เมื่อได้พิจารณา "เรื่องยาก" ของชีวิต...


ในอดีตข้าพเจ้าเองได้มีโอกาสดูซีรี่ย์เรื่อง Stargate SG1 ซึ่งในตอนแรกนั้นก็ดูไป "งั้น ๆ" แต่ตอนหลังเริ่มเกิดมีความสนใจและ "ทึ่ง" ในทฤษฎีของ "ฟิสิกส์"

ข้าพเจ้าเองเป็นคนที่เรียนมาทางสายศิลป์โดยตลอด คือ นับตั้งแต่ จบชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ก็เลือกเรียนต่อในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ "ปวช." สาขาวิชาการบัญชี เนื่องจากได้ทุนการศึกษาเรียนฟรีที่ "โรงเรียนพณิชยการวิริยาลัยนครสวรรค์" ซึ่งนั่นก็หมายถึงว่า เป็นการเบนเข็มออกจากจากสามวิชาหลักก็คือ "เคมี ชีวะ และ "ฟิสิกส์"

จากประสบการณ์ฝังลึก ที่มีโอกาสรู้จักอะไรเล็ก ๆ น้อยจากทั้ง 3 วิชาในช่วงระหว่างที่เรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นนั้น ที่จริงก็ไม่ใช่วิชาที่ยากอะไร แต่ที่รู้สึกว่ายากนั้นเกิดขึ้นมาจากการพูดกันแบบ "ปากต่อปาก (Word of Mouth)" เสียมากกว่า

สำหรับความคิดเห็นของข้าพเจ้า ถ้าไปเรียนวิชาอะไรก็ตาม ถ้าหากว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ยังไม่เคยเรียนไม่เคยรู้ ทุกวิชาก็ยากทั้งนั้น

แต่ค่านิยมที่เด็กมัธยมต้นถูกปลูกฝังว่าการเรียนสายวิทย์นั้น "ยาก" ทำการเกิดการสร้างภาพ (Imagination) จนเกิด "ความกลัว" และไอ้เจ้าความกลัวนี้เองที่ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกเสียดายหรือผิดหวังกับการตัดสินใจครั้งนั้นมาจนถึงทุกวันนี้

ช่วงที่ข้าพเจ้าเรียนจบ ปวช. แล้ว ตอนนั้นก็จะมีแผนว่าจะเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย แค่เลือกคณะฯ ที่จะเรียนต่อก็มีปัญหาแล้ว คณะอะไรต่ออะไรที่อยากจะเรียน ก็เลือกไม่ได้ เพราะส่วนใหญ่เข้าบอกว่า "รับสายวิทย์..."

ตอนนั้นเองข้าพเจ้าก็ต้องเลือกเรียนในคณะฯที่ตนเองชอบรอง ๆ ลงมา สุดท้ายก็ไปสอบติดเข้าที่สาขาวิชา "เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษา" ซึ่งอยู่ในลำดับสุดท้ายที่เลือกไว้

ก็ไม่แปลกอะไรที่ลำดับที่ 1 และ 2 ที่เลือกไว้นั้นข้าพเจ้าสอบไม่ติด เพราะในช่วงมัธยมปลายนอกจากจะไม่ได้ในสายศิลป์แล้ว ข้าพเจ้ายังไปเรียนสายวิชาชีพอีกต่างหาก ดังนั้นคะแนนในส่วนของ 3 วิชาหลัก คือ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และภาษาไทยก็ไม่ต้องพูดถึง คงจะไปสอบแข่งสู้กับเด็กเรียน ม.ปลาย สายศิลป์ไม่ได้

ซึ่งนั่นก็ทำให้ตัวเลือกที่น้อยอยู่แล้วของข้าพเจ้าเนื่องจากเลือกคณะฯ หรือสาขาวิชาที่รับเฉพาะเด็กสายวิทย์ไม่ได้แล้ว ยังสอบแข่งกับเด็ก ม.ปลาย สายศิลป์ไม่ได้อีก

ในปีนั้นจึงสรุปว่า ข้าพเจ้าต้องทิ้งเวลาเรียนไป 1 ปีเต็ม ๆ เพราะหลังจากที่เข้าไปรับน้องใหม่ในคณะครุศาสตร์ สาขาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษา ที่สถาบันราชภัฏนครสวรรค์ในขณะนั้นแล้ว หลังจากจบการรับน้องแล้วดูอนาคตของตัวเองที่จะต้องจบไปเป็นครูอยู่ในห้องโสตทัศนศึกษาแล้วท่าทางจะไม่รุ่ง

ดังนั้นในปีต่อมา ข้าพเจ้าจึงต้องทำการเลือกคณะฯ และสอบใหม่ โดยย้ายกลับมาเรียนที่สถาบันการศึกษาใกล้บ้าน เพื่อที่จะได้ "กลับบ้าน" บ่อย ๆ หลังจากที่สละโอกาสของโควต้า "เอกดนตรี" ของมหาวิทยาลัยที่ชื่อเสียงทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดพิษณุโลก เพราะว่ามองอนาคตนักดนตรีในทัศนะของข้าพแล้ว ไม่เสียเรื่องผู้หญิงก็คงจะทิ้งชีวิตไปกับเรื่อง "เหล้า"

ดังนั้นอย่าไปติดยึดเรื่องมหาวิทยาลัยใหญ่ ๆ เลย กลับบ้านดูแลพ่อแม่ดีกว่า ข้าพเจ้าเองจึงตัดสินใจกลับมาเรียนที่ "สถาบันราชภัฏกำแพงเพชร" และในขณะนั้น (พ.ศ.๒๕๔๐) เทรนด์เรื่องคอมพิวเตอร์กำลังมาแรง ข้าพเจ้าเองก็พยายามขวนขวายจะเลือกเรียนในสายคอมพิวเตอร์ให้ได้ ถึงแม้นว่าจะไม่ได้เรียนมาทางสายวิทย์ แต่ด้วยการมี "ครู" ที่ดี คือ ท่าน ผศ.ดร.ปาจรีย์ ผลประเสริฐ แนะนำข้าพเจ้าว่า "เรียนบริหารธุรกิจแล้วจะรุ่ง" เพราะไหน ๆ ข้าพเจ้าก็เรียนจบมาทางบัญชีแล้ว

ซึ่งก็เป็นตามนั้นจากการหยุดเรียนไปหนึ่งปี แล้วหันกลับมาเรียนในสาขาวิชาบริหารธุรกิจข้าพเจ้าก็ได้สำเร็จการศึกษาในผลคะแนน (GPA) ที่น่าพอใจ  แต่ด้วยโอกาสที่ได้รับจากท่านรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชรในขณะนั้น คือ ผศ.ดร.ทวนทอง ชีวกีรติพงศ์ ซึ่งได้ให้โอกาสเข้าไปทำงานในสำนักวิจัย และทำงานในสำนักวิจัยของมหาวิทยาลัย

ข้าพเจ้าเองได้มีโอกาสฟังการให้คำปรึกษาของนักศึกษาปริญญาโทเกี่ยวกับการทำวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาโทของพี่ ๆ ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่ท่านได้เป็นที่ปรึกษาอยู่ เรื่องแล้ว เรื่องเล่า ฟังไป ฟังมา ตอนแรกก็ตื่นเต้นว่า "ยากจัง" สุดท้ายฟังไปฟังมา เล่มที่สิบ เล่มที่ยี่สิบ ก็สรุปได้ว่า "ก็เหมือน ๆ กันนี่หน่า..." จากนั้นเองข้าพเจ้าก็ได้รับโอกาสศึกษาต่อและมีโอกาสได้เข้าเป็นอาจารย์ในคณะวิทยาการจัดการของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์

และในระหว่างการทำงานในมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ข้าพเจ้าก็ได้รับโอกาสพิเศษจากทั้งท่านอธิการบดี ท่านคณบดี และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผศ.ดร.ฉัตรนภา พรหมมา ได้เปิดโอกาสให้ช่วยทำงานวิจัยจนกระทั่งสามารถรับงานวิจัยโครงการใหญ่ ๆ มาดำเนินการบริหารด้วยตนเอง

โดยมีการวิจัยชิ้นหนึ่งที่ข้าพเจ้าประทับใจมาก คือ เรื่อง "การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อเสริมสร้างการบริหารจัดการที่ดีของกองทุนหมู่บ้านจังหวัดอุตรดิตถ์" ถึงแม้ว่างานวิจัยชิ้นนี้ ซึ่งในทัศนะของข้าพเจ้าเองประเมินว่า ข้าพเจ้าทำไม่ได้เรื่อง คือไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรเลย ยากก็ยาก อาจจะเรียกได้ว่าทำผิดแบบร้อยทั้งร้อย แต่ข้าพเจ้าเองได้มีโอกาสพบครูบาอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญหลาย ๆ ท่านที่ได้ให้โอกาสลองผิด ลองถูก อบรม สั่งสอนข้าพเจ้าจนได้รับประสบการณ์มากมาย

นับตั้งแต่ "ลุงตู่" หรือท่านอาจารย์สุริยันต์ เชาวนปรีชา ซึ่งพาข้าพเจ้าลงหมู่บ้านสำหรับกับงาน PAR (Pariticpatory Action Research) เป็นครั้งแรกนั้น ก็ได้ประสบการณ์แบบถึงจิต ถึงใจ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งทีมงานที่คอยเป็นพี่เลี้ยงในส่วนกลาง ซึ่งนำโดยท่าน รศ.ดร.มารุต ดำชะอม จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) วิทยาเขตปัตตานี ท่านดร.ปรีชา อุยตระกูล ท่านอาจารย์ปรองชน พูลสวัสดิ์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ท่านอาจารย์ภีม ภคเมธาวี ท่านอาจารย์สนั่น เพ็งเหมือน และอาจารย์จากมหาวิทยาลัยอื่น ๆ อีกมากมาย

 

 

 แต่คำพูดที่คอยย้ำเตือนใจข้าพเจ้าเสมอมาว่า "คนที่ไม่เคยทำอะไรผิด คือ คนที่ไม่เคยทำอะไรเลย" ก็ทำให้งาน PAR ที่ว่ายาก ก็สนุกสนานขึ้นมาได้ เพราะว่าอะไรที่ยาก ๆ และผิด ๆ นั้น เป็นบทเรียนที่สำคัญที่สอนให้รู้ว่า "การรู้จริง" นั้นเป็นอย่างไร

ถ้าหากเราทำอะไรครั้งแรกแล้วถูกเลยก็แค่นั้น เรียนอะไร เลือกอะไรแต่ง่าย ๆ ก็แค่นั้น คนเรามีศักยภาพที่สามารถพัฒนาได้ และการพัฒนาตนเองจากความผิดพลาดนั้นเป็นแรงทั้งทั้งถีบ ทั้งดันให้ตนเองสามารถพัฒนาได้อย่างก้าวกระโดด

 

ดังนั้นในวันนี้ข้าพเจ้าจึงมีความเห็นด้วยกับคำสุภาษิตคำโบราณที่ว่า "ใฝ่ร้อนจะนอนเย็น" เพราะในช่วงเวลาที่ทำงานอะไรยาก ๆ ทำอะไรผิด ๆ แล้วถูกคนอื่นว่ากล่าวนั้นมัน "ร้อน" เสียนี่กะไร

แต่วันนี้เมื่อข้าพเจ้าย้อนกลับไปดูคืนวันที่เคยคิดว่าโหดร้ายเมื่อมีอะไรผิดพลาดเกิดขึ้นกับชีวิตแล้ว ข้าพเจ้ารู้สึกขอบคุณบุคคลและสรรพสิ่งที่มีโอกาสเข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตที่ได้ให้ความกรุณาสั่งสอนด้วยโจทย์อันหนักหน่วง ที่สามารถทำให้ข้าพจ้าเป็นข้าพเจ้าได้อยู่ในทุกวันนี้

หรือแม้กระทั่งคนที่ดลบันดาลชีวิตที่ทำให้ชีวิตข้าพเจ้าเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือก็คือ เจ้าหน้าที่ที่พิจารณาวีซ่าไปศึกษาต่อของข้าพเจ้าในวันนั้นทั้งสองท่าน วันนี้ข้าพเจ้าก็รู้สึกขอบคุณท่านทั้งสองอย่างเหลือล้น ที่ "ปฏิเสธวีซ่า" ของข้าพเจ้าอย่างเด็ดขาด คือ ไม่ต้องมายื่นฎีกาให้ยุ่งยาก

ซึ่งถ้าหากวันนั้นได้ไปง่าย ๆ มันก็ไม่มีอะไรมากมายที่ได้เกิดขึ้นมากับชีวิต เพราะชีวิตของคนเรามันจะเห็นแต่ด้านหน้ามือขาว ๆ อย่างเดียวก็ไม่ได้ มันต้องเห็นหลังมือที่ดำ ๆ กันบ้าง จะแบมือรับความสำเร็จอย่างเดียวอะไร ๆ มันจะสบายไป จิตใจจะไม่รู้จักพัฒนา มันต้องลองคว่ำมือลงแล้วลองใช้รับของอื่น ๆ ดูบ้าง ใหม่ ๆ มันก็รับไม่ได้หรอก เพราะหลังมือทั้งแบน ทั้งเรียบ จะรับอะไรก็ตกหมด แต่ถ้าเราใช้ไปเรื่อย ๆ รู้จักดัดนิ้วให้แอ่นขึ้นมาบ้าง รู้จักถ่ายเทน้ำหนักบ้าง คราวนี้เราก็จะเห็นความมหัศจรรย์ของหลังมือ

และที่สำคัญเมื่อเจอแจ็คพอต 2 เด้ง ยิ่งกว่าโดนปฏิเสธวีซ่าไปอังกฤษ เพราะเมื่อได้ไปเรียนที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และอยู่ดี ๆ ก็ต้องกลับมาอยู่ ณ สถานที่แห่งนี้ ยิ่งกว่าพลิกจากหน้ามือไปหลังมือ เพราะคราวนี้ได้มีโอกาสมองลึกลงไปในฝ่ามือ มองดูชั้นหนัง มองให้เห็นเนื้อ เอ็น กระดูกกันไปเลย

เพราะถ้าหากข้าพเจ้าไม่ได้มีโอกาสดี ๆ เช่นที่ว่านี้ ก็ยังไม่รู้เรื่องบุญเรื่องกรรม ทำชั่วก็ยังชั่วอยู่อย่างนั้น ทำผิดแล้วก็ยังหลงระเริงอยู่กับบาปกรรมที่ยังตามมาไม่ทัน เพราะถ้าย้อนกลับไปดูการกระทำที่ประมาท ๆ ของตนเองในเรื่องต่าง ๆ ของอดีตแล้ต้องพูดได้ว่า "สยอง" จริง ๆ ที่มาเป็นอยู่แบบทุกวันนี้ก็ถือว่ายังมีกรรมดีช่วยพอสมควร

เพราะตามธรรมดาของข้าพเจ้าถ้าทำอะไรถูกมันลืมง่าย คิดเห่อเหิม ลำพองใจ ไม่เคยใส่ใจย้อนกลับมาคิด แต่ถ้าหากทำผิดแล้วก็เป็นโอกาสที่ได้คิด "คิดอยู่นั่นแหละ" คิดเป็นบ้าเป็นหลัง แต่เมื่อก่อนไม่มี "ธรรม" เป็นเครื่องดำเนินชีวิต คิดแล้วบ้า คิดแล้วท้อแท้ แต่ถูกวันนี้ที่คิดเพราะต้องฝึกตัวเองให้รู้จัก "พิจารณา" อันเป็นความหมายที่ข้าพเจ้าให้คำจำกัดความสำหรับคำว่า "ภาวนา" ที่ตนเองทำอยู่ในทุกวันนี้

พิจารณาความผิดนี่แหละ พิจารณาความเลวนี่แหละ สนุกดี เห็นเหตุ เห็นผล มองตัวเอง ดูตัวเอง ดูไปเรื่อย อ้อ อ้อ เราทำแบบนี้แล้วได้อันนี้ พูดอย่างนี้แล้วต้องได้รับผลแบบนี้ จนในวันนี้ต้องยอมศิโรราบต่อคติธรรมที่ว่า "ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว" เรื่องกรรมเรื่องเวรไม่มีใครมามั่วหรือติดสินบนกับยมภบาลได้

เรื่องการพิจารณากรรมเวรของตัวเองนี้ก็ยากอยู่ใช่เล่น เพราะเราไม่ค่อยยอมรับความผิดของตัวเองเท่าไรหรอก ถึงแม้เห็นผลแล้ว ก็ยังถูลู่ถูกัง ไปข้าง ๆ คู ๆ

แต่เรื่องยาก ๆ สนุก ๆ แบบนี้ข้าพเจ้าชอบ นำประสบการณ์จริงของชีวิต (Tacit knowledge) มาเป็นเครื่องเตือนจิตเตือนใจ เพื่อที่จะสอนตัวเองไว้ไม่ให้ดำรงอยู่ในความประมาท เพราะว่าไม่มีใครที่จะสามารถล่วงรู้ความตายแม้นพรุ่งนี้....

 

 

หมายเลขบันทึก: 394821เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2010 14:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มีนาคม 2014 16:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอแสดงความคิดเห็นด้วยคะ

เรื่องการพิจารณากรรมของตนถูกต้องเลยคะเราเองชอบมองผ่านความผิดของตนเองโดยคิดว่าไม่ผิดดีแล้วถูกต้องแล้ว พอมีคนมาทักหรือมาบอกก็นึกค้านในใจอีกแต่ถ้าหยุดคิดและพิจารณาจะรู้ได้เลยว่าความเห็นแก่ตัวของตนเองนั้นมันทำให้มองเห็นผิดเป็นถูกได้อย่างไม่น่าเชื่อทีเดียวมันแย่มากๆเลยพอคิดได้ก็พิจารณาหาสาเหตุว่ามันเริ่มมาจากไหนทำไมจึงทำมีอะไรบ่งชี้ว่าทำไปเพราะอะไรหาเหตุที่ทำให้ทำผิดเสร็จก็ยังไม่หมดคิดว่าจนสุดท้ายคิดแบบไม่เข้าข้างตนว่ามันผิดมากแค่ไหน แล้วหาทางแก้ไข หาตนเหตุที่ทำผิด แล้วหยุดทันที ทำได้ตนคิดได้นี่เอง ดีอยู่อย่างที่สามารถหยุดทันทีถ้ารู้ว่าผิดเมื่อคิดได้และก็จะไม่ยอมผิดอีกเป็นอันขาด นี่คือข้อดีสำหรับตน แต่กว่าจะรู้ได้ก็ต้องอาศัยหลายๆอย่างที่ช่วยให้คิดได้ บทจะคิดได้ก็คิดได้ บทจะคิดไม่ได้ก็ยังทำอยู่อย่างนั้น นี่ก็แย่เหมือนกันคะ แต่ได้อ่านบทความนี้ก็ยิ่งทำให้คิดได้ว่า การทำความผิดนั้นทำได้ทุกคน แต่คิดได้ว่าผิดนั้น อาจไม่ทุกคนก็เป็นได้ เพราะความคิดได้นั้นมันไม่เท่ากันใช่ไหมคะ

ขอชอบคุณข้อคิดดีๆ จากไดอารีชีวิต นะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท