นปส.55 (45): นิราศนาจาน


ชาวบ้านคนหนึ่งให้ความเห็นว่า “แต่ก่อน ทำนา นามีข้าวและมีกับข้าว พวกกบเขียดกุ้งหอยปูปลา ผักหญ้าเก็บไปกินได้ แต่เดี๋ยวนี้ทำนาได้แต่ข้าว ต้องขายข้าวไปซื้อกับข้าวกิน”

การออกAction learning ทำให้ได้รู้จักสนิทสนมกันเองในกลุ่มที่ไปทั้ง 26 คน มากขึ้น หลายคนอาจได้แต่ทักทายยิ้มให้กันหรือบางคนก็ได้นั่งทานข้าวด้วยกัน เช่น พี่เปี๊ยก พี่ศักดิ์ พี่สมชาย พี่พ๊อบ เป็นต้น

พี่เปี๊ยกหรืออดุลย์รัตน์ องอาจยุทธ์ นายอำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทองนายอำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง ลักษณะผู้ใหญ่ใจดี พูดน้อย สุภาพอ่อนโยน มีรอยยิ้มที่เป็นมิตร สบายๆไม่เรื่องมาก พี่ศักดิ์หรือสมศักดิ์ สิทธิวรการ นายอำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาสและพี่สมชาย โยธาทิพย์ นายอำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล ก็มีลักษณะคล้ายๆกัน ผมไม่ได้คุยด้วยมากนัก แต่เวลาได้พูดคุยทักทายกัน พี่ๆทั้งสามคนก็ให้ความเป็นมิตรไมตรีดีมาก ให้เกียรติผู้อื่นและไม่ถือตัว ส่วนพี่พ๊อบหรือชาธิป รุจนเสรี ผมไม่ค่อยได้คุยด้วยมากนัก แต่เวลาเจอกันก็ทักทายกัน

บ้านนาจาน หมู่ที่ 6 เริ่มก่อตั้งหมู่บ้านเมื่อปี พ.ศ. 2457 โดยมีราษฎรอพยพมาจากบ้านอ้อมแก้ว ตำบลบ้านโพน 3 ครอบครัวคือครอบครัวนายเสมียนแพง พุทธก้อม ครอบครัวนายเชียงเกตุ พรมประศรีและครอบครัวนายพรมมา พรมประศรี ได้เข้ามาทำไร่ ทำนา เลี้ยงวัวควาย และอาศัยอยู่ในบริเวณนี้ ต่อมามีครอบครัวอื่นๆอพยพเข้ามาอยู่อาศัยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทางราชการจึงได้จัดตั้งเป็นหมู่บ้านชื่อว่าบ้านนาจานเพราะบริเวณไร่นามีต้นจานมากมาย โดยมีนายลา อินธิแสง เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก บ้านนาจาน อยู่ทางทิศตะวันออกของอำเภอโพนนาแก้วและอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดสกลนคร ห่างจากอำเภอโพนนาแก้ว 19 กิโลเมตร

ต่อมาได้เป็นหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง (อพป.) ปี พ.ศ. 2551 หมู่บ้านมีขนาดใหญ่มากขึ้น จึงมีการแยกหมู่บ้านทางด้านเหนือออกเป็นหมู่ที่ 9 บ้านนาจานใหม่ ส่วนหมู่ที่ 6 ก็ยังเป็นบ้านนาจาน (เดิม) แต่ชาวบ้านทั้งสองหมู่บ้านก็ยังมีความผูกพันกันเสมือนยังคงเป็นหมู่บ้านเดียวกันโดยหมู่ที่ 9 มีนายนำสมัย อินธิแสง เป็นกำนันตำบลบ้านโพน ดูแลอยู่ และหมู่ที่ 6 มีนายชวน พรมประศรี เป็นผู้ใหญ่บ้าน

ข้อมูลประชากร มีประชากรทั้งหมด 457 คน เป็นชาย 217 คน หญิง 240 คน จำนวนครัวเรือน 96 หลังคาเรือน มีวัยเด็กเล็ก (อายุ 0-4 ปี) จำนวน 21 คน (ชาย 6 คน หญิง 15 คน) วัยเด็ก (อายุ 4-14 ปี) จำนวน 81 คน (ชาย 45 คน หญิง 36 คน) คน วัยรุ่น (อายุ 15-24 ปี) จำนวน 79 คน (ชาย 35 คน หญิง 44 คน) วัยทำงาน (อายุ15-59 ปี) จำนวน 298 คน (ชาย 141 คน หญิง 157 คน) และวัยสูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) จำนวน65 คน (ชาย 28 คน หญิง 37 คน) คิดเป็นร้อยละ 11.8

ด้านอาชีพ อาชีพหลักคือการทำนา มีอาชีพเสริมคือการปลูกมะเขือเทศ เลี้ยงสัตว์ รับจ้าง และมีบางส่วนที่ไปทำงานต่างจังหวัด ด้านศาสนา นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 100 มีวัดประจำหมู่บ้านคือวัดธรรมาบูรพาราม มีพระ 3 รูป เจ้าอาวาสได้สมณะศักดิ์เป็นพระครูชั้นโท อายุพรรษา 38 พรรษา ทุกเช้าทุกบ้านจะออกไปตักบาตรทำบุญที่วัด

ด้านการศึกษา มีศูนย์เด็กเล็ก 1 แห่ง มีครู 2 คน นักเรียนวัยก่อนเรียน 38 คน ส่วนโรงเรียนมัธยมขยายโอกาสประจำหมู่บ้านตั้งอยู่ที่หมู่ 9 บ้านนาจานใหม่ มีครู 16 คน นักเรียน 230 คน และมีเด็กบางส่วนไปเรียนที่โรงเรียนบ้านโพนพิทยาคม ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมประจำตำบล

ด้านสาธารณสุข มีศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชนประจำหมู่บ้าน 1 แห่ง ที่เป็นที่ให้บริการของหมออนามัยที่มาจากสถานีอนามัยบ้านใหม่ไชยา สถานีอนามัยประจำตำบลที่ดูแลรับผิดชอบหมู่บ้านอยู่ มาให้บริการเดือนละ 1 ครั้ง สถานีอนามัยบ้านใหม่ไชยา อยู่ห่างหมู่บ้านราว 12 กิโลเมตร มีพยาบาล  1 คน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอื่นๆ 3 คน โรงพยาบาลโพนนาแก้ว อยู่ห่างไปราว 20 กิโลเมตร เป็นโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง มีแพทย์ประจำให้บริการ 2 คน โรงพยาบาลกุสุมาลย์ อยู่ห่างไปราว 15 กิโลเมตร เป็นโรงพยาบาล 30 เตียง มีแพทย์ประจำให้บริการ 4 คน ชาวบ้านนิยมไปรักษาที่โรงพยาบาลกุสุมาลย์มากกว่าโรงพยาบาลโพนนาแก้วเนื่องจากเดินทางใกล้กว่าและมีแพทย์ให้บริการมากกว่า และมีแพทย์ประจำตำบล 1 คน มีหมอพื้นบ้าน 1 คน หมอธรรม (สะเดาะเคราะห์ เข้าทรง ร้องขวัญ) 1 คน

ด้านสถานบริการชุมชน มีร้านค้าชุมชน 1 แห่ง สหกรณ์ชุมชน 1 แห่ง ฉางข้าวประจำหมู่บ้าน 1 แห่ง หอกระจายข่าว 1 แห่งและร้านค้าทั่วไป 6 แห่ง

ด้านเศรษฐกิจชุมชน มีพื้นที่สร้างที่อยู่อาศัย 150 ไร่ พื้นที่ทำนา 900 ไร่ พื้นที่ทำสวน 100 ไร่ พื้นที่ทำไร่ 180 ไร่และป่าชุมชน 100 ไร่ มีรถไถเดินตาม 90 คัน รถไถนั่งขับ 4 คัน รถยนต์ 13 คัน ควาย 100 ตัว วัวขุนโพนยางคำ 12 ตัว วัวเลี้ยงปล่อย 250 ตัว เป็ด 100 ตัวและไก่ 900 ตัว (หมายเหตุ ข้อมูลนี้ได้จากการประมาณการโดยการซักถามชาวบ้านและผู้นำชุมชน)

ด้านชีวิตความเป็นอยู่ประจำวัน ส่วนใหญ่ปรุงอาหารทานเองที่บ้านเป็นพวกข้าวเหนียว ส้มตำ ไก่ย่าง แกงหน่อไม้ อาหารที่สามารถหาได้จากบริเวณบ้านและแหล่งธรรมชาติเช่น ไข่ ไก่ ปลา ปู กุ้ง หอย กบ กินง่ายอยู่ง่าย ตื่นเช้ามืด ทำอาหารเช้า รับประทานอาหารแล้วออกไปทำนาหรือไร่มะเขือเทศตามฤดูกาลเพาะปลูก ถ้าไม่ได้เข้าไร่นาก็จะเลี้ยงสัตว์หรือเพาะปลูกพืชผักสวนครัวในรั้วบ้าน ทุกครัวเรือนมีไฟฟ้าใช้ ใช้น้ำฝนที่กักเก็บไว้ในโอ่งใหญ่ของบ้านที่มีแทบทุกหลังคาเรือน ส่วนน้ำอุปโภคใช้น้ำประปาหมู่บ้านที่ไม่มีการบำบัดด้วยคลอรีน สูบจากบ่อน้ำลึกก็จ่ายผ่านระบบท่อประปาเลย ชาวบ้านจึงไม่นิยมดื่ม

การเดินทางเข้าตัวอำเภอหรือจังหวัด มีรถโดยสารวันละ 1 เที่ยว ออกแต่เช้าและกลับถึงหมู่บ้านราวบ่ายโมงกว่าๆ หรืออาจรวมตัวกันใช้รถยนต์ของคนในหมู่บ้านช่วยกันออกค่าน้ำมันรถให้เจ้าของรถ

จากการศึกษาของกลุ่ม พบว่า ผลกระทบทางด้านโยบายของรัฐทางด้านการเกษตร มีผลกระทบบ้างแต่ไม่มากนัก ชาวบ้านส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นโครงการที่ดี เป็นประโยชน์กับชาวบ้าน มีปัญหาบ้างไม่มากนักแต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาการทำเกษตรกรรมของชาวบ้านได้มากนัก ส่วนนโยบายด้านอื่นๆ เช่น การศึกษา สาธารณสุข การพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ ชาวบ้านบอกว่าไม่ได้มีผลกระทบอะไรนัก อาจมีความคิดที่แตกต่างไปบ้างสำหรับชาวบ้านบางคนกับบางนโยบาย เช่น นโยบายเรียนฟรี 12 ปี นั้นได้ประโยชน์ไม่มากเพราะค่าใช้จ่ายช่วงนี้ไม่มากนัก แต่ช่วงที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงๆเช่นในระดับปริญญาน่าจะให้เรียนฟรีมากกว่า หรือการให้ทุนยืมเรียน ปัญหามาตกกับผู้ปกครองเมื่อลูกหลานไม่ยอมส่งเงินใช้คืน ผู้ปกครองก็จะถูกเรียกเงินแทน เป็นต้น แต่ในภาพรวมแล้วชาวบ้านถือว่าเป็นนโยบายที่ดี

นโยบายของรัฐด้านการเกษตร ที่สำคัญ 5 ประการ คือ การประกันรายได้ภาคเกษตรกรรม มีปัญหาที่เกษตรกรไม่เข้าใจกระบวนการประกันราคาผลผลิต ถ้าขายได้ไม่ถึงราคาประกันสามารถไปขอส่วนขาดจากภาครัฐได้ จึงไม่ได้ขายในเวลาและราคาที่กำหนด ปล่อยรอจนราคาต่ำลงจึงขาย ชาวบ้านก็เสียประโยชน์ การชดเชยความเสียหายภาคเกษตรกรรม มีปัญหาที่เกษตรกรไม่เข้าใจกระบวนการ จึงไม่ได้แจ้งจำนวนพื้นที่ทำการเกษตรไว้ก่อน เมื่อเสียหายจึงไม่ได้รับเงินชดเชย การลดภาระหนี้สินแก่เกษตรกร ไม่มีปัญหาในทางปฏิบัติ เกษตรกรมีความพึงพอใจ การส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ชาวบ้านยอมรับและมองเห็นความสำคัญ จึงรวมตัวกันจัดตั้งกองทุนปุ๋ยอินทรีย์-น้ำหมักชีวภาพ และทดลองทำในแปลงสาธิตเพื่อการเรียนรู้ร่วมกันและตั้งเป้าจะเพิ่มการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ให้ได้ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 50

การผลิตอาหารปลอดภัยจากสารพิษ ชาวบ้านเริ่มเห็นความสำคัญและให้ความร่วมมือโดยการลดการใช้ปุ๋ยเคมีในนาข้าว แต่ยังคงใช้ยาฆ่าแมลงและยาฆ่าหญ้าอยู่ ซึ่งเริ่มก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ชาวบ้านคนหนึ่งให้ความเห็นว่า “แต่ก่อน ทำนา นามีข้าวและมีกับข้าว พวกกบเขียดกุ้งหอยปูปลา ผักหญ้าเก็บไปกินได้ แต่เดี๋ยวนี้ทำนาได้แต่ข้าว ต้องขายข้าวไปซื้อกับข้าวกิน” ชาวบ้านส่วนใหญ่ในหมู่บ้านปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้ในบริเวณบ้านและเลี้ยงปลาเลี้ยงกบในบ่อซิเมนต์ไว้กินเองแล้ว

ส่วนโครงการด้านอื่นๆ เช่น โครงการSML โครงการโอทอป โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) โครงการกองทุนหมู่บ้าน โครงการเรียนฟรี โครงการกองทุนกู้ยืมเรียน เป็นโครงการที่ดีและเพิ่มโอกาสให้ชาวบ้านในการเข้าถึงแหล่งทุนมากยิ่งขึ้น

ทางกลุ่มได้เสนอกลยุทธ์ที่เสนอแนะเพื่อการพัฒนาบ้านนาจาน ไว้ดังนี้

1)   เน้นเกษตรกรรมแบบพึ่งพาตนเอง ประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านในการพัฒนาดิน ปุ๋ย และการผันน้ำจากแหล่งธรรมชาติเข้านา

2)      เน้นดำรงรักษาสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นเช่น การทอผ้าลายมุก โดยปลูกฝังให้เด็กนักเรียนเรียนรู้จากชุมชน

3)      ส่งเสริมให้ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้นเพื่อลดรายจ่ายเพิ่มรายได้จากการปลูกผักสวนครัวรอบรั้วบ้านและการเลี้ยงสัตว์

4)      พัฒนาระบบการผลิตและรูปแบบผลิตภัณฑ์จากผ้าลายมุกให้มีความหลากหลายตามความต้องการของตลาด

5)      พัฒนาระบบจัดการเงินทุนด้วยสหกรณ์ชุมชนแบบสัจจะออมทรัพย์

6)      แปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าว เช่นข้าวกล้องหอมมะลิพร้อมทั้งบรรจุภัณฑ์และเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย เช่น แมคโคร บิ๊กซี

7)      นำแนวคิดทฤษฎีใหม่ในการปรับปรุงพื้นที่ทำการเกษตรเพื่อแก้ปัญหาเรื่องน้ำในการทำการเกษตรและใช้พื้นที่อย่างเหมาะสม

8)      ส่งเสริมการรวมกลุ่มอาชีพของเกษตรกรเพื่อพัฒนาระบบการจำหน่ายผลิตผลและสร้างอำนาจการต่อรองกับพ่อค้าคนกลาง

9)      ส่งเสริมกลุ่มเลี้ยงปศุสัตว์ (โค กระบือ) ในหมู่บ้านและเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย

10)  ส่งเสริมการท่องเที่ยวชมวิถีชีวิตความเป็นอยู่และโฮมสเตย์ในหมู่บ้าน

บทบาทสำคัญของภาครัฐ จากผลการวิเคราะห์ดังกล่าว บทบาทสำคัญของภาครัฐที่จะเข้าไปดำเนินการกับชาวบ้านหมู่บ้านนาจานนี้ จึงควรทำ “2 เสริม” คือ

1)      เสริมพลัง (Empowerment) สร้างความมั่นใจให้กับชุมชนในการดำเนินวิถีชีวิตที่ถูกทางโดยไม่จำเป็นต้องก้าวตามกระแสสังคมแห่งทุนนิยม

2)      เสริมส่วนขาดหรือสนับสนุน (Support) ให้การช่วยเหลือตามความจำเป็นเร่งด่วนของชาวบ้าน ตามสิ่งที่ชาวบ้านต้องการจริงๆ (Felt needs) ไม่ใช่แค่ความอยากของคนบางคน บางกลุ่มหรือของภาคราชการที่ไปอยากให้เขาเป็นอย่างไม่เหมาะสมกับบริบทของเขา

พวกเราทุกคนในกลุ่มต่างมีความประทับใจในหมู่บ้านนาจาน สภาพความเป็นอยู่ ผู้คนและอัธยาศัยใจคอของชาวบ้านเป็นอย่างมาก เวลาสามสี่วันจึงดูเหมือนสั้นมาก ผมได้พยายามเขียน “นิราศนาจาน” ไว้ดังนี้

นิราศร้าง ห่างไกล ใจถวิล                        เหมือนนกบิน ไกลรังรวง ใจห่วงหา

ไปศึกษา เรียนรู้ วิถีประชา                         รู้คุณค่า บ้านนาจาน สกลนคร

 ขึ้นเครื่องบิน ลำไม่ใหญ่ ในเช้าตรู่              ร่อนลงสู่ แดนดิน ถิ่นนุสรณ์

แอ่งธรรมะ พระธรรม นำนาคร                    อดีตย้อน พระดัง หลั่งศรัทธา

สักการะ พระธาตุเชิงชุม คู่บ้าน                    นมัสการ หลวงปู่มั่น จิตหรรษา

เข้าวัดป่า หนองไผ่ ฟังเทศนา                      แล้ววกมา พักที่ สกลแกรนด์

พอรุ่งเช้า เข้าจังหวัด จัดให้รู้                       บรรยายดู รู้จัก น่ารักแสน

จังหวัดเล็ก อำเภอมาก สิบแปดแดน             ชาวเมืองแม้น น่ารัก สามัคคี

หกเผ่าไทย ไม่แตก แยกกอเหล่า                 ทั้งไทลาว ไทยกะเลิง มีศักดิ์ศรี

ทั้งไทโส้ ไทย้อ ภูไทมี                                มิตรไมตรี ไทโย้ยและไทยญวน

รองผู้ว่า ปลัดจังหวัด ให้ความรู้                    ดุจดั่งครู แนะไว้ ให้คิดหวล

กล่าวอำลา เข้าหมู่บ้าน จิตรัญจวน                ตามขบวน กินกลางวัน ร้านลำดวน

เดินทางต่อ เข้าอำเภอ โพนนาแก้ว                ใกล้ถึงแล้ว ที่หมาย ให้สุขสรวล

นายอำเภอ ส่วนราชการ นำขบวน                 แม้เรากวน ท่านก็ดี มีน้ำใจ

โพนนาแก้ว ชื่องาม นามเสนาะ                     แสนไพเราะ ชื่อรวม ตามขานไข

ทั้งบ้านโพน นาตง นาแก้วไง                        รวมกันได้ ชื่ออำเภอ นี้พอดี

หลังทักทาย ฟังข้อมูล กันเสร็จสรรพ             ผู้ใหญ่รับ เราเข้า ในพื้นที่

บ้านนาจาน หมู่หก ชื่อเสียงดี                         ชาวบ้านนี้ เป็นหมู่บ้าน ออปอพอ

ถึงหมู่บ้าน ชาวบ้าน มาต้อนรับ                     ดุจดังกับ ผู้ใหญ่มา ไม่ต้องขอ

ได้พูดคุย รู้จัก ทักทายพอ                          เสร็จแล้วก็ พาเรา เข้าบ้านนอน

ท่านผู้ใหญ่ จัดบ้านไว้ ให้ห้าแห่ง                  แต่เราแบ่ง นอนสามบ้าน บนปัญจถรณ์

บ้านป้าสวย ป้าไสว ประภาพร                      เป็นบ้านนอน บ้านกิน ถิ่นสำราญ

เย็นวันแรก อาหารล้ำ นำเลิศรส                   ไม่มีหมด กินอย่าง สนุกสนาน

ทั้งชาวบ้าน ชาวเรา ต่างเบิกบาน                  ได้ทั้งงาน ได้กินดี ที่อยู่สบาย

ได้พูดคุย ซักถาม ความอยากรู้                    นำไปสู่ ข้อมูลดี มีหลากหลาย

อัธยาศัยดี ไมตรีมาก ทั้งหญิงชาย                สุขมากมาย ได้มาอยู่ ที่นาจาน

บ้านนาจาน หมู่หก บ้านโพนนี้                      ล้วนมีที่ มีนา พาขยัน

พอกล้างาม ดำนา มาช่วยกัน                       ทำนาวาน ช่วยกันดี มีน้ำใจ

ยามรุ่งสาง ฟ้าใส ใส่บาตรพระ                     ที่วัดธรรม บูรพาราม นำสดใส

ขัดเกลาจิต สว่างใส ใจสู่ใจ                         ชาวบ้านได้ มีคุณธรรม นำจิตใจ

ผู้ใหญ่บ้าน นายชวน พรมประศรี                 เป็นคนดี พูดจา น่าขานไข

เป็นผู้นำ ที่ชาวบ้าน ต่างไว้ใจ                       พูดสิ่งใด ชาวบ้านฟัง ต่างทำตาม

ส่วนอีกท่าน ชาวบ้าน ล้วนนับถือ                  นำสมัยคือ กำนัน ท่านคมขำ

สองแรงนำ สองแรงช่วย ช่วยกันทำ               เชื่อผู้นำ ทำเรื่องดี มีเรื่องดัง

หมู่บ้านเล็ก เล็กแต่หมู่ ดูลือเลื่อง                  ลายมุกเฟื่อง เลื่องชื่อดี มีมนต์ขลัง

ลายก็ใส ใจก็สวย ทอด้วยพลัง                     สองมือนั่ง ถักสาน ตำนานไกล

วันที่สอง สำรวจบ้าน บ้านน่าอยู่                   ต่างรับรู้ ร่มเย็น เห็นสดใส

บ้านสูงโปร่ง โล่งใต้ถุน คุณค่าไกล                 รับลมได้ เย็นสดชื่น รื่นฤดี

รอบรอบบ้าน มีที่ว่าง ทางสร้างสรรค์              เลี้ยงกบนั้น ปลาเป็ดไก่ ได้สุขี

เป็นอาหาร คุณค่า ประดามี                         ผักก็ดี พืชสวนครัว รั้วไว้กิน

ต่างเลี้ยงวัว เลี้ยงควาย ไว้ในคอก                 เขาก็บอก ช่วยลด ปลดหนี้สิน

นำเศรษฐกิจ พอเพียง เลี้ยงชีวิน                   ทั้งแผ่นดิน ผืนนา พาสุขใจ

มีรวมกลุ่ม กลุ่มก็ร่วม รวมอย่างแกร่ง            กลุ่มเข้มแข็ง แรงพลัง สว่างไสว

ตั้งกองทุน ทั้งผอง ปองร่วมใจ                      ขยับขยาย ช่วยพัฒน์ จัดสรรทุน

วันที่สาม ร่วมนาวาน ผ่านพื้นที่                     ประเพณี สืบสาน การอุดหนุน

เพื่อนก็มา ญาติก็ช่วย ด้วยเจือจุน                 สายสกุล สายเลือดไทย ไหลรวมกัน

เดินสำรวจ พูดคุย กับชาวบ้าน                     รับมอบงาน ศึกษา พาขยัน

กลุ่มสำราญ งานสำเร็จ เสร็จด้วยกัน             สามวันผ่าน เร็วเหลือ ไม่เบื่อเลย

ด้วยชาวบ้าน เต็มใจ ให้ความรู้                     เป็นดุจครู เต็มใจ ไม่เมินเฉย

มีเมตตา ปราณี มีเหมือนเคย                       ขอเอื้อนเอ่ย ขอบคุณ ด้วยใจจริง

วันที่สี่ ครบกาล วันต้องกลับ                        จำต้องลับ ลาไกล ทั้งชายหญิง

พิธีกรรม ใหญ่โต โก้หรูจริง                         วจีนิ่ง ใจน้อม พร้อมรับพร

ผูกข้อมือ มือกำ กำไข่ต้ม                            ใส่มือก้ม น้อมกาย ไม่ถ่ายถอน

เก็บกระเป๋า ก้าวขึ้นรถ ด้วยอาวรณ์               แม้มานอน สามราตรี มีผูกพัน

หมู่พวกเรา ทั้งห้า ที่มาร่วม                         ต่างก็รวม ใจจิต มิแปรผัน

วราชัย พิเชฐ เสนอ มาด้วยกัน                     สมภพท่าน ชลัยสินพร้อม น้อมกายใจ

พรสิ่งใด ได้สิ่งดี มีแต่สุข                            จงหมดทุกข์ หมดโศก โรคสลาย

แด่ชาวบ้าน นาจาน ทั้งหญิงชาย                   ขอบคุณหลาย ได้สิ่งดี มีค่าเอย”

หมายเลขบันทึก: 392298เขียนเมื่อ 8 กันยายน 2010 23:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2019 11:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อ่านแล้วสนุกดีครับเหมือนสมัยเป็นนักเรียนได้ออกค่ายอาสาของทางมหาวิทยาลัยเลยนะครับ ส่วนคำกลอนนี่ก็พออ่านแล้วทำให้ผมรู้สึกอยากเขียนบ้างจัง แต่ว่าต้องหาที่เที่ยวดีๆก่อนและหาเวลาดีๆมาเรียบเรียง วจีให้ได้อรรถรสแบบนี้ น่าจะเพลิดเพลินใจมิใช่น้อยครับ

เยี่ยมมากครับ พิเชฐ สำหรับกลอน และที่สำคัญคือรายละเอียดที่ได้เรียนรู้และสรุปในช่วง 3 วันที่บ้านนาจาน โพนนาแก้ว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท