ดอยสูง ฟ้าใส


ในสายตาของบางคน “อุทยานแห่งชาติขุนสถาน” อาจเป็นเพียงแหล่งท่องเที่ยวบนยอดดอย ที่สวยงามและน่าตื่นใจ บางคนสนใจแต่ทิวทัศน์อันสวยงาม บรรยากาศบนยอดดอยที่หนาวเหน็บทำให้การพักแรมมีสมีชาติ สนุกสนาน

แต่ที่นั่น...นอกจากทิวทัศน์และบรรยากาศแล้วยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจอีกมากมาย ที่นั่นมีชุมชนชาวม้งซึ่งมีวิถีชีวิตและขนบธรรมเนียมประเพณีที่น่าสนใจ และยิ่งกว่านั้นคือ ที่สถานที่ถือกำเนิดของข้าพเจ้าเอง

ดอยสูง-ฟ้าใส เสียงนก-เสียงกา เป็นสิ่งที่เคยมีเมื่อประมาณ 20 ปีก่อน คือประมาณตอนที่ข้าพเจ้ายังเด็กๆอยู่ ในปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงไปมากมายจนข้าพเจ้าเองยังนึกหดหู่ใจ

แม่ว่ากฎแห่งอนิจจัง จะเป็นสัจธรรมที่ปฏิเสธไม่ได้ ความเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่ทุกสรรพสิ่งมิอาจฝืนได้ แต่ข้าพเจ้าก็ยังฝันถึงการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น...ไม่ใช่กาเปลี่ยนแปลงไปในทางเลวลง ภูดอยเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ แน่นอนมันย่อมเปลี่ยนแปลงไป อดีตกาลนานนับพันปีที่แล้ว มันอาจจะเปลี่ยนแปลงไปช้ามาก และเปลี่ยนแปลงน้อยมาก น้อยนิดเมื่อเปรียบเทียบกับการเปลี่ยนแปลงของมนุษย์ในช่วงชีวิต กวีเต๋าของจีนเปรียบความไม่เที่ยงแท้ของมนุษย์เหมือนกับความยืนยงมั่นคงของภูดอย ทั้งๆที่แท้จริงแล้ว ภูดอยก็เป็นอนิจจัง ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง ในยุคสมัย ภูเขาป่าไม้เปลี่ยนแปลงไป รวดเร็วเหลือเกิน เพียงภายนะยะเวลาชั่วคนเดียว ป่าไม้ในเมืองไทยระเหิดระเหยหายไปมหาศาล ภูดอยล้าน ธรรมชาติหลายหมื่นล้านปีในดินแดนประเทศไทยสูญสิ้นไปภายใน ชั่วระยะเวลาเพียง 20 ปีเท่านั้น จนในบางครั้ง เราอาจจะพูดได้ว่า ป่าไม้ไม่เคยเปลี่ยน คนไทยต่างหากที่เปลี่ยน ผู้คนต่างหากที่เปลี่ยน ผู้คนบุกเข้าไปทำลายภูเขาป่าไม้ให้เปลี่ยนไป ดอยสูง แม้ฟ้ายังใส แต่ก็ไม่รื่นรมย์แต่ก่อนที่เคยเป็น กรงเล็บแห่งปีศาจความโลภ กำลังขยุ้ม แย่ง ขุด ขน พร่า ผลาญ ป่าทุกแห่ง คนเมืองแผ่อารยธรรมแห่งความละโมบจะกละให้กลัดกร่อน ถึงทุกหัวระแห่ง ผู้คนในชนบทเปลี่ยนไป แม้กระทั่งชาวดอยก็เปลี่ยนไป ความเอื้ออาทรโอบอ้อมอารี ระหว่างมนุษย์ ถูกกลืนกินไปสิ้น “การพัฒนา” หยิบยื่นมหันตภัยให้ภูผา ป่าดอย “การพัฒนา” กระชากลากดึงให้ชาวดอยมากมายกลายเป็นเหยื่อของสังคมอธรรม ความเสื่อมของผู้คน ความเสื่อมของภูผาป่าไม้ มีต้นเหตุจากความโลภ และระบบเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม ภายใต้ภาพพจน์อันสวยหรูของคำขวัญ พิทักษ์ป่าไม้ ท่ามกลางการนำเสนอชักชวนให้ผู้คนรู้ค่า-รู้ประโยชน์ ของการอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างเต็มที่ของสื่อมวลชน

ภูผาป่าไม้ถูกตัด ทำให้เป็นสนามกอร์ฟมากมาย ทำเป็นสถานที่พกผ่อน โรงแรม โรงงานต่างๆมากมาย ไม่มีใครว่าอะไร แต่พี่น้องชาวดอยตัดไม้เพื่อทำการเพาะปลูกเลี้ยงตัวเอง กลับถูกกล่าวว่าเป็นผู้ตัดไม่ทำลายป่า ผู้คนชาวดอยยังตกเป็นเหยื่อตลอด สมัยนี้ชาวดอยหลายเผ่าที่มีวัฒนธรรมแตกต่างกันถูก “รัฐ” โยกย้ายเข้ามาอยู่ในพื้นที่จำกัดเป็น “นิคม” คนชนบทต้องการที่ดินทำกิน ชาวดอยเองก็ต้องการที่ดินทำกินเช่นเดียวกัน ปัญหาซับซ้อนเรื่องคนกับป่า พี่น้องม้งจะอยู่ ทำมาหากินถิ่นเดิมได้หรือไม่ ใครกันแน่ที่ล้างผลาญป่า ใครกันแน่ที่ทำลาย ดอยสูง-ฟ้าใส..........  

หมายเลขบันทึก: 394641เขียนเมื่อ 15 กันยายน 2010 21:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 16:22 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท