วัชพืชน้ำทำน้ำหมักดีมีคุณภาพน่าใช้


       

    การแข่งขันเชิงการค้าภายใต้กฎระเบียบและการค้าระหว่างประเทศ เรียกสั้นๆ ว่าอาฟต้า หรือ เขตการค้าเสรีอาเซียน สินค้าเกษตรจะได้รับผลกระทบในส่วนที่เกี่ยวข้องและเสียงกับการเสียเปรียบในจังหวัดชัยนาท คือ ข้าว  เพราะหลายประเทศมีการผลิตข้าวเหมือนกับไทยแต่มีต้นทุนที่ต่ำกว่า ในขณะที่ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรไทยสูง ถ้าผลผลิตข้าวจากประเทศต่างๆ ที่มีค้นทุนที่ต่ำกว่าออกสู่ตลาดจำนวนมาก ซึ่งอนาคตอาจจะเข้ามาตีตลาดในประเทศไทย ทำให้ผลผลิตของไทยล้นตลาดราคาก็ต่ำลงมาอีกถึงตอนนั้นคงจะปลูกกันไม่ได้   ดังนั้นหนทางแก้คือต้องเน้นไปที่เกษตรกรให้พยายามลดต้นทุนในการเพาะปลูกข้าว  เพื่อให้สามารถแข่งขันการค้ากับประเทศอื่นได้  ไม่เช่นนั้นอยู่ไม่รอด การลดต้นทุนโดยใช้วัสดุที่มีในท้องถิ่นมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด ตัวอย่างที่จะนำมาเสนอในฉบับนี้คือ  การนำสาหร่ายหางกระรอก วัชพืชน้ำมาทำน้ำหมักชีวภาพ ใช้แทนปุ๋ยยูเรียลดต้นทุนการผลิตได้จำนวนมาก ข้าวแข็งแรงทนต่อโรคแมลงศัตรูพืช

มารู้เรื่องสาหร่ายหางกระรอก 

         สาหร่ายหางกระรอก  เป็นพรรณไม้น้ำพื้นเมืองของไทย  มักพบในน้ำที่มีแสงสว่างส่องถึง น้ำค่อนข้างใส ความลึกน้ำ 0.6-1 เมตร ลักษณะพื้นเป็นดินโคลนหรือโคลนปนทราย มีลำต้นเป็นสายเรียวยาว ทอดไปตามความสูงของระดับน้ำ อาจยาวได้ถึง 3 เมตร ทั้งใบและต้นจมใต้น้ำ ลักษณะของใบเป็นแผ่นบางเรียวยาวขนาดเล็กติดบนลำต้นเป็นชั้นๆ ชั้นละ 2-8 ใบ ใบยาว 10-20 มิลลิเมตร กว้าง 2-5 มิลลิเมตร มีสีเขียวแก่ เส้นกลางใบสีแดง ขอบใบหยักเป็นซี่เล็กๆ มีดอกติดอยู่ที่ซอกใบระดับใต้น้ำ เมื่อดอกแก่จึงจะลอยขึ้นมาบานเหนือผิวน้ำ เจริญได้ดีในน้ำที่มี pH 6.0-7.3 อุณหภูมิน้ำ 25-30 องศาเซลเซียส แสงสว่างปานกลางถึงมาก  

แนวคิดการนำสาหร่ายหางกระรอกมาใช้ประโยชน์ 

         นายธรกิจ    เอมอยู่ หรือที่เพื่อนเกษตรกรเรียกว่า “พี่เชน” เกษตรกรวัย 49 ปี  วิทยากร “ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ครบวงจร” 36  หมู่ 16 ต.ดงคอน อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท ทำนา 5 ไร่ เล่าว่า การทำการเกษตรต้องใช้ปุ๋ยเคมี และสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชเป็นจำนวนมาก เพราะเผาตอซังและฟางข้าว  แต่ถ้าลดการเผาตอซังและฟางข้าวก็จะช่วยลดต้นทุนการผลิตต่อฤดูได้ร้อยละ 60 แต่การทำนาติดต่อกันและการเผาตอซังและฟางข้าวตลอดทั้งปีส่งผลให้ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยเคมีโดยเฉพาะปุ๋ยสูตร 46-0-0  บางรายใส่ถึงไร่ละ 40-50 กก./ไร่  จึงได้พยายามหาวัสดุที่จะสามารถมาใช้ทดแทนปุ๋ยเคมี  แบบประหยัด ปลอดภัย และปฏิบัติได้  จากการสำรวจในพื้นที่พบสาหร่ายหางกระรอกขึ้นอยู่ตามแหล่งน้ำจำนวนมาก จึงนำมาใช้ร่วมกับน้ำมะพร้าวซึ่งมีคุณค่าอาหารมากดังนี้ น้ำ 50%  ไขมัน 15.70 %  วิตามินดี 15% กลูโคสโมโนไฮเดรท 19.25% และแคลเซี่ยมกลีเซอโรฟอตเฟต 0.5 %  เป็นส่วนประกอบร่วมกับวัสดุอื่นๆ ผสมผสานกับองค์ความรู้ที่ได้เรียนรู้จากสถานีพัฒนาที่ดินชัยนาท สำนักงานเกษตรอำเภอสรรคบุรี และศูนย์เรียนรู้ภายใต้โครงการพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

  

การทำน้ำหมักสาหร่ายหางกระรอก

          สำหรับ ฮอร์โมนสูตรสาหร่ายหางหระรอกนั้น เป็นฮอร์โมนที่ให้ธาตุอาหารไนโตรเจนสูง เหมาะสำหรับการบำรุงข้าว โดยนำวัสดุต่างๆ ที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นเป็นส่วนผสมดังนี้  1. สาหร่ายหางกระรอกสด จำนวน 40 กก.  2. กากน้ำตาล จำนวน 20  กก. 3. หัวเชื้อจุลินทรีย์ที่มีอยู่จำนวน 1 ลิตร  4. น้ำมะพร้าวสดใหม่ จำนวน 90 ลิตร 5. ถังหมักขนาด   200 ลิตร

วิธีทำ 

      นำสาหร่ายหางกระรอก กากน้ำตาล น้ำมะพร้าว หัวเชื้อจุลินทรีย์ ใส่ในถังหมักแล้วคลุกเคล้าส่วนผสมต่างๆ ให้เข้ากัน ปิดฝาถังให้สนิท ตั้งวางในที่ร่ม หมักนาน 30 วัน  แต่ต้องคนส่วนผสมทุกๆ 7 วัน

การนำไปใช้  

      กรองน้ำน้ำหมักสาหร่ายหางกระรอก จำนวน 1 ลิตร ผสมในน้ำ 200 ลิตร หรือ 100 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร นำไปฉีดพ่นเป็นปุ๋ยทางใบ ควรฉีดพ่นช่วงเช้า 05.00น.-09.00 น. หรือ 15.00 น.-18.00 น. โดยฉีดพ่นตั้งแต่ข้าวอายุ 10 วัน ทุก 15 วัน ไปจนข้าวอายุ 90 วัน จึงหยุด  จะทำให้ข้าวเจริญเติบโตดี เสริมสร้างความแข็งแรงให้แก่เซลล์พืช ทำให้สามารถต้านทานการเข้าทำลายของแมลงศัตรูข้าวได้ดีในระดับหนึ่ง  เพียงเท่านี้ก็สามารถลดต้นทุนจากการใช้ปุ๋ยยูเรียเป็นจำนวนมาก ประมาณ 700 บาท/ไร่ แต่จะใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 16-20-0 ประมาณ 20 กก./ไร่ เพื่อสะสมธาตุอาหารในลำต้นปรับปรุงคุณภาพของผลผลิตให้ดีขึ้น  แต่การดำเนินงานต่างๆ จะไม่ทิ้งการป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสานโดยเฉพาะ หยุด “การเผาตอซังและฟางข้าว” ครับผม

 

 

หมายเลขบันทึก: 390900เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2010 22:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ชอบแบบนี้ครับ ไม่ต้องซื้อปู่ยเคมี ช่วยบอกต่อกันหน่อยครับบบบบ

ขอบพระคุณ ท่าน โสภณ เปียสนิท มากครับที่แวะมาเยี่ยมเยียน องค์ความรู้ที่นำมาเสนอ เป็นของเกษตรกร

ที่เขาทำแล้ว ประสบผลสำเร็จ ผมเพียงเป็นผู้นำเสนอ ประโยขน์ที่ได้รับคือเกษตรกร นำความรู้ไปใช้

หรือทุกท่านนำไปเผยแพร่ต่อ ก็จะได้บุญกุศลเป็นวิทยาทาน ครับ

ไม่ทราบว่าคุณน้ามีเบอร์ที่จะติดต่อรึเปล่าค่ะ พอดีว่าหนูได้นำเรื่องน้ำหมักนี้ไปทำเป็นโครงงานวิทยาศาสตร์ที่หนูจะต้องใช้ข้อจากคุณน้าเป็นอย่างในการทำโครงงาน ถ่าเกิดไม่รบกวน คุณน้าช่วยฝากเบอร์ให้หนูด้วยนะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท