IX : พันธนาการด้าน “การยึดติดถือมั่นความเป็นศูนย์กลางแห่งตนเอง”


“มองทุกสิ่งตามจริง (กฎธรรมชาติ) ที่มันเป็นไป ไม่ใช่ มองทุกสิ่งตามจริงที่ใจอยากให้เป็น”

14

“อย่างไรก็ตาม ขออย่าให้เรายกย่องตัวเองมากจนเกินไปในเรื่องที่มนุษย์เราสามารถเอาชนะธรรมชาติได้ เพราะในชัยชนะ แต่ละครั้งนั้น ธรรมชาติจะแก้แค้นเรากลับเสมอ

 เฟเดอริก เองเกลส์ (Friedrich  Engels : ค.ศ. ๑๘๒๐ – ๑๘๙๕)

นักปรัชญาทางสังคมและการเมืองชาวเยอรมัน

 

 

 

IX : พันธนาการด้าน “การยึดติดถือมั่นความเป็นศูนย์กลางแห่งตนเอง

 

              มนุษย์โดยส่วนใหญ่หลงใหลเสพติดในกับดักมายาคติที่ยึดติดถือมั่น ผลักดันให้ตัวเองเป็นศูนย์กลาง โดยมองธรรมชาติรอบข้างเป็นเพียงแค่องค์ประกอบ (ส่วนเกิน) ส่วนหนึ่งของมนุษย์

นัยคือ

           มนุษย์อยู่เหนือธรรมชาติ สามารถเอาชนะธรรมชาติอย่างเด็ดขาดได้ด้วยเทคโนโลยานุวัตร (Technologization)

 

 “การมีทัศนคติที่ยึดติดถือมั่นผลักดันเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง โดยมองสิ่งรอบข้างเป็นศัตรู ที่จะต้องต่อสู่ ห้ำหั่น ฟาดฟันเพื่อชัยชนะนั้น เท่ากับ เป็นการทำลายภูมิคุ้มกันของความสัมพันธ์ที่สมดุลของการพึ่งพา  เป็นการเดินหน้าเข้าหาจุดวิกฤติ

 

        ป็นที่ประจักษ์ในระดับหนึ่งแล้วว่า วิถีการผลิตที่พึ่งพาเทคโนโลยีที่มีจุดประสงค์มุ่งตรงเพื่อเอาชนะธรรมชาติในรูปแบบต่าง ๆ ถึงแม้จะสามารถเพิ่มผลผลิตและสร้างกำไรมหาศาลให้กับผู้ประกอบการแต่ก็ต้องแลกมาซึ่งปัญหาซ้อนปัญหาในเรื่องของวิกฤติธรรมชาติ

        จึงสังเกตได้ว่าหลาย ๆ องค์กรทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นกลุ่มประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจจี ๗ สหภาพยุโรป องค์การการค้าโลก ธนาคารโลก เริ่มออกมาเรียกร้องให้ผู้ผลิตมีจิตสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคมโลกโดยรวม หลังจากที่เมื่อกว่าทศวรรษที่ผ่านมาได้นำเอามาตรการทางด้านการควบคุมทางตรงทั้งการกำหนดค่าความเข้มข้นของสารเคมีที่ปล่อยขึ้นสู่อากาศและลงในแม่น้ำ ซึ่งถือได้ว่าเป็นมาตรการทางตรง แต่ไม่ค่อยจะได้ผลมากนักจึงต้องหันกลับมาใช้มาตรการทางอ้อม โดยการ จี้ที่ต่อมสามัญสำนึกให้ทุกคนตระหนักและร่วมรับผิดชอบต่อสังคมโลกและธรรมชาติ

 

“จิตสำนึกในการรับผิดชอบต่อสังคมและธรรมชาติที่พึงมี เป็นมรรควิธีช่วยยกระดับคุณภาพของชีวิตและธรรมชาติให้สามารถก้าวข้ามพ้นผ่านการเดินหน้าเข้าหาจุดวิกฤติ”

 

          วิกฤติธรรมชาติที่ก่อเกิด เป็นเพราะมนุษย์ได้ไปละเมิด “กฎธรรมชาติ” ในการอยู่ร่วมกันในสังคม หากว่าเรามีการกระทำที่ไปละเมิดกฎ ระเบียบของสังคม เราก็จักต้องได้รับผลแห่งการกระทำ ซึ่งนำไปสู่การถูกลงโทษตามกฎเกณฑ์ในสังคมนี้  และในกรณีที่หากว่าเราได้กระทำซึ่งนำไปสู่การละเมิดในกฎธรรมชาติ เราก็จักได้รับผลจากการกระทำโดยการถูกธรรมชาติลงโทษเช่นกันหาได้รับการยกเว้นไม่ แต่จะต่างกันตรงที่ กฎ ข้อบังคับ ทางสังคมเป็นผลผลิตที่ลิขิตจากมนุษย์ด้วยกันเอง แต่ กฎธรรมชาติเป็นผลิตผลจากธรรมชาติที่ไม่มีใครหรือว่าสิ่งใดที่สามารถควบคุมในบทลงโทษทางธรรมชาติดังกล่าวได้ เช่น

               -  สมมติว่า ตัดต้นไม้ ๑๐๐ ล้านต้น แล้วบังคับธรรมชาติลงโทษโดยขอให้น้ำท่วมแค่ ๑ เซนติเมตร หรือ

               - สมมติว่า ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ๑๐๐ ล้านตัน แล้วบังคับธรรมชาติลงโทษโดยขอให้โลกร้อนเพิ่มขึ้น ๐.๐๐๐๐๑ องศาเซลเซียส

เป็นต้น

             ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่มีใครหรือสิ่งใดที่จะควบคุมกลไกและเงื่อนไขของบทลงโทษดังกล่าวของธรรมชาติได้

 

             “วิกฤติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นนั้น เป็นเสมือนสัญญาณเตือนที่ส่งตรงมาถึงมวลมนุษยชาติว่า ธรรมชาติได้พิพากษา เรียกค่าสินไหมทดแทนอย่างแสนสาหัส จากการที่มนุษย์นั้นบังอาจไปรุกล้ำกระทำการละเมิดกฎธรรมชาติอย่างอหังการ ทั้งการตัดต้นไม้ทำลายป่า ปล่อยสารพิษขึ้นบนท้องฟ้า ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนนำพามาสู่วิกฤติ”    

 

       “กฎธรรมชาติ” ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบเมื่อกว่า ๒๕ ศตวรรษที่ผ่านมา และทรงแสดงไว้ ๕ อย่าง เรียกว่า “ปัญจนิยามธรรม” คือ กฎ ๕ ประการ ที่บีบคั้น บังคับให้เกิดอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตาของทุกสรรพสิ่ง ประกอบไปด้วย

            ๑.อุตุนิยาม (Physical Laws) เป็นกฎธรรมชาติที่ครอบคลุมความเป็นไปของปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เกี่ยวเนื่องกับวัตถุที่ไม่มีชีวิตทุกชนิด เช่น ฤดูกาล อุณหภูมิ หรือความร้อน – เย็น อันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทั้งรูปและนาม หรือแม้กระทั่งการก่อเกิดของโลกและจักรวาลก็เป็นไปตามกฎธรรมชาติของข้อนี้ เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับกฎและทฤษฎีทางฟิสิกส์ทั้งหมด

           ๒.พีชนิยาม (Biological Laws) เป็นกฎธรรมชาติที่ครอบคลุมความเป็นไปของสิ่งมีชีวิตทั้งสัตว์และพืช การสืบพันธุ์หรือพันธุกรรม เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับกฎและทฤษฎีทางชีววิทยาทั้งหมด

          ๓.จิตนิยาม (Psychological Laws) เป็นกฎธรรมชาติที่เกี่ยวกับกลไกในการทำงานของจิต เช่น เมื่อมีอารมณ์ (สิ่งเร้า) กระทบประสาท จะมีการรับรู้เกิดขึ้น จิตจะทำงานอย่างไร กล่าวคือ มีการไหวแห่งภวังคจิต ภวังคจิตขาดตอน และมีอาวัชชนะแล้วมีการเห็น การได้ยิน เป็นต้น รวมถึงการเกิด-ดับของจิต การรับอารมณ์ของจิต องค์ประกอบของจิต (เจตสิก)  อำนาจของความคิดเพื่อกระทำกรรมแก้ไขความคงอยู่

           ๔.กรรมนิยาม (Moral Laws) เป็นกฎแห่งกรรม  การกระทำกรรม อันทำให้เกิดพัฒนาการและวิวัฒนาการในทุก ๆ ด้าน เกี่ยวเนื่องกับพฤติกรรม เป็นกระบวนการก่อการกระทำและการให้ผลของการกระทำ กินลึกลงไปถึงกระบวนการแห่งเจตน์จำนง หรือความคิดปรุงแต่งสร้างสรรค์ต่าง ๆ พร้อมทั้งผลที่สืบเนื่องออกไปอันสอดคล้องประสานกัน

           ๕.ธรรมนิยาม (Causal Laws) เป็นกฎธรรมชาติอันเป็นไปตามเหตุตามผล ตามปัจจัยของสรรพสิ่งทั้งหลาย เช่น กฎไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา) หลักปฏิจจสมุปบาทหรืออิทัปปัจจยตา ที่ว่า “เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น  สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น  เพราะสิ่งนี้ดับไป  สิ่งนี้ก็ดับ (ด้วย)”  โดยกฎข้อนี้มีขอบเขตครอบคลุมกว้างขวางที่สุด กลไกการทำงานของกฎทั้งสี่ข้อ บีบคั้น บังคับให้เกิด อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา นี้

 

                  “ปัญจนิยามธรรม” ถือได้ว่าเป็นกฎธรรมชาติที่ครอบคลุมกลไกของทุกสรรพสิ่งที่คอยปรับดุลยภาพของสรรพสิ่งตามพลวัตรของการเปลี่ยนแปลงไปแห่งเหตุปัจจัยที่ไม่มีมนุษย์หรืออะไรและสิ่งใด ที่จะสามารถควบคุมปัจจัยเหตุต่าง ๆ ได้ ซึ่งปัจจัยเหตุต่าง ๆ เหล่านั้นของสรรพสิ่งก็จะบังคับ บีบคั้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปไม่สามารถที่จะคงอยู่ในสภาพเดิมได้ (อนิจจัง) ของทั้งพีชนิยาม (รูปธรรม) และจิตนิยาม (นามธรรม : เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ) ซึ่งทั้งพีชนิยามและจิตนิยามนี้ถือได้ว่าเป็นที่เกาะและเพาะเชื้อรวมถึงการฟักตัวของกิเลส

 

       เมื่อกิเลสเพิ่มขึ้น :

        เมื่อมวลมนุษยชาติมีกิเลส (ความต้องการ) เพิ่มสูงขึ้นในการดำเนินชีวิต การสนองตอบต่อความต้องการนั้นนำพาไปสู่การเข้าไปทำลายความสมดุลของกฎอุตุนิยาม ทำให้เสียดุลยภาพไป ซึ่งสะท้อนออกมาเด่นชัดเจนในภาวะปัจจุบัน เช่น การเกิดภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงของดินฟ้า – อากาศ และฤดูกาล เป็นต้น ซึ่งภาวะดังกล่าวนี้ล้วนเป็นผลเกี่ยวเนื่องมาจากการก้าวล่วงเข้าไปตักตวงเอาผลประโยชน์จากธรรมชาติอย่างอหังการของมนุษย์ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา จนเกิดการสั่งสมของต้นทุนทางธรรมชาติ (กระบวนการปรับดุลยภาพด้วยตัวของมันเองตามธรรมชาติ) อาจเป็นเพราะมนุษย์ติดกับดักในมายาคติที่ยึดติดถือมั่นเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง โดยมองธรรมชาติเป็นเพียงองค์ประกอบ (ส่วนเกิน) ส่วนหนึ่งของมนุษย์ นัยคือ “มนุษย์อยู่เหนือธรรมชาติ” มนุษย์สามารถเอาชนะธรรมชาติได้ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ซึ่งกระบวนการปรับตัวของธรรมชาติเพื่อให้เข้าสู่จุดดุลยภาพใหม่จะเป็นไปในลักษณะตามกรอบของทฤษฎีไร้ระเบียบ (Chaos Theory) ที่เมื่อระบบของสรรพสิ่งเข้าสู่ภาวะที่ซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นการเมือง สังคม เศรษฐกิจ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนถึงด้านอื่น ๆ จนเกิดความยุ่งเหยิง ไร้ระเบียบ โกลาหลมากขึ้นเรื่อย ๆ ไปจนถึงจุดหนึ่งในที่สุดระบบก็จะทำลาย (ชำระ) ตัวของมันเองจากจุดเล็ก ๆ ที่คาดไม่ถึง ทุกสิ่งทุกอย่างแปรเปลี่ยนไปตามเหตุปัจจัยและภาวะแวดล้อมที่มากมายหลากหลายปัจจัยประกอบกันตั้งแต่เล็กไปจนใหญ่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันหมด (ปฏิจจสมุปบาทหรืออิทัปปัจจยตา) จนไม่สามารถที่จะคาดการณ์ได้ชัดเจนและแน่นอน (อนิจจัง) ในกระบวนการของการปรับดุลยภาพใหม่นั้นจะสะท้อนออกมาเป็นผลของกฎกรรมนิยาม เป็นไปในลักษณะของภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ฝนแล้ง พายุถล่ม แผ่นดินไหว เป็นต้น ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นเสมือนสัญญาณเตือนที่ส่งตรงมาถึงมวลมนุษยชาติว่า ธรรมชาติกำลังเจ็บป่วยหนัก หากไม่ช่วยกันรักษาเยียวยา ความเจ็บป่วยของธรรมชาติก็จะทรุดหนักไปเรื่อย ๆ จนในที่สุดธรรมชาติก็จะกลับมาเรียกค่าสินไหม (ในรูปแบบของภัยพิบัติและภัยธรรมชาติ) ชดเชยจากมนุษย์อย่างสาสมและประเมินค่าไม่ได้

      

             กฎธรรมชาติ เป็นสภาวะที่เป็นไปตามธรรมชาติ อาศัยในความสัมพันธ์และความเป็นไปในเหตุปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันไปตลอดทั้งสายของสิ่งทั้งหลาย ไม่มีตัวการอย่างอื่นที่นอกเหนือไป หรือที่คนส่วนใหญ่เข้าใจในฐานะว่ามีผู้สร้างหรือผู้บันดาล กฎธรรมชาตินี้ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ค้นพบแล้วนำมาเปิดเผย หาใช่ พระองค์ทรงเป็นผู้สร้างหรือบันดาลไม่ เพราะ กฎธรรมชาตินั้น มันเป็นไปในสภาวะตามเหตุปัจจัยที่มีสืบต่อแก่กันเป็นกระแสสายธารในการดำเนินไปในสภาวะ (ธรรม) ตามจริงนั่นเอง

            

               พุทธพจน์ที่ยืนยันในการค้นพบ “กฎธรรมชาติ” ที่พระพุทธองค์ทรงนำมาเปิดเผยชี้แจงแก่ชาวโลกที่จะหยิบยกมาเพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่า สิ่งเหล่านั้น (กฎธรรมชาติ) มันเป็นไปในสภาวะ (ธรรม) ตามเหตุปัจจัยของมันเอง หาได้มีใครหรือสิ่งใดไปบันดาลและกำกับบทบาทไม่

               

              ดังพุทธพจน์สำหรับไตรลักษณ์นั้น ความสำคัญดังนี้

                  “ตถาคต (พระพุทธเจ้า) ทั้งหลายจะอุบัติหรือไม่ก็ตาม ธาตุ (หลัก) นั้นก็ยังคงมีอยู่ เป็นธรรมฐิติ เป็นธรรมนิยามว่า

                         ๑. สังขารทั้งปวง       ไม่เที่ยง..... 

                         ๒. สังขารทั้งปวง       เป็นทุกข์..... 

                        ๓. สังขารทั้งปวง        เป็นอนัตตา..... 

             ตถาคตตรัสรู้ เข้าถึงหลักนั้นแล้ว จึงบอก แสดง วางเป็นแบบ ตั้งเป็นหลัก เปิดเผยแจกแจง ทำให้เข้าใจง่ายว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง..... สังขารทั้งปวง เป็นทุกข์..... ธรรมทั้งปวง เป็นอนัตตา.....”

 

 

 

 เพิ่มเติม IX :

         ๑. ทฤษฎีไร้ระเบียบ (Chaos Theory) เป็นทฤษฎีที่ต่อยอดและพิสูจน์แทนกฎความน่าจะเป็น สาระสำคัญของทฤษฎีนี้คือ สรรพสิ่งในธรรมชาติที่เราเห็น สัมผัส และคิดว่ามันมีความไร้ระเบียบ ยุ่งเหยิง ซับซ้อน แต่แก่นแท้แล้วในภาวะดังกล่าวนั้นมันแฝงไปด้วยความเป็นระเบียบในตัวของมันเอง ซึ่งถ้าหากว่าเราสามารถที่จะเข้าใจ เข้าถึง ซึ่งความเป็นระเบียบในส่วนนั้นได้ เราก็สามารถคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้

           

               ข้อแรกของทฤษฎีนี้ คือ ผลสะท้อนของภาวะต่าง ๆ มันไม่เป็นเชิงเส้นตรง เช่น f (x + y) จะไม่เท่ากับ f(x) + f(y) สื่อนัยถึง ผลที่เกิดขึ้นไม่ใช่ผลรวมของเหตุการณ์ย่อย ๆ เหล่านั้นมารวมกัน เช่น ผลของการสลายการชุมนุมที่นำมาซึ่งผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก หากตัวแปร x และ y คือการชุมนุมจะไม่เท่ากับผลรวมของเหตุการณ์จากการชุมนุมเก่าที่ต่อเนื่องที่แยกเป็นการชุมนุมย่อย ๆ ที่ผ่านมารวมกัน แล้วเมื่อเกิดการสลายการชุมนุมขึ้นแล้วเกิดผลมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมากเกิดขึ้น ซึ่งคุณสมบัติข้อนี้ของทฤษฎีไร้ระเบียบพิสูจน์ได้ยากมาก

             ข้อที่สองของทฤษฎีนี้ คือ ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ได้เกิดขึ้นแบบสุ่มตามกฎของความน่าจะเป็น ซึ่งตามทฤษฎีไร้ระเบียบนี้ไม่สามารถที่จะคาดหมายและทำนายล่วงหน้าได้เหมือนกฎของความน่าจะเป็น เกี่ยวเนื่องจาก ความหลากหลายของปัจจัยเหตุต่าง ๆ ตามภาวการณ์ที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันขณะนั้น ๆ เช่น หากการโยนเหรียญตามกฎของความน่าจะเป็นสามารถบอกโอกาสของการที่จะออกหัวหรือก้อยได้คือ ๑/๒ หรือร้อยละ ๕๐ แต่ในทฤษฎีไร้ระเบียบนั้นบอกว่าเราไม่สามารถทำนายล่วงหน้าได้เกี่ยวเนื่องกับมีปัจจัยเหตุอื่น ๆ ประกอบ เช่น โลหะที่ใช้ในการทำเหรียญ ขนาดของเหรียญ สถานที่ ๆ ใช้โยนเหรียญ และภาวะแวดล้อมอื่น ๆ เป็นต้น ซึ่งปัจจัยเหตุเหล่านี้ล้วนมีผลกระทบต่อการคาดหมายทั้งสิ้น

              ข้อที่สามของทฤษฎีนี้ คือ ระบบจะได้รับผลสะท้อนมาจากปัจจัยเริ่มต้นที่คาดไม่ถึง กล่าวคือ ปัจจัยเริ่มต้นเพียงนิดเดียวหรือเล็กน้อยอาจก่อให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้างได้อย่างมากมายมหาศาล หรือที่เคยได้ยินการกล่าวอ้างถึงบ่อย ๆ คือ เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว* เช่น ที่เป็นข่าวเกรียวกราวเกี่ยวกับเรื่อง “คลิป” หลุดของคนดัง (กรณีไม่ได้ตั้งใจจะเป็นข่าว)  ซึ่งอาจจะมีเหตุปัจจัยมาจากการที่ไม่ได้คาดคิดมองข้ามสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ โดยการถ่ายเพื่อเก็บไว้ดูเอง แต่มีปัจจัยเหตุภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมทางด้านกาล (เวลา) เข้ามาเกี่ยวข้อง คือ คอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ๊คที่ใช้เก็บข้อมูล (คลิป) เกิดเสียและต้องนำไปซ่อม ซึ่งเป็นปัจจัยเสริมตามกาล (เวลาประจวบเหมาะกับคอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ๊คเสีย) และเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับเทศะ (สถานที่ที่นำไปซ่อม) ทำงานร่วมกันพอดี ผสมโรงกับความโลภและความคึกคะนองของคนซ่อมก็ส่งคลิปไปทั่ว นำมาซึ่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งชื่อเสียง รายได้ หากเป็นช่วงที่มีงานกำลังจะออกสู่สายตาประชาชนก็เกิดผลกระทบกับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายขยายออกไปอีก ซึ่งบางครั้งอาจส่งผลตรงกันข้ามคือมีชื่อเสียง รายได้ก็มี ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับภาวะแวดล้อมหลาย  ๆ อย่างกอปรกันในช่วงนั้น ๆ เป็นต้น จากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดจากปัจจัยเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ ในด้านอารมณ์และความคึกคะนองแต่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของตัวเองและบุคคลที่เกี่ยวข้องได้อย่างมากมายเป็นวงกว้าง

            ข้อที่สี่ของทฤษฎีนี้ คือ ไม่สามารถใช้ทำนายล่วงหน้าในระยะยาว ๆ ได้ เกี่ยวเนื่องจากไม่สามารถที่จะคาดการณ์เหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องได้ทั้งหมด เพราะภาวะแวดล้อมต่าง ๆ มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งเป็นไปในลักษณะของ “อนิจจัง” ทางพุทธศาสนานั่นเอง

            ข้อที่ห้าของทฤษฎีนี้ คือ ในท่ามกลางความยุ่งเหยิง ไร้ระเบียบนั้น เมื่อเราแยกออกมาเป็นส่วนย่อย ๆ แล้วลักษณะของความไร้ระเบียบที่เกิดขึ้นนั้นก็เหมือนกันกับความไร้ระเบียบในส่วนใหญ่ ซึ่งในความไร้ระเบียบนั้นจะมีลักษณะของความเป็นระเบียบแฝงอยู่

          

              ท้ายที่สุดแก่นแท้ของทฤษฎีไร้ระเบียบ (Chaos Theory) ที่สามารถนำไปอธิบายในระบบทุกระบบสร้างความตื่นเต้นให้กับแวดวงวิทยาศาสตร์ (ฟิสิกส์) ในปัจจุบันก็เป็นเพียงชายขอบของ “กฎไตรลักษณ์” เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับสภาวะที่ยุงเหยิง ไม่มีอะไรแน่นอนตายตัว (อนิจจัง) และสภาวะดังกล่าวแวดล้อมไปด้วยเหตุปัจจัยหลาย ๆ ปัจจัยประกอบกันตั้งแต่เล็กไปใหญ่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันไปตลอดทั้งสาย (ปฏิจจสมุปบาทหรืออิทัปปัจจยตา) และสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาในพระพุทธศาสนานั่นเอง

 

                 *เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว เป็นคำพูดที่เกี่ยวเนื่องจาก ทฤษฎีควอนตัมฟิสิกส์ โดยสาระสำคัญคือ เป็นวิชาที่ศึกษารายละเอียดของอะตอมที่พบว่าอะตอมประกอบไปด้วยอนุภาคย่อย ๆ อีกมากมาย ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เรียกว่า “สิ่งที่อยู่ในสภาพควอนตัม” มีสถานะเป็นอนุภาคหรือคลื่นก็ได้ และทุก ๆ อนุภาคหรือคลื่นที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันตลอดทั่วทั้งพิภพโลกและจักรวาลนั้นมีปฏิสัมพันธ์กันได้เสมอ ไม่ว่าจะอยู่ห่างกันขนาดไหน จึงเป็นที่มาของคำพูดดังกล่าว ที่สะท้อนให้เห็นถึง สรรพสิ่งไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ อยู่ใกล้หรือไกลกันนั้น มีปฏิสัมพันธ์กันได้เสมอและส่งผลกระทบถึงกันได้หากมีภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมและลงตัวในช่วงกาล (เวลา) และเทศะ (สถานที่) พอดี

 

            ๒. กฎอิทัปปัจจยตาหรือปฏิจจสมุปบาท ถือได้ว่าเป็นแก่นหรือหัวใจหลักของพระพุทธศาสนาโดยแน่แท้ ที่สอนให้รู้จริงถึงวงจรของการเกิด – ดับ แห่งทุกข์ เพื่อที่จะให้รู้เท่าทันนำไปสู่หนทางในการหลุดพ้นจากวังวนแห่งทุกข์ รวมทั้งกฎปฏิจจสมุปบาทยังเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงเป็นพื้นฐานของ “กฎไตรลักษณ์” ที่เป็นภาวะบังคับ บีบคั้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปคงอยู่ในรูปเดิมไม่ได้ ซึ่งก็คือ อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา รวมทั้งครอบคลุมถึงกฎธรรมชาติทั้งหมด

          

          อิทัปปัจจยตาหรือปฏิจจสมุปบาท คือ อริยสัจจ์ที่สมบูรณ์แบบ เป็นการแสดงให้ทราบว่าทุกข์จะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร และจะดับลงไปได้อย่างไร ซึ่งการที่ทุกข์เกิดขึ้นและดับไปนั้น มีลักษณะที่เป็นไปในกระแสสายธารแห่งธรรมชาติที่อาศัยซึ่งกันและกัน

                      - ปฏิจฺจ         แปลว่า  อาศัยกัน

                      - สมุปฺบาท    แปลว่า  เกิดขึ้นพร้อมเรื่องของสิ่งที่อาศัยซึ่งกันและกัน

    แปลได้ว่า : ธรรมที่เกิดขึ้นด้วยกันโดยอาศัยกัน หรือที่เข้าใจง่าย ๆ คือ “เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี  เพราะสิ่งนี้ดับไป  สิ่งนี้จึงดับ (ด้วย)” หรือ

                      “เพราะมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนั้น ๆ จึงก่อเกิด”

 

          ปฏิจจสมุปบาท  คือ  อทัปปัจจยตา 

             อิทัปปัจจยตา     คือ  ปฏิจจสมุปบาท 

 

         

              ปฏิจจสมุปบาท เป็นไปในลักษณะของการใช้อธิบาย วงจรของการ

เกิด – ดับ แห่งทุกข์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นเรื่องใหญ่สุดของชีวิตมนุษย์

              อิทัปปัจจยตา เป็นไปในลักษณะของการใช้อธิบายวงจรความสัมพันธ์ในเหตุปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงในกระแสสายธารของกระบวนการแห่งสภาวะ (ธรรม) ตามจริงของทุกสรรพสิ่ง จะกว้างกว่า ใหญ่กว่า ครอบคลุมมากกว่า

     

                ปฏิจจสมุปบาทหรืออิทัปปัจจยตา ถือได้ว่าเป็นหัวใจหลักของพระพุทธศาสนาโดยแน่แท้ ที่สอนให้รู้จริงถึงวงจรของการเกิด – ดับ แห่งทุกข์ เพื่อที่จะให้รู้เท่าทันนำไปสู่หนทางในการหลุดพ้นจากวังวนแห่งทุกข์ รวมทั้งกฎปฏิจจสมุปบาทยังเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงเป็นพื้นฐานของ “กฎไตรลักษณ์” ที่เป็นภาวะบังคับ บีบคั้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปคงอยู่ในรูปเดิมไม่ได้ ซึ่งก็คือ อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา รวมทั้งครอบคลุมถึงกฎธรรมชาติทั้งหมด

 

 

“มองทุกสิ่งตามจริง (กฎธรรมชาติ) ที่มันเป็นไป 

ไม่ใช่ 

มองทุกสิ่งตามจริงที่ใจอยากให้เป็น

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 395262เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2010 18:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:32 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท