นปส.55 (44): สวรรค์บนดิน


ทางกลุ่มได้ประยุกต์เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาเรียนรู้ชุมชนโดยประยุกต์ใช้เครื่องมือการศึกษาชุมชนเชิงลึกของนักมานุษยวิทยา 7 ชิ้น ทำให้มีความเข้าใจในชีวิตความเป็นมาและชีวิตความเป็นอยู่ รวมทั้งชีวิตความเป็นไปของชาวบ้านมากขึ้น ทั้งนี้ภาครัฐควรเข้าไปทำ 2 เสริมคือเสริมพลัง กับ เสริมส่วนขาด ก็พอแล้ว

การศึกษาชุมชนในสัปดาห์ที่ 13 นี้ทางกลุ่มได้ประยุกต์เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาเรียนรู้ชุมชนโดยประยุกต์ใช้เครื่องมือการศึกษาชุมชนเชิงลึกของนักมานุษยวิทยา 7 ชิ้น ประกอบด้วย

1)   แผนที่เดินดิน (แผนที่ชุมชน) เป็นเครื่องมือชิ้นแรกที่สำคัญและจำเป็นในการศึกษาชุมชนเพื่อทำให้เห็นภาพรวมของชุมชนที่ครบถ้วนที่สุด ทำให้ได้ข้อมูลมากในระยะเวลาสั้นที่สุดและข้อมูลมีความน่าเชื่อถือมากที่สุดเพราะได้จากการสังเกตด้วยตนเอง เป็นเครื่องมือที่ทำง่ายๆ มีลักษณะไม่ยุ่งยากซับซ้อน อาศัยเพียงการเดินสำรวจด้วยตา และการจดบันทึกลักษณะทางกายภาพ สิ่งแวดล้อมของชุมชนและสิ่งต่างๆที่พบเห็นลงบนกระดาษที่เตรียมไว้ เป็นการไปดูให้เห็นและเข้าใจถึงความหมายและหน้าที่ทางสังคมของพื้นที่ทางกายภาพเหล่านั้น นี่คือสิ่งที่ต่างจาก “แผนที่นั่งโต๊ะ”

2)      ผังเครือญาติ คือการถอดความสัมพันธ์ในเชิงเครือญาติหรือเชิงสายเลือดในชุมชน ทำให้เข้าใจโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงเครือญาติ อันเป็นความสัมพันธ์ที่เป็นรากฐานของครอบครัวและชุมชน ทำให้รู้จักตัวบุคคลและความสัมพันธ์ทางสังคมของเขาได้ในระยะเวลาสั้น และช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีและความสนิทสนมคุ้นเคยระหว่างเรากับชาวบ้าน

3)      โครงสร้างองค์กรชุมชน คือการทำความเข้าใจกับระบบความสัมพันธ์ต่างๆที่มีอยู่ในชุมชน เป็นการศึกษาความสัมพันธ์ทางสังคมในแง่มุมต่างๆนอกเหนือจากความสัมพันธ์ทางเครือญาติ เป็นการศึกษาโครงสร้างด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองของชุมชนทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการทั้งความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ทางสังคมและทางการเมือง

4)      ระบบสุขภาพชุมชน เป็นการศึกษาระบบสุขภาพของชุมชนเพื่อเข้าใจกระบวนการเยียวยารักษาโรคที่มีอยู่ในชุมชนโดยเข้าใจวิธีคิด ทัศนคติและความรู้สึกนึกคิดของชุมชนเกี่ยวกับโรคหรือความเจ็บป่วยต่างๆตลอดจนวิธีการรักษาโรคที่มีอยู่อย่างหลากหลายในชุมชนได้

5)      ปฏิทินชุมชน คือการเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวบ้านว่า ในแต่ละปี แต่ละเดือนหรือในแต่ละวัน ชุมชนมีกิจกรรมอะไรกันบ้าง อะไรที่เกิดขึ้นและเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของชาวบ้านอย่างไร ทั้งการประกอบอาชีพต่างๆซึ่งในแต่ละชุมชนก็มีวิถีชีวิตที่แตกต่างกันไปทั้งปฏิทินทางเศรษฐกิจและปฏิทินทางสังคมวัฒนธรรม

6)      ประวัติศาสตร์ชุมชน คือการศึกษาเรื่องราวความเป็นมาของชุมชนในด้านต่างๆทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและการเมืองซึ่งมีความสำคัญมากในการทำงานชุมชนเพราะทำให้เราเข้าใจความเป็นมาของเรื่องราวต่างๆในชุมชนได้ดีขึ้น ลดอคติส่วนตัวที่จะเข้าไปตัดสินเรื่องราวต่างๆในชุมชนและลดช่องว่างในการติดต่อสัมพันธ์กับชุมชน

7)      ประวัติชีวิตบุคคลที่น่าสนใจ คือเครื่องมือที่ทำให้เห็นรายละเอียดชีวิตของผู้คน สร้างความเข้าใจในเรื่องราวชีวิตของชาวบ้าน และเกิดมุมมองที่มีมิติความเป็นมนุษย์มากขึ้น สร้างความเข้าใจเรื่องราวชีวิตของชาวบ้านทำให้เพิ่มมิติความเป็นมนุษย์ มองเห็นรายละเอียดชีวิตชาวบ้าน สร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างเจ้าหน้าที่กับชาวบ้าน และเข้าใจ มีความละเอียดอ่อนในการให้บริการชาวบ้าน กลุ่มเป้าหมายของการทำประวัติชีวิตอยู่ที่การเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่การรวบรวมประวัติบุคคลเพื่อเก็บในระบบเอกสารหรือรายงานราชการ จึงไม่ใช่สิ่งที่จะต้องจั้งเป้าหมายทำให้ครบหรือให้ครอบคลุมประชากรร้อยละเท่าไหร่ โดยมุ่งไปที่กลุ่มเป้าหมายที่สำคัญ 4 กลุ่มคือคนจนและคนทุกข์คนยาก คนป่วย คนเฒ่าคนแก่ และกลุ่มผู้นำ

วันอังคารที่ 13 กรกฎาคม 2553 ตื่นหกโมงเช้า กลุ่มชาวบ้านได้ทำอาหารเช้าไว้ให้แล้ว เจ็ดโมงครึ่งก็รับประทานอาหารเช้าและสนทนากับชาวบ้านแบบไม่เป็นทางการ สบายๆ พอแปดโมงครึ่งก็ไปเก็บข้อมูลจากอบต.บ้านโพน พูดคุยกับนายก อบต.และสมาชิก สถานีอนามัยบ้านใหม่ไชยา โรงเรียนบ้านนาจาน ศูนย์เด็กเล็กบ้านนาจาน พอเที่ยงปลัดอาวุโสก็พาพวกเราไปรับประทานอาหารกลางวันที่ร้านชาวบ้านหน้าที่ทำการอบต. นาตงวัฒนา ไปเจอนายก อบต.ขอรับอาสาเลี้ยงอาหารกลางวันเพราะเราไปเยือนถึงถิ่นแล้ว ร้านอาหารชาวบ้านธรรมดาแต่ผมคิดว่ารสชาติอร่อยดีมาก

อำเภอโพนนาแก้ว มาจากการรวมชื่อตำบลในเขตท้องที่ คือ โพน คือชื่อตำบลบ้านโพน นาคือชื่อตำบลนาตงวัฒนา และแก้วคือชื่อตำบลนาแก้ว รวมความแล้วหมายความว่า “ที่ราบสูงเต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์" ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 33 กิโลเมตร มีพื้นที่ 365 ตารางกิโลเมตรหรือ228,125 ไร่ มีประชากร 35,798 คนในปีพ.ศ.2552 แบ่งเป็นชาย 17,906 คน หญิง 17,892 คน จำนวน 8,598 หลังคาเรือน มีเขตการปกครอง 5 ตำบล 52 หมู่บ้าน ได้แก่ตำบลบ้านโพน ตำบลนาแก้ว ตำบลนาตงวัฒนา ตำบลบ้านแป้น ตำบลเชียงสือ คำขวัญอำเภอโพนนาแก้ว คือ “โพนนาแก้ว แนวหนองหาร บ้านดินดี เสนาะดนตรีพื้นเมือง งามประเทืองประตูน้ำก่ำ วัฒนธรรมผ้าลายมุก”

ตำบลบ้านโพน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของตัวอำเภอโพนนาแก้ว ประกอบด้วย 9 หมู่บ้าน คือ บ้านอ้อมแก้ว บ้านโพนน้อย บ้านปู่พึ้ม บ้านโพนใหญ่ บ้านวังปลาเชื่อม บ้านนาจาน บ้านนาจานใหม่ บ้านอ้อมแก้วน้อย บ้านใหม่ไชยา

ตอนบ่ายออกเดินเก็บข้อมูลจากพื้นที่ในหมู่บ้านนาจาน พูดคุยกับชาวบ้านกลุ่มต่างๆ นำข้อมูลที่ได้จากพัฒนากรตำบลและทางอำเภอมาวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลที่เก็บมาได้ พอบ่ายสี่โมงครึ่งสนทนากลุ่มเพื่อวิเคราะห์และรวบรวมข้อมูล เสร็จแล้วก็เอนกายพักผ่อนตามอัธยาศัย

การทำแผนที่เดินดิน พบว่าหมู่บ้านมีแหล่งน้ำธรรมชาติโอบรอบ 5 แหล่ง ใช้รวมกับหมู่ 9 บ้านนาจานใหม่ มีอ่างเก็บน้ำฝายคึกฤทธิ์ที่เป็นแหล่งนั่งพักผ่อนชมวิวกันของกลุ่มวัยรุ่นในหมู่บ้าน มีฝายแม้วและฝายชาวบ้านที่ชาวบ้านช่วยกันทำเพื่อกักเก็บน้ำไว้ทำการเกษตรกรรม มีดอนปู่ตา ป่าชุมชนราว 100 ไร่ที่เป็นเสมือนซูเปอร์มาร์เก็ตแหล่งอาหารธรรมชาติของชุมชน มีร้านค้าชุมชนที่ใช้ร่วมกันทั้งสองหมู่บ้าน มีร้านขายของชำอยู่ 6 ร้าน ที่เป็นที่สังสรรค์กันในยามเช้าหรือเย็นเมื่อว่างจากงานที่ร้านค้าของจริยาที่มีสามีเป็นตำรวจ มีร้านลุงหนมที่เป็นที่พึ่งยามเจ็บไข้เล็กๆน้อยๆ

ระบบริหารจัดการชุมชนแบบเป็นทางการในภาพรวมทั้งหมู่บ้านประกอบด้วยคณะกรรมการหมู่บ้าน อพป. หัวหน้าคุ้มบ้าน 8 คุ้มและกองทุนต่างๆ 13 กองทุน

ปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพของคนในชุมชนพบว่า มีปัจจัยเกี่ยวข้องอยู่มากมาย เมื่อเจ็บป่วย บางคนก็ไปทำบุญที่วัดและอาบน้ำมนต์กับหลวงพ่อ (พระครูอุดมธรรมานุยุติ) เพื่อให้สบายใจ บางครั้งก็ไปสะเดาะเคราะห์รดน้ำมนต์กับลุงแปลง อุดมเลิศ หรือทำบุญถือผีปู่ย่าตายายให้หายเจ็บป่วย บางคนไปหาแพทย์ประจำตำบลที่เป็น อสม.และเคยเป็นหมอเสนารักษ์มาก่อน บางคนไปหาหมอคลินิกที่โพนนาแก้ว กุสุมาลย์หรือเลยไปหาแพทย์เฉพาะทางที่ในตัวจังหวัดสกลนครหรือส่งต่อไปโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี

พอหกโมงเย็น ก็ไปรับประทานอาหารเย็นและสนทนากับชาวบ้านที่บ้านป้าสวย มีชาวบ้าน พัฒนากรตำบล มาร่วมสนทนาพูดคุยกันหลายคน เป็นที่สนุกสนานเป็นกันเอง จนสามทุ่มจึงแยกย้ายกันพักผ่อนตามอัธยาศัย คืนนี้ผมย้ายไปนอนที่บ้านป้าไสว ผู้ใหญ่บ้านเตรียมบ้านไว้รับรองพวกเราคนละหลัง พอนอนแค่สองหลัง ผมก็กลัวเขาจะเสียน้ำใจ จึงไปนอนอีกหลังหนึ่งด้วย ผมนอนนอกชานบ้าน ไม่มีประตูหน้าต่าง เปิดโล่ง ฝนตก ฟ้าร้อง ฟ้าแลบทำให้นอนไม่ค่อยหลับ

วันพุธที่ 14 กรกฎาคม 2553 สะดุ้งตื่นตอนหกโมงเช้ามีป้าคนหนึ่งมาตระโกนเรียกว่า หมอตื่นหรือยัง มาช่วยตรวจให้หน่อยป้าถูกตะขาบกัด จะเป็นอะไรรุนแรงไหม ผมถามว่าป้าถูกกัดตอนไหน แกบอกว่าถูกกัดตั้งแต่เมื่อคืนแล้ว พอดูบริเวณรอยกัดก็ไม่มีผิดปกติอะไร ผมก็บอกแกให้สบายใจทำธุระส่วนตัว พอเจ็ดโมงเช้าก็ไปทานอาหารเช้าที่บ้านประภาพรพร้อมกับพูดคุยสนทนากับชาวบ้านเพื่อเก็บข้อมูลไปพร้อมกันด้วย บรรยากาศการพูดคุยสนทนาเป็นไปด้วยดี ชาวบ้านที่นาจานมีความเป็นมิตรและดูแลพวกเราดีมาก หลายคนบอกว่า พวกเราเข้าหมู่บ้านแล้วทำให้ฝนตก เป็นนิมิตหมายที่ดีกับชาวบ้านเพราะรอน้ำฝนทำนากันอยู่

หลังจากนั้นผมก็ขี่จักรยานสำรวจหมู่บ้านจนเวลาแปดโมงเช้าจึงนั่งรถตู้ไปร่วมกิจกรรม “ทำนาวาน” ที่บ้านปุ่งสามัคคี ต. นาตงวัฒนา ซึ่งมีปลัดจังหวัดมาเป็นประธาน นายอำเภอเป็นคนกล่าวรายงาน กลุ่มพี่พี พี่เหม่ง พี่ปี๊ด พี่แดงและพี่โส่ยก็มาร่วมงานด้วย พี่ภพ พี่เหนอ ผม พี่ตู่ ใส่รองเท้าบูทลงไปช่วยชาวบ้านดำนากันด้วย ส่วนพี่ปุ๊ไม่ได้ลงเป็นช่างภาพ ส่วนกลุ่มพี่พีไม่ได้ลงกลับไปเก็บข้อมูลที่บ้านจอมแจ้งต่อ

พี่แดงหรือมณฑา อุนยะพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิเคราะห์และประเมินผล สำนักพัฒนามาตรฐาน กรมโยธาธิการและผังเมือง พี่แดงเป็นคนน่ารัก มนุษยสัมพันธ์ดี คุยสนุก ร่าเริงแจ่มใส ไม่ถือตัว พูดคุยแซวเล่นกันได้ เวลาพูดแซวหรืออำกันพี่แดงจะเร็วมากแต่พี่เอื้องมักตามไม่ค่อยทัน

พี่เอื้องหรือราตรี รัตนไชย ผู้อำนวยการส่วนบำเหน็จบำนาญและสวัสดิการ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นคนเก่งคนหนึ่ง มีความเป็นนักวิชาการ แต่ไม่เครียด มนุษยสัมพันธ์ดี คุยสนุก พูดคุยแซวกันเล่นได้เช่นกัน พี่เอื้องเรียนจบเศรษฐศาสตร์จากธรรมศาสตร์

พี่โส่ยหรือสุวรรณา ตรีสิทธิเดช หัวหน้าผู้ตรวจสอบ กลุ่มตรวจสอบภายใน กรมการพัมนาชุมชน ลักษระคล้ายๆพี่เอื้อง เป้นคนมีมนุษยสัมพันธ์ดี คุยสนุก ไม่ถือตัว แซวกันเล่นได้

ราว 11 โมงเช้า กลุ่มเราไปเยี่ยมชมสหกรณ์โพนยางคำ อ.เมือง โดยการประสานงานของพี่เหนอ ที่มีพรรคพวกรู้จักกัน ผมเคยได้ยินเนื้อวัวโพนยางคำจากการดูเดี่ยวแปดของคุณโน๊ต (อุดม แต้พานิช) พอได้ไปดูก็ทราบกระบวนการต่างๆตั้งแต่การเลี้ยงวัวจนกลายเป็นซากวัว จนเที่ยงก็เลยถือโอกาสรับประทานทานสเต๊กเป็นอาหารกลางวันกันเลย

บ่ายโมงครึ่งกลับเข้าหมู่บ้านไปเก็บข้อมูลจากชาวบ้านในหมู่บ้าน เดินสำรวจดูกิจกรรมยามว่างของชาวบ้านเช่น การทอผ้า การสานเสื่อกก การทำผักสวนครัว เป็นต้น จนสี่โมงเย็นก็รวมกลุ่มกันตรวจทานข้อมูลสนทนากลุ่มเพื่อวิเคราะห์และรวบรวมข้อมูล สรุปประเด็นสำคัญๆและเตรียมข้อเสนอแนะให้ชาวบ้านและทางอำเภอ เสร็จแล้วก็แยกย้ายกันพักผ่อน

ผมกลับไปที่บ้านป้าไสว ซึ่งเป็นบ้านไม้ใต้ถุนสูง มีแคร่ไม้ไผ่สองอันอยู่ใต้ถุน เอาไว้นั่งเล่นนอนเล่นตอนกลางวันหรือเป็นที่ให้ชาวบ้านมานั่งคุยกัน ผมก็ไปนั่งคุยด้วย คุยๆไปก็เลยนอนเล่นไปเลย ป้าไสวบอกว่า หมอนี่เป็นคนสบายๆดีนะ พอห้าโมงเย็นชาวบ้านก็มาช่วยกันเตรียมอาหารเย็น จัดโต๊ะเก้าอี้ให้นั่งสบายๆ นายก อบต.บ้านโพนฝากเนื้อโพนยางคำมาให้ทำอาหารเลี้ยงพวกเราด้วย ผู้ชายก็ติดตั้งเตาไฟกันใต้ถุนบ้าน ผู้หญิงก็เตรียมอุปกรณ์เครื่องปรุง

หกโมงครึ่งอาหารก็เสร็จเรียบร้อย พวกเราก็ลงมือรับประทานกันอย่างเอร็ดอร่อยในบรรยากาศสบายๆ พูดคุยกันไปด้วย ประมาณทุ่มครึ่งนายอำเภอโพนนาแก้วก็มาสมทบ หลังทานอาหารได้สักพักเราก็ นำเสนอข้อมูล และคืนข้อมูลแก่ชุมชนโดยมีนายอำเภอโพนนาแก้วร่วมรับฟังกับกำนันนำสมัย ผู้ใหญ่ชวนและผู้นำชุมชนที่บ้านป้าไสว ต้องรีบนำเสนอต่อท่านนายอำเภอก่อนเพราะท่านจะไปประชุมที่จังหวัดอุบลราชธานี

สี่ทุ่มก็แยกย้ายกันพักผ่อนตามอัธยาศัย ผมรวบรวมข้อมูลที่ได้พร้อมข้อเสนอแนะ การวิเคราะห์ของกลุ่มมาจัดทำเป็นสไลด์เพื่อเตรียมนำเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนครในวันศุกร์นี้ คืนนี้ฝนไม่ตก อากาศร้อนจนต้องเปิดพัดลมนอนในมุ้งเพราะกลัวยุงกัด เคยนอนในห้องที่ปิดมิดชิดมานาน พอไปนอนบ้านที่เปิดโล่งตลอด ถ้ามีขโมยหรือใครปีนเข้าหาก็เข้าไปได้สบาย ส่วนป้าไสวกับหลานก็นอนในห้อง ผู้ใหญ่บ้านบอกว่า ไม่ต้องกังวลเพราะที่หมู่บ้านไม่มีโจรขโมย สิ่งของในบ้านหรือใต้ถุนบ้านไม่เคยหาย คืนนี้เริ่มชินแล้วจึงหลับได้ดีขึ้นและฝนไม่ตก

วันพฤหัสบดีที่ 15 กรกฎาคม 2553 ตื่นหกโมงครึ่งรับประทานอาหารเช้าและสนทนากับชาวบ้านแบบไม่เป็นทางการ เก็บข้อมูลเพิ่มเติมจากชาวบ้านในพื้นที่ เจ็ดโมงครึ่งกลุ่มผู้นำชาวบ้าน (กำนันนำสมัย ผู้ใหญ่ชวน) ปราชญ์ชาวบ้าน (ลุงโท ลุงหนม) ผู้สูงอายุ คนเฒ่าคนแก่และหนุ่มสาวในหมู่บ้านก็มารวมกันที่บ้านประภาพรเพื่อทำพิธีบายศรีสู่ขวัญให้แก่พวกเรา เป็นพิธีที่เรียบง่ายแต่ทรงคุณค่าความรู้สึกที่ดีทางจิตใจอย่างมาก ลุงโทเป็นคนนำทำพิธี มีการร้องขวัญเป็นภาษาอีสาน ผูกข้อมือและให้เรากำไข่ต้มไว้ในมือ เสร็จแล้วก็ให้ปอกไข่ต้มรับประทานเพื่อเป็นศิริมงคลแก่ตนเอง มีตัวแทนชาวบ้านมามอบผ้าขาวม้าให้เป็นของที่ระลึกแก่พวกเรา

เก้าโมงเช้า ก็ร่วมรับประทานอาหารเช้ากันทั้งพวกเราและกลุ่มชาวบ้าน เป็นความรู้สึกที่ดีและบรรยากาศที่ดีมากๆ ผมทานอาหารเช้าได้น้อย ไม่รู้ว่าตื้นตันหรืออิ่มไข่ต้มเพราะกินไปตั้งสี่ห้าลูก ประมาณ 10 โมงเช้าก็ขึ้นรถตู้เดินทางกลับตัวเมืองสกลนคร ไปรับประทานอาหารกลางวันที่ร้านสบันงา ร้านเดิมที่เคยทานวันแรกโดยมีพัฒนาการจังหวัดสกลนครเป็นเจ้ามือเลี้ยงให้

บ่ายโมงครึ่งกลับถึงโรงแรมที่พักที่สกลแกรนด์ มีการประชุมกลุ่ม สรุปวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อเตรียมนำเสนอแล้วก็พักผ่อนตามอัธยาศัย เพื่อนๆมอบหมายให้ผมนำเสนอและจัดทำสไลด์ ตอนเย็นอาจารย์พาไปทานอาหารที่ร้านอาหารอีสาน ราวสามทุ่มกลับที่พักมาประชุมกลุ่มเตรียมความพร้อมก่อนนำเสนอผู้ว่าราชการจังหวัด โดยให้เพื่อนๆช่วยกันดูสไลด์เพื่อปรับให้เหมาะสมยิ่งขึ้น กว่าจะได้นอนก็เกือบเที่ยงคืน

วันศุกร์ที่ 16 กรกฎาคม 2553 ตื่นหกโมงเช้ารับประทานอาหารเช้าที่โรงแรมสกลแกรนด์มีการปรับโปรแกรมให้เร็วขึ้นเพราะรองผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนครติดภารกิจ จึงต้องนำเสนอเช้าขึ้น พวกเราทั้ง 5 กลุ่ม เดินทางไปศาลากลางจังหวัดสกลนคร นำเสนอผลการศึกษากลุ่มละ 15 นาทีและรับฟังข้อเสนอแนะจากรองผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร จนถึงสิบโมงเช้าก็เสร็จ เดินทางต่อไปที่สนามบินสกลนครขึ้นเครื่องบินนกแอร์เดินทางกลับกรุงเทพมหานครตอนสิบโมงครึ่ง ผู้นำเสนอของแต่ละกลุ่มมีพี่นุชิต พี่ก๊อด พี่ยุทธ พี่พีและผมเรียงตามลำดับ ผมคิดว่าพี่ๆทุกคนสามารถนำเสนอได้ดี อย่างที่กุดบากและกุดไห จะพูดถึงกลุ่มอินทร์แปงซึ่งเป็นแนวคิด 7 รอด ดีมาก

พี่นุชิตหรืออนุชิต ตระกูลมุทุตา โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนราธิวาส เป็นคนน่ารัก ใจดี ยิ้มเก่งพูดคุยสนุก เป็นกันเอง เวลาไม่ได้เข้าไปคุยด้วยจะดูเป็นคนเงียบๆ เฉยๆ แต่ถ้าเข้าไปคุยด้วยก็จะคุยเก่ง แต่ไม่ถือตัว

พี่ยุทธหรือสรายุทธ แก้วกุลปรีชา นายอำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นคนเงียบๆไม่ค่อยคุย แต่พอได้พูดคุยด้วยพี่ยุทธจะเป็นคนที่มีความคิดแหลมคม มองโลกรอบด้าน  พูดคุยกันได้หลายเรื่อง

ราว 11 โมงครึ่งก็ถึงสนามบินดอนเมือง ผมนั่งรถแท็กซี่กลับไปที่บ้านพี่ต้อยเพื่อกลับไปเอารถยนต์ และได้พักผ่อนพูดคุยกับพี่ต้อยอยู่จนบ่ายสี่โมงครึ่ง ก็ขับรถกลับไปที่สนามบินดอนเมืองเพื่อรอรับพี่โภกับพี่เวงเดินทางกลับตากด้วยกัน พี่โภลงเครื่องบินที่มาจากสุราษฏ์ธานี ส่วนพี่เวงมาจากระยอง เราทั้งสามคนที่มาจากจังหวัดตากด้วยกันแยกกันไปคนละภาคเลย ซึ่งมี 4 กลุ่มใหญ่ ภาคเหนือไปที่น่าน ภาคกลางไปที่ระยอง ภาคใต้ไปที่สุราษฏ์ธานีและภาคอีสานไปที่สกลนคร ผมขับรถยนต์กลับตากมีพี่โภกับพี่เวงนั่งมาด้วย แวะทานข้าวที่ร้านอาหารริมน้ำเจ้าพระยา สิงห์บุรี ไปถึงตากห้าทุ่มกว่า ลูกๆหลับกันหมดแล้ว

หมายเลขบันทึก: 392295เขียนเมื่อ 8 กันยายน 2010 22:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2019 11:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท