VIII : จาคะ


“จาคะ คือ ความเสียสละ เป็นธรรมะที่ช่วยยกระดับคุณภาพของสังคม ให้อุดมไปด้วยความเอื้อเฟื้อ เกื้อกูล นำพามาสู่ลู่ทางของการสกัดความเห็นแก่ตัว ความมัวเมาในอำนาจและผูกขาดผลประโยชน์ ให้ลดลงและหมดไปในสังคม”

15

“ผมเห็นใจคนที่ไม่มีโอกาสในสังคมถูกบีบคั้น ถูกเอาเปรียบทุกอย่าง ประเทศไทยจะดีขึ้นถ้าคนที่มีโอกาสยอมสละโอกาสบ้าง ผมอยากเห็นคนที่มีโอกาสสละโอกาสให้คนกับคนที่ไม่มีโอกาสบ้าง 

  อย่าได้เที่ยวกอบโกยมากกว่านี้เลย  เพราะมันจะไม่ทำให้อะไรดีขึ้น

 สืบ นาคะเสถียร

 

 

 

 

XVII : จาคะ

 

ลักธรรมที่สำคัญอีกประการของการอยู่ร่วมกันในสังคมก็คือ “จาคะ”

         

           จาคะ แปลว่า ความเสียสละ  การแบ่งปัน   ความเอื้อเฟื้อ   ซึ่งความเสียสละนั้นมีนัยถึง การสละวัตถุและสละอารมณ์

         

           เป็นไปในลักษณะของการสละสิ่งของและความสุขส่วนตัวเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น กินลึกลงไปในความหมายของการสละละทิ้งซึ่งกิเลส ความโลภ ความเห็นแก่ตัว ความตระหนี่มีจิตใจคับแคบซึ่งถือเป็นแบบอย่างของการประพฤติที่ไม่ดี ทำให้เกิดความวุ่นวายและเสียหายในสังคม

        

จาคะ คือ ความเสียสละ เป็นธรรมะที่ช่วยยกระดับคุณภาพของสังคม ให้อุดมไปด้วยความเอื้อเฟื้อ เกื้อกูล นำพามาสู่ลู่ทางของการสกัดความเห็นแก่ตัว ความมัวเมาในอำนาจและผูกขาดผลประโยชน์ให้ลดลงและหมดไปในสังคม

        

         ในพระพุทธศาสนา จาคะ ถือเป็นหนึ่งในอริยทรัพย์ซึ่งหมายถึง ทรัพย์อันประเสริฐ เป็นทรัพย์ที่มีภายในใจ มีอยู่ ๗ ประการด้วยกัน คือ สัทธาธนัง ทรัพย์คือศรัทธา, สีลธนัง ทรัพย์คือศีล, หิริธนัง ทรัพย์คือหิริ, โอตตัปปธนัง ทรัพย์คือโอตตัปปะ, สุตธนัง ทรัพย์คือสุตะ, จาคธนัง ทรัพย์คือจาคะ และ ปัญญาธนัง ทรัพย์ คือปัญญา

        จาคะ(Charity)   หมายถึง การรู้จักเสียสละ แบ่งออกเป็น ๒ ประการ
                      - การสละสิ่งของเป็นทาน เป็นการกำจัดความตระหนี่ออกจากใจ  
                      - สละอารมณ์ที่ไม่ดีเป็นทาน คือ สละอารมณ์โกรธ พยาบาทออกไป และให้อภัยทาน ซึ่งจะส่งผลให้ใจของเราผ่องใสไม่ขุ่นมัว และไม่จองเวรกับใคร
       

            บุคคลที่จะดำรงไว้ซึ่งจาคะ ถือได้ว่าเป็นบุคคลที่มีหัวจิตหัวใจที่ยิ่งใหญ่เป็นอย่างมาก ที่กล้าสามารถสละความสุขของส่วนตัวทิ้งไปเพื่อทำให้ส่วนรวมมีความสุข ตัวอย่างของบุคคลที่มีจาคะที่ยิ่งใหญ่ ได้แก่

 

            ๑. สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า :  พระองค์ทรงเป็นตัวอย่างของบุคคลผู้เสียสละที่ยิ่งใหญ่ พระองค์เสียสละความสุขส่วนพระองค์เสด็จออกบวชเพื่อแสวงหาทางสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า แม้ว่าความเป็นอยู่ของพระองค์จะเทียบเท่ากับความเป็นอยู่ของเทวดาบนสรวงสวรรค์ แต่พระองค์ไม่อาลัยไยดี ยอมสละทรัพย์สมบัติและความสุขเหล่านั้น แล้วออกบวชเพื่อบำเพ็ญกรณียกิจความเป็นพระพุทธเจ้าจนสำเร็จ  อันนี้เป็นตัวอย่างแห่งบุคคลผู้เสียสละและเป็นตัวอย่างแห่งบุคคลผู้มีความรู้ชั้นสูงสุดจนได้เป็นศาสดาเอกของปวงชน

 

            ๒. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช : โครงการต่างๆที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงริเริ่มเพื่อความอยู่ดีกินดี และความผาสุขของประชาราษฎ์นั้น พระองค์ท่านได้นำเอาพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์มาใช้เป็นจำนวนมากโดยตลอด
             พระองค์ท่านไม่ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะเอาเงินงบประมาณแผ่นดินมาใช้ในตอนริเริ่มของโครงการ เพราะถ้าโครงการนั้นไม่ประสบผลสำเร็จ ก็จะเป็นการสูญเสียงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นเงินที่เก็บมาจากภาษีอากรจากราษฎรเท่านั้น พระองค์ท่านจึงยอมให้เสียเงินส่วนพระองค์เสียเอง เมื่อโครงการใดประสบผลสำเร็จแล้วและรัฐเห็นดีด้วยพระองค์ท่านจึงจะทรงมอบให้รัฐบาลดำเนินการต่อไป
            นอกจากนั้นเวลาพระองค์ท่านเสด็จฯไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในต่างจังหวัด และทรงพบผู้ป่วยก็ทรงพระราชทานค่ารักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยเหล่านั้นโดยทั่วถึง บางรายก็ต้องนำมารักษาพยาบาลที่กรุงเทพฯ โดยที่พระองค์ท่านทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยทรงออกค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลและกินอยู่โดยตลอด ในการเสด็จฯพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนประชาราษฎ์ของพระองค์นั้นบางครั้งก็ต้องเสี่งต่อภัยอันตรายนานานับประการ เช่น ต้องเสด็จฯไปในพื้นที่ที่มีผู้ก่อการร้ายปฏิบัติการอยู่ เป็นต้น บางครั้งพระองค์ท่านก็ต้องทรงให้ราษฎรเฝ้าอยู่จนมืดค่ำ แล้วจึงเสด็จฯกลับ ซึ่งการเดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์ในภูมิประเทศเช่นนั้นในตอนค่ำคืนเป็นการเสี่ยงภัยอย่างยิ่ง แต่พระองค์ท่านก็หาทรงหวั่นวิตกประการใดไม่แม้แต่ครั้งเดียว  (ที่มา :  จาก หนึ่งในโลก ส่วนหนึ่งของ บทสัมภาษณ์ พล.ร.อ.ม.จ.กาฬวรรณดิศ ดิศกุล ร.น. อดีตสมุหราชองครักษ์)

 

             ๓.พญ.วลัยรัตน์ ไชยฟู ผอ.รพ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน และ นพ.สุธี สุดดี แพทย์ประจำ รพ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี : ได้รับรางวับแพทย์ชนบทดีเด่นประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๑ โดยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า

 

              “ดีใจที่หมอชนบทเป็นผู้เสียสละ เป็นตัวอย่างที่ดีในบ้านเรา เพราะคนดีเท่านั้นที่รู้จักเสียสละ คนไม่ดีไม่รู้จัก หมอที่ได้รับรางวัลก็ได้เสียสละ และควรได้รับการยกย่องตรงนี้”

              "บ้านเมืองเราถ้าไม่มีใครรู้จักเสียสละ เราก็ไม่รู้ว่าจะอยู่กันไปทำไม และจะอยู่อย่างไร ผมมั่นใจว่า หมอทุกท่านที่เสียสละจะเป็นผู้ที่มีความสุขมาก ไม่ว่าจะหมอกนกศักดิ์ที่มี่ส่วนช่วยเหลือการกระทำความดีครั้งนี้ ซึ่งจะไม่จารึกเฉพาะวงการแพทย์ แต่จารึกคนไทยโดยรวม"

 

           พญ.วลัยรัตน์ กล่าวภายหลังการรับมอบรางวัลว่า รู้สึกดีใจมากที่ได้รับรางวัลนี้ การทำงานเป็นแพทย์ของตนคิดว่าไม่แตกต่างจากแพทย์คนอื่นๆ แต่การเลือกที่จะทำงานที่ อ.ปางมะผ้า เพราะคิดว่า หากได้ทำงานเป็นแพทย์ที่นี่ น่าจะเป็นประโยชน์ช่วยผู้ป่วยได้มากกว่า เพราะที่นี่ชาวบ้านยังมีปัญหาการเข้าถึงการรักษา เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา ทุรกันดาร เดินทางลำบาก รถเข้าไม่ถึง ทำให้บ่อยครั้งตนต้องเดินเท้าออกตรวจรักษาชาวบ้าน แต่ก็ไม่ได้มองว่าเป็นอุปสรรค เพราะว่าได้ยึดหลักคำสอนที่ว่า แท้จริงความลำบากไม่มี มีแต่ความไม่เคยชินเท่านั้น
          ส่วนการเลือกเรียนแพทย์ไม่ได้มีแรงบันดาลใจอะไร แต่เพราะสมัยก่อนเด็กเก่งก็มักจะเลือกเรียนแพทย์ ซึ่งขณะนี้ไม่ได้คิดว่าแพทย์จะทำอะไรไปมากกว่าการรักษาคนไข้ แต่พอมาเป็นแพทย์ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนแล้ว ได้ออกหน่วยไปตรวจชาวบ้าน ส่วนใหญ่เป็นชาวเขาที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและภาษา ต้องอาศัยล่ามช่วยแปลเพื่อให้ชาวบ้านเข้าใจเกี่ยวกับโรคและการรักษา ทำให้มีปัญหาการสื่อสารบ้าง

            นพ.สุธี กล่าวว่า รู้สึกดีใจ และการได้รับรางวัลนี้จะเป็นกำลังใจในการทำงานต่อไป ซึ่งงานที่ทำถือเป็นงานเชิงรุกไม่เพียงแต่ช่วยรักษาคนไข้เท่านั้น แต่มีส่วนร่วมในระบบการดูแลสุขภาพประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการจัดตั้งศูนย์แพทย์ชุมชนห้วยขะยุง ที่เป็นหน่วยบริการปฐมภูมิที่มีการพัฒนาเพิ่มคุณภาพในรูปแบบใหม่ ไม่เพียงแต่ให้การรักษา คัดกรองผู้ป่วยในโรคที่ไม่ซับซ้อนเท่านั้น แต่ยังช่วยให้เข้าถึงผู้ป่วย เข้าใจระบบความสัมพันธ์ในชุมชนมากขึ้น ที่เป็นการรักษาผู้ป่วยแบบองค์รวม ใส่ใจทั้งร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ เกิดความเข้าใจระหว่างกัน
           การตัดสินใจเลือกทำงานในพื้นที่ห่างไกลตอนนั้นไม่ได้คิดอะไร คิดแค่ว่าอยากทำงาน จะอยู่ที่ไหนก็ได้ ไม่เคยรู้สึกว่าลำบาก และการที่ไม่เลือกเรียนต่อแพทย์เฉพาะทางทำงานในโรงพยาบาลใหญ่ เพราะตอนนั้นรู้สึกเริ่มชอบทำงานในชนบทและอยู่กับชาวบ้านแล้ว และไม่อยากเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล เนื่องจากตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะต้องทำงานบริหาร และห่างชาวบ้านออกไปเรื่อยๆ ทำให้ไม่ได้ทำงานที่รัก

 

            ๔. ร.ต.ต. กฤตติกุล บุญลือ (หมวดตี้) หนึ่งในวีรชนคนกล้าที่เสียสละเพื่อรักษาความสงบสุขใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ : "หมวดตี้" หรือ "ร.ต.ต.กฤตติกุล บุญลือ" รองผู้บัญชาการร้อยตำรวจชายแดน หน่วยเฉพาะกิจ หน่วยรบพิเศษที่ ๑ นายตำรวจหนุ่มอนาคตไกลคนหนึ่ง วัย ๒๔ ปี ซึ่งเป็น "หัวหน้าชุด" เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ และมีเจ้าหน้าที่บาดเจ็บอีก ๔ นาย หมวดตี้ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งวีรชนคนกล้าที่เสียสละชีวิตเพื่อขอคืนพื้นที่จากกลุ่มผู้ก่อการร้าย เพื่อนำพาความสงบสุขให้มาปกคลุมใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไดอารี่ฉบับสุดท้ายที่หมวดตี้เขียนไว้คือเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งเป็นวันครบรอบวันเกิดปีที่ ๒๔ ของเขา ซึ่งบอกเล่าให้เห็นถึงชีวิตที่แขวนอยู่บนเส้นด้ายของลูกผู้ชายที่ยอมเสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อปกปักษ์รักษาความสงบสุขของส่วนรวม โดยใช้ชื่อเรื่องว่า "ครั้งแรก" ซึ่งขึ้นต้นว่า "ก็มันไม่เคยนิ" และ "วันนี้อยู่ดูโลกให้โสภิณ พรุ่งนี้ชีวินสิ้น ไม่รู้...วันตาย..." ราวกับจะเป็นลางบอกลากลายๆ ซึ่งในไดอารี่เขาได้มอบบทเพลง "อิ่มอุ่น" ของ "ศุ บุญเลี้ยง" ให้กับ "แม่" ของเขาที่อยู่จังหวัดลพบุรี พร้อมๆ กับคำขอบคุณแม่ (ซึ่งเกิดในวันเดียวกันกับเขา) ที่ทำให้เขาเกิดขึ้นมาลืมตาดูโลก ด้วยข้อความสื่อสารถึงแม่ที่ว่า…

          "แม่จ๋า... วันเกิดลูกไม่ได้ไปฉลองที่ไหนจริงๆ นะแม่ แถวนี้ไม่มีที่ให้ฉลองอะ แค่ลูกรอดกลับมาได้ก็พอใจแระ ...เดี๋ยวรอกลับไปฉลองกับเด็จแม่ที่บ้านเรา เนอะๆ...ไม่ได้กลับไปหาเด็จแม่นานแล้วด้วย คิดถึ้งงง คิดถึงว่าจะไปหาเด็จแม่.... ไปขอตังค์ 55+"  

          

           ๕. พล.ต.อ. สมเพียร เอกสมญา (จ่าเพียรขาเหล็ก : ตำนานนักสู้แห่งเทือกเขาบูโด) : ท่านเป็นผู้เสียสละตลอดระยะเวลาของชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่ ไม่มีสิ่งใดหรืออำนาจใดจะมาทำลายความมุ่งมั่นและอุดมการณ์ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยภาระหน้าที่ของการขอคืนพื้นที่ความสงบสุขใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ไปจากท่านได้ ตลอดระยะเวลาทำงานความสุขส่วนตัวของท่านมีค่าเท่ากับศูนย์หรือในบางครั้งอาจจะติดลบด้วยซ้ำไป แต่ท่านก็ยังคงไว้ซึ่งคุณงาม ความดีมิมีเสื่อมคลาย “ตำรวจต้นแบบ” จากการได้รับประกาศเกียรติคุณจากมูลนิธิบุณยะจินดา นับได้ว่าเป็นเครื่องยืนยันที่เป็นรูปธรรมเด่นชัดเจนถึงคุณงามความดีและความเสียสละของท่านที่ได้ทำไว้ให้เป็นที่ประจักษ์บนผืนแผ่นดินนี้

            ท่านนอกจากจะมีความสามารถในงานสืบสวน ปราบปรามแล้ว ในด้านของงานมวลชนก็ไม่ได้ละทิ้ง ยังคงติดต่อฟื้นสายสัมพันธ์เก่ากับประชาชนทั้งชาวไทยพุทธและมุสลิมในพื้นที่ ที่เคยทำงานร่วมกันเมื่อครั้งอดีตด้วยใจถึงใจต่อกัน มีกิจกรรมใดๆที่เกี่ยวกับการสร้างความเข้าใจและความรู้สึกอันดีกับชุมชน ท่าน ไม่เคยที่จะปฏิเสธในการเข้าไปมีส่วนร่วม แม้จะรู้ว่ามีอันตรายแฝงอยู่ในทุกย่างก้าว และเป็นกันเองกับผู้ใต้บังคับบัญชา

             การสูญเสียท่านไปนับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งของการสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่ามากที่สุดของประเทศชาติที่ทุกคนไม่มีวันลืม

 

 

“ทุกแว่นแคว้นถิ่นฐาน ล้วนมีคนอยู่ประเภทหนึ่ง ซึ่งนับจำนวนแล้วไม่เคยมาก พวกเขาทุ่มเททุกอย่างเพื่อกอบกู้สังคมที่ตนเองสังกัด โดยไม่เคยนึกถึง ความเหนื่อยยาก หรือแม้แต่ภัยอันตราย คนเหล่านั้นไม่ใช่ศาสดา แต่ถ้าถามถึงลักษณะร่วมกัน  ผมพอจะระบุได้ว่ามีอยู่พอสมควร ที่สำคัญที่สุด คือ ทุกคนต้องมาใช้ชีวิตไถ่บาปที่เขามิได้เป็นผู้ก่อ ต้องลำบากตรากตรำและเสียสละสิ่งต่างๆ อันควรเป็นของเขา  เพื่อให้คนอื่นได้พ้นเคราะห์กรรมและได้รับคุณค่าแห่งชีวิตในราคาที่ถูกลง”

อ. เสกสรรค์ ประเสริฐกุล 

 

 

 

 

 เพิ่มเติม VIII

         ลวงพ่อฤษีลิงดำได้ตอบคำถามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ถามว่า “จาคะ อย่างเดียวไปนิพพานได้ไหม ?” หลวงพ่อฤษีลิงดำได้ตอบคำถามดังนี้

         “... จาคะ อย่างเดียวไปนิพพาน (พ้นทุกข์) ได้ เพราะคำว่า “จาคะ” แปลว่า เสียสละ แต่ลำพังเพียง เสียสละ ยังไปนิพพานไม่ได้ จะไปได้ก็เพียงสวรรค์กามาวจรเท่านั้น ถ้าจาคะตัดคำว่า เสีย ออก เหลือแต่ สละ อย่างนี้ก็ยังไม่มีกำลังเข้มแข็งไปนิพพานไม่ได้ไปได้แค่พรหมโลก ถ้าตัดจนเหลือคำว่า ละ คำเดียวอย่างนี้ไปนิพพานได้

         ... การให้ด้วยการ “เสียสละ” เป็นปัจจัยให้เกิดบนสวรรค์ หรือถ้ายังไม่ตายก็เป็นปัจจัยให้เกิดความรักแก่บุคคลผู้รับเมื่อเรามีความรักมากเราก็มีความสุขมาก ไปไหนก็มีแต่รอยยิ้มแย้มแจ่มใส มีความเคารพซึ่งกันและกัน แสดงความเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน การเสียสละในขั้นนี้ยังหวังในผลตอบแทน ให้เขาแล้วยังคิดว่าสักวันหนึ่งข้างหน้าถ้าเราขัดข้องเขาคงจะให้เราบ้าง

       ... ถ้ากำลังสูงกว่านั้น ให้ตัดคำว่า “เสีย” ออกเหลือแต่คำว่า “สละ” ให้ใจคิดว่าเรา สละ เพื่อความสุขประโยชน์ประโยชน์ส่วนใหญ่ เห็นว่าของนี้เป็นของนอกกายเราไม่จำเป็นต้องใช้ สิ่งใดที่มันเหลือเกินเหลือใช้ที่พอจะแบ่งกันได้ เป็นการ สละ เพื่อเป็นการเชิดชูบำรุงความสุขแก่ท่านผู้นั้นตามกำลังที่เราจะพึงทำได้ เรามีมากให้มาก มีน้อยให้น้อย ตามที่จะให้ได้ ไม่ใช่ให้หมด การสละขั้นนี้ไม่หวังผลในการตอบแทนจากการสละ

     ... ถ้าตัดตัว “ส” ออกเหลือแต่คำว่า “ละ” ตัวเดียว คำนี้ถ้าเรา ละ วัตถุได้ หมายความว่า จิตไม่ติดในวัตถุ ถ้าเสียหายไปเราก็ไม่หวังแต่ถ้ามีอยู่ก็รักษาด้วยดี เป็นอารมณ์ใจของบุคคลผู้ ละ ถ้าเราไม่ติดในวัตถุต่อไปกำลังใจจะสูงขึ้นก็จะ ละ ในขันธ์ เห็นว่าร่างกายมันแก่ก็เป็นธรรมดาของร่างกาย ร่างกายมันป่วยก็เป็นธรรมดาของร่างกาย จำจะต้องรักษาก็รักษาเพื่อระงับทุกขเวทนา ระงังไหวก็ไหว ไม่ไหวก็ตามใจในเมื่อมันจะตายก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาของขันธ์ ๕ เกิดมาแล้วมันก็ต้องตาย ใจก็มีความสุข จิตไม่เกาะทั้งวัตถุ จิตไม่เกาะร่างกาย ไม่เกาะวัตถุนอกกาย ไม่เกาะทั้งกาย ไม่มีอารมณ์เกาะใด ๆ ไม่เกาะอยู่ในมนุษย์โลก ละมนุษยโลก จิตไม่เกาะอยู่ในเทวโลก คือ อารมณ์ละเทวโลก จิตไม่เกาะในพรหมโลก มีอารมณ์ละพรหมโลก จิตปรารถนาอย่างเดียวคือความดับไม่มีเชื้อ ดับความโลภ ความโกรธ ความหลง เมื่อร่างกายตายไปก็ นิพพาน”

จาก : www. Tourwat.com

 

หมายเลขบันทึก: 395198เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2010 15:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:32 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท