ประกวดเพลงพื้นบ้าน 4 ภาค "สื่อพื้นบ้านประสานใจ" ตอนที่ 4 เบื้องหลังรางวัลชนะเลิศลำตัด


ติดตามชมการแสดงสุดยอกเพลงพื้นบ้าน 4 ภาค วันที่ 28 กันยายน 2553 โดยโทรทัศน์ช่อง NBT ถ่ายทอดสด

การประกวดเพลงพื้นบ้าน 4 ภาค

“สื่อพื้นบ้านประสานใจ”

ตอนที่ 4 เบื้องหลังรางวัลชนะเลิศลำตัด ภาคกลาง

คณะลำตัดสายเลือดสุพรรณฯ

โดย อ.ชำเลือง  มณีวงษ์

        กว่าที่จะได้รับรางวัลความสำเร็จในแต่ละครั้ง มีองค์ประกอบหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกันอย่างเหนียวแน่น สำหรับการแสดงเพลงพื้นบ้านที่สำคัญที่สุดคือ ครู (ผู้สอน ให้ความรู้ทักษะทางการแสดง) เพราะถ้าไม่มีครูผู้ให้คำแนะนำไหนเลยผู้แสดงจะรู้ทางเดินที่ถูกต้องได้ตามเป้าหมายของการประกวดแข่งขัน ในการจัดการประกวดแต่ละสถานที่ แต่ละเวที ผู้จัดการประกวดจะตั้งเป้าหมายสำคัญเอาไว้ว่า ต้องการที่จะสื่อเกี่ยวกับหัวข้อใด เรื่องใดเป็นสำคัญ อย่างในครั้งนี้ เป็นการประกวดเพลงพื้นบ้าน 4 ภาค 4 รูปแบบ ตามที่กรมประชาสัมพันธ์ได้แถลงข่าวไว้เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2553 ดังนี้

        กรมประชาสัมพันธ์ ร่วมกับ สำนักนายกรัฐมนตรี จัดกิจกรรมโครงการประกวด "สื่อพื้นบ้านประสานใจ” ชิงถ้วยรางวัลจาก ฯพณฯนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งมีรองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ (นายธีระพงษ์ โสดาศรี) ผู้อำนวยการสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย (นายเตือนใจ สินธุวณิก)และตัวแทนศิลปิน (นายพิสุทธิ์ ทรัพย์วิจิตร) ร่วม แถลงข่าว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้สื่อพื้นบ้านในการสร้างความรัก ความสามัคคี เกิดความเข้าใจในการทำงานของภาครัฐ ลดความขัดแย้ง สร้างความสงบสุขและสมานฉันท์ให้เกิดขึ้น โครงการดังกล่าวจะจัดขึ้นในรูปแบบการประกวดศิลปะพื้นบ้านท้องถิ่นในแต่ละภาค

        - ภาคเหนือ   ประกวด เพลงซอ

        - ภาคกลาง   ประกวด ลำตัด

        - ภาคใต้      ประกวด ดีเกร์ฮูลู

        - ภาคอีสาน ประกวด หมอลำซิ่ง

        ซึ่งผู้สนใจสามารถส่งผลงานเข้าคัดเลือกได้ที่ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย โทรศัพท์ 0 2277 3945 ต่อ 0 และ 0 2570 1834-6 หรือ www.prd.go.th

        เนื้อหาของการแสดงลำตัดในครั้งนี้ จะต้องปลูกฝังความสามัคคีและความรักของคนในชาติ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของงานที่ต้องการให้สื่อเป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดความรักของคนในประเทศ

        สำหรับทีมลำตัดสายเลือดสุพรรณฯ ได้รับรางวัลชนะเลิศ ภาคกลาง จะได้รับรางวัลเงินสด 5 หมื่นบาท พร้อมโล่เกียรติยศ และเป็นตัวแทนภาคกลางไปประกวดอีกครั้ง ที่กรุงเทพมหานคร เพื่อชิงถ้วยรางวัลจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ต่อไป

        

        

        

        

        ได้ทราบข้อมูลในการประกวดสื่อพื้นบ้านประสานใจ 4 ภาคมาพอสมควร เพื่อเป็นแนวทางในการเข้าร่วมกิจกรรมในโอกาสต่อไปซึ่งสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานรัฐสภา กรมประชาสัมพันธ์ ได้จัดให้มีการประกวดเพลงพื้นบ้านต่อเนื่องกันมา เป็นเวลา 6 ปีแล้ว ในแต่ละปีจะมีข้อกำหนดที่แตกต่างกันไป รวมทั้งประเภทของการแสดงก็เปลี่ยนไปในแต่ละปีและเงินรางวัลต่างกันไปด้วย

        องค์ประกอบอีกประการหนึ่งคือ บทร้อง (สคริป) เนื้อหาสาระที่ใช้ในการแสดง จะต้องนำเสนอให้ตรงประเด็นที่เป็นข้อกำหนดไว้ ในครั้งนี้คือ “สื่อพื้นบ้านประสานใจ”  (ใช้สื่อพื้นบ้านในการสร้างความรัก ความสามัคคี เกิดความเข้าใจในการทำงานของภาครัฐ ลดความขัดแย้ง สร้างความสงบสุขและสมานฉันท์ให้เกิดขึ้น) ในการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ บทร้องที่ใช้นำเสนอ ผมเขียนขึ้นมาใหม่ทั้งหมด ตั้งแต่คำแรกจนถึงคำสุดท้าย ไม่ได้หยิบยกหรือนำเอาเพลงเดิมของใครมาใช้เลยแม่แต่คำเดียว เพื่อให้บทเพลงที่นำเอามาแสดงเป็นไปตามข้อกำหนดของการประกวด

        องค์ประกอบอีกส่วนหนึ่งคือ ผู้แสดง ตามกำหนดที่กองจัดการประกวดแจ้งเอาไว้คือ มีผู้แสดงไม่เกิน 6 คน ส่วนผู้ให้จังหวะ ดนตรีไม่ได้กำหนดจำนวนเอาไว้ (ดูตามความเหมาะสม) โดยปกติการแสดงเพลงพื้นบ้านจะต้องมี ผู้ร้องนำ คือ คอต้น และผู้ร้องรอง คือ คอรอง นั่นหมายถึงพ่อเพลง – แม่เพลง จำนวน 2 คน (ชาย – หญิง) ส่วนคอรอง ทำหน้าที่แสดงประกอบ ร้องรับ เป็นลูกคู่ จำนวน 4 คน (ชาย 2 คน – หญิง 2 คน)

        อีกกลุ่มหนึ่งคือ ผู้ให้จังหวะ ในการแสดงลำตัดจะต้องใช้รำมะนาเป็นหลัก โดยใช้รำมะนาจำนวน 2- 8 ใบ มีฉิ่ง และกรับให้จังหวะร่วมอยู่ด้วย ส่วนว่าจะมีกี่คู่ก็แล้วแต่จำนวนคน ในวงลำตัดสายเลือดสุพรรณฯ มีนักดนตรี 5 คน ใช้เครื่องดนตรีประกอบจังหวะ 5 ชิ้น คือ รำมะนา 2 ใบ ฉิ่ง 1 คู่ กรับ 2 คู่ รำมะนาตีเป็นหลัก 1 ใบ ตีผสมผสาน ประกอบจังหวะ 1 ใบ (ตีทำนองทางแขก) ฉิ่ง 1 คู่ ตีเป็นหลัก กรับ 2 คู่ ตีเป็นหลัก 1 คู่ อีก 1 คู่ ตีให้ได้เสียงที่เบานุ่มนวลกว่า จะได้ผสมเสียงดนตรีที่กลมกลืนกันทั้ง 5 ชิ้น ควบคุมเสียงจังหวะไม่ให้ดังมาก (บางทีม มีรำมะนา 6-8 ใบ ตีกลบเสียงร้องจนฟังไม่ได้ใจความ เสียงรำมะนาดังมาก)

                     

        ความสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ความคิดสร้างสรรค์ ออกแบบการแสดงให้ออกมาดูแล้วเข้ากับบรรยากาศของเรื่องนั้น ๆ (ความคิดเก่า ๆ ของเราถูกนำเอาไปเลียนแบบ) ทำให้ผมต้องวางแผนคิดสร้างสรรค์ใหม่ทั้งหมด สำรองไว้ ตรงนี้ผมว่า สำคัญมากนะ การคิดด้วยตนเองจึงจะได้ความแปลกใหม่ และการรวมตัวกันของทีมงาน (ความเป็นหนึ่ง) หมายถึงนักแสดงทั้ง 11 คน จะต้องมีความคิด คามรู้ ความเข้าใจในบทบาทการแสดงของตนเอง (รู้เราอย่างสมบูรณ์) ทำหน้าที่ร้อง เล่น เต้น รำทำท่าทางที่สร้างสรรค์ไว้ได้อย่างเต็มความสามารถ และพร้อมที่จะปรับปรุงตนเองเมื่อเป็นจุดอ่อนของทีม เพราะทุกคนมีความสำคัญต่อการทำให้ได้คะแนนทั้งนั้น หากนำเสนอข้อบกพร่อง ข้อผิดพลาดออกไปเพียงนิดเดียวก็จะเสียคะแนนไปอย่างน่าเสียดายและที่สำคัญเราจะต้องเดินเรื่องไปตามกติกาของการประกวด มิใช่เล่นตามงานวัดหรือเวทีการแสดงตามปกติ

        การประกวดมีการกำหนดเวลาเอาไว้ว่า ให้ทำการแสดง 3-10 นาที นั่นหมายถึงถ้าแสดงน้อยกว่า 3 นาที ผิดกติกา และถ้าแสดงเกิน 10 นาทีก็จะผิดกติกาเช่นเดียวกัน ในการประกวดครั้งนี้มีผู้ควบคุมทีมบางทีมแจ้งว่า เวลาแสดงควรที่จะเป็น 20 นาที (ผมคิดว่าต้องยึดกฎ กติกาที่แจ้งไว้แล้ว) ไม่ควรที่จะมีการต่อรองจะทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการประกวดและการแสดงด้วย กฎเกณฑ์ กติกา ที่ตั้งเอาไว้ต้องยึดถือปฏิบัติตามนั้นโดยเคร่งครัด รวมทั้งจะต้องให้ความเคารพการตัดสินของคณะกรรมการด้วย เพราะท่านเป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางใจให้มาทำหน้าที่โดยความยุติธรรมอย่างถูกต้อง

        จากการประกวดในระดับภาคกลางที่ผ่านมาพบว่า มีบางคณะแสดงลำตัดแบบเวทีการแสดงอาชีพ พูด เจรจากันมากไป บางคณะตัดเอาเพลงพื้นบ้านอื่น ๆ มาผสมผสานด้วย (ถือว่านำเอาเพลงผิดประเภทมาประกวด) หากเป็นการแสดงในงานจ้างวานหรืองานหาก็น่าที่จะทำได้ แต่ในครั้งนี้ เป็นการประกวดลำตัด ควรที่จะนำเสนอให้ตรงประเด็น บางวงมีการร้องโหมโรงกลองรำมะนา ร้องไหว้ครู มีร้องขึ้นบันตนด้วย ทำให้ถ้านับเวลาประกวดกันจริง ๆ ก็เล่นเกินเวลาไปมาก เหลือเวลาในการนำเสนอเนื้อหาจริง ๆ ตามหัวข้อประกวดได้น้อยมาก

       

       

       

       

        ขอเชิญท่านผู้อ่านได้ติดตามชมการแสดงโชว์ (ประกวดรอบสุดท้าย) สุดยอดของเพลงพื้นบ้าน 4 ภาค มาทำการแสดงชิงถ้วยรางวัลจาก ฯพณฯนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 28 กันยายน 2553 (เลื่อนเข้ามาจากเดิม วันที่ 29 กันยายน 2553) ที่ หอประชุมกรมประชาสัมพันธ์ กรุงเทพฯ หรือรับฟังการถ่ายทอดสดทาง สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย  รับชมการถ่ายทอดสดจากสถานีโทรทัศน์ ช่อง NBT (ช่อง 11 เดิม) ได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 13.00 น. เป็นต้นไป

        สำหรับการประกวดเพลงพื้นบ้านภาคกลางของสำนักนายกรัฐมนตรีร่วมกับกรมประชาสัมพันธ์ในครั้งนี้ ทางกองประกวดได้ชี้แจงเกณฑ์การตัดสินเอาไว้อย่างชัดเจนว่า

        1. คณะกรรกมารจะพิจารณาที่เนื้อร้องมาอันดับหนึ่ง (ความตรงประเด็นในเนื้อหา)

        2. คณะกรรมการจะพิจารณาที่ความคิดสร้างสรรค์ในการนำเสนอบนเวทีการแสดง

        3. พิจารณาความถูกต้องของการร้อง จังหวะทำนองและชุดการแสดงไปจนถึงเวลา

        เด็ก ๆ ชุดนี้มีประสบการณ์การแสดงบนเวทีเพลงพื้นบ้านร่วมกับผมมานานเกือบ 20 ปีแล้ว (ต่อเนื่องกันมาหลายรุ่น) การแสดงลำตัดของพวกเขาอาจจะไม่สมบูรณ์เต็ม 100% ในทางเพลง แต่ผมก็ผ่านการเรียนรู้มาจากครูลำตัดคนดัง และนำเอาความรู้มาถ่ายทอดสู่เยาวชน รับงานแสดงเป็นอาชีพด้วยเพลงพื้นบ้านมานานกว่า 35 ปี ขอให้มองในภาพรวมตามกฏเกณฑ์กติกาทั้งหมด จะได้ผลออกมาตามที่คณะกรรมการมองเห็น (ในบางปี ทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศนำเอาการแสดงเพลงอื่น ๆ มาผสมกับลำตัดยังชนะเลิศได้ เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการเป็นผู้พิจารณา)

        ผู้แสดงที่เข้าประกวด มีหน้าที่นำเสนอสิ่งที่ทำได้ดีที่สุดซึ่งจะต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์และกติกาที่กองประกวดกำหนดเอาไว้เป็นข้อ ๆ อย่างชัดเจน

        ศิลปินที่มีความถนัดทางเพลงพื้นบ้านใด เมื่อไปนำเสนอเพลงพื้นบ้านชนิดอื่น ๆ คงทำได้ไม่ดีเท่าเจ้าของเพลงประเภทนั้น แต่บนเวทีการประกวดแข่งขันต้องดูตามกติกาทั้งหมดในภาพรวมที่กองประกวดต้องการ

ชำเลือง มณีวงษ์

        - รางวัลชนะเลิศประกวดเพลงอีแซวด้นสด ของจังหวัดสุพรรณบุรี ปี พ.ศ.2525

        - ศิลปินดีเด่น รางวัลราชมงคลสรรเสริญ เพลงพื้นบ้าน   ปี พ.ศ.2547

        - โล่รางวัล ความดีคู่แผ่นดินจากสถานีโทรทัศน์ ช่อง 5  ปี พ.ศ.2549

        - เข็มรางวัลผู้ทำประโยชน์ให้กับจังหวัดสุพรรณบุรี        ปี พ.ศ.2552

        - ประธานกลุ่มกิจกรรมการแสดงเพลงอีแซวต้นแบบประเทศไทย รุ่นที่ 1 ปี พ.ศ.2553

หมายเลขบันทึก: 395146เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2010 12:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:32 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท