของผู้ชมคือ ผู้ร้ายตายตอนจบ พระเอกสมหวังกับเป้าหมายของชีวิต ฉากท้ายๆ แสดงให้เห็นถึงการทำงานเป็นทีมอย่างเข้าขากันของคู่หูอย่างลงตัว เปรียบเหมือนการทำงานร่วมกันของพนักงานในองค์กร ที่มองตากันก็รู้ใจ รู้หน้าที่ของตนเอง รู้หน้าที่ของเพื่อน ประสานงานกันได้อย่างกลมกลืน ทั้งนี้ผมคิดว่าเรื่องเหล่านี้น่าจะมีพื้นฐานมาจากการสื่อสารที่มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันตลอดเวลา แบ่งปันความรู้ประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ซึ่งผมเชื่อว่าน่าจะเริ่มต้นมาจากทฤษฎี 5 Discipline ของ Peter Senge กูรูด้าน LOKM (Learning Organization / Knowledge Management) ทั้งนี้ผมได้ตีความไว้ดังนี้คือ ต้องเริ่มจากการที่มีเป้าหมายร่วมกัน (Share Vision) จากนั้นก็ใช้และพัฒนาของตัวเองเพื่อทำงานให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ร่วมกัน (Personal Mastery) หลังจากที่แต่ละคนมีรู้ความสามารถในทำงานให้บรรลุเป้าหมายแล้ว แต่ก็เป็นความรู้เฉพาะตน ทำให้ไม่คล่องตัวในการจัดการบริหาร ดังนั้น เราต้องนำความรู้เฉพาะตนนี้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันภายในกันเอง และไปหาความรู้ภายนอกองค์กรโดยการเรียนรู้ร่วมกันเพื่อนำมาพัฒนาองค์กรต่อไป (Team Learning) นอกจากการทำงานอย่างมีเป้าหมายร่วมกันแล้ว คนในองค์กรต้องมีความคิดอย่างเป็นระบบ คิดทั้งระบบ คำนึงถึงผลกระทบให้ครบให้รอบ มองอย่างองค์รวม เด็ดดอกหญ้าสะเทือนถึงดวงดาว (Systemic Thinking) ประการสุดท้ายต้องเปิดปมในใจออกมาให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดการรู้เขา รู้เรา เพื่อสร้างสไตล์การทำงานให้เหมาะสมกับกลุ่มการทำงานในแต่ละกลุ่ม ผสานเป็นเนื้อเดียวกัน ซึ่งแต่ละคนไม่จำเป็นต้องมีสไตล์ที่เหมือนกัน แต่ทุกคนเข้าใจกัน ทำงานร่วมกันได้อย่างมีความสุข  (Mental Model)

 

หมายเลขบันทึก: 396001เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2010 12:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท