ความรู้สึกของนักกำหนดอาหารน้องใหม่


ในการเข้าพบผู้ป่วยแต่ละรายจะต้องทราบข้อมูลของผู้ป่วย

      

          การเริ่มงานครั้งแรกของดิฉันเกิดขึ้นที่โรงพยาบาลเทพธารินทร์ ในตำแหน่งนักโภชนาการหรือนักกำหนดอาหาร  หน้าที่ที่ได้รับมอบหมายคือการดูแลผู้ป่วยในที่มีปัญหาด้านโภชนาการ ซึ่งนอกจากภาวะการเจ็บป่วยทางร่างกายแล้ว สภาพจิตใจก็มีผลต่อการรับประทานอาหารของผู้ป่วย  การทานไม่พอจะส่งผลต่อภาวะโภชนาการทำให้โรคที่เป็นอยู่หายช้าหรือเลวร้ายลง ได้ 

      ระยะแรกดิฉันมีโอกาสได้เข้าร่วมทีมกับรุ่นพี่นักกำหนดอาหารและอาจารย์ที่ ปรึกษาด้านโภชนบำบัดหลายท่าน เพื่อสังเกตและเก็บเกี่ยวประสบการณ์ เทคนิค  รวมทั้งวิธีการเข้าหาผู้ป่วยของแต่ละท่าน    ซึ่งแตกต่างกันแต่ทุกท่านก็มีเป้าหมายเดียวกัน  คือต้องได้มาซึ่งข้อมูลที่ถูกต้องจากผู้ป่วยให้มากที่สุด  เพื่อที่เราจะนำมาเป็นตัวช่วยปรับแต่งแก้ไขให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย   ถ้าขาดความร่วมมือจากผู้ป่วย  การให้คำปรึกษาผู้ป่วยในครั้งนั้นก็จะไม่ประสบความสำเร็จ  

        ดิฉันคิดว่า หัวใจสำคัญของงานโภชนบำบัด คือ การสร้างแรงจูงใจเพื่อให้ผู้ป่วยมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคอาหารในทางที่ดีขึ้นตามที่เราแนะนำได้อย่างถูกต้องและยั่งยืน ซึ่งมันไม่ง่ายสำหรับน้องใหม่อย่างดิฉัน   เพราะความรู้สึกเวลาที่ดิฉันพบผู้ป่วยช่วงแรกๆ จะกังวลว่าเขาจะยอมรับฟังและเชื่อในตัวเราแค่ไหน ด้วยท่าทางเก้ๆ กังๆ พูดจายังไม่ฉะฉานพอ    เนื่องจากตื่นเต้นและประหม่า อีกทั้งยังดูเด็กเพิ่งจบใหม่ ประสบการณ์ทำงานก็ยังน้อย ด้วยเหตุนี้พี่ๆ ถึงได้เคี่ยวเข็ญให้ดิฉันต้องสร้างบุคลิกภาพให้น่าเชื่อถือ เนื่องจากเราต้องทำงานกันเป็นทีม: ภาพลักษณ์จึงเป็นสิ่งสำคัญ   

        จากวันแรกที่เริ่มงานจนถึงตอนนี้เป็นเวลา ๓ เดือนแล้ว ทำให้ดิฉันได้เรียนรู้ว่าในการเข้าพบผู้ป่วยแต่ละรายจะต้องทราบข้อมูลของผู้ป่วย ได้แก่ อาการหรือโรคที่เป็นอยู่, ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต ,ยาที่ได้รับ,และสิ่งสำคัญคือแบบแผนการทานอาหาร  เพื่อนำมาประเมินระดับภาวะโภชนาการของผู้ป่วย ซึ่งแบ่งเป็น high, moderate และ low risk  ในการลำดับความเร่งด่วนเพิ่อช่วยแก้ปัญหาให้ผู้ป่วยที่มีจำำนวนมาก ซึ่งเป็นเรื่องยากสำหรับน้องใหม่อย่างดิฉันที่จะประเมินปัญหาผู้ป่วยด้วย ความรวดเร็ว โดยเฉพาะในรายที่มีภาวะแทรกซ้อนหลายอย่าง      อย่างไรก็ตามชนิดและปริมาณอาหารเป็นสิ่งสำคัญที่นักกำหนดอาหารต้องคำนึง ถึง รวมทั้งการให้ความรู้กับผู้ป่วยเพื่อนำไปปฏิบัติหลังออกจากโรงพยาบาลซึ่ง สำคัญมากกว่าตอนอยู่โรงพยาบาลเพราะจะต้องดูแลอาหารด้วยตัวเองแล้ว

เล่าโดย    อารยา  เชตะโพธิ์     นักกำหนดอาหาร 

 

คำสำคัญ (Tags): #โภชนกร
หมายเลขบันทึก: 39596เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2006 11:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอเอาใจช่วย นักกำหนดอาหารน้องใหม่ครับ

 

จากพี่ Nurse Educator

ขอเอาใจช่วยด้วยนะคะและขอให้ตั้งใจทำงานนี้ให้ดีที่สุด เราจบมาด้านนี้เหมือนกันเราอยากจะทำงานด้านนี้มากด้วยแต่ยังไม่มีโรงพยาบาลไหนรับเลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท