การเก็บรวบรวมข้อมูล (ตอนที่ 3)


การเก็บรวบรวมข้อมูล (ตอนที่ 3)

      ครั้งที่แล้วผู้เขียนได้นำเสนอเกี่ยวกับเครื่องมือประเภทต่างๆ และในครั้งนี้จะได้อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับเครื่องมือประเภทเทคนิควิธีการเก็บข้อมูลต่างๆ อันได้แก่  การสังเกต  การสัมภาษณ์  และการสนทนากลุ่ม  ว่ามีวิธีการดำเนินการอย่างไร ดังนี้ค่ะ

      1)  การสังเกต  (Observation)  เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้ตาดูและหูฟังอย่างตั้งใจอย่าง มีจุดมุ่งหมาย  การสังเกตแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่  การสังเกตเชิงปริมาณ (Quantitative observation)  และการสังเกตเชิงคุณภาพ (Qualitative observation)

          การสังเกตเชิงปริมาณ (Quantitative observation) บางครั้งเรียกว่า การสังเกตแบบมีโครงสร้างหรือการสังเกตอย่างมีระบบ   เป็นการสังเกตที่กำหนดเงื่อนไขต่างๆ ไว้อย่างชัดเจน  เช่น  เวลา  สถานที่  หรือวิธีการสังเกต

          การสังเกตเชิงคุณภาพ (Qualitative observation)  บางครั้งเรียกว่า  การสังเกตเชิงธรรมชนติ (Naturalistic observation)  เป็นการสังเกตที่นักวิจัยเข้าไปสังเกตปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสนามวิจัยอย่างรอบด้าน และบันทึกสิ่งที่สังเกตไว้  การสังเกตเชิงคุณภาพแบ่งออกเป็นประเภทย่อยๆ ตามความเข้มข้นของการสังเกตและการมีส่วนร่วมของผู้สังเกต ดังนี้

                -  การสังเกตแบบมีส่วนร่วมโดยสมบูรณ์ (Complete participant)  หมายถึง  การที่ผู้วิจัยเข้าไปอยู่ร่วมเป็นสมาชิกเดียวกับกลุ่มคนที่นักวิจัยต้องการศึกษาพฤติกรรมหรือปรากฏการณ์ทางสังคมของบุคคลนั้นๆ  นักวิจัยต้องใช้เวลาแทบทั้งหมดเข้าไปอยู่ในสนามวิจัย  เพื่อสร้างความสัมพันธ์ให้สมาชิกในสนามวิจัยไว้วางใจแล้วทำการสังเกต  โดยที่คนในกลุ่มนี้ไม่รู้ตัวว่าถูกทำการสังเกต  การสังเกตแบบนี้นิยมใช้กันมากในงานวิจัยเชิงคุณภาพ

                -  การสังเกตแบบมีส่วนร่วมในฐานะผู้สังเกต (Participant as-observation)  หมายถึง  การที่ผู้สังเกตเข้าไปอยู่ร่วมกับกลุ่มคนในสนามวิจัย  โดยแจ้งให้สมาชิกทราบว่านักวิจัยเป็นใครและมีวัตถุประสงค์อย่างไร  นั่นคือ  สมาชิกในสนามวิจัยจะรู้ตัวว่าถูกสังเกตพฤติกรรมโดยนักวิจัย  ซึ่งบางครั้งอาจจะทำให้ได้ข้อมูลหรือพฤติกรรมของบุคคลที่ไม่เป็นไปตามปกติ

                -  การสังเกตแบบผู้สังเกตในฐานะมีส่วนร่วม (Observation as-participant)  การสังเกตแบบนี้ผู้วิจัยจะแสดงบทบาทเป็นผู้สังเกตมากกว่าการเป็นผู้มีส่วนร่วม และเมื่อเปรียบเทียบสองวิธีที่ผ่านมา การสังเกตแบบนี้จะทำให้ได้ข้อมูลน้อยกว่า  เพราะการสังเกตแบบนี้ผู้สังเกตจะใช้เวลาไม่มากในการเข้าไปอยู่ร่วมในสนามการวิจัย  นอกจากนั้นแล้วนักวิจัยก็ต้องบอกสมาชิกในสนามวิจัยให้รู้ว่าจะสังเกตอะไรอีกด้วย  ซึ่งจะทำให้ได้ข้อมูลปกปิดเสแสร้งอีกเช่นกัน

                -  การสังเกตแบบเป็นผู้สังเกตโดยสมบูรณ์ (Complete observation)  หรือบางครั้งเรียกว่า การสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม (Non – participant observation)  เป็นการสังเกตที่นักวิจัยไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมกิจกรรมหรืออยู่ในสนามการวิจัย  ผู้สังเกตหรือนักวิจัยมีฐานะเป็นคนนอกเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของสมาชิก โดยที่สมาชิกหรือคนกลุ่มนั้นไม่รู้ตัวว่าถูกสังเกต เพราะผู้สังเกตไม่ได้บอกให้รู้ว่าจะทำการสังเกต

      2)  การสัมภาษณ์  (Interview) เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้การพูดคุยซักถามเพื่อให้ได้ข้อมูลตามที่กำหนดวัตถุประสงค์ไว้ระหว่างบุคคลหนึ่งที่ทำหน้าที่เป็นผู้สัมภาษณ์ (Interviewer) และมีบุคคลที่เป็นผู้ถูกสัมภาษณ์ (Interviewee)  การสัมภาษณ์แบ่งออกเป็น

            การสัมภาษณ์อย่างเป็นทางการ หรือแบบมีโครงสร้าง (Formal or Structure Interview) เป็นการสัมภาษณ์ที่มีการกำหนดประเด็นที่จะสัมภาษณ์ไว้ล่วงหน้าอย่างชัดเจน  อาจทำได้หลายวิธี  เช่น  การสัมภาษณ์แบบเผชิญหน้า  การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์  การสัมภาษณ์ทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์

            การสัมภาษณ์อย่างไม่เป็นทางการหรือแบบไม่มีโครงสร้าง (Informal or Unstructure Interview)  เป็นการสัมภาษณ์ที่มีลักษณะเหมือนการพูดคุยในชีวิตประจำวัน  ผู้สัมภาษณ์และผู้ถูกสัมภาษณ์จะต้องมีการสร้างความสัมพันธ์กันจนสนิทคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีแล้วจึงสัมภาษณ์

      3)  การสนทนากลุ่ม (Focus group discussion)  เป็นการอาศัยความคิดเห็นของสมาชิกในกลุ่มที่มีต่อคำถามของผู้วิจัยเป็นข้อมูลตอบคำถามและวัตถุประสงค์การวิจัย  โดยสมาชิกที่เข้าร่วมพูดคุยนั้นนักวิจัยได้คัดเลือกอย่างเจาะจงจากกการพิจารณาพื้นภูมิหลังหรือคุณลักษณะต่างๆ ที่คล้ายคลึงกัน  นักวิจัยกับสมาชิกไม่จำเป็นต้องมีความคุ้นเคยกันมาก่อน  และใช้เวลาสั้นๆ ในการเก็บข้อมูล  เอาเฉพาะประเด็นที่ต้องการ

           ขั้นตอนของการสนทานากลุ่ม

                1.  กำหนดเรื่อง  และวัตถุประสงค์ที่จะศึกษา

                2.  กำหนดกรอบและประเด็นที่จะนำมาให้สมาชิกผู้ร่วมสนทนาได้แสดงความคิดเห็น

                3.  กำหนดและคัดเลือกสมาชิกกลุ่มผู้ร่วมสนทนา

                4.  จัดกลุ่มและดำเนินการสนทนา

                5.  สรุปและปิดประเด็นการสนทนา

  

เอกสารอ้างอิง
รัตนะ บัวสนธ์. (2551).  ปรัชญาวิจัย (Philosophy of Research). กรุงเทพฯ. สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
อรุณี  อ่อนสวัสดิ์. (2553).  เอกสารประกอบการบรรยาย วิชา ระเบียบวิธีวิจัยขั้นสูง (390611).พิษณุโลก. มหาวิทยาลัยนเรศวร.

 

หมายเลขบันทึก: 393694เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2010 10:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 04:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

คุณครูสอนเลขค่ะ ตอนนี้ครูตุ๊กกำลังศึกษาเกี่ยวเทคนิคการสนทนากลุ่ม ซึ่งคิดว่าจะนำมาใช้ในงานวิจัยของตน

เข้ามาศึกษา blog ของคุณครูสอนเลขมาตลอด รู้สึกว่าคุณครูสรุปความรู้ต่างๆ ได้เข้าใจง่ายมาก

อยากรบกวนคุณครูช่วยอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับเทคนิคการสนทนากลุ่มด้วยค่ะ จักขอบพระคุณเป็นอย่างสูง

อยากเรียนรู้เพิ่มเติมเหมือนกัน จักขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท