การอุบัติของพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่หาดูได้ยาก


เรียกว่ามหาวิโลกนะ ๕ ประการคือ ๑)กาล แม้พระโพธิสัตว์จะทรงมีบารมีเต็มเปี่ยมบังเกิดอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิตตลอดเวลา ๕๗โกฏิปี ยิ่งด้วยอีก ๖ ล้านปี แม้เมื่อตรวจดูกาลเมื่อไม่ใช่กาลก็จะไม่บังเกิด ต่อเมื่อเป็นกาลอันควรจึงจะบังเกิด กาลที่ว่านี้คือเมื่อใดอายุของมนุษย์อยู่ในระหว่าง ๑๐๐ ปี ถึง ๑๐๐,๐๐๐ ปี ในระหว่างอายุเท่านี้จึงเรียกว่ากาลอันสมควร

ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๑๐ เป็นเรื่องละครับ เข้าไปอ่านเรื่องราวในบันทึกของญาติธรรมชาวโกทูโน ได้ความคิดหลายๆอย่าง อย่างหนึ่งก็คือการเขียนบทความหรือบันทึกที่จะให้ดีถูกใจทุกๆท่านนั้นเป็นเรื่องยากเพราะแต่ละท่านที่เข้ามาอ่านนั้นมีพื้นฐานความรู้ที่แตกต่างการกัน การวิเคราะห์กลั่นกรองข้อมูลที่อ่านแล้วจึงอยู่ที่ปัญญาของแต่ละท่านด้วย เป็นสัจจะธรรมอย่างหนึ่งว่าใครก็ไม่อาจทำให้ถูกใจคนทั้งหมดได้เพราะความแต่ละท่านสั่งสมอุปนิสัยความชอบมาไม่เหมือนกันไม่ว่าจะเป็นการสั่งสมมาแต่ชาติปางก่อนหรือในปัจจุบันก็ตามความมากน้อยต่างกัน แม้แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ยังไม่อาจสอนคนทั้งหมดให้ทำตามได้ดั่งจะเห็นได้ว่าเมื่อพระองค์ตรัสรู้ใหม่ๆนั้นได้เกิดแนวคิดต่อบุคคลโดยเปรียบเหมือนดอกบัวสี่เหล่า ตามตำนานกล่าวว่า

“เมื่อทรงตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ ก็ได้ทรงเห็นหมู่สัตว์ บางพวกมีกิเลสเพียงดังธุลีในจักษุน้อย บางพวกมีกิเลสเพียงดังธุลีในจักษุมาก บางพวกมีอินทรีย์แก่กล้า บางพวกมีอินทรีย์อ่อน บางพวกมีอาการดี บางพวกมีอาการทราม บางพวกจะพึงให้รู้แจ้งได้ง่าย บางพวกจะพึงให้รู้แจ้งได้ยาก บางพวกเป็นภัพพสัตว์ บางพวกเป็นอภัพพสัตว์ บางพวกมักเห็นปรโลกและโทษโดยความเป็นภัยฉันใด ในกออุบล หรือกอบัวหลวง หรือในกอบัวขาว ดอกอุบล ดอกบัวหลวงหรือบัวขาว เกิดแล้วในน้ำ เจริญแล้วในน้ำ น้ำเลี้ยงอุปถัมภ์ไว้ บางเหล่ายังจมอยู่ในน้ำ บางเหล่าตั้งอยู่เสมอน้ำ บางเหล่าตั้งขึ้นพ้นน้ำ อันน้ำมิได้ติดใบก็ฉันนั้น” (จากพรสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปทานสูตร)

ยังไงก็แล้วแต่พวกเราทั้งหลายเป็นหนี้พระพรหม(พระพรหมในคติพุทธศาสนา) ที่กลัวพวกเราจะฉิบหายไม่ได้ในสิ่งที่ควรจะได้ในภพนี้ก็เลยกราบทูลขอร้องต่อพระองค์ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงแสดงธรรม ขอพระสุคตจงทรงแสดงธรรม ในโลกนี้สัตว์ผู้มีกิเลสเพียงดังธุลีในจักษุเบาบางยังมีอยู่ เพราะมิได้ฟังธรรม สัตว์เหล่าจึงเสื่อมเสียไป ผู้รู้ทั่วถึงธรรมได้ ยังจักมีอยู่ดังนี้.

เป็นดังนี้จริงครับตามหน้าประวัติศาสตร์ของอินเดียวปรากฏว่า แม้ในตอนที่พระพุทธศาสนารุ่งเรืองถึงขีดสุดก็ยังมีผู้นับถือศาสนาอื่นอยู่โดยมาก ศาสนาพราหมณ์หรือลัทธิศาสนาอื่นมีอยู่ทั่วไปมากมายกว่าคนที่นับถือพุทธศาสนาเสียอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองพาราณสี คำสอนของพุทธเจ้าเป็นไปในคนบางจำพวกเท่านั้น นับเป็นเมืองที่คนนับถือศาสนาพราหมณ์เหนียวแน่นมั่นคงเป็นดั่งป้อมปราการอันประกอบด้วยศิลาล้วนของพราหมณ์ แม้ในปัจจุบันคติความเชื่อตามศาสนาพราหมณ์-ฮินดูก็ยังมั่นคง ยังเป็นเมืองท่าแห่งพระแม่คงคาที่คนนิยมกราบไหว้บูชา อาบ ดื่มกินเพื่อเป็นสิริมงคล เมืองท่าอันศักดิ์สิทธิ์ตามคำสอนนั้นมีอยู่ไม่กี่ท่าที่คนอินเดียปรารถนาแม้ตอนใกล้จะตายก็ขอให้ได้เผาในเมืองนี้พร้อมทั้งลอยอังคารในแม่น้ำคงคาในเมืองนี้อันดับแรก เพราะท่าน้ำที่เมืองนี้สามารถล้างบาปได้ ยิ่งได้มาเผาที่เมืองนี้เชื่อว่ามีสวรรค์เป็นที่ไป ในชีวิตหนึ่งทุกผู้ทุกนามต้องได้อาบน้ำหรือดื่มน้ำในแม่น้ำคงคาสักครั้งเหมือนชาวพุทธเราที่ชีวิตหนึ่งให้ได้ไปนมัสการสังเวชนียสถาน ๔ ตำบลจะเป็นบุญกุศลติดตัวอย่างยิ่ง

เมื่อกล่าวถึงเมืองพาราณสีมีสิ่งให้ระลึกถึงสำหรับชาวพุทธอยู่ก็คือที่แสดงปฐมเทศนา “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” อันเป็นพระสูตรแรกแห่งคำสอนหลังจากพระองค์ตรัสรู้ เทศนาสอนพระปัญจวัคคีทั้ง ๕ มีพระอัญญาโกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ อัสสชิ เป็น ๕ ท่านแรกที่ได้ฟังพระเทศนาของพระพุทธองค์ แล้วก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคลในพระศาสนา แม้พระพุทธศาสนาจะตั้งมั่นได้ในเมืองพาราณสีก็ตามแต่ศาสนาอื่นก็หาได้หมดไปไม่ อาจเป็นเพราะว่าพุทธศาสนานิยมในหลักอหิงสาธรรมเหมือนกับท่านมหาตมคานธีใช้ น่าแปลกที่ว่าท่านเป็นพราหมณ์แต่รู้จักหลักอหิงสามากกว่าเราชาวพุทธเสียอีก ใช้เป็นหลักการเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ (เหมือนอารยะขัดขืนหรือเปล่า?)จนปลดแอกในปี ๒๔๙๐ สำเร็จนำความเป็นอินเดียกลับมาอีกครั้งหนึ่ง

เรื่องเล่าค่ำนี้ดูเหมือนจะยืดยาวหาที่จบไม่ได้ ที่กล่าวถึงเมืองอินเดียก็เพราะเป็นตัวอย่างให้เห็นชัดดีในคำกล่าวที่ว่า คนเราต่างคิดต่างจิตต่างใจ ใครที่คิดจะรวบรวมมนุษย์ให้คิดไปในแบบเดียวกันจึงเป็นเหตุไม่สมผล เป็นไปได้ยาก มีอยู่ไม่กี่อย่างที่คนเหมือนกันก็คือความตาย เกลียดชั่วรักดี เอาความดีใส่ตัวเอาชั่วใส่คนอื่น คนที่พร้อมจะเป็นดอกบัวโผล่เหนือน้ำคอยรับแสงอรุณคือแสงสว่างของพระอาทิตย์พร้อมที่จะบานผลิดอกออกช่ออวดหมู่แมลงภู่ผึ้งนั้นมีน้อยนักถ้าเปรียบกับผู้คนสมัยนี้ที่อยู่อย่างล้นโลก โลกไม่พอที่จะอยู่อาศัยสำหรับมนุษย์โลกอีกต่อไปถึงกับมีการคาดการณ์กันว่าในอนาคตมนุษย์จะมีที่อาศัยใหม่เป็นโลกที่ ๒-๓ อย่างดาวอังคาร พุธ พฤหัสฯ คนมีเหมือนจะล้นโลกแต่หาคนดีดีสมบูรณ์ที่จะเป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นนั้นหายากยิ่ง ส่วนมากก็เป็นบัวที่ยังอยู่ใต้น้ำ ผมก็คิดไม่ออกเหมือนกันว่าทำไมถึงเป็นเช่นนี้ แต่ก็อย่างว่าถึงแม้จะมีคนดีปริมาณน้อยถึงน้อยอย่างยิ่งแต่ถ้าหากเราให้การสนับสนุนคนดีเหล่านี้ขึ้นเป็นหัวหน้า เป็นตัวอย่างการประพฤติทั้งทางกาย วาจา ใจ พร้อมที่จะประพฤติปฏิบัติตามคนดีเอาเป็นแบบอย่างก็สามารถทำให้สังคมโลกที่เราอยู่ปัจจุบันมีความสุขเหมือนสวรรค์บนดินได้ไม่ต้องรอชาติหน้าที่จะต้องไปเกิดเป็นเทวดาเพราะชาติหน้านั้นเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนอีกทั้งยังมืดมนสำเรา

คนในประเทศไทยมากมายกว่า ๖๐-๗๐ ล้านคนแต่หาคนที่เป็นดอกบัวบานพร้อมเสียสละเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมประเทศชาติ นำประเทศไปสู่ความเป็นเลิศดังความฝันหามีไม่ หากจะให้เราเลือกคนที่ดีที่สุดมาเป็นนายกรัฐมนตรีนำพาประเทศออกจากวิกฤตในปัจจุบันหลายท่านคงกระอักกระอ่วนหาคนที่ลงตัวและทำให้ผู้ที่เลือกแน่ใจว่าสามารถแก้ปัญหาได้หลายท่านคงบอกจะเลือกใครดี หรือมีใครคนใดที่ทำให้เรามั่นใจได้ถึงมั่นใจเต็มร้อย อย่างดีคนที่เราเลือกมาก็เพียงฝากความหวังว่าจะสามารถทำให้เราอยู่อย่างสงบสุขได้ อย่างดีก็ได้แค่หวัง แค่ว่าเรามีหัวหน้าเผ่ามาเจ็ดสิบกว่าคนแต่ละคนนำเราไปสู่ความหวังได้มากน้อยแค่ไหนถึงครึ่งของความหวังหรือยัง

ในยุคนี้ตามโบราญราชประเพณีความเชื่อของชาวพุทธเถรวาทแล้วละก็เขาเรียกว่าใกล้หรือเข้าสู่ยุคที่เรียกว่ากลียุคครับ ถ้าตามความเห็นของผมก็ว่าน่าจะนับเป็นกลียุค(ยุคเสื่อม) ยุคเสื่อมเสื่อมจากอะไร? เสื่อมจากคนงามความดีที่จะทำให้โลกมนุษย์อยู่อย่างสงบสุขหมุนไปตามความสมดุลตามที่ควรจะเป็น  ในยุคอย่างนี้ท่านผู้รู้บอกว่าคนดีๆไม่ค่อยอยากมาเกิดในโลกมนุษย์เท่าใดนัก

ดังในบทต้นของพระโพธิสัตว์ที่จะมาเกิด(อุบัติ)เป็นพระพุทธเจ้าในชาติสุดท้ายนั้นจะต้องพิจารณาสิ่ง ๕ สิ่งก่อน เรียกว่ามหาวิโลกนะ ๕ ประการคือ ๑)กาล แม้พระโพธิสัตว์จะทรงมีบารมีเต็มเปี่ยมบังเกิดอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิตตลอดเวลา ๕๗โกฏิปี ยิ่งด้วยอีก ๖ ล้านปี แม้เมื่อตรวจดูกาลเมื่อไม่ใช่กาลก็จะไม่บังเกิด ต่อเมื่อเป็นกาลอันควรจึงจะบังเกิด กาลที่ว่านี้คือเมื่อใดอายุของมนุษย์อยู่ในระหว่าง ๑๐๐ ปี ถึง ๑๐๐,๐๐๐ ปี ในระหว่างอายุเท่านี้จึงเรียกว่ากาลอันสมควร เพราะเหตุใด?

ตอบว่า เมื่อใดอายุของมนุษย์มากกว่าแสนปีขึ้นไป ชาติ (ความเกิด) ชรา(ความแก่) มรณะ(ความตาย)จะไม่ปรากฏเป็นที่ประจักษ์แก่สัตว์ทั้งหลาย ชื่อว่าพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลายอันจะทำให้พ้นจากพระไตรลักษณ์ก็จะไม่มี เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ดังนี้ สัตว์ทั้งหลายก็จะพูดว่า พระพุทธเจ้าตรัสอะไร แล้วไม่สำคัญเพื่อจะฟัง เพื่อจะเชื่อ แต่นั้นก็จะไม่มีการตรัสรู้ เมื่อไม่มีการตรัสรู้ คำสอนก็จะไม่นำสัตว์ออกจากทุกข์ เพราะฉะนั้นจึงกล่าวว่าไม่ใช่กาล

ในกาลเมื่อมนุษย์ถอยลงไปกว่า ๑๐๐ ปีก็ไม่ใช่กาล ถามว่าเพราะเหตุไร? ตอบว่า เพราะในกาลนั้นสัตว์ทั้งหลายมีกิเลสหนา(มากๆ) โอวาทที่ให้แก่สัตว์ที่มีกิเลสหนาย่อมไม่ดำรงอยู่ในฐานะเป็นโอวาท(คงตั้งอยู่เหมือนเป็นคำด่ามั้ง) เหมือนไม้เท้าขีดลงไปในน้ำย่อมหายไปทันที เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่กาล

๒) ทวีป ทรงตรวจดูทวีปทั้ง ๔ ว่าควรจะอุบัติในทวีปใด ทรงเห็นว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมบังเกิดในชมพูทวีป

๓) ประเทศ ทรงตรวจดูแล้วว่าควรจะบังเกิดในมัชฌิมประเทศ

๔) ตระกูล ทรงตรวจดูว่าในขณะนั้นเขานิยมว่าตระกูลใดประเสริฐ ตระกูลกษัตริย์หรือพราหมณ์ประเสริฐ

๕) พระมารดา ทรงตรวจดูพระมารดาว่า ธรรมดาพระพุทธมารดาไม่เป็นหญิงเหลาะแหละ ไม่เป็นนักเลงสุรา บำเพ็ญบารมีมาแล้วถึงแสนกัป ตั้งแต่เกิดมามีศีล ๕ ไม่ขาด ก็หญิงเช่นนี้จักเป็นพระมารดาของเราดังนี้.

ผมว่าถึงเป็นคัมภีร์เก่าแก่เชื่อไว้บ้างคงไม่เสียหลาย เพราะมันก็มีความเป็นไปได้ยุคที่มนุษย์มีอายุต่ำกว่า ๑๐๐ ปีโดยประมาณ เป็นยุคที่คนดีๆอย่างพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระสาวกอรหันต์ หรือแม้พระเจ้าจักรพรรดิ จะไม่มาบังเกิดหรือน้อยเต็มทีที่พอจะเห็น เลือนรางอยู่บ้างก็คงเป็นพระอรหันต์สาวกละมั้งครับแต่ก็หายากเต็มทีได้แต่เดาๆ เหตุผลก็คือความดีที่ทำจะเหมือนไม่ได้ทำ(คนทั้งหลายจะไม่นิยมยกย่องความดีเท่าที่ควร) ความดีที่บุคคลเหล่านั้นทำจะเหมือนไม้ที่ขีดลงในน้ำก็จะหายไปในชั่วพริบตา จะไม่คงอยู่นานพอเพื่อให้เกิดประโยชน์ มันเป็นดังเช่นที่ว่ามาจริงถ้าเรามองดูด้วยสายตาที่ยาวไกล

จึงกล่าวว่าหาคนดีๆสักคนเพื่อมาเป็นแบบอย่างนำพาให้ประเทศชาติร่มเย็นสงบสุขนั้นหายากเสียจนเหมือนงมเข็มในมหาสมุทรเหมือนเข็นครกขึ้นภูเขาเสียเลยทีเดียว การทำให้คนทุกคนเป็นคนดีให้เหมือนกันทุกอย่างจึงไม่สามารถจะทำได้ แต่เราทำให้สังคมอยู่ร่มเย็นเป็นสุขได้โดยการหาคนดีๆสักคนมานำพาคนไม่ค่อยดีให้อยู่ในโอวาท กฎเกณฑ์ของคนดี อย่างพระพุทธเจ้าเป็นต้น แต่ในเมื่อคนดีๆอย่างพระพุทธเจ้านั้นหายากเสียเต็มประดาแล้วเราจะทำอย่างไรในยุคสมัยเช่นนี้?

จริงอยู่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์รินิพพานนานแล้ว แต่ความดีหรือคำสอนของท่านยังอยู่มิใช่หรือ ๘๔,๐๐๐ พอไหมสำหรับที่จะทำให้สังคมมนุษย์อยู่อย่างสงบสุขอย่างที่คาดหวังเอาไว้ทุกยุคสมัย การคบคนดีเอาคนดีเป็นแบบอย่างดูเหมือนจะยังใช้ได้อยู่นะครับลองดูกลอนเก่าเผื่อจะเห็นช่อง

คบคนใดใจย่อมเป็นเช่นคนนั้น ปราชญ์รำพันเอาไว้ไม่ผิดผวน

คบคนดีมีใจเป็นน้ำนวล              คบคนชั่วก็จะชวนนิสัยทราม

ถ้าคบหงส์ก็เป็นหงส์เหมราช    ถ้าคบปราชญ์ก็เป็นปราชญ์ถาผล

ถ้าคบกาก็เป็นกาทุรพล               คบพาลชนก็เป็นคนพาลกาลกิณี

อเสวนาจะ พาลานัง ปัณฑิตานัญจะ เสวนา ปูชาจะ ปูชะนียานัง เอตัมมังคลมุตตมังฯ

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 393629เขียนเมื่อ 12 กันยายน 2010 23:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2012 20:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท