เรียนรู้ตัวเราด้วยบทเรียนที่เป็นรูปธรรม


บทความนี้ผมเขียนขึ้นด้วยเป้าหมายที่จะทำให้ผู้ที่สนใจเรียนรู้ตนเอง ได้เข้าใจสิ่งที่เป็นแก่นแท้และสาระในเนื้อหาที่นำเสนอด้วยตนเอง และเข้ามาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ซึ่งกันและกัน ซึ่งผมคิดว่าข้อเท็จจริงที่ได้จะเป็นประโยชน์โดยเฉพาะการฝึกใช้ข้อเท็จจริงรวบรวมเป็นองค์ความรู้เฉพาะบุคคล และบูรณาการหลอมรวมกันอย่างเป็นรูปธรรมครับผม

            จากบทความที่ผมได้เคยให้ข้อคิดเห็นไว้ว่า มนุษย์ทุกคนนั้นมีศักยภาพ ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นพลังงานขับดันอยู่ภายในตนเอง แต่มากน้อยนั้นคงไม่เท่ากันซึ่งอาจเป็นไปตาม “แรงแห่งกรรม” ของแต่ละบุคคล  ดังนั้นการที่มนุษย์จะทำสิ่งใดๆได้เหมือนๆกันนั้นแต่ละคนจำเป็นต้องรู้จักวิธีการดึงศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในตัวเองออกมาใช้ให้ได้มากถึงมากที่สุด ซึ่งวิธีการหนึ่งก็คือ “การเพิ่มระดับความสามารถ”

            การเพิ่มระดับความสามารถเปรียบเสมือนการเพิ่มความสูงให้ขบวนรถไฟเหาะตีลังกาในตอนเริ่มต้นก่อนที่จะปล่อยให้ขบวนรถไฟนั้นม้วนหน้า ม้วนหลัง บิดเกลียวหมุนไปหมุนมา จนขบวนรถไฟเคลื่อนที่ไปได้ตลอดระยะความยาวของรางที่ได้ออกแบบเอาไว้ เคยเล่นกันหรือเปล่าครับ?  ความสูงของขบวนรถไฟยิ่งสูงพลังงานศักย์ก็จะสะสมมากขึ้นๆเมื่อปล่อยขบวนรถไฟลงมาพลังงานศักย์จะถูกเปลี่ยนเป็นพลังงานจลน์ ทำให้ขับเคลื่อนขบวนรถไปตามรางได้ระยะหนึ่ง การออกแบบรางจึงต้องทำให้เกิดความสมดุลย์ที่จะเพิ่มพลังงานศักย์เพื่อให้ได้พลังงานจลน์ส่งขบวนรถไฟไปตลอดระยะทางตามที่ต้องการ เป็นที่น่าสังเกตว่าตัวขบวนรถไฟนั้นจะไม่มีเครื่องยนต์ขับเคลื่อนใดๆเลย แต่ก็สามารถเคลื่อนที่สร้างความสนุกสนานให้ผู้เล่นได้ เฉกเช่นเดียวกับมนุษย์ (เปรียบได้กับขบวนรถไฟ) การเดินทางตลอดช่วงชีวิตของเรา (เปรียบเสมือนรางรถไฟ) เราจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้เพื่อเพิ่มระดับความสูง (ขีดความสามารถ) ตลอดเวลา นำพาตัวเราให้เคลื่อนที่ไปได้ตามความยาวของรางอย่างไม่สะดุดหรือติดขัดด้วยตัวของเราเอง และสร้างคุณค่าความดีงามให้แก่ผู้คนรอบข้าง คงไม่ดีแน่ใช่ไหมครับหากเราเป็นฝ่ายที่จะต้องรอให้ใครมาฉุด กระชาก ลาก ดึง เข็นแล้วเข็นอีก และกลายเป็นภาระให้ผู้อื่นไปตลอดชีวิต น่าเสียดายโอกาสที่ได้เกิดเป็นมนุษย์นะครับ

            พอจะเข้าใจแล้วใช่ไหมครับ ทำไมมนุษย์จึงต้องหมั่นฝึกฝนและพัฒนาตนเองตลอดชั่วชีวิต คราวนี้ตามผมมาดูต่อว่า เราจะพัฒนาอย่างไรจึงจะเหมาะสม? พระพุทธองค์ทรงเคยชี้ให้เราได้เห็นหนทางแห่งความสุขที่แท้จริง นั่นคือสิ่งที่เรารู้จักกันดีว่า “ทางสายกลาง” อันสิ่งใดที่มีน้อยไปก็ไม่ดี แต่ในขณะเดียวกันถ้าหากมีมากจนเกินไปมันก็เกิดทุกข์ขึ้นได้ เช่นกัน บทเรียนนี้ผมจะให้ทุกท่านศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเอง หากผู้ใดอยากค้นพบความจริงบางประการให้ทำตามขั้นตอนที่ผมนำเสนอไปจนจบครับ

            สิ่งที่ท่านต้องเตรียมมีสองอย่าง คือ ๑) ไข่ไก่หนึ่งฟอง ; ๒) ชามกระเบื้อง,เซรามิค หรือชามแก้วก็ได้ใบใหญ่และหนาพอประมาณ ; ๓) จิตที่ไม่มีอคติกับเนื้อหาในบทความนี้ และมีความพร้อมที่จะเรียนรู้ (หากข้อนี้ไม่พร้อมอย่าทดลองนะครับเพราะจะเสียเวลาและเสียของด้วย) เริ่มต้นนำชามที่เตรียมไว้วางบนพื้นเรียบๆ จากนั้นยกไข่เป็ดขึ้นในแนวตั้งให้สูงกว่าก้นของชามประมาณ ๑ นิ้ว (ใช้ไม้บรรทัดเทียบเคียง) เมื่อระดับได้แล้วปล่อยไข่ลงมาสู่ก้นชาม ทุกๆครั้งให้บันทึกผลไปเรื่อยๆจนกว่าไข่จะแตกอย่างสิ้นเชิง(เปลือไข่แยกออกจากไข่ขาวและไข่แดงอย่างชัดเจน) โดยทุกๆครั้งหากไข่ยังไม่แตกให้เพิ่มความสูงจุดปล่อยไปครั้งละ ๑ นิ้วไปเรื่อยๆ เมื่อการทดลองสิ้นสุดนำผลการทดลองมาดูครับ

            ในความสูงเริ่มต้น (๑ นิ้ว) ไข่อยู่ในสภาพเช่นไร? ปรกติ , มีรอยร้าว หรือแตกกระจายทันทีหรือไม่? และเมื่อความสูงเริ่มมากขึ้นๆไปเรื่อยๆสภาพไข่เป็นอย่างไร?

            ลองสรุปการทดลองเชื่อมโยงกับเนื้อหาบทความที่ผมนำเสนอซิครับว่า ท่านได้ข้อคิดอะไรบ้างจากการทดลองนี้? และตอบคำถามผมสองข้อ....

            ข้อแรกถามว่า ทำไมไข่จึงแตก? (เหตุที่ทำให้ไข่แตก)

            ข้อสองถามว่า ทำอย่างไรไข่จึงไม่แตก? (เป็นไปได้หรือไม่สูงเท่าใดก็ไม่แตก)

            แสดงความคิดเห็นกับบทเรียนกันมานะครับ ถึงช่วงเวลาหนึ่งผมจะมานำเสนอบทสรุปให้ ตอนนี้เอาไข่ในชามไปปรุงรสตั้งกระทะใส่น้ำมันร้อนๆเจียวให้ฟู ข้าวสวยร้อนๆสักชาม (ท้องร้องเลยกำลังหิวด้วย) จัดการเสียก่อนท้องอิ่มเดียวสมองก็แล่นเองแหละเนอะ

หมายเลขบันทึก: 394767เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2010 12:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มีนาคม 2012 20:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ชอบมากๆเลยค่ะอ่านแล้วมีความรู้มากขึ้นเยอะเลย

ด้วยความยินดีครับ ตั้งใจไว้ว่าจะเขียนเรื่องที่เป็นประโยชน์เพื่อเป็นกรณีศึกษาให้ทุกท่านมากที่สุดเท่าที่ยังจะทำได้นะครับ ขอบคุณครับ คุณเด็กขอนแก่น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท