สภาองค์กรชุมชนตำบล : กับส่วนหนึ่งของขบวนการเมืองภาคพลเมือง *


สภาองค์กรชุมชนตำบล : กับส่วนหนึ่งของขบวนการเมืองภาคพลเมือง *

สภาองค์กรชุมชนตำบล : กับส่วนหนึ่งของขบวนการเมืองภาคพลเมือง *

บ่อยครั้งที่เราพูดถึงการเมืองกันทีไร ก็มักจะแสดงทัศนะกันอย่างสนุกว่า เป็นเรื่องของการแก่งแย่งอำนาจบ้าง เป็นเรื่องของการแย่งชิงผลประโยชน์ทรัพยากรบ้าง เป็นเรื่องของเกมส์การเอาชนะคะคานกัน หรือการตอบโต้กันจนนำไปสู่การเผาบ้านเผาเมืองดังที่ปรากฏให้ชาวเราได้เห็นกันก็มีอยู่ และบ้างก็มีการพูดกันว่าการเมืองเป็นเรื่องไกลตัว จนทำให้ผู้คนในบ้านเมืองนี้จำนวนไม่น้อยมีอาการบ่ายเบี่ยง เบื่อหน่ายที่จะพูดถึงและนำพาตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการทางการเมืองในปัจจุบัน จะเป็นด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม สิ่งนี้ก็ได้ปรากฏเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ที่เราทุกคนเข้าใจกันได้ดีที่สุดเรื่องหนึ่งในปัจจุบัน

                อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้คนจำนวนน้อยนัก ที่จะทราบว่า เมื่อปี พ.ศ. 2551 ได้เกิดมีพระราชบัญญัติอย่างน้อยหนึ่งฉบับที่ให้อำนาจกับภาคประชาชนในการพูด การแสดงออก และสามารถเข้าถึงการเมืองในอีกมิติหนึ่ง ที่แตกต่างออกไปจากรูปแบบการเมืองเดิมๆที่ชาวเราเข้าใจกัน นั่นคือ พระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน ซึ่งเกิดจากการ ริเริ่มของวิทยาลัยการจัดการทางสังคมได้ผลักดันและขับเคลื่อนร่วมกันกับเครือข่ายองค์กรชุมชนชนจากทั่วทุกภาคของประเทศ

                ถามว่า การเมืองในรูปแบบของพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน ต่างจากการเมืองในรูปแบบที่เราเห็นและใช้อยู่ในปัจจุบันอย่างไร ก็อยากจะอธิบายเพื่อทำความเข้าใจ ถึงกระบวนการทางการเมืองในมิติดังกล่าวให้ทราบโดยทั่วกันว่า การเมืองในมิติของสภาองค์กรชุมชนที่เราจะพูดถึงกันนั้น เป็นรูปแบบการเมืองที่ใกล้ตัวโดยริเริ่มได้จากตัวเราเอง หรืออาจจะทำร่วมกันในรูปแบบของกลุ่ม องค์กรชุมชนที่เราดำเนินการอยู่ตามลักษณะกิจกรรมของชุมชนท้องถิ่นต่างๆ มาร่วมกันทำ พูด คิด ถึงเรื่องทิศทาง แนวทางการพัฒนาชุมชน รวมถึงวิถีการดำเนินชีวิตชุมชนของตนเอง เป็นลักษณะการเมืองที่พูดถึงปากท้องของตนเองซึ่งมีความสลับซับซ้อนที่ภาคการเมืองในรูปแบบปกติเข้ามาแก้ไขได้ยาก เป็นการขับเคลื่อนการเมืองโดย ขบวนการภาคพลเมืองเอง

                ถ้าอย่างนั้น เพื่อให้สิ่งที่เราเรียกว่า “ขบวนการภาคพลเมือง” สามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในมิติดังกล่าวได้อย่างเป็นรูปธรรม ขบวนการดังกล่าวควรประกอบด้วยใครบ้าง ก็จะบอกว่า ต้องเป็น การร่วมมือกันของทุกภาคส่วนในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นแกนนำธรรมชาติ ผู้อาวุโสในชุมชนที่เรียกว่า ปราชญ์ชาวบ้าน ตัวแทนกลุ่ม องค์กรชุมชน หรือแกนนำตามโครงสร้างของชุมชน เช่น ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน วัด มัสยิด โรงเรียน อนามัย เป็นต้น เพื่อพบปะ พูดคุยกันถึงทิศทาง แนวทางในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของตนเอง ดังนั้นกระบวนการดังกล่าวเรียกได้ว่า สภาองค์กรชุมชน

                ผู้คนจำนวนไม่น้อยอาจเข้าใจว่า “สภาองค์กรชุมชน” เป็นเรื่องแปลกใหม่ หรือบางท่านอาจจะเข้าใจเลยเถิดไปถึงขั้นเป็นสิ่งแปลกปลอมสำหรับสังคมหรือชุมชนท้องถิ่นไทย จึงขออธิบายเพื่อเป็นการเข้าใจร่วมกันว่า สภาองค์กรชุมชน เป็นแค่ชื่อที่ใช้เรียกขานเพื่อให้เข้าใจถึงกระบวนการขับเคลื่อนงานของภาคประชาชนที่เป็นทางการเท่านั้น โดยแท้จริงแล้ว ชุมชนท้องถิ่นส่วนใหญ่มีลักษณะหรือรูปแบบของการขับเคลื่อนงานร่วมกันอยู่แล้วโดยธรรมชาติ เช่น กลุ่มองค์กรชุมชนต่างๆ ทั้งมีโครงสร้างเป็นทางการและไม่เป็นทางการที่เรารู้จักกันในนามของ กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มกองทุนสวัสดิการชุมชน กลุ่มธนาคารข้าว กลุ่มโค-กระบือ กลุ่มฌาปนกิจ เป็นต้น หรือที่มากไปกว่านั้นบางท้องถิ่นมีการจัดตั้งกลุ่ม ที่เรียกกันว่า สภาวัฒนธรรม ด้วยซ้ำไป ซึ่งเราก็พอเข้าใจกันได้โดยทั่วกันว่า กลุ่มองค์กรชุมชนเหล่านี้ มีการรวมตัวและพูดคุยกันอย่างสม่ำเสมออยู่แล้วในแต่ละท้องถิ่นจึงเป็นการเข้าใจได้ว่าไม่ใช่สาระที่จะถกกันในประเด็นดังกล่าว เพียงแต่เราจะทำอย่างไร เพื่อให้สภาองค์กรชุมชนเป็นสภาของคนในท้องถิ่นที่มีคนหลากหลายฝ่ายมาและมีอยู่ในชุมชนได้เข้าใจและเข้ามาร่วมพูดถึงทิศทาง หรือแนวทางในการขับเคลื่อนชุมชนของตนเองมากขึ้น สมดังเจตจำนงของพระราชบัญญัติดังกล่าว

                อย่างไรก็ตามเพื่อให้เข้าใจถึงกระบวนการดังกล่าวข้างต้นได้ดียิ่งขึ้น จึงขออธิบายหลักการของพระราชบัญญัติผ่านกรอบคิดทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่ ดังนี้

 

จากแผนภูมิดังกล่าว ทำให้ชวนพิจารณาได้ว่า ถ้าหัวใจของการแก้ปัญหาความยากจนคือความพอเพียง แต่การที่เราร่วมกันใส่ใจถึงกระบวนการซึ่งจะนำไปสู่ขั้นตอนดังกล่าว นับว่าเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญยิ่งที่เราจะละเลยมิได้โดยเด็ดขาด และจะต้องร่วมกันผลักดันให้เกิดการนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อสามารถตอบโจทย์ดังกล่าวข้างต้นได้อย่างแท้จริง ดังนั้น บทความในภาคแรกจึงขอนำเสนอให้ทราบว่า พระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชนเป็นโอกาสและสิทธิอย่างชอบธรรมของภาคประชาชนอย่างแท้จริง ในการที่จะร่วมกันสร้างความเข้มแข้งให้กับการเมือง แบบกินได้ หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า การเมืองภาคพลเมืองนั่นเอง

 

เอกสารอ้างอิง

คู่มือ จดแจ้งการจัดตั้งชุมชน และสภาองค์กรชุมชนตำบล สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน

(องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 2551

สภาองค์กรชุมชนตำบล สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคม

และความมั่นคงของมนุษย์ 2551

พระราชบัญญัติ สภาองค์กรชุมชนปีพ.ศ. 2551 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

 


* อุดมศักดิ์ เดโชชัย อาจารย์ประจำหลักสูตรการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช

ที่มา: ได้ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันจันทร์ที่ 2 สิงหาคม 2553

      : ได้เผยแพร่ในวารสารการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ฉบับที่ 2 ปีที่ 2 พ.ศ. 2553

หมายเลขบันทึก: 395266เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2010 18:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
เด็กห้องอาจาร์เองค่ะ

อาจารย์  ข้อสอบยากจัก    หาคำตอบมะได้เลยอ่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท