IX : จิตสำนึกส่วนรวมและการบริหารจัดการกิเลส คือ ยาวิเศษที่รักษาธรรมชาติ


“การผลิตจิตสำนึกส่วนรวมที่เข้มข้น ช่วยฝึกฝนตนไปสู่ความเสียสละที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต”

16

“There is a sufficiency in the world for  man's need but not for man's greed.”

หรือ 

“ทรัพยากรในโลกมีเพียงพอต่อคนทั้งโลก แต่ไม่เพียงพอต่อคนโลภเพียงคนเดียว”

 ท่านโมฮันดาส คานธี (Mohandas Gandhi : ค.ศ. ๑๘๖๙ – ๑๙๔๘)

ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็น “มหาตมะ (Mahatma)” หรือบิดาของชาติอินเดีย

 

 

 

 

IX : จิตสำนึกส่วนรวมและการบริหารจัดการกิเลส คือ ยาวิเศษที่รักษาธรรมชาติ

 

             ารเอาใจใส่ในธรรมชาติ เพื่อสร้างโอกาสในการพัฒนาไปสู่ความยั่งยืนนั้น ถือเป็นสิ่งสำคัญและเป็นพันธะผูกพันที่ทุกคนต้องเจือปนในความเข้มข้นของการมี จิตสำนึกส่วนรวม ร่วมช่วยกันในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างประหยัดและรู้คุณค่า ไม่ควรใช้ไปในทางนำมาเพื่อสนองเพียงแค่ตัณหาอย่างเดียว

 

“การผลิตจิตสำนึกส่วนรวมที่เข้มข้น  

ช่วยฝึกฝนตนไปสู่ความเสียสละที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต

 

            การฝึกเด็กให้มีความคิดเรื่องจิตสำนึกส่วนรวมนั้น ถือเป็นการวางรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาคุณภาพของสังคม ให้อุดมไปด้วยความเมตตา กรุณา เอื้อเฟ้อเผื่อแผ่ เพราะ  สังคมทุกวันนี้กำลังแย่มีแต่คนเห็นแก่ตัวเป็นส่วนใหญ่ หากไม่เร่งสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการผลิตจิตสำนึกส่วนรวมเข้าระบบ ก็อาจจะประสบปัญหาการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืนในระยะยาว

 

“การฝึกกระบวนการความคิดจิตสำนึกส่วนรวมนั้น ถือเป็นรากฐานในการส่งออกความงดงามทางจิตใจ ไปสู่ผู้คนรอบข้างอย่างอิ่มเอมเปรมปรีดิ์ ปรารถนาดีให้มีแต่ความสุขความเจริญ เดินหน้าเข้าสู่ลู่ทางการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน”

 

               วิกฤติธรรมชาติที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นผลสะท้อนกลับมาจากการจัดระเบียบตาม กฎธรรมชาติ ในตัวของมันเองเพื่อที่จะจัดสมดุลธรรมชาติ

                    ธรรมชาติจะมีการจัดสมดุลของมันเองอยู่เสมอตามภาวะแวดล้อมหรือปัจจัยเหตุที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา แต่การจัดสมดุลที่สะท้อนออกมาในรูปแบบของวิกฤติทางธรรมชาตินั้น จะรุนแรงมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับอาการเจ็บป่วยของธรรมชาติเป็นสำคัญ ดังที่จะเห็นในปัจจุบันที่ทั่วทุกมุมโลกจะประสบกับวิกฤติธรรมชาติทวีความรุนแรงและถี่ขึ้นทั้งการเกิดสึนามิ (ประเทศไทย) พายุนากีส (พม่า) และแผ่นดินไหวในอีกหลาย ๆ ประเทศ นำมาซึ่งความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินอย่างประเมินค่าไม่ได้ นั่นย่อมสะท้อนออกมาถึงขนาดอาการของการเจ็บป่วยของธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากน้ำมือของมนุษย์ที่ฉกฉวยตักตวงเอาผลประโยชน์เพื่อแสวงหาส่วนเกินทางเศรษฐกิจจากธรรมชาติ

           การแก้ไขปัญหาวิกฤติในด้านต่าง ๆ มุ่งเน้นที่การสนองตอบต่อความต้องการในระยะสั้น ๆ ที่ไม่สอดคล้องกับสภาวะ (ธรรม) หรือกฎธรรมชาติ เป็นไปในลักษณะของการมุ่งแก้ไขปัญหาเพื่อตอบสนองกับความต้องการที่สมประโยชน์ของตนและพวกพ้องเป็นที่ตั้ง โดยไม่ใส่ใจในการวางกรอบของการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างเป็นระบบ

 

“การมุ่งแก้ไขปัญหาที่ขัดต่อสภาวะ (ธรรม) ตามความเป็นจริง ยิ่งเป็นการสั่งสมเพิ่มพูนในปัญหา เป็นการผลักภาระต้นทุนแห่งกระบวนการเกิดวิกฤติให้ไปสัมฤทธิ์ผลทวีความโกลาหลในอนาคตของคนรุ่นถัดไป”

          

          การเรียนรู้ให้เข้าถึงและเข้าใจในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ เป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งยวด การอวดดีและยโสโอหังโดยไม่ฟังเสียงธรรมชาติที่ส่งสัญญาณผ่านหลายด้านที่สะท้อนออกมาทั้งภาวะโลกร้อน  ความแปรปรวนของสภาพอากาศ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เป็นต้น เสมือนการบ่งชี้เป็นนัยไว้ ให้มนุษย์เข้าใจในกฎธรรมชาติอย่างถูกต้องตามจริง เพื่อที่จะประพฤติปฏิบัติได้ถูกต้องในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์กับธรรมชาติ  การทำความเข้าใจในกฎธรรมชาติไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป และไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่เป็นพันธะผูกพันของมนุษย์ทุกคนทั้งในปัจจุบันและในอนาคตที่จะต้องเรียนรู้เพื่อให้ เข้าถึงและเข้าใจในกฎธรรมชาติดังกล่าว นำไปสู่การประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องและสอดคล้องกับกฎธรรมชาติ เพื่อที่จะช่วยสร้างโอกาสในการรักษาเยียวยาอาการเจ็บป่วยของธรรมชาติ

 

“การบริหารจัดการและควบคุมกิเลส เป็นตัวยาที่วิเศษ ช่วยเยียวยาและรักษาธรรมชาติให้สามารถคงอยู่คู่กับมวลมนุษย์ ประดุจหนึ่งการพึ่งพาที่พัฒนาสู่ความยั่งยืน”

 

         วิธีการรักษาเยียวยาธรรมชาติที่ดีที่สุดคือ “การรู้จักจัดการบริหารและควบคุมกิเลส” เกี่ยวเนื่องจาก    

          หากมวลมนุษยชาติมีกิเลส (ความอยาก) เพิ่มสูงขึ้นในการดำเนินชีวิต การสนองตอบต่อความอยากนั้นนำพามาสู่การเข้าไปทำลายความสมดุลของกฎอุตุนิยาม ให้เสียดุลยภาพไป ซึ่งสะท้อนออกมาชัดเจนในภาวะปัจจุบัน เช่น การเกิดภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงของดินฟ้า – อากาศ และฤดูกาล เป็นต้น ซึ่งภาวะดังกล่าวนี้ล้วนเป็นผลเกี่ยวเนื่องมาจากการก้าวล้ำเข้าไปตักตวงเอาผลประโยชน์จากธรรมชาติอย่างอหังการของมนุษย์ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา จนเกิดการสั่งสมของต้นทุนทางธรรมชาติ (กระบวนการปรับดุลยภาพด้วยตัวของมันเองตามธรรมชาติ) ซึ่งกระบวนการปรับตัวของธรรมชาติเพื่อให้เข้าสู่จุดดุลยภาพใหม่จะเป็นไปตามกรอบของทฤษฎีไร้ระเบียบ (Chaos Theory) ที่เมื่อระบบของสรรพสิ่งเข้าสู่ภาวะที่ซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นการเมือง สังคม เศรษฐกิจ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนถึงด้านอื่น ๆ จนเกิดความยุ่งเหยิง ไร้ระเบียบ โกลาหลมากขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงจุดหนึ่งในที่สุดระบบก็จะทำลาย (ชำระ) ตัวของมันเองจากจุดเล็ก ๆ ที่คาดไม่ถึง ทุกสิ่งทุกอย่างแปรเปลี่ยนไปตามปัจจัยเหตุและภาวะแวดล้อมที่มากมายหลากหลายปัจจัยประกอบกันตั้งแต่เล็กไปจนใหญ่เกี่ยวเนื่องกันหมด (กฎอิทัปปัจจยตา) จนไม่สามารถที่จะคาดการณ์ได้ชัดเจนและแน่นอน (อนิจจัง) ในกระบวนการของการปรับดุลยภาพใหม่นั้นจะสะท้อนออกมาเป็นผลของกฎกรรมนิยาม ในลักษณะของภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ฝนแล้ง พายุ แผ่นดินไหว เป็นต้น ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นเสมือนสัญญาณเตือนที่ส่งมาถึงมวลมนุษยชาติว่า ธรรมชาติกำลังเจ็บป่วยหากไม่ช่วยกันรักษาเยียวยา ความเจ็บป่วยของธรรมชาติก็จะทรุดหนักไปเรื่อย ๆ จนในที่สุดธรรมชาติก็จะกลับมาเรียกค่าสินไหม (ในรูปของภัยพิบัติและภัยธรรมชาติ) ชดเชยจากมนุษย์อย่างสาสมและประเมินค่าไม่ได้

 

  

“ปาฏิหาริย์ไม่ใช่สิ่งที่อยู่ตรงกันข้ามกับธรรมชาติเพียงแต่

อยู่ตรงข้ามกับสิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับธรรมชาติ

เซนต์ออกุสติน (St. Augustine of Hippo : ค.ศ. ๓๕๔ – ๔๓๐)

ศาสตราจารย์ในวิชาสำนวนโวหาร (rhetoric) และสังฆราชแห่งนครฮิปโป

 

  

 

 

เพิ่มเติม IX : In a long run we are all dead 

         “In a long run we are all dead”หรือ ในระยะยาวทุกคนตายหมด อมตะวาจาที่จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes)  นักเศรษฐศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ เคยกล่าวไว้ เป็นคำพูดที่เป็นสัจธรรมในเชิงปรัชญา และมีคุณค่าในการค้นหาคำตอบยิ่งนักในภาวะสังคมในปัจจุบัน ที่ในแต่ละสังคมมุ่งเน้นบริหารจัดการเมนูนโยบายของประเทศที่ เป็นไปเพื่อแก้ปัญหาและสนองตอบต่อระสั้นเท่านั้น ส่วนในระยาวซึ่งต้องวางรากฐานทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมรวมถึงธรรมชาติ ไว้เพื่อพัฒนาสู่ความยั่งยืนนั้นกลับถูกละเลยโดยสิ้นเชิง

 

         ในระยะยาว เป็นมิติทางด้านกาล (เวลา) ที่คนส่วนใหญ่ล้วนมองข้ามทั้งในภาวะที่ไม่รู้ และเจตนา (รู้แต่ไม่สนใจ) ในการแสดงออกทางพฤติกรรมเพื่อฉกฉวยและแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องเพื่อให้ได้มาและบรรลุซึ่ง “ความพึงพอใจสูงสุด” ในระยะสั้น ๆ  โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบและต้นทุนทางสังคมที่ได้สร้างไว้ให้กับคนในรุ่นต่อไป ซึ่งภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้นทั้งในมิติของเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และธรรมชาติ ล้วนแล้วแต่เกิดจากฝีมือของมนุษย์เองทั้งสิ้น การที่มนุษย์มุ่งฉกฉวยผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง โดยการเบียดเบียนทั้งมนุษย์ด้วยกันเองและเบียดเบียนธรรมชาติ เพื่อให้ได้มาซึ่งความมั่งคั่งของปัจเจกและกลุ่มอุดมการณ์ (เห็นแก่ตัว) เดียวกัน ซึ่งกระบวนการดังกล่าวนับได้ว่า “เป็นตัวเร่ง” ชั้นยอดทางมิติด้านกาล (เวลา) เพื่อนำไปสู่ความหายนะของสังคมโลก

 

           ทุกคน ในยุค Globalization การเชื่อมโยงในทุกมิติของสังคมโลก มีความสัมพันธ์กันเป็นองค์รวม การเคลื่อนย้ายทรัพยากรต่าง ๆ มีความลื่นไหลเป็นอย่างมาก โดยการออกแบบกลไกที่มาจากองค์กรโลกบาล (IMF, World Bank และ WTO) เพื่อเป็นตราประทับความชอบธรรมให้กับประเทศมหาอำนาจโลกที่หนึ่งในการกำหนดเมนูนโยบายระเบียบของโลกทุกมิติ ดังนั้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากประเทศในโลกที่หนึ่งเหล่านี้จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะกระทบกับกลุ่มประเทศในโลกที่สาม (กำลังพัฒนา) ซึ่งการเชื่อมโยงกันของทุกมิติของสังคมโลกจึงมีผลกระทบซึ่งกันและกัน แต่จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับศักยภาพและการบริหารจัดการของแต่ละประเทศ

       

          ตายหมด แน่นอนที่สุดทุกคนเกิดมาล้วนต้องตาย เป็นสัจธรรมหลีกหนีไม่พ้น แต่ทว่าความตายในยุคปัจจุบันล้วนอยู่ใกล้แค่เอื้อมทั้งจากภาวะเศรษฐกิจ (ความยากจน) ภาวะทางสังคม (อาชญากรรมในรูปแบบต่าง ๆ ) ภาวะทางการเมือง (การจลาจลและสงคราม) และรวมถึงภัยพิบัติตามธรรมชาติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นฝีมือมาจากมนุษย์ด้วยกันเองทั้งนั้น

           “In a long run we are all dead”หรือ ในระยะยาวทุกคนตายหมด ก็คงจะอยู่ใกล้แค่เอื้อมเท่านั้นเองหากมนุษย์ไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่มุ่งเน้นแสวงหาความมั่งคั่งโดยการเบียดเบียนมนุษย์ด้วยกันเองและเบียดเบียนธรรมชาติ ที่มี “ผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง” เป็นตัวเชื่อม มาสู่การใช้  “คุณธรรมและจริยธรรม” และการมีจิตสำนึกส่วนรวม เป็นตัวเชื่อมระหว่างกันแทน จริงอยู่ที่ทุกสิ่งล้วนมีก่อเกิด ตั้งอยู่ และดับไป  แต่ เราสามารถช่วยกันยืดกาล (เวลา) แห่งสภาวะดังกล่าวออกไปได้ ด้วยการเรียนรู้ให้เข้าถึงและเข้าใจในการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลในทุกมิติ

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 395433เขียนเมื่อ 18 กันยายน 2010 11:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:32 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท