การเมืองเป็นเรื่องของ … ?


ตราบใดที่มายาคติของความคิดที่ว่า “การเมืองเป็นเรื่องของผลประโยชน์ (ส่วนตนและพวกพ้อง)” จนคิดว่าเป็นเรื่องปกติของสังคมยังคง มีอิทธิพลและครอบงำ ความคิดของคนส่วนใหญ่ในสังคม มากกว่า มายาคติที่ว่า “การเมืองเป็นเรื่องของความเสียสละของผู้นำ” แล้วหละก็ ไม่ว่าจะอีกนานเท่าไหร่ จิตสำนึกของผู้นำในการบริหารจัดการประเทศก็จะเหมือนเดิม เพียงแต่จะเปลี่ยนรูปแบบและกระบวนการในการจัดสรรผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องให้แยบยลและแนบเนียนเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมก็เท่านั้นเอง

            การเมือง มีรากศัพท์มาจาก “Polis” ซึ่งเป็นภาษากรีก มีความหมายว่า นครรัฐ อันเป็นการรวมตัวทางการเมืองแบบหนึ่ง ใหญ่กว่าระดับครอบครัวหรือชนเผ่า เช่น นครรัฐในกรีกโบราณ ได้แก่ เอเธนส์และสปาร์ตา ได้มีผู้รู้ได้ให้ความหมายที่สำคัญไว้คือ

 

          เพลโต (Plato, ๔๒๗ – ๓๔๗ ก่อน ค.ศ.) ได้กล่าวถึงการเมืองในลักษณะ คือ พฤติกรรมของรัฐ ที่รัฐจำเป็นต้องกระทำเพื่อให้เกิดกิจกรรมต่าง ๆ การกระทำใด ๆ ที่รัฐควรทำและต้องทำทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ตั้งแต่การวางนโยบาย ออกกฎหมาย และบริหารงานกิจการต่าง ๆ ของรัฐเพื่อให้เกิดความสงบสุขในสังคม

 

         อริสโตเติล (Aristotle, ๓๘๔ – ๓๒๒ ก่อน ค.ศ.) เห็นว่า “การเมืองเป็นเรื่องของสาธารณะ (public)” เป็นเรื่องเกี่ยวกับสังคมระดับรัฐ ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับสังคมมนุษย์ที่ต้องมีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ดังนั้น การจัดการควบคุมดูแลในกิจต่าง ๆ ให้เป็นไปอย่างราบรื่นจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ขาดไม่ได้

 

        แฮโรลด์ ลาสเวลล์ (Harold Lasswell) ได้กล่าวไว้ว่า การเมืองเป็นเรื่องเกี่ยวกับอิทธิพล (The study of politics is the study of influence and the influential) ในหนังสือที่ชื่อ การเมือง : ใครได้อะไร เมื่อใด และอย่างไร (Politics : who gets what, when and how ?)

 

         วี. โอ. คีย์ นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันได้ให้คำนิยามไว้ว่า “การเมืองเป็นเรื่องความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่เกี่ยวกับการบังคับบัญชาและถูกบังคับบัญชา การควบคุม การเป็นผู้ปกครองและถูกปกครอง

 

         เดวิด อีสตั้น (David Easton) ได้ให้คำนิยามไว้ว่า “การเมืองเป็นเรื่องของการแบ่งสันปันส่วนหรือจัดสรรโดยใช้อำนาจอันเป็นที่ได้รับการยอมรับหรือที่ถือว่าเป็นไปตามสิทธิอำนาจ

 

      เชลดอน โวลิน ได้ให้คำนิยามไว้ว่า “การเมือง” ประกอบด้วยสามประเด็นหลัก อันได้แก่

                 - การแข่งขันเพื่อชิงประโยชน์ (Competitive advantage)

                 - เป็นกิจกรรมซึ่งมีแนวโน้มปรากฏได้ง่ายและมากใน ๒ เงื่อนไข คือ (๑) สถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลง และ (๒) สภาพที่ค่อนข้างขาดแคลน

                 - มีผลกระทบต่อสาธารณะ (public) หรือต่อส่วนรวม

 

             นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความคิดเห็นเกี่ยวกับความหมายของ “การเมือง” เอาไว้ ของผู้รู้ระดับปราชญ์ โดยสรุปแล้วอาจจะกล่าวได้ว่ามายาคติของคำว่า “การเมือง” ตามนัยที่ทุกคนซึมซับและเข้าใจก็คือ “การเมือง เป็นเรื่องของการใช้อำนาจของผู้ที่มีอำนาจในการปกครองสังคม เพื่อเป็นไปในทางการจัดสรร ผลประโยชน์ ให้กับสังคมเพื่อบรรลุซึ่งเป้าหมายของการอยู่ร่วมกันอย่างศานติ” ซึ่งวาทกรรมดังกล่าวของเรื่องการเมืองก็จะวนเวียนอยู่ในบริบทของ “อำนาจ” และ “ผลประโยชน์”  เสมือนประหนึ่งว่า เป็นการผูกขาดทางด้านความคิดดังกล่าว เป็นการบ่มเพาะและปลูกฝังองค์ความรู้ในเรื่องของการเมืองในปัจจุบันที่ชาวบ้านและคนทั่ว ๆ ไปมักจะพูดเสมอว่า “การเมืองเป็นเรื่องของผลประโยชน์” คำว่า “ผลประโยชน์” ในที่นี้เพื่อความเข้าใจโดยง่ายสามารถแบ่งได้เป็น ๓ ประเภท คือ (๑) ผลประโยชน์ส่วนตน (๒) ผลประโยชน์ของพวกพ้อง และ(๓) ผลประโยชน์ของส่วนรวม

 

            ซึ่งนัยของคำว่า ผลประโยชน์” ตามความรู้สึกนึกคิดของประชาชนโดยส่วนใหญ่ในสังคมปัจจุบันแล้ว จะมองนักการเมืองที่ข้อ (๑) และ (๒) คือ “ผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง” เป็นสำคัญ ดังนั้นในอีกแง่มุมหนึ่งทำให้เกิดมายาคติทางด้านการเมืองของการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่จะรักษา “ผลประโยชน์ของส่วนรวม” เอาไว้จึงไม่มีมากนักในสังคมปัจจุบัน เนื่องจาก คนส่วนใหญ่มองว่า “ผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง” ของนักการเมือง มันได้กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาและชาชิน ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมาช้านานแล้ว ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะโกงกินบ้างก็ไม่เป็นไร แต่ขอให้หว่านเงินมาแจกชาวบ้านเพื่อปิดปากด้วยก็แล้วกัน จนมีคำพูดที่ติดปากของชาวบ้านเสมอ ๆ ว่า “มันก็โกงกันทุกรัฐบาลนั่นแหละ อยู่ที่ว่าโกงมากโกงน้อยก็เท่านั้นเอง” ซึ่งมายาคติในทรรศนะเรื่องดังกล่าวเป็นการสะท้อนออกมาถึง การยอมรับ ในเรื่องของ “การเมืองเป็นเรื่องของผลประโยชน์ (ส่วนตนและพวกพ้อง)” ว่า เป็นเรื่องปกติในสังคมไทย เสมือนประหนึ่งว่า ต้องยอมก้มหน้ารับกรรม

 

          ตราบใดที่มายาคติของความคิดที่ว่า “การเมืองเป็นเรื่องของผลประโยชน์ (ส่วนตนและพวกพ้อง)” จนคิดว่าเป็นเรื่องปกติของสังคมยังคง มีอิทธิพลและครอบงำ ความคิดของคนส่วนใหญ่ในสังคม มากกว่า มายาคติที่ว่า “การเมืองเป็นเรื่องของความเสียสละของผู้นำ” แล้วหละก็ ไม่ว่าจะอีกนานเท่าไหร่ จิตสำนึกของผู้นำในการบริหารจัดการประเทศก็จะเหมือนเดิม เพียงแต่จะเปลี่ยนรูปแบบและกระบวนการในการจัดสรรผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องให้แยบยลและแนบเนียนเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมก็เท่านั้นเอง

 

          อนาคตของสังคมขึ้นอยู่กับว่าเราจะสร้างจิตสำนึกในการมีส่วนร่วมของคนในสังคมในรูปแบบของมายาคติทางด้านการเมืองแบบใด เพื่อที่จะให้สังคมโคจรหลุดพ้นจากวงจรอุบาทของการเมือง ที่ผู้นำทุกยุคทุกสมัยพยายามสร้างและบ่มเพาะองค์ความรู้ (จากพฤติกรรมที่แย่งชิงผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง) ให้ซึมซับในมายาคติที่ว่า “การเมืองเป็นเรื่องของผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง” เพื่อทำให้สังคมยอมรับและเห็นว่าเป็นเรื่องปกติและชอบธรรมที่เป็นไปตามกลไก (ตลาด) ทางการเมือง ในการครอบงำความคิดของประชาชน เพื่อที่จะแสวงหาส่วนเกินทาง ผลประโยชน์ ในรูปแบบต่าง ๆ ให้กับตนเองและพวกพ้อง ให้ดำรงอยู่ต่อไปตราบนานเท่านาน

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 395437เขียนเมื่อ 18 กันยายน 2010 11:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 20:26 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท